Skip to main content

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช                                                                                   

เดือนรอมฏอนปิดฉากลงด้วยการประกาศกร้าวของฝ่ายทหารของบีอาร์เอ็นว่าหากรัฐไทยไม่ยอมรับเงื่อนไข 5 ข้อก็จะไม่มีการพูดคุยอีกต่อไป ความรู้สึกของผู้ที่ติดตามการพูดคุยก็เริ่มไม่แน่ใจว่าการพูดคุยจะต้องยุติลงหรือไม่ แต่แล้วก็มีความเคลื่อนไหวสำคัญเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน
บีอาร์เอ็นส่งเอกสารแจงข้อเรียกร้อง 5 ข้อ
นายซัมซามิน ผู้อำนวยความสะดวกได้เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อส่งมอบเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมจากบีอาร์เอ็นให้กับฝ่ายไทย เอกสารดังกล่าวมี 2 ส่วนซึ่งเป็นเอกสาร “ปิดลับ” แต่ว่ามีการรายงานทางสื่อไปบ้างแล้วเป็นส่วนใหญ่ จากการสัมภาษณ์พิเศษเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายซัมซามินได้เปิดเผยว่าการร่างเอกสารฉบับนี้ก็เกิดขึ้นจากที่ฝ่ายไทยได้ขอให้ทางบีอาร์เอ็นอธิบายข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของดินแดนปาตานี  โดยเอกสารนี้ ตัวแทนของทางบีอาร์เอ็นเป็นผู้ร่างเป็นภาษามลายู โดยได้รับความช่วยเหลือจากทางคณะผู้อำนวยความสะดวก โดยทางคณะผู้อำนวยความสะดวกได้แปลจากภาษามลายูเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย เอกสารฉบับเต็มที่เป็นภาษาอังกฤษมีความยาว 24 หน้า และฉบับที่สรุปเป็นเพาเวอร์พอยท์ยาว 31 หน้า ในฉบับเพาเวอร์พอยท์ภาษาไทยมีความยาว 38 หน้า ซึ่งเป็นที่มาของการอ้างอิงในสื่อไทยหลายๆ ฉบับว่าเป็น “เอกสาร 38 หน้า” ที่ทางบีอาร์เอ็นส่งถึงรัฐบาลไทย
ในเอกสารที่เป็นเพาเวอร์พอยท์ได้มีการอธิบายขยายความข้อเรียกร้อง 5 ข้อ  ดังต่อไปนี้
ข้อที่ 1 การพูดคุยสันติภาพเป็นการพูดคุยระหว่างตัวแทนของนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพของชาวปาตานีซึ่งนำโดยบีอาร์เอ็นกับราชอาณาจักรไทย โดยวางอยู่บนพื้นฐานที่ว่า 1)  บีอาร์เอ็นเป็นองค์กรปลดปล่อยที่เป็นตัวแทนของประชาชาติปาตานีมลายู 2) บีอาร์เอ็นคือผู้ปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชาติปาตานีมลายู 3) บีอาร์เอ็นเป็นผู้ดูแลภารกิจและความต้องการของประชาชาติปาตานีมลายู
ทั้งนี้ เสรีภาพที่ว่านั้นหมายถึงเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนกิจ การได้รับความยุติธรรมด้านกฎหมาย เสรีภาพในด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวมลายู ตลอดจนการพูดภาษามลายู เสรีภาพที่จะไม่ถูกคุกคาม โจมตี ฆาตกรรม ลักพาตัวและกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ เสรีภาพด้านการศึกษา การจ้างงาน การประกอบธุรกิจ การเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เสรีภาพที่จะไม่ถูกกีดกั้นทางสังคมและมีสิทธิต่างๆ เท่าเทียมกับคนไทยอื่นๆ โดยบีอาร์เอ็นระบุว่าพวกเขาไม่ใช่ “กลุ่มแบ่งแยกดินแดน” เพราะว่าพวกเขาไม่ได้เรียกร้องการแยกตัวออกจากประเทศไทย นอกจากนี้  บีอาร์เอ็นยังได้เรียกร้องว่าตัวแทนในการพูดคุยทั้ง 15 คนจะต้องได้รับสิทธิการคุ้มครอง (immunity) จากการไม่ถูกลงโทษตามกฎหมาย การยกเลิกหมายจับ (ถ้ามี) การได้รับหลักประกันความปลอดภัยในชีวิตในประเทศไทย และการมีเสรีภาพในการเคลื่อนไหวทั้งในและต่างประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ในการพูดคุย    
