Abdulloh Wanahmad : AwanBook
ด้วยระยะทางที่ความรุนแรงเชิงสงครามจรยุทธ์ ณ ปาตานี ได้เดินทางล่วงเลยจนถึงหนึ่งทศวรรษเศษ ที่ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้สังคมได้ประจักษ์เห็น ทั้งสภาพการณ์ของความรุนแรงที่ยังคงคุกรุ่นโดยไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงเอยกันเมื่อใด ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าใด ดูเหมือนความรุนแรงยิ่งมีวิวัฒนาการไปตามลิ่วล้อของการหมุนเวียนขององค์ความรู้ทางเทคโนโลยี ซึ่งการมีวิวัฒนาการในการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยที่มีทั้งจำนวนและศักยภาพทางอาวุธน้อยกว่าหลายเท่า เมื่อเทียบกับศักยภาพของรัฐ ถือเป็นความท้าทายต่อรัฐไทยเป็นอย่างมาก
เมื่อต้นปี 2547 ความรุนแรงเชิงสงครามที่เป็นเสมือนการจุดพลุแห่งการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยปาตานีต่อรัฐไทย ได้เริ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการก่อการทำลายล้างโดยมุ่งไปที่เป้าหมายสถานที่ราชการต่างๆ เช่น โรงเรียน สถานีอนามัย แม้กระทั่งหน่วยงานท้องถิ่นของรัฐอย่างองค์การบริหารส่วนตำบลหรืออบต. ก็มิเว้น อันเป็นการแสดงออกการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ พร้อมกับการสังหารเป้าหมายบุคลากรทางราชการ ทหาร ตำรวจ และพลเรือน ทุกระดับชั้น
กว่าสิบปีที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ตกอยู่ท่ามกลางภวังค์แห่งความหวาดกลัว หลังจากที่ทั่วทุกพื้นที่ของชุมชน ล้วนเต็มไปด้วยกองกำลังเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ซึ่งย่อมสร้างความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนในพื้นที่เป็นธรรมดา
เมื่อความรุนแรงเชิงการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเองจากอาณัติของผู้ปกครอง ที่คนในพื้นที่ยังเชื่อว่า ตัวเองถูกกดขี่จากรัฐในทุกๆ ด้าน ที่ได้เลือกใช้วิธีที่รุนแรงในการบรรลุเป้าหมายของตัวเอง กลับยิ่งสร้างความยากลำบากให้กับรัฐในการคลี่คลายปัญหาเป็นเท่าตัว ซึ่งทุกพื้นที่ของโลกที่มีการต่อสู้ที่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ทางการเมือง อำนาจ และผลประโยชน์ทางทรัพยากร อันเป็นผลประโยชน์สูงสุดของกลุ่มชนนั้นๆ ที่ควรจะได้รับสิทธิในการบริหารจัดการด้วยตัวเอง ได้แสดงออกให้เห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่การต่อสู้ด้วยหลักอหิงสาหรือโดยวิถีทางที่สันติมิเป็นผลและไม่ถูกรับฟังตอบสนองจากผู้มีอำนาจแห่งรัฐ หนทางสุดท้ายก็จะแปรสภาพเป็นการต่อสู้ทางอาวุธ อันเป็นหนทางเลือกสุดท้ายและถาวรในการต่อสู้กับผู้ปกครองที่ทำตัวเอาหูไปนาเอาตาไปไร่
เด็กๆ ในปาตานี ที่เกิดหลังปี 2547 คงจะได้เห็นภาพเจ้าหน้าที่ความมั่นคง แบกอาวุธผ่านไปมาหน้าบ้าน ในชุมชน ในตลาด ในเมือง แม้กระทั่งโรงเรียน อันเป็นสถานที่เด็กๆ จะซึมซับบรรยากาศและความทรงจำภาพทหารชุดดำ ลายพราง จนเป็นมโนภาพที่มิอาจละทิ้งออกจากมันสมองได้
หลังจากเหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายทหารที่ปีเหล็งเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เพียงไม่กี่ชั่วโมง รัฐบาลก็ได้ประกาศใช้กฎหมายพิเศษ กฎอัยการศึกเพื่อเป็นการป้องปรามเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนั้น ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นการกระตุกหนวดเสือ และเป็นการเหยียบถ้ำเสือฉันใดก็ฉันนั้น และยิ่งไปกว่านั้นเหตุการณ์ชนิดนี้ไม่เคยเกิดขึ้นที่ใดในโลก
