รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช
เปิดฉากการพูดคุยที่ KL
กระแสลมได้เปลี่ยนทิศหลังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคนเล็กของอดีตนายกฯ ทักษิณชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 2554 แกนหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการพูดคุยกับกลุ่มขบวนการปลดปล่อยปาตานีที่เป็นทางการขึ้น ก็คือ อดีตนายกฯ ซึ่งหนีภัยการเมืองอยู่นอกประเทศนั่นเอง
เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนขั้ว ก็ส่งผลถึงการเปลี่ยนผู้คุมบังเหียนหน่วยงานหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยเช่นกัน พ.ต.อ. ทวี สอดส่องได้ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แทนนายภาณุ อุทัยรัตน์ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์ พ.ต.อ.ทวีไม่ใช่คนหน้าใหม่ในสนามภาคใต้แต่อย่างใด เป็นที่ทราบกันว่าเขามีความใกล้ชิดสนิทสนมกับตระกูลชินวัตร ทวีเคยลงมาคลุกคลีในภาคใต้หลังเหตุปล้นปืนไม่นานในบทบาทของรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ก่อนที่จะถูกย้ายไปเป็นรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)
หลังการรัฐประหารในปี 2549 ในสมัยนายกฯ สมัคร พ.ต.อ.ทวี กลับมานั่งที่กรมสอบสวนคดีพิเศษในตำแหน่งอธิบดี และเมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้วอีกครั้งและพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาบริหารประเทศ เขาก็ถูกโยกไปนั่งตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อพรรคเพื่อไทยกลับมากุมบังเหียนรัฐบาล พ.ต.อ.ทวีก็ถูกวางตัวให้มาคุมงานภาคใต้ อาจกล่าวได้ว่าเขาน่าจะเป็นตัวหลักของพรรคเพื่อไทยในการทำงานเรื่องภาคใต้ให้กับรัฐบาลมากกว่ารัฐมนตรีคนใดๆ เขามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพูดคุยในครั้งนี้ร่วมกับทักษิณ
แหล่งข่าวที่ติดตามการพูดคุยอย่างใกล้ชิดกล่าวว่าทักษิณได้ไปพบกับนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในเดือนมกราคม 2555 โดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวที่เคยมีเพื่อขอให้มาเลเซียช่วยประสานงานเรื่องการพูดคุย เมื่อนายกฯ ยิ่งลักษณ์เดินทางไปเยือนกัวลาลัมเปอร์เพื่อแนะนำตัวหลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ เธอก็ได้หารือในเรื่องนี้ต่อกับนายนาจิบ โดยนายกฯ มาเลเซียได้แถลงข่าวหลังการพบกันว่าฝ่ายไทยได้ขอให้มาเลเซียช่วยหาทางออกระยะยาวให้กับปัญหาภาคใต้ (“Yingluck, Najib vow to tackle insurgency”, Bangkok Post, 21 February 2012) ท่าทีของนายกฯ ยิ่งลักษณ์นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในเชิงนโยบายของรัฐไทยซึ่งที่ผ่านมายังลังเล กระทั่งปิดกั้นการเข้ามามีส่วนร่วมของรัฐบาลมาเลเซียในการแก้ปัญหาภาคใต้ เพราะมองว่ามาเลเซียนั้นอาจจะมีผลประโยชน์และไม่เป็นกลาง
แหล่งข่าวระบุว่าหลังจากนั้น ทักษิณได้ไปพบกับแกนนำขบวนการปลดปล่อยปาตานี 17 คนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2555 สองสัปดาห์หลังการพบกันก็ได้เกิดเหตุการณ์ระเบิดคาร์บอมบ์พร้อมกันสองแห่งในวันที่ 31 มีนาคมที่โรงแรมลีการ์เด้นท์ในใจกลางเมืองหาดใหญ่และที่ถนนรวมมิตรซึ่งเป็นย่านธุรกิจการค้าและบันเทิงในตัวเมืองยะลาซึ่งร้านค้าส่วนใหญ่เป็นของชาวจีนและชาวพุทธ แรงระเบิดได้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 คนและมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 400 คน ภายหลังเหตุการณ์นั้น พรรคฝ่ายค้านก็ได้กล่าวโทษว่าเหตุระเบิดนั้นเป็นผลจากการที่ทักษิณไปคุยกับกลุ่มขบวนการ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกกล่าวกับสื่อว่าเหตุการณ์นี้อาจเกิดจากการพูดคุยไม่ครบกลุ่ม เพราะพวกเขาอาจจะต้องการสร้างสถานการณ์เพื่อแย่งชิงการนำ ("ปูบินปลุกขวัญหาดใหญ่ บิ๊กตู่เตือนปรามรัฐบาลเจรจาโจรใต้" มติชนรายวัน, 3 เมษายน 2555)
ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2555 มีการโยกย้ายข้าราชการในสมช. ครั้งสำคัญ โดยนายสมเกียรติ บุญชู รองเลขาธิการ สมช. ซึ่งเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพูดคุยในกรอบของกระบวนการเจนีวาร่วมกับเอ็ชดีถูกโยกย้ายไปที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดย พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตรได้มานั่งในตำแหน่งนี้แทน อีกสามเดือนถัดมา เขาก็ขึ้นคุมบังเหียนในฐานะเลขาธิการสมช. คนใหม่ พล.ท.ภราดรได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการขับเคลื่อนการพูดคุยร่วมกับทวีและทักษิณ
ในช่วงเดือนมกราคม 2556 ก็มีความคืบหน้าสำคัญ เมื่อร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปพบกับนายกฯ นาจิบเพื่อพูดคุยในเรื่องรายละเอียดของข้อตกลงการพูดคุยที่จะมีขึ้น พล.ท.ภราดรได้พูดเป็นนัยในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าทางมาเลเซียยินดีที่จะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ย (mediator) หากได้รับการร้องขอ (“KL offers to act as a go-between in South”, The Nation, 11 January 2013) ในที่สุด การลงนามเปิดฉากการพูดคุยก็เกิดขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยพล.ท. ภราดรตัวแทนของฝ่ายไทย (ปาร์ตี้ A) กับนายฮาซัน ตอยิบตัวแทนของฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานี (ปาร์ตี้ B) ได้ร่วมกันลงนาม “ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ” (General Consensus on the Peace Dialogue Process)
มีอะไรอยู่ในข้อตกลง ?
รายละเอียดข้อตกลงมีประเด็นสำคัญ คือ 1) พล.ท. ภราดร ในฐานะเลขาธิการสมช. เป็นหัวหน้าคณะในการ “สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเสริมสร้างสันติภาพ” 2) รัฐบาลไทย (ปาร์ตี้ A) มีความต้องการที่จะ “ร่วมพูดคุยกับผู้ที่มีความเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่างจากรัฐ” (ปาร์ตี้ B) 3) กระบวนการนี้จะดำเนินการภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย 4) มาเลเซียจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) และ 5) ผู้ที่เกี่ยวข้องในกลุ่มที่ดำเนินการร่วมกันนี้จะได้รับหลักประกันเรื่องความปลอดภัย
ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมาข้าราชการหลายคนมีความกังวลใจว่าไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับการพูดคุยกับขบวนการ และบ้างก็เกรงว่าการเจรจากับผู้ที่ก่ออาชญากรรมจะเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย พัฒนาการด้านนโยบายรัฐสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งทำให้ข้าราชการมี “หลังพิง” ในการดำเนินการพูดคุยกับขบวนการอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ก็คือ “นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-57” นโยบายดังกล่าวร่างขึ้นโดย สมช. ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ. บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ซึ่งเริ่มบังคับใช้ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ นโยบายซึ่งจะเป็นแม่บทในการดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาในภาคใต้นี้ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 และมีการอภิปรายในรัฐสภาแบบไม่ลงมติในเดือนถัดไป หนึ่งในเก้าวัตถุประสงค์หลักของนโยบายนี้ คือ “เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ”
