เหมือนขวัญ เรณุมาศ
นักศึกษาระดับปริญญาโท สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และปัญหาเช่นว่านี้ ก็ถูกให้นิยามจากสหประชาชาติว่าเป็น อาชญากรรมร้ายแรง ที่ควรมีกฎหมายมาลงโทษผู้กระทำผิด อันหมายถึง “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หรือ “บุคคลที่ได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่รัฐ” มักจะเป็นผู้กระทำต่อเหยื่อที่คิดว่าเป็น “ผู้ต้องสงสัยว่าจะเข้ามาตรวจสอบอำนาจหน้าที่ของรัฐ” ให้หายสาบสูญ และมิเพียงแค่นั้น ข้อมูลจากมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพยังเปิดเผยว่า ในขั้นตอนของการบังคับบุคคลให้สูญหาย เจ้าหน้าที่รัฐมักจะกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ต่อผู้ต้องสงสัยอีกหลายประเด็น โดยมีทั้งการสังหาร การทรมาน ข่มขู่คุกคาม และยึดทรัพย์ด้วย (มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ, 2555: 1) ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้ นับเนื่องเป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพ และเป็นการกระทำที่อยู่นอกเหนือหลักนิติธรรมอย่างยิ่ง
กรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย (จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) เรียกว่าเกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะในปี 2545-2554 มีผู้สูญหายแล้วทั้งสิ้น 33 ราย (มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ, 2555: 23) และทุกกรณีล้วนเกิดขึ้นจากฝีมือเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่ ทำให้ครอบครัวของเหยื่อทั้งหลายจึงยังไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรม เพราะช่องว่างของกฎหมาย นอกจากนั้นกรณีบุคคลสูญหายที่ได้รับความสนใจกันมากและมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายภาคใต้คือ การสูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ซึ่งการหายตัวไปของทนายสมชาย เป็นข้อท้าทายเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะผู้กระทำอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ทนายสมชายหายตัวไป สังคมก็พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปกป้องบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหาย จนกระทั่งมีการผลักดันให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญด้วยการถูกบังคับ ซึ่งการลงนามดังกล่าวดูเหมือนจะเพิ่มความน่าเชื่อถือเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและความมีประสิทธิภาพด้านกระบวรการยุติธรรมได้ระดับหนึ่ง แต่เป็นเพียงระดับของการสร้างภาพลักษณ์เท่านั้น เนื่องจากข้อตกลงใดๆ ก็ตามที่มีอยู่ในอนุสัญญาดังกล่าว ยังไม่ถูกนำมาร่างเป็นกฎหมายบังคับใช้ในประเทศไทย เพราะประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณต่ออนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งการที่ไทยยังไม่ตัดสินใจให้สัตยาบรรณต่ออนุสัญญานั้น อาจนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยของหลายฝ่ายถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ประหนึ่งคือว่า ผู้กระทำการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจนั่นก็คือ “รัฐบาล” กับผู้ที่มีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายตามอนุสัญญานั้นๆ กลับกลายเป็นตัวกระทำเดียวกัน นั้นคือ “รัฐบาล” ฉะนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่า รัฐบาลยังไม่ไว้วางใจต่อพฤติกรรมของตนเองในการก่อการบังคับบุคลให้สูญหายว่าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เพราะหากมีบุคคลใดก็ตามที่รัฐสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงทั้งของรัฐและอธิปไตย รัฐบาลก็จะเลือกปฏิบัติการให้บุคคลเช่นว่านั้นหายสาบสูญไปอีก