สองสตรีนักสิทธิฯชี้ ความรุนแรงไม่เกิดผลดีใดๆ แก่ชีวิตผู้บริสุทธิ์ ต้องมีกลไกอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อการแก้ปัญหาเด็กตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากสถานการณ์สงคราม ด้านแม่เด็กน้ำตาร่วงบอกความหวังคือลูกชายคนนี้คนเดียว
อิสมาอีล ฮายีแวจิ
ผู้ปฏิบัติงาน สำนักสื่อ Wartani
จากเหตุการณ์กราดยิงพ่อและเด็กเสียชีวิต 2 ราย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ภายในสวนยางพาราหมู่ที่ 1 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ทราบชื่อผู้เสียชีวิตคือนายมุขตาร์ อาลีมามะ อายุ 32 ปี และเด็กชายลุกมาน อภิบาลแบ อายุ 6 ขวบ ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะที่ทางด้านเจ้าหน้าที่ขอให้รอการตรวจสอบพิสูจน์หลักฐาน (ข้อมูลอ้างอิง เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557, ลิงค์ข่าว : http://goo.gl/NJ7UQa)
รายงานข่าวในสื่อบางรายระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของนายมุขตาร์ อาลีมามะ พบว่าเขาคือแกนนำคนสำคัญในพื้นที่คนหนึ่งที่ทางการต้องการตัวตามเป้าหมาย “แผนพรานพิฆาตไพรี” (อ้างอิงข้อมูลจากข่าวในเว็บไซต์เดลินิวส์ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557, ลิงค์ข่าว : http://goo.gl/TOuwCe)
พันตำรวจเอกสุคนธ์ ศรีอรุณ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดยะลา กล่าวว่า “สำหรับนายมุขตาร์ เป็นแกนนำระดับสั่งการ ซึ่งมีหมายจับในคดีความมั่นคงรวมทั้งหมด 6 หมายจับ” (อ้างอิงข้อมูลจากข่าวในเว็บไซต์คมชัดลึกออนไลน์ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557, ลิงค์ข่าว : http://goo.gl/Cn1geJ)
ขอบคุณภาพจาก www.ASTV.com
แต่ประเด็นสำคัญยังอยู่ที่ว่าทำไมต้องสังหารเด็ก ? นักสิทธิมนุษยชนชี้ว่า สิทธิของเด็กเป็นสิทธิสากล (Universal Rights) และเป็นสิทธิเด็ดขาด (Absolute Right) ในอันที่จะต้องได้รับการรับรอง คุ้มครองและปกป้องจากปัญหาต่างๆ อาทิเช่น การล่วงละเมิด การทำร้ายร่างกาย แต่นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สู้รบกันระหว่างกองกำลังติดอาวุธขบวนการปลดปล่อยเอกราชปาตานี (BRN) และกองทัพไทย ปรากฏว่ามีเด็กที่เสียชีวิตจากการถูกสังหารด้วยอาวุธสงครามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปาตานี) ในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2547 – พ.ศ.2557) จำนวนทั้งสิ้น 66 คน กำพร้าอีกกว่า 6,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ((อ้างอิงข้อมูลจาก เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP))
อัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ เปิดเผยว่า “ทั้งประเทศกำลังอยู่ในภาวะดีใจและรู้สึกถึงบรรยากาศอุ่นใจ เมื่อเด็กในประเทศไทยที่ถูกละเมิดสิทธิ สามารถที่จะส่งเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติได้โดยตรง เพราะประเทศไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันกับอนุสัญญาที่คุ้มครองเด็กเอาไว้” อนุสัญญาดังกล่าวคืออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก Convention on the Right of the Child - CRC ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วในวันจันทร์ที่ 14 เม.ย.2557 ที่ผ่านมา แต่อัญชนาชี้ว่า บรรยากาศในภาคใต้สวนทางกันกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะขณะที่ไทยรับรองเรื่องของสิทธิเด็กในทางสากล เด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับถูกฆ่าตาย
“เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก นับเฉพาะปี 2557 มี 8 เหตุการณ์ เสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บ 7 คน ทำให้รู้สึกว่าเด็กในพื้นที่สงครามแห่งนี้กลับถูกละเลย ไม่ได้รับการปกป้องและคุ้มครอง”
“ขอถามทั้งสองฝ่ายว่า เราควรคุ้มครองเด็กหรือไม่ ?” อัญชนา กล่าว