หลังจากนั้นเพียงไม่นานรัฐบาลก็ได้ประกาศใช้กฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.) ยิ่งตอกย้ำความรุนแรงทางความรู้สึกให้กับประชาชนในพื้นที่ที่มีต่อการใช้อำนาจของภาครัฐผ่านกลไกที่มีอยู่
ปรากฏการณ์ภายหลังจากที่กฎหมายพิเศษได้ครอบงำอยู่เหนือชนชาวปาตานีที่เป็นชาวมลายู ทำให้กฎหมายดังกล่าวกลับยิ่งเป็นการกดขี่ผ่านอำนาจรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยมีข้อบัญญัติตามกฎหมายรับรองในการปฏิบัติการของรัฐ
สิบกว่าปีที่ผ่านมาสังคมปาตานีต้องประสบกับความรุนแรงที่ไม่มีใครสามารถยับยั้งและจำกัดขอบเขตของปฏิบัติการณ์ได้ ยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งตอกย้ำถึงวิธีการที่ทั้งสองฝ่ายหยิบยกนำมาเป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนทั้งระดับนโยบายตลอดจนถึงระดับผู้ปฏิบัติระดับล่าง
สิบกว่าปีที่เด็กๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องอยู่ท่ามกลางไออุ่นแห่งสงครามอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เด็กๆ จะซึมซับเอาภาพเหล่านั้นบันทึกในความทรงจำ ซึ่งเป็นการบ่มเพาะความรู้สึกทางการทหารและการใช้กำลังต่อความนึกคิดของพวกเค้าในอนาคต ถือเป็นการบ่มเลี้ยงโดยสภาพการณ์และสภาวะของความขัดแย้งที่เด็กๆ ไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจ นอกจากเป็นได้แค่ผู้กระทบเท่านั้น
เมื่อเด็กๆ ที่เกิดและเติบโตในห้วงที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงปะทุขึ้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน ที่ในพื้นที่กลับเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเดินลาดตระเวน ทั้งบนถนน ในป่า ในสวนยาง ในชุมชน จนภาพเหล่านั้นมิสามารถแยกออกจากประสาทสัมผัสได้
หากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังทวีเพิ่มโดยไม่มีเค้าลางที่จะสงบลงในเร็ววันด้วยแนวทางอันสันติได้ แน่นนออย่างยิ่งพวกเค้าย่อมกลายเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตที่เก็บซ่อนความรู้สึกแห่งอารมณ์ที่แฝงไปด้วยการใช้อาวุธต่อคู่ต่อสู้
ความรุนแรงทางความรู้สึกที่กำลังก่อตัวอย่างเงียบๆ ได้กัดกร่อนความสานติที่มีอยู่ในตัวตนของมนุษย์ ให้ค่อยๆ เติบโตเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของสังคมที่อยู่ในวิกฤติการณ์แห่งความขัดแย้ง ที่จำเป็นต้องเลือกจุดยืนให้กับตัวเองโดยปริยาย มิมีผู้ใดที่เติบโตท่ามกลางอุณหภูมิของบ้านเมืองกึ่งสงครามจะอาศัยชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวไร้เหตุผลและที่ยืนอยู่อีกต่อไป อย่างน้อยจะต้องหาเหตุผลแห่งคำตอบว่า อะไรคือโจทย์ที่ทำให้บ้านเมืองต้องตกอยู่ในภวังค์แห่งความหวาดหวั่นจนนำไปสู่การออกแบบวิถีชีวิตให้อยู่อย่างหวาดผวา เสมือนฝากชีวิตที่แสนสั้นนี้ไว้อยู่บนเส้นด้ายแห่งความอยุติธรรม ที่ยังดำรงสถาปนาอำนาจเหนือความยุติธรรมที่สังคมส่วนใหญ่ปรารถนา
อีกสิบปีข้างหน้าสังคมปาตานีโดยรวมจะอยู่กันอย่างไร หากความรุนแรงทางกายภาพยังคงเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์แนวหน้า บวกกับความรุนแรงที่แฝงเข้ามาในรูปแบบนามธรรม ที่นับวันความรู้สึกเหล่านั้นจะยังคงฟูมฟักเป็นวาทกรรมใหม่อย่างมิมีวันจบสิ้น
ยิ่งความรุนแรงที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยปราศจากการเข้ามาดูแลจัดการของคนภายนอกแล้ว เชื่อเหลือเกินว่ามันจะยิ่งสร้างความไม่แน่นอนของอนาคตลูกหลานชาวปาตานีอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ อนึ่งความรุนแรงที่ได้ปะทุขึ้นมาในรูปแบบต่างๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตโดยเฉพาะกับเส้นทางการเติบโตของเด็กๆ จะต้องพบกับทางตันของอนาคต ที่ไม่มีโอกาสจะวาดฝันของตัวเองเหมือนสังคมที่มีความปรกติสุขอย่างแน่นอน
กว่าหนึ่งทศวรรษของความรุนแรงที่ปาตานี ทำให้ระบบการจัดการการศึกษาในพื้นที่สามารถบริหารได้ไม่ดีนัก ทั้งเรื่องความปลอดภัยและเรื่องการกำหนดหลักสูตรก๋ย่อมมีผลกระทบต่อเด็กนกเรียน ซึ่งเมื่อมองดูในภาพใหญ่แล้ว อนาคตลูกหลานเด็กมลายูปาตานีมิสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่เท่าที่ควร อย่างน้อยก็เป็นได้แค่นักเรียนที่จบในหลักสูตรของรัฐก็เท่านั้นเอง
อีกสิบปีข้างหน้าหากความรุนแรงยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ ตามแรงโน้มถ่วงของสถานการณ์โลกที่พัดพาไป สังคมมลายูในภาพรวมจะต้องประสบกับคุณภาพชีวิตที่ต้องดิ้นรนอย่างยากลำบาก
การคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่ปาตานีคงจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากการใช้หลักธรรมแห่งศานติในการร่วมกันผลักดันจากคู่ขัดแย้งหลัก ไม่ว่าจะเป็นการอาศัยเสียงเพรียกของประชาชนในการกำหนดชะตากรรของตนเองหรือการทำประชามติ ถึงแม้ว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐค่อนข้างมีความวิตกก็ตามว่าประชาชนในพื้นที่ปรารถนาที่จะกำหนดออกแบบวิถีการปกครองของตนเอง แต่นั่นเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะเป็นการคลี่คลายปัญหาที่ถูกหมักหมมมาอย่างยาวนาน และนั่นก็เป็นสิ่งที่นักสันติวิธีทั่วโลกปรารถนาและยอมรับอย่างแน่นอน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกสิ่งอย่างจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความพร้อมของคนปาตานีเองทั้งพุทธ มุสลิม และคนจีน ในการร่วมกันหาทางออกเพื่อตกพลึกคำตอบสุดท้ายให้ได้ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือความพร้อมและความใจกว้างของรัฐไทยในการเปิดโอกาสให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ออกเสียง “ทำการประชามติ” เพื่อแสดงออกเจตนาของตัวเองอย่างแท้จริง เพราะหากนั่นเป็นทางออกที่ดีที่สุด ความรุนแรงก็ไม่อาจมีความหมายในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่ปาตานีได้อีกต่อไป
หากผลสุดท้ายออกมาเป็นอย่างไรนั่นคือคำตอบที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับโดยดุษฎี ไม่ว่าจะเป็นการปกครองแบบออโตนอมิ แม้กระทั่งการอยากการปกครองหรืออสระจากรัฐไทย
แต่ทั้งหมดทั้งปวงที่ได้กล่าวมานั้นประชาชนในพื้นที่คือผู้มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจ และจะต้องอยู่กับความพร้อมของรัฐไทยและฝ่ายขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพปาตานีเป็นผู้ตัดสินและสร้างบรรยากาศเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่
เมื่อปัญหาความขัดแย้งที่ปาตานีที่มีระยะทางที่ยาวนานสามารถลงเอยด้วยการทำประชามติได้ดั่งประเทศสากลเขากระทำกัน คำถามก็คือรัฐไทยและประชาชนชาวปาตานีพร้อมหรือยัง? ที่จะเข้าสู่การทำประชามติอันเป็นการแก้ไขปัญหาด้วยการเมืองอย่างแท้จริงยั่งยืนและถาวร