และอาจจะเป็นไปได้ว่าการที่รัฐบาลเป็นส่วนสำคัญในการทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะทำการยกเว้นตัวเองออกจากกฎหมายนั้น เพื่อผลประโยชน์บางอย่างของรัฐ ซึ่งในเชิงเปรียบเทียบหากว่า รัฐบาลไทยปกครองโดยการให้ความสำคัญกับเรื่อง “สิทธิตามธรรมชาติ” แล้วตระหนักในเรื่องอำนาจของประชาชนที่มอบให้รัฐตามสัญญาประชาคม แล้ว ปัญหาการใช้อำนาจของรัฐบาลในการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนก็อาจจะไม่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม บทความชิ้นนี้จะอ้างอิงข้อมูลหลักจากมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และการอ้างอิง เชื่อมโยงถึงแนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ สัญญาประชาคม กับการแบ่งแยกอำนาจ และการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งแนวคิดทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแนวคิดที่สำคัญในการอธิบายความซับซ้อน ย้อนแย้ง ของปัญหากับการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหาย
สิทธิตามธรรมชาติและสัญญาประชาคม
จอห์น ลอค (John Locke) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญสูงสุดในด้านสิทธิมนุษยชน ลอคให้ทรรศนะต่อสิทธิตามธรรมชาติ {Natural Rights} ว่า สิทธิตามธรรมชาติประกอบไปด้วย สิทธิในชีวิต เสรีภาพ และสิทธิในทรัพย์สิน โดยที่ปัจเจกชนทุกคนต่างล้วนมีสิทธิและมีอำนาจที่ว่านี้ตามธรรมชาติ อันเป็นสิทธิที่ไม่อาจถูกยกเลิกหรือขัดขวางได้จากรัฐ เพราะสิทธิตามธรรมชาติไม่ได้เป็นสิทธิที่รัฐตั้งขึ้น ดังนั้นสิทธิธรรมชาติจึงหมายถึง สิทธิที่ทุกคนมีอยู่แล้วในสภาวะความเป็นธรรมชาติ ในฐานะที่ทุกคนเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน (กวี อิศริวรรณ, 2530: 26) นอกจากนั้น ทฤษฎีสิทธิธรรมชาติของ จอห์น ลอค ยังผนวกอยู่กับทฤษฎีสัญญาประชาคมด้วย เนื่องจากว่าการใช้สิทธิธรรมชาติมีความไม่มั่นคง ดังนั้นมนุษยชาติจึงต้องทำสัญญาประชาคมต่อกัน เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการใช้สิทธิดังกล่าวในลักษณะที่การใช้สิทธิธรรมชาติของพวกเขาถูกเปลี่ยนโอนไปสู่ผู้ปกครองของรัฐอย่างมีเงื่อนไข
ตัวแสดงหลักที่ปรากฏในแนวคิดสัญญาประชาคมของลอคนั้น ประกอบด้วย 1) ประชาชนที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน และ 2) รัฐบาลหรือผู้ปกครองที่ได้ทำสัญญาร่วมกัน โดยประชาชนได้ตกลงยินยอมมอบสิทธิ/ อำนาจบางประการให้รัฐบาลหรือผู้ปกครองนั้นทำหน้าที่พิทักษ์ คุ้มครองตนและลงโทษผู้กระทำความผิดโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลละเมิดสัญญาและใช้อำนาจผิดวัตถุประสงค์หรือขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชน ประชาชนก็มีสิทธิยกเลิกสัญญาหรือมีสิทธิปฏิวัติถอดถอนรัฐบาลได้ แต่การล้มล้างรัฐบาลในความหมายนี้ มิใช่การล้มล้างเพื่อการล่มสลายของสังคมการเมือง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงองค์กรการเมืองที่ทำหน้าที่บริหารเท่านั้น
แนวคิดการแบ่งแยกอำนาจของมงเตสกิเออ
การแบ่งแยกอำนาจเป็นการแบ่งแยกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย หมายความว่า แยกอำนาจให้องค์กรหนึ่งใช้อำนาจได้ เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีอยู่ 3 องค์กรหลัก ได้แก่ องค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหาร และองค์กรตุลาการ โดยทั้งสามองค์กรต้องมีอำนาจเดียวและเป็นอิสระต่อกัน อาทิเช่น การกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจหน้าที่ออกกฎหมาย ก็มีหน้าที่แค่ออกกฎหมายเท่านั้น ไม่ควรมีหน้าที่ในการบริหาร ส่วนฝ่ายบริหารมีหน้าที่บริหารประเทศ ก็ไม่ควรมีหน้าที่บัญญัติหรืออกกฎหมายร่วม ฯลฯ เพราะถ้าหากนำเอาอำนาจบริหารกับอำนาจนิติบัญญัติมาไว้ในองค์กรเดียวกัน อาจเกิดการใช้อำนาจในทางมิชอบ และจะทำให้อิสรภาพของประชาชนสิ้นสุดลง กระนั้นก็ตามเมื่อแบ่งแยกให้แต่ละองค์กรใช้เพียงอำนาจเดียวแล้ว สิ่งที่มงเตสกิเออเสนอต่อไปก็คือ การให้องค์กรทางการเมืองหลักทั้งสามองค์กร มีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน (วิษณุ เครืองาม, 2523: 21-23)
การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ (Check and balance)
หมายถึง อำนาจที่แยกให้แต่ละองค์กรเป็นผู้ใช้นั้นไม่ใช่แยกจากกันโดยเด็ดขาด หรือเป็นอิสระไม่ เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน การสร้างระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มงเตสกิเออกล่าวถึง เป็นระบบที่จะกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจทั้งสาม ส่วนดุลแห่งอำนาจ หมายถึง การให้แต่ละอำนาจที่แยกให้แต่ละองค์กรใช้ นั้นมีฐานะเท่าเทียมกัน อำนาจหนึ่งจะถอดถอนอกอำนาจหนึ่งไม่ได้ ส่วนการตรวจสอบอำนาจ หมายถึง ให้แต่ละองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยสามารถตรวจสอบการทำงานของกันและกันได้ เช่น เพื่อรับประกันว่า อิสรภาพของประชาชนจะไม่ถูกละเมิด (วิภาวรรณ ตุวยานนท์, 2528)
ความเป็นมาและบริบทการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย
อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearances) ชี้ให้เห็นว่า การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญาฯ ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 และเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2553 จนถึงเดือนมกราคม 2555 ขณะนี้มีประเทศต่าง ๆ ให้สัตยาบันแล้ว 31 ประเทศ ยกเว้นประเทศไทย
อนุสัญญาฯ ได้นิยามการบังคับบุคคลให้สูญหาย หมายถึง “การจับ ควบคุมตัว ลักพาตัว หรือวิธีการอื่นใดในการทำให้บุคคลสูญเสียเสรีภาพ ที่กระทำโดยตัวแทนของรัฐ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำไปโดยการให้อำนาจ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ และโดยที่รัฐปฏิเสธที่จะรับทราบว่ามีการทำให้สูญเสียเสรีภาพนั้น หรือโดยปกปิดชะตากรรม หรือสถานที่อยู่ของผู้สูญหายดังกล่าว โดยที่สถานที่อยู่ของบุคคลผู้สูญหายนั้น กฎหมายไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้ (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, 2556: 5)
ในบริบทของประเทศไทย การบังคับบุคคลให้สูญหายถือว่าเป็นกลวิธีอย่างหนึ่งของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโดยมิชอบ ซึ่งเกิดขึ้นมานานนับทศวรรษแล้ว และยังนับเป็นการใช้ความรุนแรง {Violence} อย่างถึงที่สุด ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ด้วย อาทิเช่น การสังหารนอกกรอบกระบวนการกฎหมาย การควบคุมตัวโดยพลการ การทรมาน การขมขู่และคุกคาม ฯลฯ ซึ่งเหยื่อผู้ถูกกระทำการดังกล่าวนี้ โดยมากจะเป็นบุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีต่างๆ เป็นบุคคลที่มีความคิดเห็น / อุดมการณ์ที่แตกต่างจากรัฐ หรือเป็นบุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านระดับรากหญ้า และแม้กระทั่งบุคคลที่เป็นประชากรชายขอบ อย่าง ชาวเขาเผ่าต่างๆ และเป็นบุคคลทำงานเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การที่รัฐจะกระทำให้บุคคลเช่นว่านี้สูญหายมีรูปแบบสำคัญสามประการ ประการแรก เป็นวิธีที่แพร่หลายมากที่สุด เกิดขึ้นในลักษณะที่เจ้าหน้าที่ซึ่งบางครั้งใส่เครื่องแบบหรืออาจเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ จับตัวผู้เสียหายจากกลางถนนและบังคับนำตัวเขา (พร้อมกับพาหนะ) ให้เข้าไปในรถยนต์หรือรถบรรทุกและขับหนีไป ประการที่สอง ได้แก่ การจับกุมผู้เสียหายจากบ้านหรือสถานที่อื่นๆ ที่เขามักจะเดินทางไป และประการที่สาม ผู้เสียหายมักได้รับเชิญตัวให้มาพบเจ้าหน้าที่ในสถานที่บางแห่งและหายตัวไป ซึ่งญาติมักได้รับการปฏิเสธเมื่อสอบถามถึงสถานที่ควบคุมตัวหรือข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูญหายจากเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้น (มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ, 2555)
