Skip to main content

เผยแพร่วันที่ 20 เมษายน 2557 (แก้ไข)


ขอให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจ้งเรื่องการหายตัวไปของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
สืบเนื่องจากกรณีมีรายงานข่าวว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 17เม.ย. 57 นายบิลลี่ หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ. แก่งกระจาน จ. เพชรบุรี ได้หายตัวไปขณะเดินทางจากหมู่บ้านลงมายังตัวอำเภอแก่งกระจาน ต่อมานายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมายอมรับว่าได้ควบคุมตัวนายบิลลี่ไปเพื่อสอบสวน โดยอ้างความผิดซึ่งหน้าว่าค้นตัวนายบิลลี่เจอรังผึ้งและน้ำผึ้ง 6 ขวด แต่ได้ปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว โดยไม่มีหลักฐานพยานถึงข้อกล่าวหาและการปล่อยตัวแต่อย่างใด และขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่านายบิลลี่อยู่ที่ใด ไม่มีใครพบเห็นนายบิลลี่ และไม่ได้รับการติดต่อกลับผิดวิสัยนักกิจกรรม ขณะนี้ชาวบ้านมีความห่วงกังวลในเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างมากจึงได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ไว้แล้วเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2557
ปรากฎข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 นายบิลลี่หายตัวไปขณะเดินทางมาเพื่อเตรียมข้อมูลและเตรียมการนำชาวบ้านไปร่วมการพิจารณาคดีของศาลปกครองในคดีที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติฯ และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร จากกรณีที่การเข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัวที่บ้านบางกลอยบนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งปรากฎผลการศึกษายืนยันต่อมาว่าชาวบ้านกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวเป็นชนพื้นเมืองดังเดิมที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณลำห้วยเหนือแม่น้ำบ้านบางกลอยบนมานับแต่ครั้งบรรพบุรุษเป็นเวลาร่วมกว่า 100 ปี ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับชาวบ้านชนเผ่าพื้นเมืองเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องคดีในชั้นศาล รวมทั้งการลอบสังหารนายทัศน์กมล โอบอ้อม นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอีกรายหนึ่งเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2554 และการตั้งข้อกล่าวหาจ้างวานฆ่าต่อนายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ ซึ่งขณะนี้คดีกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลหากแต่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรยังคงปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีการสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามระเบียบที่เคยปฏิบัติในกรณีที่ข้าราชการถูกฟ้องคดีอาญาร้ายแรง
เหตุการณ์หายตัวไปของนายบิลลี่ สร้างความวิตกกังวลว่าอาจน่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความในคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งนายบิลลี่และชาวบ้านต้องร่วมเป็นพยานในคดีดังกล่าวด้วย การหายตัวไปของนายบิลลี่จึงอาจส่งผลต่อคดีและการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมของกลุ่มชาวบ้านด้วย
การบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือ การอุ้มหาย เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ร้ายแรงที่สุดเป็นการละเมิดสิทธิต่อชีวิต ร่างกาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่รัฐมีหน้าที่ตามกฎหมายภายในและพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องให้การเคารพและคุ้มครองสิทธิดังกล่าว
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้บังคับบัญชาชี้แจ้งเรื่องการหายตัวไปของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยทันที รวมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่และสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อติดตามตัวนายบิลลี่ อย่างโปร่งใส เป็นอิสระและนำตัวกลับมาโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้รัฐจะต้องไม่ยินยอมต่อการกระทำอันเป็นการบังคับให้บุคคลสูญหายและต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้พบและช่วยเหลือเหยื่อและนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้หากมีข้อมูลที่เชื่อได้ว่าเป็นการบังคับให้สูญหายจริง บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการบังคับให้บุคคลสูญหายนั้นพึงถูกพักจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการในระหว่างเวลาที่มีการสอบสวนด้วย ตามที่ระบุในปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลให้พ้นจากการถูกใช้กำลังบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2535
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ 086-7093000