การใช้คำว่าปาร์ตี้ A และ B โดยไม่ได้ระบุชัดเจนลงไปว่าเป็นบีอาร์เอ็นเท่านั้นเป็นการเปิดโอกาสให้มีการรวมเอากลุ่มอื่นๆ เข้าไปร่วมภายหลังได้ ซึ่งจะเห็นต่อไปว่ามีการพัฒนาการที่จะนำเอากลุ่มพูโลและบีไอพีพีเข้ามาร่วมด้วย แม้ไม่ได้ใช้ชื่อบีอาร์เอ็น แต่ว่าในข้อตกลงก็มีตราประทับว่า “BRN” ในการลงนามของปาร์ตี้ B ด้วย มีข้อสงสัยว่าบีอาร์เอ็นที่เชื่อว่าได้แยกเป็นสามกลุ่มคือ อูลามา คองเกรสและโคออดิเนทนั้นรวมตัวกันแล้วหรือ การลงนามจึงกระทำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยไม่มีสร้อยต่อท้าย
อุสตาซฮัสซัน ตอยิบได้ตอบประเด็นนี้ในการให้สัมภาษณ์กับมีเดียสลาตัน สื่อมลายูท้องถิ่นในภาคใต้ว่า “ความจริงแล้ว บีอาร์เอ็น โคออดิเนทไม่ได้มีอยู่เลย ... ชื่อโคออดิเนทนั้น เราใช้แค่ไม่กี่เดือนเอง ไม่ถึงปีด้วยซ้ำ คือประมาณปี 2522 – 23 ประมาณ 8 เดือนเท่านั้น” อุสตาซฮัสซันเล่าว่าจริงๆ แล้วตนเป็นคนที่คิดชื่อนั้น เพื่อต้องการจะรวมฝ่ายต่างๆ เข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็นการเมืองภายในประเทศ เยาวชน การทหาร เศรษฐกิจและฝ่ายต่างประเทศ เพราะก่อนหน้านั้นมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นเอกภาพภายใน ส่วนบีอาร์เอ็น-คองเกรสนั้น อุสตาซอัสซันกล่าวว่าปีกคองเกรสนั้นเคยมีอยู่จริง เป็นการแตกกันภายในฝ่ายเปอร์มูดอ แต่ว่าได้รวมกันแล้วในปี 2555 (อัลดุลเลาะห์ วันมาหมัด (ถอดความ), Exclusive : ถอดบทสัมภาษณ์พิเศษ ‘ฮัสซัน ตอยิบ’ แกนนำ BRN (ตอน 2), ประชาไท, 24 มิถุนายน 2556)
ข้อตกลงที่ว่าการพูดคุยนี้จะดำเนินไป “ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย” ทำให้ชาวมลายูปาตานีส่วนหนึ่งที่ยังต้องการต่อสู้เพื่อเอกราช ทั้งที่อยู่ในขบวนการและผู้สนับสนุน เช่น กลุ่มนักกิจกรรมที่เป็นอดีตนักศึกษาซึ่งเคลื่อนไหวอย่างสันติ ได้ออกมาแสดงความคลางแคลงสงสัยว่าคณะผู้แทนในฝ่ายปาร์ตี้ B นั้นเป็นตัวแทนที่แท้จริงของขบวนการปลดปล่อยปาตานีหรือไม่ ทำไมจึงยอมรับที่จะพูดคุยในกรอบรัฐธรรมนูญไทยโดยง่าย ซึ่งโดยนัยก็หมายความว่าได้ยอมละเป้าหมายสูงสุดเรื่องเอกราชไปแล้ว การยอมรับเงื่อนไขนี้ทำให้นักเคลื่อนไหวบางส่วนคลางแคลงใจที่จะสนับสนุนหรือกระทั่งต่อต้านการพูดคุยสันติภาพในกรอบนี้
ในเรื่องของสถานะและหน้าที่ของมาเลเซียก็เป็นประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในข้อตกลงนี้ได้ระบุให้มาเลเซียมีหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ไม่ใช่ผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) นายกฯ นาจิบได้แต่งตั้งนายอาหมัด ซัมซามิน ฮะชิม ซึ่งเป็นอดีตอธิบดีของ Prime Minister’s Department ให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกและเป็นประธาน “คณะทำงานร่วมว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพในภาคใต้ของไทย” (Joint Working Group on Peace Dialogue Process on Southern Thailand - JWG-PDP) ความหมายอย่างเคร่งครัดของผู้อำนวยความสะดวกก็คือมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้คู่ขัดแย้งได้พบและพูดคุยกันเท่านั้น โดยไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพูดคุย ในขณะที่ผู้ไกล่เกลี่ยนั้นจะเข้าไปมีบทบาทเป็นคนกลางในการพูดคุยด้วย บทบาทหน้าที่ของมาเลเซียและ “ชื่อเรียก” นี้ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญ ดังที่เราจะได้เห็นต่อไป
ใครเป็นใครในปาร์ตี้ B?