ซึ่งเมื่อพิจารณาทั้งสาเหตุโดยภาพรวมของการถูกบังคับให้สูญหาย บุคคลที่เสี่ยงต่อการถูกทำให้สูญหายดูเหมือนเป็นสิ่งซึ่งเกิดขึ้นจากความตั้งใจของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำไปเพราะเป้าประสงค์ทางการเมือง รวมถึงผลประโยชน์บางอย่าง อย่างไม่เกรงกลัวว่าจะได้รับโทษ (2) บุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย ในกรณีที่เกิดขึ้นจากการใช้วิธีการแรกและวิธีการที่สอง เป็นการกระทำที่จู่โจมโดยไม่ได้บอกให้บุคคลนั้นๆ ทราบล่วงหน้าว่าเขามีความผิดข้อหาใด หรือจะมีเวลาแจ้งให้ครอบครัว ญาติพี่น้องของเขาทราบได้ว่าเขาจะเดินทางไปที่ไหน ไปพบกับใคร เพราะอะไร ฉะนั้นในแง่ของวิธีการเช่นนี้จึงยิ่งย่ำแย่ซ้ำซ้อนเข้าไปอีก ซึ่งบ่อยครั้งการที่ครอบครัวหรือญาติของบุคคลที่ถูกเจ้าหน้ารัฐทำให้สูญหายไม่สามารถหาเบาะแสใดๆ มาเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ เป็นเพราะก่อนที่บุคคลนั้นๆ จะถูกทำให้สูญหาย บุคคลนั้นๆ ไม่มีโอกาสได้แจ้งอะไรไว้ล่วงหน้านั่นเอง ซึ่งกรณีแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก ดังจะอธิบายอีกครั้งในกรณีตัวอย่าง
กรณีตัวอย่าง เหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายโปรกรี อภิบาลแม
นายโปรกรี อภิบาลแม อดีตเคยทำหน้าที่ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ {สายข่าวของตำรวจ} ในโครงการจ้างงานเร่งด่วนของ กอ.สสส.จชต. ที่บ้านป่าหวัง ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เขาหายตัวไปเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2549 การหายตัวไปของนายโปรกรีเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเช้า โดยนายโปรกรี ได้ขับรถจักรยานยนต์ ออกจากบ้านไปเติมน้ำมันที่ปั้มที่อยู่ในตลาดบันนังสตา และได้หายตัวไปหลังจากนั้น เหลือเพียงรถจักรยานยนต์ทิ้งไว้ใกล้ๆ ปั้ม ซึ่งชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์เล่าให้เขาฟังว่า นายโปรกรีถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจระหว่างเติมน้ำมัน ก่อนที่จะหายตัวไป
ในช่วง 2 – 3 วันแรกที่นายโปรกรีหายตัวไป พ่อของเขาพยายามไปหาตำรวจ เพื่อแจ้งความไว้และวอนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามหาตัวลูกชาย แต่ก็ไม่ได้ผลอะไร ตำรวจกล่าวเพียงให้รอเวลาอีกสักพักและไม่ต้องแจ้งความ แต่เวลาผ่านไปนานลูกชายก็ยังไม่กลับมา ผู้เป็นพ่อจึงพยายามเข้าหาฝ่ายตำรวจให้ช่วยติดตามเรื่องอยู่บ่อยๆ และทุกครั้งที่ไป ตำรวจยังนิ่งเฉยและตอบเพียงว่า “ไม่มีอะไรคืบหน้า”
ในความคิดเห็นของผู้เป็นพ่อ (ดอเราะแม อภิบาลแม) กล่าวกับศูนย์ข่าวอิศราว่า “การหายตัวของลูกชายผม เป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าใจผิด เพราะลูกชายผมทำงานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างใกล้ชิดและเป็นอาสาสมัครหมู่บ้านด้วย ลูกชายผมสามารถหาเบาะแสผู้ก่อความไม่สงบได้ จนเจ้าที่ทหารอาจคิดไปว่าลูกชายผมเป็นแนวร่วม” (สุเมธ ปานเพชร, อับดุลเลาะ หวังนิ, 2549)
แวอีซอ มะเส็ง และมุสตาซีดีน มะมิง
แวอีซอ มะเส็ง ถูกเชิญตัวจากเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมกับ นายมุสตาซีดีน มะมิง ตามอำนาจของ พรก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก ซึ่งทั้งสองคนทำงานที่ร้านขายโทรศัพท์มือถือแห่งหนึ่งในเทศบาลตำบลตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ถูกเชิญไปให้ปากคำ ในช่วงเย็นของวันที่ 11 ก.พ. 2547 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารมีข้อกังวลว่าพวกเขาได้ส่งสัญญาณโทรศัพท์รบกวนรอบค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้ ได้รับการขยายความโดย อาแว มะเส็ง ผู้เป็นพี่ชายในเวลาต่อมาว่า น้องชายของเขาทำงานเป็นลูกจ้างในร้านโทรศัพท์มือถือดังกล่าวถูกทำให้หายตัวไป น่าจะเป็นผลมาจากความต้องการของเจ้าหน้าที่รัฐในการขยายผลสืบสวนกรณีการวางระเบิด 2 จุด ในเขตเทศบาลตำบลตันหยงมัส อ.ระแงะ จ. นราธิวาส เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้าที่พวกเขาจะหายตัวไป เนื่องจากลักษณะการวางระเบิดครั้งนั้น เป็นระเบิดแสวงเครื่องจุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ
