หลังรับฟังการเสวนาเกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศไทยจบลง เราก็มีนัด “Larry Ashman” บรรณารักษ์ห้องสมุดมหาวิทยาลัย ที่เรียกว่า “Memorial Library” เป็นห้องสมุดที่ตั้งอยู่ปลายสุดและเดินไปอีกเล็กน้อยจากถนน State Street ห้องสมุดแห่งนี้เป็นห้องสมุดขนาดใหญ่และสำคัญของมหาวิทยาลัย แต่ความจริงแล้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีหอสมุดนับสิบแห่ง โดยมากเป็นหอสมุดประจำวิทยาลัยต่างๆ
สำหรับ Larry เป็นบรรณารักษ์ที่มีบทบาทสำคัญในการหาที่ก่อสร้างศาลาไทย ซึ่งสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวิสคอนซินแห่งประเทศไทยเป็นผู้รวบรวมเงินบริจาคเพื่อจัดสร้างขึ้นในเมดิสัน เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบเมื่อปี 2542 เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐอเมริกา และเพื่อให้คนอเมริกันรู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ผ่านสัญลักษณ์ “ศาลาไทย” โดยศาลาไทยดังกล่าวนำชิ้นส่วนมาจากประเทศไทยทางเครื่องบิน ซึ่งเป็นเครื่องบินเที่ยวสุดท้ายที่สหรัฐอเมริกาประกาศปิดน่านฟ้า หลังเกิดเหตุการณ์ถล่มตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ที่นิวยอร์ค
ตอนแรกนั้นตั้งใจไว้ว่าศาลาไทยจะประกอบและตั้งไว้ภายในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่การตั้งศาลาไทย Larry เป็นบุคคลที่เข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารของเมืองที่นี่ จึงได้สวนสาธารณะที่อยู่ไกลออกไปประมาณ 20 นาที ซึ่งมีที่ว่างพอดี และพื้นที่ดังกล่าวก็มีความร่มรื่น เป็นที่พักผ่อนของชาวเมือง จึงเลือกสวนพฤษชาติ อัลบริช เมืองเมดิสัน เป็นสถานที่ก่อสร้างศาลาไทย โดยจัดสร้างขึ้นในประเทศไทยแล้วส่งไปประกอบที่เมดิสัน โดยมีพิธีส่งมอบศาลไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2545
Larry เคยอยู่เมืองไทย ทำงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีภรรยาเป็นคนไทย Larry จึงผูกพันกับเมืองไทย สามารถพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว และที่สำคัญยินดีช่วยเหลือเมืองไทยและคนไทยทุกครั้งที่ Larry มีโอกาส จะรีบทำทันที นี่คือสิ่งที่น่าประทับใจสำหรับพวกเราที่ได้มาสวัสดีกับ Larry
เขาเล่าให้ฟังว่า ขณะนี้เขามีโครงการที่กำลังโรมาไนซ์หนังสือภาษาไทยเป็นสามารถค้นหาได้ในชื่อภาษาอังกฤษ ซึ่งที่ Memorial Library มีหนังสือภาษาไทยอยู่จำนวนมากทีเดียว ทุกประเภทเนื้อหา ครอบคลุมประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สิ่งแวดล้อม ปรัชญาและศาสนา การเมืองการปกครอง สารนุกรม นวนิยาย เรื่องสั้น ร้อยกรอง ฯลฯ ทั้งที่หอสมุดจัดหามาเอง และมีผู้บริจาคมาให้ เป็นหนังสือที่เก่านับร้อยปีและเพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ก็มี
อย่างหนึ่งที่ Larry กำลังดำเนินการคือ การซ่อมแซมและแปลพระไตรปิฎกภาษาไทย แต่เขียนเป็นคำบาลี จำนวน 19 เล่ม ที่รัฐบาลสมเด็กพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงส่งพระไตรปิฎกมาเผยแพร่ยังมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน เมื่อปี 1895 ซึ่งตามหนังสือที่ Larry ให้เราดูนั้น พบว่า รัฐบาลสยามในสมัยนั้นส่งพระไตรปิฎกมาเผยแพร่ในประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 49 แห่ง ทั้งที่เป็นวิทยาลัย มหาวิทยาลัยและห้องสมุดประชาชน เช่น University of California, Yale University, University of Kansas, Cornell University, Washington University, Tulane University, University of Chicago, Boston University, Drury College, Columbia College, College of New Jersey, Public Library of Boston ฯลฯ
พระไตรปิฎกดังกล่าว หายไป 1 เล่ม ซึ่ง Larry ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อ 118 ปีที่ผ่านมา ประเทศสยามรู้จักประเทศสหรัฐเมริกาและมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้อย่างไร ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าแปลก และมีเกณฑ์ในการคัดเลือกการส่งพระไตรปิฎกมาเผยแพร่ได้อย่างไร โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันนั้น สมัยนั้นยังไม่มีนักเรียนจากประเทศสยามมาเรียนแม้แต่คนเดียว นักเรียนไทยคนแรกที่มาศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันนั้น มาหลังจากการส่งพระไตรปิฎกผ่านมาแล้ว 20 ปี
Larry วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่รัฐบาลสยามส่งพระไตรปิฎกมาเผยแพร่ยังสหรัฐอเมริกานั้น เนื่องจากอาจต้องการให้ตะวันตกรู้จักประเทศสยามเพิ่มมากขึ้น เพื่อแพร่ชื่อเสียงของสยามว่าเป็นประเทศที่มีความเจริญและอารยธรรมเช่นเดียวกับตะวันตก ส่วนหนึ่งอาจมาจากความกดดันที่ยุคนั้นตะวันตกพยายามเข้าไปแสวงอาณานิคมในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สภาพของพระไตรปิฎก ซึ่งวางเรียงกันอยู่บนชั้นวางหนังสือหน้าห้องทำงานของ Larry นั้น มีสภาพเก่าทรุดโทรมมาก ปกหนังสือส่วนที่เคลือบด้วยสีเหลืองหลุดลุ่ยออกมาจากปกอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเราลองเปิดดูข้างในก็พบว่าบางเล่มหลุดขาดออกจากสัน ซึ่งน่าจะเป็นงานหนักของ Larry ในการซ่อมแซมพระไตรปิฎกดังกล่าว ซึ่ง Larry บอกว่า
“ไม่ทราบว่าหอสมุดที่รัฐบาลสยามส่งพระไตรปิฎกมาเผยแพร่ ยังเก็บไว้หรือไม่ เพราะไม่มีข้อมูลเลย แต่ที่หอสมุดที่ Larry ทำงานอยู่จะพยายามรักษาสมบัตินี้ไว้ให้เป็นสมบัติของรัฐวิสคอนซิน เพราะมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ มันเป็นหน้าที่ของ Larry”
นอกจากพระไตรปิฎกเก่านับร้อยปีแล้ว หอสมุดแห่งนี้ยังเก็บหนังสือเก่าหลายร้อยปีจากประเทศอังกฤษไว้ด้วยจำนวนมาก เท่าที่สังเกตด้วยตา สภาพของหนังสือดังกล่าวทรุดโทรมยิ่งเก่าพระไตรปิฎกอย่างมาก บางเล่มส่วนที่เคลือบปกนั้นหลุดออกมาหมดกลายเป็นฝุ่นเล็ก แต่ละเล่มมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งก็ได้แต่ดูอย่างเดียว ไม่กล้าดึงออกมาชม เกรงว่าจะเสียหายคามือเรา
(บันทึกนี้เป็นประสบการณ์ส่วนหนึ่งจากการได้รับทุนเพื่อฝึกอบรมต่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน รัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างเดือนตุลาคม 2556-มกราคม 2557 โดยได้รับทุนจากมูลนิธิอิศรา อมันตกุล มูลนิธิศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ประจำประเทศไทย)