บีอาร์เอ็นระบุว่าข้อเรียกร้องนี้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 32, 33 (สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล), 45, 46 (เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน), 63, 64 และ 65 (เสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม)
ข้อเสนอแลกเปลี่ยน ข้อที่ 1 บีอาร์เอ็นเสนอว่าหากข้อเรียกร้องได้รับการตอบสนองจะหยุดการปฏิบัติการต่อเป้าหมายอ่อนแอ อันได้แก่ ประชาชนที่ไม่ได้ติดอาวุธ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ได้ติดอาวุธ ซึ่งรวมถึงครูโรงเรียนรัฐ ทั้งนี้จะครอบคลุมถึงคนทุกวัย เพศ เชื้อชาติ ศาสนาและสถานะ   บีอาร์เอ็นจะหยุดการโจมตีเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ทั้งในเขตเมืองและย่านธุรกิจ โรงงานและนิคมการผลิต โดยข้อตกลงจะมีผลทันที
ข้อที่ 2 บีอาร์เอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกระดับมาเลเซียเป็นคนกลาง (mediator) โดยมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพูดคุยสันติภาพ โดยมาเลเซียจะมีบทบาทดังนี้ 1) จัดกระบวนการพูดคุยสันติภาพและรับประกันความสำเร็จของการพูดคุย 2) สร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นจากชาวมลายูปาตานีและประชาคมโลก 3) เป็นผู้ที่เชื่อมระหว่างคู่ขัดแย้งสองฝ่ายในการแก้ไขความขัดแย้งในปาตานี
โดยบีอาร์เอ็นเห็นว่ามาเลเซียควรจะได้รับการแต่งตั้งเป็นคนกลางในอนาคตอันใกล้ ทันทีที่การพูดคุยมีเสถียรภาพและยกระดับจาก “การพูดคุยสันติภาพ” สู่ “การเจรจาสันติภาพ” มาเลเซียนั้นเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย เป็นสมาชิกอาเซียนและสมาชิกโอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) มาเลเซียสามารถที่จะเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนการฟื้นฟูและกระบวนการสร้างใหม่ (rebuilding) ในภาคใต้ได้
บีอาร์เอ็นระบุว่าข้อเรียกร้องนี้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 (แนวนโยบายด้านการต่างประเทศ)
ข้อเสนอแลกเปลี่ยน หากข้อเรียกร้องนี้ได้รับการตอบสนอง บีอาร์เอ็นจะหยุดปฏิบัติการโจมตีชุดคุ้มครองครู โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องให้อาสาสมัครรักษาความปลอดภัยของท้องถิ่นเข้ามาทำหน้าที่แทนทหารและตำรวจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเอกชนเข้ามาทำหน้าที่แทนทหารในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่เศรษฐกิจ นอกจากนี้ บีอาร์เอ็นจะลดระดับปฏิบัติการทางการทหารอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยจะเริ่มต้นจากที่สงขลาในเดือนมกราคม ยะลาในเดือนเมษายน นราธิวาสในเดือนมิถุนายน และปัตตานีในเดือนตุลาคม 2557
ข้อที่ 3 กระบวนการพูดคุยต้องมีพยานจากผู้แทนของอาเซียน โอไอซี และเอ็นจีโอ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากทั้งฝ่ายบีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทย  ด้วยเหตุผลดังนี้ 1)เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในปาตานี จำเป็นที่จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาคมมุสลิมและนานาประเทศ 2) โดยธรรมเนียมแล้ว การพูดคุยและข้อตกลงสันติภาพใดๆ ควรต้องมีสักขีพยาน ซึ่งได้รับความเห็นชอบและได้รับความไว้วางใจจากคู่สนทนา (รัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น) 3) เพื่อเป็นหลักประกันจากทั้งสองฝ่ายว่าการพูดคุยจะดำเนินไปอย่างสอดคล้องกัน