แต่ทว่า ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ระเบิดไว้ได้ทัน และสามารถตรวจสอบข้อมูลจากโทรศัพท์ที่ติดกับระเบิดที่ยังไม่ทำงาน ทำให้น้องชายของเขากับมุสตาซิดีน ตกเป็นผู้ต้องสงสัยไปโดยทันทีและหลังจากที่ผม (นาย อาแว) แน่ใจแล้วว่าน้องชายของเขา "ถูกอุ้ม" หายไป ก็ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทหารที่ค่ายจุฬาภรณ์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร และค่ายเสนาณรงค์ แต่ก็ไร้วี่แววของน้องชาย และหลังจากเดินสายติดตามน้องชายเป็นเวลากว่า 3 เดือน อาแว ซึ่งเป็นสารวัตรกำนันประจำหมู่บ้านก็มุ่งหน้าเข้าแจ้งความที่ สภ.อ.ระแงะ และ สภ.อ.เมืองนราธิวาส แต่จนถึงบัดนี้นี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
นายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี
นายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี หายตัวไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2552 ซึ่งเชื่อมั่นว่าการหายตัวไปของนายอับดุลเลาะห์เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สืบเนื่องจาก เบื้องหลังเหตุการณ์มีอยู่ว่า นายอับดุลเลาะห์เป็นหนึ่งในพยานของคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ตั้งข้อหาและสอบสวนนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่10 นายที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันซ้อมทรมานลูกความของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีปล้นปืนที่ค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2547 ให้รับสารภาพ ซึ่งการเป็น “พยาน” ของนายอับดุลเลาะห์ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 10 นายนั้นได้ซ้อมทรมานผู้ต้องหาจริง อาจทำให้นายตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ต้องการทำให้นายอับดุลเลาะห์หายสาบสูญ เพียงเพื่อจะทำลายพยานต่างๆ และท้ายที่สุดแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่จำนวน 10 นายที่ว่า ก็ยังไม่ได้รับโทษแต่อย่างใด
ในวันที่หายตัวไปของนายอับดุลเลาะห์ เป็นวันที่เขาเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลปีใหม่ของชาวมลายูมุสลิมเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2552 เวลาประมาณ 19:00 น. นายอับดุลเลาะห์บอกกับภรรยาว่าจะออกไปนั่งร้านน้ำชาใกล้ๆ บ้านกับเพื่อน และเวลาประมาณ 2 ทุ่มกว่า ภรรยาของเขาก็ได้ยินเสียงรถของนายอัลดุลเลาะห์ขับผ่านหน้าบ้าน พร้อมกับได้ยินเสียงบีบแตร 3 ครั้ง ตามด้วยเสียงดังคล้ายเสียงปืน ทำให้ภรรยารู้สึกแปลกใจจึงโทรศัพท์ติดต่อกลับไปหานายอับดุลเลาะห์ แต่ปรากฏว่าติดต่อไม่ได้ จนกระทั่งถึงเช้าถัดมาผู้เป็นภรรยาก็ยังไม่สามารถติดต่อกับนายอับดุลเลาะห์ได้ ทำให้ยิ่งมั่นใจว่าเขาถูกบังคับให้สูญหาย และอาจจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตนั้นไม่แน่ใจ กระนั้นก็ตามหลังจากการหายตัวไปของนายอัลดุลเลาะห์ 1 ปีถัดมา ภรรยาของเขาก็ผู้ไม่หวังดีติดตามตัวและยิงเสียชีวิต
นายกูอาหมัด อาบีเสน
หายตัวไปพร้อมกับนายแวไซนุง แวนาแว นายอับดุลเลาะห์ สาหลำ และนายมูฮัมหมัด เซ็นเหร็น ที่จังหวัดปัตตานีในปี พ.ศ. 2548 ก่อนหน้าที่จะหายตัวไปนายกูอาหมัด อาบีเสน นายแวไซนุง แวนาแว นายอับดุลเลาะห์ สาหลำ และนายมูฮัมหมัด เซ็นเหร็น ถูกตั้งข้อหาและถูกยกฟ้องในกรณีการฆ่าลูกชายของตำรวจ