นูรีซัน ลางา มารดาของเด็กชายลุกมาน อภิบาลแบ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทั้งน้ำตาว่า “ลูกชายที่สูญเสียไป เป็นความหวังของแม่ เขาเป็นลูกคนโต เป็นคนเดียวที่เราตั้งความหวังไว้ว่า ต่อไปข้างหน้าเขาน่าจะดูแลแม่และน้องได้ สามีไม่อยู่ยังพออยู่ได้ แต่ลูกไม่อยู่รู้สึกทั้งชีวิตไม่เหลืออะไรเลย”
“ขอฝากทั้งสองฝ่ายว่า คุณจะรบก็รบไป แต่ขอร้องยกเว้นเด็กเถิด อยากจะให้จบกับลูกเราและครั้งนี้ให้เป็นครั้งสุดท้าย ต่อไปอย่าให้เกิดอีกเลย มันหมดจริงๆ รับไม่ได้จริงๆ ไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้วหากนักรบผู้กล้าหาญกลับมาฆ่าเด็กไม่มีทางสู้ มันเกินไปแล้ว” นูรีซัน กล่าว
ทางด้าน อาบูฮาซัน อาลีมามะ น้องชายนายมุขตาร์ อาลีมามะ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า “เรารู้ว่าพี่ชายเราทำผิดขั้นร้ายแรงตามกฎหมายไทย แต่อย่าได้เหมารวมว่าคนทั้งครอบครัวทำผิดเหมือนพี่ทั้งหมด”
ส่วน รุซดา สะเด็ง อุปนายกสมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (PERWANI) ให้ความเห็นว่า “นับตั้งแต่ ธันวาคม 2556 จนถึงปัจจุบัน ภาพของเด็กที่ต้องตกเป็นเป้าสังหารโดยตรงเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น เด็กไม่ใช่เป็นแค่ผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามอย่างแต่ก่อน”
รุซดา ชี้ว่า เหตุการณ์ในหลายกรณีที่เกิดขึ้นไม่ปรากฏว่าจะมีการสะสางไปในทิศทางที่ผู้ได้รับความเสียหายจะยอมรับได้ เช่นในกรณีของการกราดยิงครอบครัวนายเจ๊ะมุ มะมันที่ปะลุกาแปเราะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 จนเป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิตถึง 3 คน และต่อมามีการจับกุมผู้ลงมือที่เป็นทหารพราน แต่ทางเจ้าหน้าที่กลับแถลงข่าวว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติในหน้าที่
หรือกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารกราดยิงเด็กที่ตำบลบานา อำเภอเมืองปัตตานี ช่วงเมษายน ปี 2550 เป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บอีก 3 คน ก็มีการแถลงแก้ต่างเหตุเพราะเข้าใจผิด” รุซดา กล่าว
รุซดา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “กระทั่งล่าสุดที่ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เด็กชายลุกมาน อภิบาลแบ อายุ 6ขวบ ถูกสังหารพร้อมบิดานายมุกตาร์ อาลีมามะ ซึ่งตามข่าวนายมุกตาร์ เป็นแกนนำระดับสั่งการที่มีหมายจับถึง 6 หมาย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่านายมุกตาร์ จะสมควรแก่การถูกสังหารมากไปกว่าการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม”
และที่ตำบลบันนังกูแว อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2557 ด.ญ.นูรมาน ดาราเซะ อายุ 2 ปี ถูกสังหารโหด ยกครัวพร้อมคุณตาคุณยาย และดช.สุไลมาน ขอสวัสดิ์ อายุ 12 ปี ได้รับบาดเจ็บ ทั้งสี่คนเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธ ทำไมศักยภาพการให้ความคุ้มครองของรัฐถึงได้ล้มเหลวอย่างถึงที่สุด
“อีกทั้งผลของการลงมือสังหารนั้น ได้ทำให้เด็กผู้บริสุทธิ์คนหนึ่งต้องถูกสังเวยชีวิตไปอย่างโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรม ถือว่าเป็นการล้ำเส้นมนุษยธรรมในการทำสงคราม โดยพุ่งเป้าต่อพลเรือนโดยเฉพาะเด็ก เป็นสิ่งที่สมควรแก่การประณามอย่างถึงที่สุด และทุกฝ่ายต้องเร่งหามาตรการในการปกป้องเด็กจากความรุนแรงในภาวะสงครามอย่างเร่งด่วน” รุซดา กล่าว
รุซดา ฝากทิ้งท้ายว่า “หากให้พูดถึงมาตรการหรือกลไกปกป้องเด็กจากความรุนแรงในภาวะสงครามปาตานี อยากเสนอให้เริ่มต้นด้วยการฟังเสียงประชาชน เคารพและให้เกียรติความเป็นพลเมืองของคนในพื้นที่เฉกเช่นพลเมืองในพื้นที่อื่นๆ เพราะผลของการทำสงครามระหว่างคู่ขัดแย้งสองฝั่งมันกระทบกับประชาชนในพื้นที่โดยตรง
ดังนั้นจะมีใครที่เข้าใจและจริงใจและกระหายในการหามาตรการเพื่อปกป้องลูก หลาน และคนในครอบครัวจากภาวะสงครามมากไปกว่าคนในพื้นที่...คงไม่มีอีกแล้ว”