รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช
การลงนามในเอกสาร “ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ” (General Consensus on the Peace Process) ระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นับเป็นหมุดหมายสำคัญของความพยายามหาทางออกด้วยวิถีทางการเมืองระหว่างรัฐไทยกับขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อปลดปล่อยชาวปาตานี การพูดคุยในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ มีการดำเนินการอย่างเงียบๆ มาเรื่อยๆ เดินหน้าบ้าง ถอยหลังบ้าง และสะดุดหยุดลงบ้าง แต่ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของการพูดคุย “อย่างเป็นทางการ”
การพูดคุยที่ลังกาวี
นับตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นอย่างชัดเจนภายหลังการปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส ในวันที่ 4มกราคม 2547 ก็ได้มีความพยายามในการพูดคุยอย่างลับๆ มาอย่างต่อเนื่อง ความริเริ่มแรกที่ชัดเจนมาจากนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ภายหลังจากที่เขาเดินทางมาประเทศไทยและได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางมาเลเซียได้เริ่มประสานงานเพื่อนำตัวแทนฝ่ายขบวนการและฝ่ายไทยมาพูดคุยกันในรีสอร์ตแห่งหนึ่งบนเกาะลังกาวีทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซียในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2548 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2549
ปาตานี ฟอรั่ม (2555) ได้อธิบายการพูดคุยในครั้งนั้นในรายงานพิเศษเรื่อง “การเจรจาสันติภาพระหว่างมุสลิมมลายูและรัฐไทย” โดยอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของนายซารีลเอสเค อับดุลลาห์ กงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยในลังกาวีว่าแผนสันติภาพลังกาวีนั้น ไม่ใช่การเจรจาอย่างเป็นทางการ แต่เป็นความพยายามหนึ่งที่จะหาจุดร่วมระหว่างคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ในการพูดคุยครั้งนั้นมีพลโทไวพจน์ ศรีนวล ผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัยและพลเอกวินัย ภัททิยกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในขณะนั้น เป็นผู้แทนหลักในฝ่ายไทย
ปาตานี ฟอรั่มได้ระบุว่าในการประชุมครั้งนั้นมีผู้แทนในฝ่ายขบวนการที่มาจากกลุ่ม GMIP (Gerakan Mujahideen Islam Pattani) กลุ่มพูโล (Patani United Liberation Organisation) กลุ่มบีอาร์เอ็น (Berisan Revolusi Nasional) และเบอร์ซาตู (องค์กรร่มของขบวนการปลดปล่อยปาตานีที่มีดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน เป็นประธาน ซึ่งขณะนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวแล้ว) หนึ่งในผู้เข้าร่วมได้กล่าวกับผู้เขียนว่าผู้ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่ไปด้วยความเกรงใจมาเลเซียและพวกเขาก็ไม่ได้มีส่วนในการออกแบบข้อเสนอมากนัก ทางมาเลเซียมีบทบาทสำคัญในการร่างข้อเสนอนั้น นอกจากนี้ ยังมีหลายๆ ฝ่ายที่คิดว่ากลุ่มที่ไปเข้าร่วมพูดคุยในครั้งนั้นอาจจะไม่ได้มีบทบาทหรืออิทธิพลต่อกลุ่มที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในภาคใต้ในปัจจุบันมากนัก
อย่างไรก็ดี การประชุมในครั้งนั้นก็จบลงด้วยข้อเสนอฉบับหนึ่งซึ่งได้มีการส่งไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในหนังสือเรื่อง “Confronting Ghost : Thailand’s Shapeless Southern Insurgency” [“เผชิญกับผี : การก่อความไม่สงบที่ไร้รูปแบบในไทย”] ซึ่งเขียนโดย โจเซฟ เลียวและดอน ปาทาน (2553) เขาได้อธิบายว่า “ข้อเสนอสันติภาพสำหรับภาคใต้ของไทย” ที่ได้ร่างขึ้นนั้นประกอบไปด้วยข้อเสนอที่หลากหลาย อาทิ รัฐบาลไทยควรกำหนดโควต้าตำแหน่งราชการในพื้นที่ร้อยละ 50 ให้กับคนมลายูมุสลิม มีการเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณานิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีหรือตัดสินลงโทษในอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