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เขาและเพื่อนได้หายตัวไปนั้น เขาอยู่ระหว่างการประกันตัวในช่วงการอุทธรณ์คดี และก่อนหน้าที่เขาและเพื่อนจะหายตัวไป พวกเขาได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามตลอด ซึ่งมีข่าวลือออกมาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านั้นมาจาก สภ.ปะกาฮารัง จังหวัดปัตตานี
อย่างไรก็ตาม ทั้งเหตุการณ์ของนายโปรกรี อภิบาลแม นายแวอีซอ มะเส็ง นายมุสตาซีดีน มะมิง นายกูอาหมัด อาบีเสน กับเพื่อนๆ และนายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี ต่างเป็นเหตุการณ์ที่ทางมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพและ (Human Rights watch. 2007) นั้นมีหลักฐานว่า พวกเขาได้ถูกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจับตัวไป และครอบครัวของเหยื่อผู้ถูกทำให้สูญหายเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ยกเว้นกรณีของนายโปรกรี อภิบาลแม ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวางมิให้แจ้งความ ส่วนแรงจูงใจในการทำให้เจ้าหน้าที่รัฐก่ออาชญากรรมบังคับบุคลให้สูญหาย เป็นผลมาจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องการจับตัวผู้ต้องสงสัยซึ่งตามอำนาจของกฎหมายพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถกระทำการใดที่รุนแรงแก่ผู้ต้องสงสัยก็เป็นได้ และถัดมา อาจเกิดขึ้นเพื่อปิดปากอำพรางคดีชั่วร้ายของเจ้าหน้าที่รัฐเอง ตลอดจนบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายบางกรณี เช่น กรณีของนายกูอาหมัด อาบีเสน อาจเกิดขึ้นเพราะปมขัดแย้งส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ทุกกรณีนั้นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐไม่สามารถคุ้มครองพลเมืองของรัฐภายใต้กฎหมายได้ ตลอดจนระบบกฏหมายไทยก็พิกลพิการถึงขั้นที่ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมาย เพราะอิทธิพลของผู้กระทำ นอกจากนั้นแล้ว ผู้เขียนยังพิจารณาว่าเหตุผลอย่างหนึ่งของปัญหาดังกล่าว มิใช่เพียงกฎหมายพิเศษตามรายงานของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพเท่านั้น แต่อาจเป็นเพราะระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย กล่าวคือ กรณีผู้สูญหายที่ยกตัวอย่างมา มักจะสูญหายในช่วงปี 2547-2552 คือ เป็นช่วงหลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 และอีกเหตุผลหนึ่งเป็นต้นว่า อาจเกิดขึ้นเพราะอคติทางวัฒนธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อชาวมลายูมุสลิม เพราะพิจารณาจากกรณีตัวอย่างทั้ง 4 กรณีข้างต้น ผู้สูญหายล้วนเป็นชายชาวมลายูมุสลิมทั้งสิ้น รวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้สูญหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของทางมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพตั้งแต่ปี 2545 – 2554 ระบุสอดคล้องกันว่า มีจำนวนผู้สูญหายทั้งสิ้น 33 ราย และทั้งหมดเป็นชายชาวมลายูมุสลิม (มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ, 2555: 23) จึงอาจเป็นไปได้ว่า การบังคับบุคคลให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นเพราะอคติทางวัฒนธรรมด้วยส่วนหนึ่ง และประการสุดท้าย อาจเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง
การบังคับบุคคลให้สูญหายกับหลักสิทธิตามธรรมชาติ
จากทัศนะเรื่องสิทธิตามธรรมชาติและสัญญาประชาคมของ จอห์น ลอค จะมีมุมมองหลักที่สำคัญสองประการคือ ประการแรก สิทธิตามธรรมชาติจะมองว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกัน และ ประการที่สอง คือ แท้จริงแล้วอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ส่วนรัฐเป็นผู้รับอำนาจต่อจากประชาชนในรูปแบบการทำสัญญาต่อกัน เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น
