Skip to main content
สุชาติ เศรษฐมาลินี
สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ
มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่
 
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เดิมมีชื่อว่า “การสร้างสันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลาม” ซึ่งได้นำเสนอต่อโครงการปริทรรศน์องค์ความรู้สันติวิธีจากสายธารภูมิปัญญาตะวันออก สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เนื่องจากต้นฉบับนั้นมีขนาดยาว การเผยแพร่ในที่นี้จึงตัดแบ่งเป็นทั้งหมด 4 ตอน เรียงตามหัวข้อที่จัดเรียงไว้ในต้นฉบับเดิมและจะทยอยนำเสนอตามวาระจากนี้เป็นต้นไป
 
 
 
 
ทบทวนวรรณกรรมด้านสันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลาม
 
1. การศึกษาเกี่ยวกับสงครามและการญิฮาด 
เป็นที่น่าเสียดายที่งานศึกษาในยุคปัจจุบันเกี่ยวกับสงครามและการญิฮาดได้พยายามสร้างสมมุติฐานว่าศาสนาอิสลามมีลักษณะเฉพาะที่เอื้อต่อการยอมรับในการทำสงครามและการใช้ความรุนแรงในการจัดการความขัดแย้ง นักวิชาการบางท่านในกลุ่มนี้ได้โต้แย้งว่า อิสลามเป็นศาสนาแห่ง “สงคราม” และความรุนแรงเป็นหลักการพื้นฐานในประเพณีศาสนาอิสลาม นักวิชาการในกลุ่มนี้ทุกคนเห็นว่าการไม่ใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธีนั้นเป็นแนวคิดที่ห่างไกลจากหลักคำสอนอิสลาม        
 
นักวิชาการกลุ่มนี้มักสรุปอย่างเกินจริงและตกอยู่ในกับดักแนวคิดหลักการ “ญิฮาด” ในอิสลาม โดยอ้างว่าการญิฮาดด้วยการใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการสำคัญสำหรับมุสลิมในการสถาปนาความแตกต่างทั้งภายในและภายนอก นักวิชาการรวมทั้งนักกำหนดนโยบายในกลุ่มนี้จึงติดกรอบการใช้มุมมองการญิฮาดในการอธิบายเติบโตของกลุ่มขบวนการมุสลิมที่นิยมความรุนแรงและมีทัศนคติว่าอิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังบังคับโดยรัฐบาลและขบวนการทางศาสนา
 
2. การศึกษาเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ[1]    
นักวิชาการกลุ่มนี้ซึ่งอาจเรียกว่าคือ กลุ่ม “สงครามและสันติภาพ” จะมีมุมมองต่างไปจากกลุ่มญิฮาด โดยมีสมมุติฐานว่า ศาสนาอิสลามให้ความชอบธรรมต่อการใช้กำลังและความรุนแรงภายใต้บริบทที่จำกัดเท่านั้น ไม่สามารถใช้กำลังและความรุนแรงได้อย่างไร้ขอบเขต นักวิชาการกลุ่มนี้จึงได้เน้นไปที่เงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่อิสลามอนุญาตให้ใช้กำลังและความรุนแรงในการจัดการความขัดแย้งหรือเมื่อเผชิญหน้ากับผู้อื่น โดยนักวิชาการกลุ่มนี้อ้างอิงถึงคำสอนในคัมภีร์ อัล-กุรอ่านที่ว่า
 
“สำหรับบรรดาผู้ (ที่ถูกโจมตีนั้น) ได้รับอนุญาตให้ต่อสู้ได้ เพราะพวกเขาถูกข่มเหง และแท้จริงอัลลอฮ์ทรงสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างแน่นอน” อัล-กุรอ่าน (22:39)
 
“และพวกเจ้าจงต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์ต่อบรรดาผู้ที่ทำร้ายพวกเจ้า และจงอย่ารุกรานแท้จริง อัลลอฮ์ไม่ทรงชอบบรรดาผู้รุกราน” อัล-กุรอ่าน (2:190) 
 
นักวิชาการกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญอย่างมากกับการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และการต่อสู้ด้วยสันติวิธีนั้นเป็นเพียงวิธีการเพื่อการบรรลุเป้าหมายสู่ความยุติธรรม ดังนั้น สันติวิธีจึงมีความสำคัญในลำดับรองลงมา
 
มีนักวิชาการหลายท่านในกลุ่มนี้พยายามตีความอย่างเป็นกลางในคำสอนของอิสลามเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ แต่ทุกคนต่างยึดในกรอบคิดเกี่ยวกับความมั่นคง สงครามและยุทธศาสตร์ศึกษา หรือจากมุมมองอิสลามศึกษาในยุคคลาสสิค แทนที่จะวางบนพื้นฐานทางสันติศึกษา จึงทำให้นักวิชาการกลุ่มนี้มองการต่อสู้โดยสันติวิธีและการไม่ใช้ความรุนแรงว่าเป็นสภาวะของการยอมจำนนต่อศัตรูหรือฝ่ายตรงข้าม พวกเขาจึงให้คำนิยามสันติวิธีอย่างจำกัดและสรุปว่าอิสลามเป็นศาสนาที่ไม่สามารถต่อต้านการใช้ความรุนแรงได้    
 
ในงานของ Hashimi and Sachedina สะท้อนถึงมุมมองของกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี โดยชี้ให้เห็นถึงคำสอนสำคัญหลายประการในคัมภีร์อัล-กุรอ่าน ในการแก้ไขความขัดแย้ง ได้แก่  
 
(1) พื้นฐานทางธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ซึ่งปราศจากบาป
 
(2) ธรรมชาติของมนุษย์ต่างมีเจตจำนงค์ที่จะอยู่บนโลกนี้ด้วยสภาวะแห่งความมีสันติและสมานฉันท์กับผู้อื่น ดังนั้น สันติภาพจึงไม่ใช่เป็นเพียงการไม่มีสงคราม หากแต่ยังรวมถึงการขจัดความชั่วร้ายทั้งปวง ดังนั้น เป้าหมายของผู้เป็นเจ้าในการสร้างมนุษย์เป็นไปเพื่อความมีสันติสุข ไม่ใช่เพื่อใช้ความรุนแรงในการเข่นฆ่ากัน หรือทำสงคราม
 
(3) อย่างไรก็ตาม ย่อมมีมนุษย์ที่หลงกระทำผิด ละเมิดธรรมชาติและขัดคำสั่งของผู้เป็นเจ้า
 
(4) ศาสดาแต่ละท่านจึงเป็นผู้คอยตักเตือนผู้ละเมิดต่อผู้เป็นเจ้า
 
(5) สภาวะแห่งสันติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์ยอมต่อเจตจำนงของผู้เป็นเจ้าและใช้ชีวิตตามกฎของพระองค์
 
(6) เนื่องจากเป็นไปได้ยากที่มนุษย์หรือสังคมใดๆ จะทำตามหลักการอิสลามโดยสมบูรณ์ ดังนั้น มุสลิมจึงต้องเตรียมตัวอยู่เสมอที่จะต่อสู้เพื่อการรักษาความศรัทธาในอิสลาม
 
“และพวกเจ้าจงเตรียมไว้สำหรับ (ป้องกัน) พวกเขา สิ่งที่พวกเจ้าสามารถ อันได้แก่กำลังอย่างหนึ่งอย่างใด” อัล-กุรอ่าน (8: 60)
 
“และบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้น บางส่วนของพวกเขาย่อมเป็นผู้ช่วยเหลืออีกบางส่วน หากพวกเจ้าไม่ปฏิบัติในสิ่งนั้นแล้ว ความวุ่นวายและความเสียหายอันใหญ่หลวงก็จะเกิดขึ้นในแผ่นดิน” อัล-กุรอ่าน (8: 73)
 