แต่ว่าความพยายามในการพูดคุยครั้งนั้นก็ไม่อาจขับเคลื่อนต่อไปได้เพราะรัฐบาลกำลังเผชิญกับกระแสต่อต้านที่กำลังรุนแรงมากขึ้นจาก “กลุ่มเสื้อเหลือง” ซึ่งนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ท่ามกลางการเผชิญกับการชุมนุมของประชาชนเรือนแสนในกรุงเทพฯ รัฐบาลได้ตัดสินใจยุบสภาในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ข้อเสนอนี้จึงไม่ได้รับการสานต่อ
ต่อมาในเดือนกันยายน ทหารได้ก่อการรัฐประหารขึ้นเพื่อกันมิให้ทักษิณกลับมามีอำนาจ การเมืองไทยส่วนกลางเริ่มขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากนั้น โดยสะท้อนผ่านสัญลักษณ์สีเสื้อ จากกลุ่มเสื้อเหลือง ก็เริ่มมีกลุ่มเสื้อแดงเกิดขึ้นซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านการรัฐประหารผสมกับคนที่ชื่นชอบอดีตนายกฯ ทักษิณ
การพูดคุยที่โบกอร์
อีกสองปีต่อมา ในเดือนกันยายน 2551 ในยุคของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช นายยูซุฟ คาล์ล่าร์ รองประธานาธิบดีของอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ที่เคยมีบทบาทในการสร้างสันติภาพในอาเจะห์ได้ริเริ่มการพูดคุยในกรอบใหม่ แหล่งข่าวที่ติดตามการพูดคุยในครั้งนั้นระบุว่าตัวแทนฝ่ายไทยและขบวนการได้พบกันสองวันที่วังประธานาธิบดีในเมืองโบกอร์ทางด้านตะวันตกของเกาะชวา โดยมีพลเอกขวัญชาติ กล้าหาญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและอดีตแม่ทัพภาคที่สี่เป็นผู้นำคณะฝ่ายไทย 5 คน ในส่วนของขบวนการมีตัวแทน 15 คน ซึ่งเรียกตนเองว่า Pattani Malay Consultative Congress (PMCC) โดยกลุ่มที่เข้าร่วมประกอบไปด้วยตัวแทนจากจีเอ็มไอพี, บีไอพีพี (Barisan Islam Pembebasan Patani), พูโล (เป็นปีกที่นำโดยนายซัมซูดิง คาน) โดยตัวแทนหลักๆ ในครั้งนั้น คือ Wahyuddin Mohammad, Sa’adul Maliki, Bachtier Che Teh (ทั้งสามคนเป็นตัวแทนจากบีไอพีพี) และ Mohammad Fatah Abdul Aziz มีการตั้งข้อสงสัยเช่นเดิมว่าคนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวติดอาวุธในพื้นที่ภาคใต้มากน้อยเพียงไร
ยังไม่ทันที่จะได้มีการเจรจาเชิงเนื้อหาใดๆ การพูดคุยก็ต้องยุติลงเมื่อนาย Dino Pattani Djalal โฆษกของรัฐบาลอินโดนีเซียได้เปิดเผยเรื่องราวการพบปะกับผู้สื่อข่าว เขาได้ให้สัมภาษณ์ว่า “เรา [รัฐบาลอินโดนีเซีย] ต้องการที่จะช่วยประสานงานเพื่อหาทางออกทางการเมืองอย่างสันติ” (”Indonesia says hosts talks on Thai Muslim insurgency”, Reuters, 21 September 2008) การเปิดเผยการพูดคุยกับสื่อนำมาซึ่งความไม่พอใจของฝ่ายไทย นายธฤต จรุงวัฒน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศออกมาปฏิเสธว่าผู้ที่เดินทางไปนั้นไม่ได้เป็นตัวแทนรัฐ เขาให้สัมภาษณ์ว่า “เราไม่ได้ส่งตัวแทนไปพูดคุยที่อินโดนีเซีย... จุดยืนของเราก็คือปัญหาเรื่องภาคใต้นั้นเป็นเรื่องภายในและเราจะไม่จัดตั้งการพูดคุยใดๆ กับผู้ก่อความไม่สงบ” (“Govt ‘Not Party’ to Peace Talks”, Bangkok Post, 22 September 2008) นักวิเคราะห์บางคนตีความว่ารองประธานาธิบดียูซุฟ คาล์ล่าร์ ริเริ่มการพูดคุยในครั้งนั้นก็เพื่อต้องการสร้างชื่อเสียงในเวทีระหว่างประเทศ เพราะเขากำลังเตรียมตัวลงแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีในอีกไม่กี่เดือนถัดไป แต่ความริเริ่มของรัฐบาลอินโดนีเซียในครั้งนั้นก็ต้องยุติลงหลังพบปะกันเพียงครั้งแรก