รายละเอียดข้อเรียกร้อง ความเกี่ยวข้องของอาเซียน โอไอซีและเอ็นจีโอในอนาคตอันใกล้จะเกิดขึ้นทันทีที่การพูดคุยมีความมั่นคงและยกระดับขึ้นเป็น “การเจรจาสันติภาพ” ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและความรับผิดชอบต่อกระบวนการสันติภาพ  และจะเป็นการช่วยเหลือกระบวนการฟื้นฟูและสร้างสังคมใหม่ในภาคใต้ด้วย
บีอาร์เอ็นระบุว่าข้อเรียกร้องนี้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 82 (แนวนโยบายด้านการต่างประเทศ)
ข้อเสนอแลกเปลี่ยน บีอาร์เอ็นจะให้คำมั่นอย่างเต็มกำลังในการปฏิบัติตามฉันทามติร่วมในทุกๆ การประชุมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ข้อ 4 รัฐบาลไทยควรยอมรับการมีอยู่และอำนาจสูงสุดทางการปกครองของประชาชาติปาตานีมลายูบนแผ่นดินปาตานี (The existence and the sovereignty of the Patani Malay nation in Patani homeland) ด้วยเหตุผลดังนี้ 1) รากเหง้าของความขัดแย้งในปาตานีเกิดจากการเข้าครอบครองและการยึดเอาสิทธิต่างๆ ไปจากประชาชาติมลายูปาตานี 2) เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง (right to self- determination) 3) เป็นประเด็นของสิทธิทางการเมือง ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การศึกษาและอัตลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
รายละเอียดของข้อเรียกร้อง บีอาร์เอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยอมรับประชาคมปาตานีมลายู  (Community of Malay Patani People) โดยการรับรองนี้ต้องกระทำโดยผ่านรัฐสภา บีอาร์เอ็นไม่ได้ต้องการแบ่งแยกดินแดนจากราชอาณาจักรไทย ประเด็นนี้ต้องถูกบรรจุเป็นวาระของรัฐสภาเช่นกัน จะต้องมีการพูดคุยในรายละเอียดของข้อเรียกร้องนี้ต่อไป หลังจากมีการหยุดยิงอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งอาจใช้เวลาหลายปี
นิยามของคำว่า “สิทธิของชาวปาตานีมลายู” คือ "รัฐบาลไทยต้องยอมรับว่าเคยมีอาณาจักรอิสลามปาตานีก่อนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสยามในปีค.ศ.1776 [พ.ศ.2319] พื้นที่ส่วนนี้ในปัจจุบัน คือ จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสงขลา ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าครั้งหนึ่งเคยมีดินแดนปาตานีอยู่จริงในฐานะรัฐแห่งหนึ่งซึ่งปกครองโดยชาวมลายูมุสลิม  ดังนั้น ปัจจัยนี้จึงอธิบายถึงความชอบธรรมของประชาคมปาตานีมลายูในการเรียกร้องสิทธิของตนเองกลับคืนมา นั่นก็คือ รัฐบาลไทยจะต้องตระหนักถึงสิทธิของประชาคมปาตานีมลายูบนผืนแผ่นดินปาตานี (Hak Ketuanan Melayu Di Atas Bumi Patani) และการยอมรับนี้จะต้องกระทำโดยผ่านรัฐสภา"
รัฐบาลไทยจะต้องให้โอกาสประชาคมปาตานีมลายูในการบริหารพื้นที่ โดยจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ (special administrative region) ดังเช่น กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา เป็นที่แน่ชัดว่าการปกครองตนเองอย่างมีขอบเขตนี้อยู่ภายใต้อธิปไตยของไทยและไม่ใช่การแบ่งแยกจากอาณาจักรไทย ดังนั้น ข้อเรียกร้องนี้จึงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย และนี่คือความหมายของคำว่า “สิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง”