            หลักการของอิสลามดังกล่าวนับเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการสร้างสันติภาพและการจัดการความขัดแย้งโดยมองว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นบริสุทธิ์และปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติและสมานฉันท์ แต่ขณะเดียวกัน ก็เห็นว่าความขัดแย้งเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ดังนั้น ผู้ที่ปฏิเสธต่อผู้เป็นเจ้าและกดขี่ข่มเหงผู้อื่นย่อมต้องต่อสู้กับผู้ที่ยอมจำนนและศรัทธาต่อผู้เป็นเจ้า และประการสุดท้าย เรียกร้องให้มุสลิมต้องแสดงการกระทำเพื่อปกป้องความศรัทธาในอิสลามของตนเองหากถูกกดขี่จากศัตรู
 
            Hashimi มีจุดยืนเช่นเดียวกับนักวิชาการอื่นๆ ที่มองว่าอิสลามไม่ใช่ศาสนาที่ต่อต้านการใช้ความรุนแรง หากอิสลามยอมรับการใช้ความรุนแรง การทำสงครามและการใช้กำลังภายใต้ข้อจำกัดของเงื่อนไขเฉพาะบางประการ อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งหลักของ Hashimi คือ แม้ว่าอิสลามจะอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงและกำลัง แต่ห้ามกระทำการก้าวร้าวและรุกรานผู้อื่น โดยเป้าหมายหลักคือ เพื่อการบรรลุสันติภาพโดยผ่านความยุติธรรมและการรักษาความศรัทธา นักวิชาการกลุ่มนี้เห็นพ้องต้องกันว่า การปกป้องอิสลาม การสถาปนาความยุติธรรมและสันติภาพได้นั้นไม่อาจใช้วิถีสันติวิธีแต่เพียงลำพัง ดังนั้น การใช้กำลังที่จำกัดหรืออย่างมีเงื่อนไขย่อมเป็นสิ่งจำเป็นควบคู่กันไป
 
            อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักวิชาการกลุ่มนี้จะมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าการทำสงครามเป็นสิ่งที่อนุมัติเพื่อเป็นการปกป้องตนเองและรัฐ แต่ก็ยอมรับว่าอิสลามห้ามการทำสงครามเพื่อการรุกราน ขยายดินแดนหรือเพื่อเป็นการอวดศักดิ์ดาเกียรติภูมิของตนเอง พวกเขาเสนอว่าการปฏิเสธการใช้ความรุนแรงโดยปราศจากเงื่อนไขนั้นเป็นการละเลยคำสอนของอิสลามที่ว่า  
 
            “การสู้รบนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว ทั้งๆ ที่มันเป็นที่รังเกียจแก่พวกเจ้า และอาจเป็นไปได้ว่า การที่พวกเจ้าเกลียดสิ่งหนึ่งทั้งๆ ที่สิ่งนั้นเป็นสิ่งดีแก่พวกเจ้า และก็อาจเป็นไปได้ว่าการที่พวกเจ้าชอบสิ่งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่สิ่งนั้นเป็นสิ่งเลวร้ายแก่พวกเจ้าและอัลลอฮ์นั้นทรงรู้ดี แต่พวกเจ้าไม่รู้”  อัล-กุรอ่าน (2; 216)
 
โดยสรุป นักวิชาการกลุ่ม “สงครามและสันติภาพ” อาจถูกวิจารณ์ได้ว่าละเลยคำสอนส่วนที่เน้นถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตมนุษย์ในทัศนะอิสลามแต่กลับหยิบยกบางตอนของคำสอนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง ซึ่งการวิจารณ์เช่นนั้นเปรียบประหนึ่งเป็นการนิยามสันติวิธีในเชิงคับแคบว่าเป็นการต่อต้านต่อการใช้ความรุนแรง  พวกเขาเห็นว่าการมองว่าอิสลามเป็นศาสนาที่ปฏิเสธการทำสงครามนั้นเป็นเรื่องความเข้าใจที่ผิด ดังนั้น จึงไม่ควรเน้นที่ว่าคำสอนของศาสนาอิสลามให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการใช้สันติวิธีหรือไม่ แต่ควรต้องพิจารณาถึงคำถามที่ว่า การใช้สันติวิธี ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร จึงจะช่วยให้มุสลิมได้รักษาความยุติธรรมในสังคม    
 
อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์อิสลามที่พิสูจน์ว่าการปฏิเสธการใช้ความรุนแรงโดยใช้วิถีแห่งสันติวิธีสามารถช่วยสร้างสันติภาพได้อย่างแท้จริงในอิสลาม ดังนำสู่แนวคิดกลุ่มต่อไป 
 
3. การศึกษาเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลาม  
นักวิชาการกลุ่มที่ศึกษาด้าน “สันติวิธี” ตระหนักดีถึงการดำรงอยู่และการมีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงที่จำกัดในคำสอนของอิสลาม แต่พวกเขาให้ความสำคัญกับศักยภาพของสันติวิธีในวิถีอิสลาม จึงได้ระบุถึงหลักการและคุณค่าในคำสอนอิสลามที่สนับสนุนแนวคิดสันติวิธี เช่น ความเชื่อพื้นฐานของอิสลามในความเป็นเอกภาพของมนุษย์ ความรักสูงสุดของผู้เป็นเจ้า ความมีเมตตา และหน้าที่ของมุสลิมที่จะต้องถูกสอบสวนจากการกระทำทุกอย่างขณะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
 
ดังนั้น นักวิชาการกลุ่ม “สันติวิธีศึกษา” จึงได้รับแรงจูงใจและการนำทางโดยกรอบสันติภาพและการใช้สันติวิธีโดยมีข้อสมมุติฐานว่า “ไม่มีเหตุผลทางเทววิทยาที่บอกว่าสังคมอิสลามปัจจุบันจะไม่สามารถเป็นผู้นำในการพัฒนาวิถีทางสันติวิธี แต่กลับมีเหตุผลมากมายที่มุสลิมควรมีการพัฒนาวิถีดังกล่าว” พวกเขาจึงได้พยายามวางหลักการเกี่ยวกับสันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลาม
 
ถึงแม้ว่า มีนักวิชาการบางคนในกลุ่มนี้ยอมรับในการใช้ความรุนแรงภายใต้สถานการณ์ที่จำกัด แต่พวกเขาทั้งหมดต่างมีมุมมองที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อในศักยภาพของการไม่ใช้ความรุนแรงและธรรมชาติของสันติวิธีตามลักษณะของศาสนาและประเพณีในศาสนาอิสลาม   
 
ดังเช่นงานบุกเบิกของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (1993 และอ้างใน Abu-Nimer 2003; 2008) ได้สรุปบทเรียนการสร้างสันติภาพและสันติวิถีในวิถีอิสลามโดยให้ข้อเสนอ 8 ประการ ได้แก่
 