 
หมายเหตุ: ข้อมูลจากรายงานคู่ขนานและข้อเสนอแนะต่อประเทศไทยเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ประเทศไทย เผยแพร่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555
กรณี: การบังคับไล่รื้อชาวกะเหรี่ยงอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโดยรัฐไทย
48. กว่าทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและโดยเฉพาะหน่วยงานอุทยานแห่งชาติและป่าไม้พยายามบังคับไล่รื้อชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยง ให้ออกจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน การบังคับไล่รื้อส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงและเลือกปฏิบัติหลายประการ
49. การบังคับไล่รื้อยังอาจเป็นเหตุผลเกี่ยวข้องกับการสังหารนายทัศน์กมล โอบอ้อม ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 10 กันยายน 2554 หลังจากพยายามช่วยเหยื่อคนหนึ่งให้ยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) การบังคับไล่รื้อยังดำเนินต่อไปแม้จะมีกรอบกฎหมายที่ชัดเจนซึ่งคุ้มครองสิทธิของชาวกะเหรี่ยงให้อาศัยอยู่ในที่ดินของบรรพชนและดำรงชีพด้วยวิถีเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม
50. ความขัดแย้งระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับรัฐไทยส่วนใหญ่เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2503 เมื่อมีการประกาศให้พื้นที่บรรพชนของชาวกะเหรี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยการประกาศใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ นับแต่นั้นมารัฐได้ใช้เหตุผลหลายประการเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการบังคับไล่รื้อชาวกะเหรี่ยง โดยอ้างว่าวิธีการเพาะปลูกของพวกเขาทำลายสิ่งแวดล้อม หรืออ้างว่าต้องบังคับไล่รื้อเพราะความจำเป็นด้านความมั่นคง รวมทั้งยังอ้างว่าผู้ถูกไล่รื้อเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด หรืออ้างว่าชาวกะเหรี่ยงไม่ได้เป็นคนไทยเหมือนคนอื่น ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไม่อาจตรวจสอบได้
51. การบังคับไล่รื้อครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2554 โดยในระหว่างการบุกจู่โจม เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติได้เผาทำลายบ้านเรือนและอาหารของชาวกะเหรี่ยง มีการขโมยสมบัติของพวกเขา ฆ่าสัตว์เลี้ยงและบังคับให้ชาวบ้านต้องหลบหนี นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอ้างว่า ปฏิบัติการบังคับไล่รื้อครั้งล่าสุดมุ่งจับกุมคนเข้าเมืองที่ไม่มีเอกสารจากพม่า ไม่ได้มีเป้าหมายเป็นชาวกะเหรี่ยงพื้นเมือง ทั้งยังอ้างต่อไปว่าแม้ว่าผู้ที่ถูกไล่รื้อจะเป็นชนเผ่าพื้นเมือง แต่การบังคับไล่รื้อก็ยังชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายป่าไม้ห้ามไม่ให้บุคคลใดเข้าไปยึดครองพื้นที่อุทยาน
52. หลักฐานจากกรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้ถูกไล่รื้ออันที่จริงแล้วเป็นคนไทย ทั้งโดยการเกิดและการสืบเชื้อสาย นอกจากนั้น มาตรา 66 และ 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 คุ้มครองสิทธิของคนไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ อย่างเช่น อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หากมีการพิสูจน์ได้ว่าบุคคลเหล่านี้เข้ามาครอบครองพื้นที่ก่อนการประกาศอุทยานและการกำหนดเส้นเขตแดน นอกจากนั้น มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 รับรองโดยเฉพาะสิทธิของชาวกะเหรี่ยงที่จะอยู่ในพื้นที่ของตนต่อไป และทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน
53. ข้อ 10 ของปฏิญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองประณามการบังคับไล่รื้อและกำหนดให้มีการขอความยินยอมที่เกิดจากความเข้าใจและสมัครใจของชนเผ่าพื้นเมืองก่อนจะถูกโยกย้าย ประเทศไทยแสดงความเห็นชอบต่อปฏิญญาฉบับนี้ ในขณะที่หน่วยงานชนเผ่าพื้นเมืองและสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอ ได้ยื่นเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์นี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยมีการรับพิจารณาของชาวกะเหรี่ยงในฐานะเป็นปฏิบัติการเร่งด่วนซึ่งเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้า (early warning urgent action – EW/UA) ของสมัยประชุมที่ 80 ของคณะกรรมการปฏิญญา ภายหลังการประชุม คณะกรรมการแสดงความกังวลในจดหมายลงวันที่ 9 มีนาคม 2555 ต่อรัฐบาลไทย แจ้งความประสงค์ที่ต้องการทราบขั้นตอนที่ดำเนินการเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของชาวกะเหรี่ยง
54. ในปัจจุบัน ยังคงมีชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่นจำนวนมาก ภายหลังการบังคับไล่รื้อ พวกเขาต้องไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่คุ้นเคย และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสม คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบควรที่จะพิจารณากรณีนี้อีกครั้ง