รายละเอียดของข้อเรียกร้องสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเองนั้นจะต้องมีการพูดคุยต่อไปในอนาคต ซึ่งควรจะรวมถึงประเด็นดังต่อไปนี้ 1.การยอมรับประชาคมปาตานีมลายู 2.รูปแบบเขตปกครองพิเศษ 3.ผู้แทนพิเศษในรัฐสภาไทย 4.ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษจากประชาคมปาตานีมลายู 5.การบริหารงานตำรวจในพื้นที่ 6. โควตาของตำแหน่งราชการในพื้นที่ 7. เรื่องดาโต๊ะยุติธรรมและสำนักงานดาโต๊ะยุติธรรม 8.เสรีภาพสื่อมวลชน 9.ส่วนแบ่งรายได้ของรัฐส่วนกลางและในพื้นที่ 10.การศึกษา
บีอาร์เอ็นระบุว่าข้อเรียกร้องนี้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 26 (ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์), 30 (ความเสมอภาคกันในกฎหมาย), 32, 33 (สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล), 39 และ 40 (สิทธิในกระบวนการยุติธรรม) ขณะที่สิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง และข้อตกลงร่วมกันในปัญหาการเมือง สังคม วัฒนธรรม มีการอ้างอิงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66 (สิทธิชุมชน) และมาตรา 78 (1) (2) (3) (ว่าด้วยการบริหารราชการส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ)
ข้อเสนอแลกเปลี่ยน บีอาร์เอ็นจะหยุดปฏิบัติการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยทหารจากกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ที่ถูกส่งเข้ามาในพื้นที่จะต้องค่อยๆ ถอนกำลังออกไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเช่นกัน กำลังของกองทัพภาคที่ 4 และตำรวจท้องถิ่นจะต้องตั้งฐานในจังหวัด  โดยจำกัดอยู่ที่ฐานขนาดใหญ่ ไม่ใช่ในหมู่บ้าน โดยการยุติปฏิบัติการทางทหารจะดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามกรอบเวลาที่ได้ระบุไว้ (จ.สงขลา เริ่มมกราคม 2557 จ.ยะลา เริ่ม เมษายน.2557 จ.นราธิวาส เริ่มกรกฎาคม 2557 จ.ปัตตานี เริ่มตุลาคม 2557) หากว่าเงื่อนไขต่างๆ ได้รับการปฏิบัติตาม บีอาร์เอ็นพร้อมที่จะเริ่มการหยุดยิงอย่างเป็นทางการในปี 2558 
ข้อ 5 บีอาร์เอ็นต้องการให้รัฐบาลไทยปล่อยผู้ถูกคุมขังด้วยเหตุผลทางการเมืองและยกเลิกหมายจับทั้งหมด ด้วยเหตุผลดังนี้ 1) นักสู้ปาตานีเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายหรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดน 2) นักสู้ปาตานีเป็นผู้สนับสนุนความยุติธรรม ไม่ใช่ผู้กดขี่  ผู้ปกครองแบบเผด็จการ หรือเป็นผู้ทรยศหักหลังประชาชนชาวปาตานี 3) นักสู้ปาตานีเป็นผู้รักสันติภาพ ไม่ใช่ผู้สร้างปัญหาหรือเป็นพวกสุดโต่ง
บีอาร์เอ็นระบุว่าข้อเรียกร้องนี้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 32, 33, (สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล) 39, 40 (สิทธิในกระบวนการยุติธรรม) และ 81 (แนวนโยบายด้านกฎหมายและการยุติธรรม)
รายละเอียดข้อเรียกร้อง ปล่อยนักโทษและผู้ถูกจับกุมจากปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ นิรโทษกรรมให้กับนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพทั้งที่ถูกพิพากษาจำคุกหรือควบคุมตัวระหว่างดำเนินคดี ยกเลิกหมายจับ ป้องกันการฆ่านอกกฎหมายโดยรัฐทั้งโดยตรงหรือผ่านตัวแทน