ความริเริ่มของโอไอซี
นอกเหนือจากมาเลเซียและอินโดนีเซียแล้ว ทางองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of the Islamic Cooperation – OIC) ก็พยายามเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้เช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าโอไอซีนั้นเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ฝ่ายขบวนการคาดหวังมากที่สุดที่จะใช้เป็นเวทีในการหาพันธมิตรและเสียงสนับสนุนต่อการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของชาวปาตานี กลุ่มพูโลซึ่งนับว่ามีความถนัดในการเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศมากที่สุดเป็นกลุ่มหลักที่พยายามเคลื่อนไหวในเวทีนี้ ประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกของโอไอซีแต่ได้รับสถานะเป็น “ผู้สังเกตการณ์” (observer) ในปี 2541 ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีคนมุสลิมเป็นประชากรส่วนน้อย ทางรัฐบาลไทยเองก็พยายามดำเนินนโยบายทางการทูตเพื่อโน้มน้าวให้โอไอซีรับฟังข้อมูลจากทางฝ่ายตนมากกว่าฝั่งขบวนการ
ฝ่ายขบวนการต้องการเห็นโอไอซีเข้ามาเล่นบทเป็นคนกลางในการเจรจาอย่างที่เคยทำในกรณีของ MNLF (Moro National Liberation Front - MNLF) ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชในหมู่เกาะมินดาเนาในประเทศฟิลิปปินส์ โอไอซีเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และกลุ่ม MNLF ในช่วงปี 2518 – 2539 และในปี 2520 โอไอซีก็ได้มอบสถานะผู้สังเกตการณ์ให้กับ MNLF ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถที่จะพูดถึงปัญหาและข้อห่วงใยต่างๆ กับโลกมุสลิมรวมถึงแสวงหาเสียงสนับสนุนโดยผ่านเวทีนี้ได้โดยตรง แม้ว่าการเคลื่อนไหวของ MNLF จะยุติลงแล้วหลังการลงนามข้อตกลงสันติภาพในปี 2540 แต่สถานะนี้ก็ยังคงอยู่
แม้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวในภาคใต้จะยังไม่ได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ กลุ่มพูโลก็ได้พยายามอย่างต่อเนื่องในการเรียกร้องให้โอไอซีรับเอาปัญหาภาคใต้เข้าไว้เป็นวาระในการพูดคุย พวกเขาพยายามผลักดันให้โอไอซีออกแถลงการณ์แยกเฉพาะกรณีภาคใต้เพื่อเน้นถึงความรุนแรงและเร่งด่วนของปัญหา ในขณะเดียวกัน ทางฝ่ายรัฐบาลไทยก็พยายามล๊อบบี้ด้วยการชี้แจงว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาภายในซึ่งไทยกำลังดำเนินการอย่างแข็งขัน โดยในปี 2550 รัฐบาลไทยได้เชิญ Prof. Ekmeleddin Ihsanoglu เลขาธิการโอไอซีมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อให้มีโอกาสที่จะสัมผัสและรับฟังการแก้ไขปัญหาจากมุมมองของฝ่ายไทย
ในช่วงเดือนกันยายน 2553 มีความเคลื่อนไหวสำคัญของโอไอซีที่ทำให้รัฐบาลไทยจับตา นั่นก็คือทางโอไอซีได้ร่วมพูดคุยกับกลุ่มขบวนการปลดปล่อยปาตานีหลายกลุ่มพร้อมกันในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียและกรุงเจดดาห์ ซาอุดิอาราเบียระหว่างวันที่ 30 กันยายน – 1 ตุลาคม 2553 โดยปาตานี ฟอรั่มระบุว่า Prof. Ihsanoglu เลขาธิการโอไอซีได้เป็นประธานการประชุมที่เจดดาห์ ส่วน Dr.Talal A. Daous ผู้อำนวยการฝ่ายชนกลุ่มน้อยมุสลิมเป็นประธานการประชุมในกัวลาลัมเปอร์ โดยผู้เข้าร่วมมาจาก พูโล บีอาร์เอ็น บีไอพีพีและผู้อาวุโสอื่นๆ โดย BRN-Coordinate ได้ส่งตัวแทนระดับกลางไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย แหล่งข่าวที่เข้าร่วมการพูดคุยที่กัวลาลัมเปอร์กล่าวว่าได้มีการตั้งองค์กรร่มที่ชื่อว่า United Patani People Council (UPPC) โดยหวังจะให้เป็นแกนกลางการขับเคลื่อนทางการเมืองของกลุ่มปลดปล่อยปาตานีผ่านเวทีโอไอซี แหล่งข่าวในวงการทูตกล่าวว่าทางรัฐบาลไทยได้แสดงความไม่พอใจด้วยการส่งหนังสือประท้วงไปยังรัฐบาลมาเลเซียที่อนุญาตให้มีการจัดการประชุมดังกล่าวขึ้น