1. สำหรับมุสลิมแล้ว ปัญหาของความรุนแรงเป็นปัญหาสำคัญของปริมณฑลทางศีลธรรมของอิสลาม
2. หากจะมีการใช้ความรุนแรงโดยมุสลิมแล้ว ต้องอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ซึ่งถูกกำหนดในคัมภีร์อัล-กุรอ่าน และอัล-หะดิษ   
3. การใช้ความรุนแรงโดยไม่แยกแยะว่าใครที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้หรือไม่เกี่ยวข้องในการต่อสู้นั้น เป็นสิ่งที่ไม่เป็นที่ยอมรับในศาสนาอิสลาม
4. การใช้เทคโนโลยีการทำลายล้างสมัยใหม่แบบเหวี่ยงแหย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะกระทำได้
5. ดังนั้น ในโลกปัจจุบัน มุสลิมไม่สามารถที่จะใช้ความรุนแรงได้
6. อิสลามสอนให้มุสลิมต่อสู้เพื่อความยุติธรรมด้วยความเข้าใจที่ว่า ชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมีจุดหมายปลายทาง (เช่นเดียวกับสิ่งถูกสร้างอื่นๆ ทั้งหลายจากพระผู้เป็นเจ้า)
7. เพื่อที่จะบรรลุสู่ความเป็นอิสลามที่แท้จริง มุสลิมต้องใช้ปฏิบัติการไม่ใช้รุนแรงเป็นยุทธวิธีในการต่อสู้
8. แท้ที่จริงแล้ว ศาสนาอิสลามอุดมด้วยเมล็ดพันธุ์แห่งปฏิบัติการด้วยสันติวิธีหลายประการได้แก่ การดื้อแพ่ง การมีระเบียบวินัยที่เข้มแข็ง การแบ่งปันและการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ความเพียรพยายามและความเสียสละ ตลอดจน ความเชื่อในเอกภาพของชุมชนมุสลิมและความเป็นหนึ่งเดียวกันของมวลมนุษย์
จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ข้อเสนอประการที่สองของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เห็นว่าอิสลามอนุญาตให้มีการใช้ความรุนแรงภายใต้ข้อจำกัดบางประการ แต่ในข้อเสนอประการที่ห้า ท่านเห็นว่าในสังคมปัจจุบัน มุสลิมไม่สามารถที่จะใช้ความรุนแรงได้ต่อไป
 
นักวิชาการกลุ่ม “สันติวิธีและการสร้างสันติภาพ” ได้อธิบายเงื่อนไขความจำเป็นสำหรับการปรับเปลี่ยนสู่แนวคิดสันติวิถีในวิถีอิสลามว่า
 
1. ยุคสมัยของประวัติศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังนั้น การใช้ความรุนแรงในฐานะเป็นวิถีทางในการแก้ไขปัญหาจึงเป็นสิ่งที่ศาสนาไม่ยอมรับอีกต่อไป สิ่งที่มุสลิมได้เคยใช้ในการสถาปนาและแพร่กระจายความศรัทธาเมื่อพันสี่ร้อยกว่าปีที่แล้วอาจไม่ได้มีความเหมาะสมกับสภาพความจริงในโลกปัจจุบันอีกต่อไป ดังนั้น หากประเพณีและวัฒนธรรมอิสลามจะเฟื่องฟูและเจิดจรัสอีกครั้งได้นั้น ทั้งผู้นำและมุสลิมโดยทั่วไปจะต้องรับเอาสันติวิธีเป็นวิถีแห่งชีวิตที่บ่งบอกถึงความแตกต่างของตนเอง
 
2. สถานภาพของชุมชนมุสลิมทั้งในระดับโลกและชุมชนท้องถิ่นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ดังนั้น การใช้ความรุนแรงจึงสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้อีกต่อไป ชุมชนมุสลิมหลายแห่งอาศัยอยู่ในสถานะที่เป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม สถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จึงแตกต่างไปจากยุคอิสลามเป็นชนส่วนใหญ่ในสังคมเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 7
 
3. ระบบเศรษฐกิจและการเมืองของโลกปัจจุบันที่ได้พัฒนามาเป็นเวลายาวนานร่วมศตวรรษได้ต่อต้านการใช้อาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างรุนแรงในการแก้ไขความขัดแย้ง
 
4. ความจริงในโลกยุคใหม่ ไม่สามารถให้หลักประกันในการจำกัดการใช้ความรุนแรงเลย เมื่อเรามองถึงระบบการพัฒนาอาวุธที่ร้ายแรงและการทำสงคราม ทำให้ชาวศาสนิกทั้งหลายไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต่อต้านการใช้ความรุนแรง
 
5. การใช้ความรุนแรงในฐานะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้งเป็นเพียงเศษเสี้ยวในชีวิตของท่านศาสดาและในคัมภีร์ ดังนั้น การใช้ความรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรให้ความสำคัญในยุคปัจจุบัน ในหะดิษ และประเพณีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อิสลาม เป็นแหล่งที่อุดมด้วยตัวอย่างของการสร้างสันติภาพและสันติวิธี  
 