ข้อเสนอแลกเปลี่ยน บีอาร์เอ็นจะทำการหยุดยิงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน พร้อมๆ กับการพูดคุยในเรื่องนี้ กล่าวคือ เมื่อมีการปล่อยผู้ต้องขัง 10 รายและยกเลิกหมายจับ 10 หมาย บีอาร์เอ็นจะหยุดปฏิบัติการในเขตพื้นที่หรืออำเภอที่เลือกมา บีอาร์เอ็นจะระบุชื่อบุคคลและรัฐบาลไทยจะต้องให้ความช่วยเหลือในกระบวนการสรรหาบุคคล บีอาร์เอ็นพร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนเวลาการหยุดยิง หากว่าเงื่อนไขต่างๆ ได้รับการปฏิบัติตาม
นี่เป็นเนื้อหาทั้งหมดในส่วนที่นำเสนอเป็นเพาเวอร์พอยท์ นอกจากนี้ ในเอกสารฉบับเต็มยังมีประเด็นเพิ่มเติมอีก โดยสาระสำคัญคือการกำหนดแผนที่การเดินไปสู่สันติภาพอย่างเป็นขั้นเป็นตอน (roadmap) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 8 ปี โดยได้มีการระบุไว้ในภาคผนวก B ว่าเป็นการเดิน 4 ขั้น 10 ระยะ กล่าวคือ 
ขั้นที่ 1 ช่วงของการพูดคุยสันติภาพ (2556 – 57) ระยะที่ 1 การพูดคุยเริ่มต้นขึ้น / ระยะที่ 2 รัฐบาลไทยยอมรับและพูดคุยในรายละเอียดข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น / ระยะที่ 3 มีการลดระดับปฏิบัติการทางการทหารของฝ่ายบีอาร์เอ็นและรัฐบาล 
ขั้นที่ 2 การเจรจาเรื่องการหยุดยิง (2558 – 59) ระยะที่ 4 การเจรจาเรื่องกรอบของการหยุดยิง  / ระยะที่ 5 การทำข้อตกลงเรื่องการหยุดยิง / ระยะที่ 6 การบังคับใช้ข้อตกลงเรื่องการหยุดยิง
ขั้นที่ 3 การเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพ (2559 – 2562) ระยะที่ 7 การเจรจาเรื่องกรอบของสนธิสัญญาสันติภาพ /ระยะที่ 8 การเจรจาเรื่องสนธิสัญญาสันติภาพ
ขั้นที่ 4 สันติภาพในชายแดนใต้ (ปี 2663) ระยะที่ 10 สันติภาพที่สมบูรณ์ในภาคใต้
ในเอกสารฉบับเต็มยังได้ชี้แจงว่าไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยรับข้อเรียกร้องทั้งห้าข้อในทันทีทันใด แต่ว่าให้มีการอภิปรายรายละเอียดในกระบวนการพูดคุย ประเด็นใดที่ได้รับการพิจารณาแล้ว ก็จะได้มีการนำไปเสนอในรัฐสภา โดยเป็นวาระแห่งชาติต่อไป โดยเรื่องนี้ไม่ควรเป็นวาระของรัฐบาลหรือคนกลุ่มใดๆ กลุ่มหนึ่ง หากว่ารัฐบาลตกลงทั้ง 5 ข้อนี้ก็เพียงพอที่จะยกระดับ “การพูดคุยสันติภาพ” ไปสู่ “การเจรจาสันติภาพ” ซึ่งจะนำไปสู่การหยุดยิงและการทำข้อตกลงสันติภาพในที่สุด
นอกจากนี้ในเอกสารยังกล่าวถึงการตกลงที่จะพบกันเป็นครั้งที่ 4 (หรือบ้างก็เรียกว่าเป็นครั้งที่ 5 หากนับการลงนามเริ่มต้นการพูดคุยสันติภาพเป็นครั้งที่1) โดยบีอาร์เอ็นเสนอจะเปลี่ยนและเพิ่มองค์ประกอบผู้แทนการพูดคุยให้ครบ 15 คน ดังนี้ หัวหน้าคณะผู้แทนจากบีอาร์เอ็น 1 คน ตัวแทนบีอาร์เอ็น 3 คน (เลขานุการ, อูลามะ, เยาวชน) ตัวแทนพูโล 2 คน ตัวแทนบีไอพีพี 1 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย นักประวัติศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ (ด้านการศึกษา ภาษาและวัฒนธรรม) นักสังคมศาสตร์ (ด้านสตรี คนชราและคนพิการ) นักสังคมศาสตร์ (ด้านการบริหารรัฐกิจ) และตัวแทนนักกิจกรรมทางสังคม   
หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานข่าวเจาะชุด "เส้นทางของกระบวนการสันติภาพ" ได้รับความสนับสนุนจากโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (Southern Thailand Empowerment and Participation (STEP) Project และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) - http://www.deepsouthwatch.org/dsj/5423
คลิกอ่าน