รัฐบาลไทยเดินหน้าล๊อบบี้โอไอซีต่อด้วยการเชิญตัวแทนระดับสูงของโอไอซีมาเยือนไทยอีกครั้งหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 2555 โดยมีนาย Sayed Kasim El-Masry ที่ปรึกษาของเลขาธิการโอไอซีเป็นผู้นำคณะ Dr.Talal A.Daous ผู้ที่เข้าร่วมการพูดคุยที่มาเลเซียได้ร่วมคณะมาด้วย โดยตัวแทนของโอไอซีได้กล่าวกับผู้เขียนในระหว่างการเยือนภาคใต้ว่าโอไอซีนั้นเป็นแต่ไปเข้าร่วมการพูดคุยที่จัดโดย “ภาคประชาสังคม” โดยนาย El-Masry ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปิดการพูดคุยกับฝ่ายขบวนการโดยเร็วเพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้
อีกไม่กี่เดือนถัดมา หลังการเดินทางมาเยือนในครั้งนั้น โอไอซีก็ได้กล่าวถึงสถานการณ์ภาคใต้หลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งที่ 39 ในเดือนพฤศจิกายน 2555 ในแถลงการณ์เกี่ยวกับชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกโอไอซี โดยโอไอซีได้ระบุว่าความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาภาคใต้นั้น “ยังไม่เพียงพอ” (meager progress) และได้เสนอแนะให้รัฐบาลไทย “ดำเนินการพูดคุยกับแกนนำของคนมุสลิมเพื่อแสวงหาทางออกและอนุญาตให้ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นได้รับสิทธิที่พึงจะมี” อาจกล่าวได้ว่าโอไอซีประนีประนอมด้วยการไม่เข้ามามีบทบาทโดยตรงซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยปฏิเสธ แต่ในขณะเดียวกัน ก็พยายามจะกดดันให้รัฐบาลเร่งเปิดการพูดคุยกับขบวนการอย่างเร็วด่วน
กระบวนการเจนีวา
กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มการพูดคุยอีกกลุ่มหนึ่งคือองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ (iNGO) Center for Humanitarian Dialogue (ศูนย์การพูดคุยเพื่อมนุษยธรรม – The HD Centre) เป็นองค์กรหลักที่ทำงานเพื่อผลักดันให้เกิดการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มขบวนการปลดปล่อยปาตานีมาตั้งแต่ปี 2549 จากที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับทางเอ็ชดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าเอ็ชดีได้ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มพูโล โดยเฉพาะปีกที่นำโดยนายคัสตูรี มาห์กอตา โดยใช้วิธีการประสานงานทางการทูตกับฝ่ายต่างๆ อย่างเงียบๆ ไม่ออกสื่อ
ในช่วงสมัยของรัฐบาลสุรยุทธ จุลานนท์ซึ่งได้มีการประกาศนโยบายปรองดองและแสดงความพร้อมในการเปิดการพูดคุยกับขบวนการปลดปล่อยปาตานี เอ็ชดีได้เป็นตัวกลางประสานให้เกิดการพบกันระหว่างนายกฯ สุรยุทธและนายคัสตูรีในประเทศบาห์เรนในช่วงท้ายของปี 2550 แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่นานหลังจากนั้นรัฐบาลรักษาการก็หมดอำนาจ ต่อมาในยุคที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ทางกลุ่มพูโลได้เสนอที่จะทำ “พื้นที่สันติภาพ” (peace zone) เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างความเชื่อมั่น (confident-building) ระหว่างคู่ขัดแย้ง แต่ว่ารัฐบาลสมัครก็ถูกกระแสการต่อต้านจากกลุ่มเสื้อเหลืองเล่นงานอย่างหนัก จนไม่มีสมาธิที่จะแก้ปัญหาเรื่องภาคใต้ได้ การแก้ไขปัญหาภาคใต้ในช่วงนั้นตกอยู่ในมือของกองทัพเป็นหลัก
เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนในเดือนธันวาคม 2551 ทางกลุ่มพูโลก็ได้ร่วมกับสมาชิกบางส่วนของบีอาร์เอ็น-โคออร์ดิเนทตั้งองค์กรร่มที่ชื่อว่า “ขบวนการปลดปล่อยปาตานีมลายู” (Pattani Malay Liberation Movement - PMLM) ในเดือนมกราคม 2553 ต่อมาในเดือนมิถุนายน PMLM ได้เสนอที่จะทำการหยุดยิงฝ่ายเดียวในสามอำเภอในจังหวัดนราธิวาส อันได้แก่ อ.เจาะไอร้อง อ.ยี่งอ และอ.ระแงะ เพื่อแสดงให้เห็นว่าขบวนการมีความจริงใจในการพูดคุยและมีความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวในพื้นที่ได้ โดยการหยุดยิงครั้งนั้นครอบคลุมเฉพาะปฏิบัติการโจมตีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและเป้าหมายของรัฐเท่านั้น
รัฐบาลอภิสิทธิ์รับทราบการดำเนินการนั้นอย่างเงียบๆ หลังจบช่วงเวลาการหยุดยิงแล้ว นายคัสตูรีได้ออกแถลงการณ์โดยระบุว่าระดับความรุนแรงได้ “ลดลงอย่างมาก” มีเหตุรุนแรงที่โจมตีเจ้าหน้าที่รัฐเพียงแค่ครั้งเดียวในช่วงเวลานั้น โดยเป็นเหตุระเบิดรถตำรวจใน อ.เจาะไอร้องในวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ส่งผลให้มีตำรวจบาดเจ็บหนึ่งนาย ทางฝ่ายกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาคสี่ (กอ.รมน. ภาคสี่) ก็ออกมาตอบโต้โดยระบุว่าตามสถิติของกอ.รมน. มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอีก 9 ครั้งซึ่งทางพูโลไม่ได้นับรวม ผลสัมฤทธิ์ของการทดลองหยุดยิงในครั้งนั้นเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก
งานของเอ็ชดีมีพัฒนาการที่สำคัญในช่วงท้ายๆ ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ กล่าวคือรัฐบาลได้มีคำสั่งให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยกระดับการพูดคุยให้เป็น “ทางการ” สมช. เป็นหน่วยงานหลักของรัฐที่ทางเอ็ชดีประสานงานร่วมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนัยของคำสั่งนี้ก็คือน่าจะเป็นการยกระดับกระบวนการพูดคุยในกรอบที่ทางเอ็ชดีเป็นผู้อำนวยความสะดวกมาอย่างยาวนานนั่นเอง การดำเนินการดังกล่าวส่วนหนึ่งก็เป็นวิธีกีดกันมิให้โอไอซีขยับเข้ามาเล่นบทบาทคนกลาง เป็นที่น่าสังเกตว่าคำสั่งนี้มีขึ้นสามเดือนหลังจากที่โอไอซีได้พบปะกับตัวแทนขบวนการในกรุงกัวลาลัมเปอร์และเจดดาห์ซึ่งทำให้ฝ่ายไทยไม่พอใจอย่างมาก ไม่กี่เดือนหลังจากได้รับ “ไฟเขียว” จากรัฐบาล นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสมช. ในขณะนั้นก็เริ่มให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่ารัฐบาลต้องการสนับสนุนการพูดคุยกับ “ผู้เห็นต่างจากรัฐ” (“ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ไม่มีอะไรขัดข้องปกครองพิเศษชายแดนใต้” ประชาไท, 9 พฤษภาคม 2554) ซึ่งคำคำนี้นับเป็นนวัตกรรมทางวาทกรรมที่สร้างการมองคู่ขัดแย้งด้วยมุมมองใหม่ เป็นภาษาที่เข้ามาแทนคำว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” หรือ “ผู้ก่อเหตุรุนแรง” ที่มักที่ฝ่ายความมั่นคงและสื่อมวลชนใช้กันอย่างแพร่หลายก่อนหน้านี้
การดำเนินการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ มีข้อมูลปรากฏในสื่อและพื้นที่สาธารณะบ้างแต่ก็ไม่ได้อยู่ในความรับรู้ของสาธารณะอย่างต่อเนื่อง การรับรู้ในเรื่องภาคใต้ของสาธารณชนมักมุ่งไปที่เหตุรุนแรงมากกว่าความพยายามแสวงหาทางออกด้วยการเมือง
หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานข่าวเจาะชุด "เส้นทางของกระบวนการสันติภาพ" ได้รับความสนับสนุนจากโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (Southern Thailand Empowerment and Participation (STEP) Project และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) - http://www.deepsouthwatch.org/dsj/5377