กลุ่มนักวิชาการแนวการสร้างสันติภาพและสันติวิธีพยายามตีความใหม่กับสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ เรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งในด้านการชีวิตโดยทั่วไปและด้านการแก้ไขความขัดแย้ง พวกเขามุ่งเน้นหาแหล่งข้อมูลของอิสลามที่ประณามการใช้ความรุนแรงและการทำสงคราม รวมทั้ง เน้นการใช้ความรักความเมตตาและความอดกลั้น ดังปรากฎในคัมภีร์อัล-กุรอ่าน ว่า
 
“ทุกครั้งที่พวกเขาจุดไฟขึ้นเพื่อทำสงคราม อัลลอฮ์ก็ทรงดับไฟนั้นเสีย และพวกเขาเพียรพยายามบ่อนทำลายในผืนแผ่นดิน และอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงชอบผู้บ่อนทำลายทั้งหลาย” อัล-กุรอ่าน (5: 64)  
 
“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงใช้ให้รักษาความยุติธรรมและทำดี”  อัล-กุรอ่าน (16: 90)
 
            จากประวัติชีวิตของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) ในช่วงที่ท่านอาศัยอยู่ในเมืองมักกะฮ์เป็นเวลาถึง 13 ปี เพื่อการทำหน้าที่ในการเผยแพร่คำสอนของอิสลาม ท่านได้แสดงให้เห็นถึงการหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบแม้กระทั่งเพื่อการปกป้องตัวเอง ท่านกลับใช้การต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรงต่อชาวมักกะฮ์ที่คอยกดขี่ชาวมุสลิมอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงที่จะต่อสู้แบบเผชิญหน้า จนในที่สุดท่านเลือกที่จะอพยพไปอยู่ที่เมืองมะดีนะฮ์วึ่งอยู่ห่างไกลออกไปอีกหลายร้อยกิโลเมตร 
 
            และในช่วงเวลา 10 ปีที่ท่านใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมะดีนะฮ์ ยังคงถูกชาวมักกะฮ์ตามไปรุกรานอีก จนเมื่อยามต้องทำสงครามเป็นจำนวนหลายครั้งอันเนืองจากการถูกรุกรานจากชาวมักกะฮ์ ท่านนบีได้ใช้ชีวิตอยู่ในสนามรบจริงๆ เป็นเวลาเพียงครึ่งวันในแต่ละสงครามของ 3 สงคราม ได้แก่ สงครามอุฮูด สงครามบะดัร และสงครามฮุเนน นั่นหมายความว่าในช่วงตลอดระยะเวลา 23 ปี ของการทำหน้าที่เป็นนบีของท่านนั้น ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่ในสนามรบเพียงหนึ่งวันครึ่งเท่านั้น  
 
            นอกจากนั้น ยังมีตัวอย่างในอัล-กุรอ่าน ที่สนับสนุนการใช้สันติวิธีแม้แต่ในยามที่ต้องเผชิญหน้ากัน ดังในเรื่องราวของ ฮาบิล (อะเบล) และกอบิล (เคน) บุตรของท่านนบีอาดัม ที่ต่างเป็นตัวแทนของความถูกต้องดีงาม (ฮาบิล) ที่ปฏิเสธการใช้ความรุนแรง และตัวแทนความก้าวร้าวรุนแรง (กอบิล) อัล-กุรอ่าน ได้บรรยายไว้ว่า
           
            “และเจ้าจงอ่านให้พวกเขาฟังซึ่งข่าวคราวเกี่ยวกับบุตรชายสองคนของอาดัม (กอบิล และฮาบิล) ตามความเป็นจริง ขณะที่ทั้งสองได้กระทำการพลีซึ่งสิ่งพลีอยู่นั้น แล้วสิ่งพลีนั้นก็ถูกรับจากคนหนึ่งในสองคน และมันมิได้ถูกรับจากอีกคนหนึ่ง (กอบิล) เขา (กอบิล) จึงได้กล่าวว่า แน่นอนข้าจะฆ่าเจ้า (ฮาบิล) ให้ได้ เขา (ฮาบิล) กล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮ์จะทรงรับจากหมู่ผู้มีความยำเกรงเท่านั้น
           