ในส่วนของปาร์ตี้ A นอกเหนือจากพล.ท. ภราดรในฐานะหัวหน้าคณะแล้ว ก็มี พ.ต.อ.ทวี พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) และพล.ต.ท. สฤษดิ์ชัย อเนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลเป็นผู้ที่มาร่วมลงนาม ตามเอกสารของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยระบุว่า ในส่วนของปาร์ตี้ B มีนายฮัสซัน หัวหน้าฝ่ายประสานงานต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะ ร่วมลงนามพร้อมกับนายอาวัง ยาบะ ฝ่ายประสานงานขบวนการกับเจ้าหน้าที่มาเลเซีย นายอับดุลเลาะห์ หัวหน้าอูลามา จังหวัดนราธิวาสและนายอับดุลเราะห์มาน ยาบะ หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงขบวนการ
มีผู้ตั้งข้อสังเกตกันมากว่าการลงนามในครั้งนั้น บีอาร์เอ็นอาจถูกรัฐบาลมาเลเซียกดดันให้มาเข้าร่วม แหล่งข่าวที่ติดตามสถานการณ์การพูดคุยอย่างใกล้ชิดเล่าว่าการเตรียมการพูดคุยในครั้งนี้นายอาวัง มีบทบาทอย่างสำคัญในการประสานกับทางฝ่ายมาเลเซีย โดยนายอาวังนั้นมีความใกล้ชิดกับทางตำรวจสันติบาลของมาเลเซีย โดยอุสตาซฮัสซันได้มาเข้าร่วมเพียงไม่กี่วันก่อนหน้าการลงนาม มีเรื่องเล่าในทำนองว่าเขาถูกควบคุมตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากตอนเหนือของมาเลเซียมายังกัวลาลัมเปอร์ โดยมีนัยว่าเขาอาจจะถูกบังคับให้เข้ามาร่วมลงนาม
แหล่งข่าวระบุว่าในการลงนามครั้งนั้น อุสตาซฮัสซันยังไม่ได้รับฉันทามติจาก“สภาองค์กรนำ” (Dewan Pimpinan Parti - DPP) หรือที่บางครั้งเรียกว่า “สภาชูรอ” มีแต่เพียงการปรึกษาเป็นรายบุคคลไป ข้อมูลที่ได้รับจากหลายๆ แหล่งยังไม่ตรงกันว่าอุสตาซฮัสซันนั้นเป็นหนึ่งในสมาชิกของสภาองค์กรนำหรือไม่ บ้างว่าใช่ บ้างว่าเขาทำหน้าที่ประสานงานด้านต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้อยู่ในส่วนของสภาองค์กรนำ หลังการลงนาม ทางสภาองค์กรนำก็ได้มีการปรึกษาหารือกัน โดยได้มีฉันทามติร่วมในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2556 ว่าให้เดินหน้าเรื่องการพูดคุย
โดยหลังจากนั้นก็ได้มีการตั้งองค์ประกอบของคณะผู้แทนการพูดคุยใหม่ โดยประกอบไปด้วย 1 อุสตาซฮันซัน 2 อุสตาซมะ โฉลง สมาชิกอาวุโสของบีอาร์เอ็น คองเกรส 3 นายอาดัม มูฮัมหมัด นอร์ หรือนายฟาเดล อาหามะ สมาชิกอาวุโสของบีอาร์เอ็น คองเกรส 4 นายอับดุลการิม คาลิบ หรืออับดุลรอนิง เป็นสมาชิกระดับนำของบีอาร์เอ็น ดูแลฝ่ายเปอร์มูดอ 5 นายมะสุกรี ฮารี เป็นลูกชายของนายอิสมาแอ ฮารี ประธานคณะกรรมการอิสลามยะลา เขาเคยเป็นผู้จัดการ โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา (ลำใหม่) ซึ่งเป็นหนึ่งในแปดผู้ต้องหาคดีแปดอุสตาซอันโด่งดังเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งถูกทางดีเอสไอดำเนินคดีในข้อหากบฏต่อราชอาณาจักร โดยอุสตาซส่วนใหญ่เป็นครูซึ่งสอนอยู่ที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ เขาได้หลบหนีไป ภายหลังจากได้รับการประกันตัว 6 นายลุกมาน บิน ลิมา สมาชิกระดับนำของกลุ่มพูโลที่มีความสนิทสนมกับบีอาร์เอ็น ดูเหมือนว่านายลุกมานไม่ได้เข้ามาในฐานะตัวแทนของพูโลอย่างเป็นทางการ (กลุ่มพูโลได้แตกเป็นสามปีก คือ PULO-Perpaduan เป็นกลุ่มที่นำโดยนายนอร์ อับดุลเราะห์มาน โดยนายลุกมานสังกัดอยู่กลุ่มนี้ PULO-MKP นำโดยนายคัสตูรี และ PULO-P-4 นำโดยซัมซูดิง คาน)
ตัวแทนของฝ่ายขบวนการได้กล่าวในการพบปะกับกลุ่มนักข่าวไทยเจ็ดคนจากกรุงเทพฯ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ว่าพวกเขาเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยด้วยความเต็มใจ แม้ว่าในช่วงแรกๆ จะมีบางกลุ่มที่ไม่อยากเข้าร่วมเพราะว่าทักษิณเป็นผู้ไปชักชวน พวกเขามีเงื่อนไขสามประการ คือ หนึ่ง ฝ่ายไทยต้องประกาศดำเนินการพูดคุยอย่างชัดเจน ไม่ใช่ทำอย่างเงียบๆ สอง มีมาเลเซียเป็นตัวกลางในการประสาน และสาม การพูดคุยต้องครอบคลุมทุกกลุ่มที่ปฏิบัติการในพื้นที่ พวกเขายอมรับว่าในช่วงลงนามนั้น ฝ่ายขบวนการยังไม่พร้อม แม้จะมีเจตนาจะเข้าร่วมอยู่แล้ว หลังจากนั้นพวกเขาก็ได้แก้ไขกระบวนการภายในที่เป็นจุดอ่อน (FT Media, “ขบวนการฯ พบสื่อไทย ส่งสัญญาณเดินหน้ากับสันติภาพ”, Deep South Watch, 20 พฤศจิกายน 2556)
การเปิดฉากการพูดคุยอย่างเป็นทางการนั้นนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางนโยบายที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าก่อนหน้านี้รัฐไทยไม่เคยกล้าพูดคุยอย่างเปิดเผย เพราะเกรงว่าจะเป็นการยกระดับขบวนการในเวทีสากล ในขณะที่ฝ่ายขบวนการเองก็เกรงว่าการพูดคุยอย่างลับๆ นั้นจะถูกรัฐไทยหักหลังอย่างที่เคยประสบมาในอดีต
แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล.....
หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานข่าวเจาะชุด "เส้นทางของกระบวนการสันติภาพ" ได้รับความสนับสนุนจากโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (Southern Thailand Empowerment and Participation (STEP) Project และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) - http://www.deepsouthwatch.org/dsj/5382