หากท่าน (กอบิล) ยื่นมือของท่านมายังฉัน (ฮาบิล) เพื่อจะฆ่าฉัน ฉันก็จะไม่ยื่นมือของฉันไปยังท่าน เพื่อจะฆ่าท่าน แท้จริงฉันกลัวอัลลอฮ์ผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลโลก” อัล-กุรอ่าน (5: 27-28)
 
            นอกจากนั้น ในอิสลามยังสนับสนุนให้ใช้การเจรจาต่อรองเพื่อยุติความขัดแย้งในฐานะที่เป็นยุทธศาสตร์แรกๆ
 
            โดยสรุป นักวิชาการกลุ่มนี้เห็นว่า การปฏิเสธการใช้ความรุนแรงและสันติวิธีนั้นไม่ได้เป็นแนวคิดที่แปลกประหลาดในศาสนาอิสลามแต่อย่างใด และกลับเป็นแนวคิดหลักในคัมภีร์ของอิสลามด้วยซ้ำไป อิสลามในฐานะที่เป็นศาสนาและมีประเพณีมายาวนานจึงประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์มากมายซึ่งพบได้ทั้งในคัมภีร์ อัล-ฮะดิษ และการปฏิบัติทางวัฒนธรรม ที่บ่งบอกถึงคุณค่า ความเชื่อและยุทธศาสตร์ในการใช้สันติวิธีและการสร้างสันติภาพ ดังจะได้กล่าวในส่วนต่อไป
 
(กรุณาติดตามตอนต่อไป)  
 
เอกสารอ้างอิง
 
มัสลัน มาหามะ (แปล).  2549. สันติภาพและสงครามระหว่างบทบัญญัติในอัลกุรอานและคัมภีร์โตราห์. กรุงเทพฯ: สำนักพิพม์อัล-อีหม่าน.
 
สุชาติ เศรษฐมาลินี. 2551. ความรุนแรง สันติภาพและความหลากหลายในโลกอิสลาม. กรุงเทพฯ : สยาม
 
อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา. color:#009999">2547. อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ.  ปัตตานี: มัจลิสอิลมีย์.
 
Abu-Nimer, Mohammed. 2008. A Framework for Nonviolence and Peacebuilding in Islam.
Muis Occasional Papers Series Paper No. 6. Singapore: Islamic Religious Council of Singapore.
 
                               . 2003. Nonviolence and Peacebuilding in Islam: Theory and Practice. Florida: University Press of Florida. 
 
Cetin, muhammed. 2009. The Gulen Movement: Civic Service Without Borders. New York: Blue Dome Press.       
 
Easwaran, Eknath. 2002.  Nonviolent Soldier of Islam: Badsha Khan, A Man to Math His Mountains. California: Nilgiri Press.
 
Esposito, John and Ihsan Yilmaz. 2010.  Islam and Peacebuilding: Gulen movement Initiatives. New York: Blue Dome Press.    
 
Huda, Qamar-Ul. 2010. Crescent and Dove: Peace and Conflict Resolution in Islam. Washington, D.C.: United states Institute of Peace.
 
Khan, M. Ahsan. 2011. The Vision and Impact of Fethullah Gulen: A New Paradigm for Social Activism. New York: Blue Dome Press.    
 
Pal, Amitabh. 2011. Islam Means Peace: Understanding the Muslim Principle of Nonviolence Today. California: Praeger. 
 
Satha-Anand, Chaiwat. 1993. “The nonviolence Crescent: Eight Theses on Muslim Nonviolent Actions.” In G. Paige; C. Satha-Anand and S. Gilliatt. Islam and Nonviolence. Honolulu: Center for Global Nonviolence Planning Project.     
 


[1] ดูตัวอย่างงานขอ ง Yusuf Al-Qardawai ใน มัสลัน มาหามะ (2549)