จากมุมมองดังกล่าว พิจารณาได้ว่าสถานการณ์ที่บุคคลถูกบังคับให้สูญหายอันเป็นผลมาจากกฎหมายพิเศษและทั้งที่ไม่ใช่กฎหมายพิเศษก็ตาม ย่อมชี้วัดให้เห็นว่า รัฐยังไม่ตระหนักข้อจำกัดด้านอำนาจของตนเอง ไม่ตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐมีหน้าที่เพียงคุ้มครองพลเมืองของรัฐด้วยการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่บ่อยครั้ง รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมักกระทำการนอกกรอบกฎหมายผิดเจตนารมณ์ ละหรือมีการอาศัยช่องว่างทางกฏหมายมาละเมิดต่อสิทธิในชีวิต ทรัพย์สินและเสรีภาพของประชาชน
กรณีตัวอย่างที่ชัดเจน คือ กรณีของนายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี นายอับดุลเลาะห์เป็นพยานสำคัญในการคุ้มครอง DSI ถูกบังคับทำให้สูญหายโดยฝีมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นที่ประจักษ์ว่า นายอับดุลเลาะห์ ไม่มีสิทธิในชีวิตที่จะกระทำการให้ความต่อศาลในฐานะพยานที่รู้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมทรมานผู้ต้องหาได้อย่างอิสระ ในแง่แห่งความเป็นจริง เขามีสิทธิที่จะเป็นพยาน จะพูดและแสดงความคิดเห็นได้ภายในกฎเกณฑ์ แต่การถูกทำให้หายตัวไปของเขาโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อธิบายอย่างจอห์น ลอค ได้ว่า รัฐละเมิดสิทธิในชีวิตของพลเมือง และพยายามหลีกเลี่ยง ละเว้นตนเองจากการถูกลงโทษทางกฎหมาย อันถือเป็นการกระทำที่ผิดหลักเจตนารมณ์ในการก่อตั้งรัฐ
ส่วนกรณีของนายกูอาหมัด อบีเสน พร้อมเพื่อนๆ ที่ถูกทำให้สูญหายเพียงเพราะ ความขัดแย้งที่มีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งแท้ที่จริง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เปรียบเสมือนตัวแทนของรัฐ มีหน้าที่เพียงการบังคับใช้กฎหมายมาสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคม และทำหน้าที่ควบคุม ลงโทษผู้ที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น แต่ในการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับให้นายกูอาหมัดและเพื่อนๆ หายสาบสูญ เพราะต้องการแก้แค้นเป็นการส่วนตัว นับเนื่องเป็นเหตุแห่งการกระทำที่ผิดหลักนิติรัฐ และละเมิดต่อความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้ในสัญญาประชาคม
อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ จอห์น ลอค เสนอว่า เมื่อระบอบการปกครองละเมิดความไว้วางใจ หรือไร้ความสามารถที่จะคุ้มครองพลเมืองได้ ในฐานะที่ทุกคนเป็นพลเมืองก็จะมีสิทธิถอดถอนรัฐบาลนั้นได้ทันทีเช่นกัน แต่ท้ายที่สุด แน่นอนว่า การที่รัฐไม่เคารพต่ออำนาจของประชาชน และเป็นผู้ละเมิดสิทธิของประชาชนด้วยการใช้อำนาจของตนอย่างมั่วเมานั้น ย่อมเป็นข้อท้าทายรัฐอย่างยิ่ง แต่การจะพิจารณาว่าเหตุผลนี้เป็นจริงมากน้อยแค่ไหน จะต้องมีการตรวจสอบดูโครงสร้างอำนาจหน้าที่รัฐและระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐควบคู่ด้วย
การบังคับบุคคลให้สูญหาย กับการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่ไร้ประสิทธิภาพ
เมื่อนำเอากรอบคิดของมงเตสกิเออมาอธิบายระบบการเมืองการปกครองของไทย พบว่าประเทศไทยยังคงประสบปัญหาอย่างมากในเรื่องของมาตรการในการควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของภาครัฐที่ไม่เป็นไปตามทฤษฎี ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้จากสถานการณ์การบังคับบุคลให้สูญหายในประเทศไทย พบว่า การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่าง 3 อำนาจนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงในการเมืองไทย เนื่องจากฝ่ายการเมืองได้เข้าไปแทรกแซงในการทำงานขององค์กรทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรนิติบัญญัติ องค์กรตำรวจ/ทหาร องค์กรอิสระ ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้การบริหารประเทศเกิดความบิดเบือนจากความเป็นจริงที่ควรจะเป็น นอกจากนั้น โครงสร้างสังคมไทยที่เป็นแบบพึ่งพา และแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน มันส่งผลให้มาตรการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างองค์กรทางการเมือง 3 องค์กรนั้นจึงเป็นมาตรการที่อยู่ในสภาพของความว่างเปล่า คือ ไม่มีการตรวจสอบเกิดขึ้น ไม่มีมาตรการในการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างแท้จริง ทำให้มาตรการของระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจไม่สามารถทำงานได้
กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในเรื่องของกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่ขาดดุลยภาพ เช่น ในช่วงการบริหารประเทศของรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร มีการประกาศใช้นโยบายปราบปรามการก่อการไม่สงบในภาคใต้ของไทย ปี 2545 จนนำมาสู่การประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน ของรัฐบาลและกฎอัยการศึกของกองทัพในเวลาต่อมานั้น นับเป็นเหตุแห่งการทำให้หน้าที่การปราบปรามของรัฐไม่เป็นไปตามหลักการคุ้มครองตามหลักนิติธรรม โดยเฉพาะข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมตัวส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิโดยการบังคับบุคคลให้สูญหายจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงการบริหารงานของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ก็ปรากฏตัวเลขผู้สูญหายไม่น้อยกว่า 29 ราย แต่ผู้กระทำผิด ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่รัฐมักได้รัยการคุ้มครอง ลอยนวลพ้นผิด แม้กระทั่งคดีดังอย่างคดีของทนายสมชาย นีละไพจิตร ฝ่ายตุลาการหรือศาลก็ยังละเว้นต่อการเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง เพียงข้ออ้างที่ว่า “หลักฐานไม่เพียงพอ”
ในทำนองนี้จึงเข้าข่ายว่า รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร บริหารบ้านเมืองอย่างไม่เป็นไปตามกรอบกฎหมาย แต่ฝ่ายนิติบัญญัติ ต่างนิ่งดูดาย หนำซ้ำเข้าข่ายว่าจะเป็นฝ่ายเดียวกันกับฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายบริหาร (Fusion of Power) ฝ่ายนิติบัญญัติของไทยจึงไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบการบริหารงานของฝ่ายบริหารในนามของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตรได้ ไม่มีแม้แต่การตั้งข้อสงสัยในรัฐสภาเกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายที่ทักษิณ ประกาศใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นนี่จึงเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ(Check and Balance) ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารของไทยนั้นไร้ซึ่งประสิทธิภาพ และไม่เป็นอิสระต่อกัน ในขณะที่กลไกของฝ่ายตรวจสอบอำนาจและกลไกในการกำกับอำนาจหรือที่เรียกว่าฝ่ายตุลาการก็ตกอยู่ในสภาพที่อ่อนแอและไร้ความหมายไปโดยสิ้นเชิง
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงพิจารณาว่า แท้ที่จริงองค์กรทางการเมืองทั้งสามองค์กรของไทยนั้น อยู่ในลักษณะพึ่งพาอาศัยผลประโยชน์กันและกันมากกว่าตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันในเชิงเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะมีองค์กรอิสระอื่นๆ ที่นอกเหนือจากองค์กรนิติบัญญัติ และตุลาการ อาทิเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ แต่ก็พบว่า ในด้านของการทำงานคณะกรรมการสิทธิฯ เองก็ยังไม่สามารถเข้าถึงการตรวจสอบอำนาจรัฐบาลได้ หรือบ่อยครั้งรายงานข้อเสนอของคณะกรรมสิทธิฯ ก็ไม่ถูกให้ความสำคัญ ไม่ถูกนำมาบังคับใช้ในทางปฎิบัติ ทำให้ปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหายจึงยังคงเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง
ปัญหาสำคัญที่สุด ที่ทำให้มั่นใจว่า รัฐยังคงไม่พร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐอย่างจริงจัง มองได้จากการที่ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยการถูกบังคับ ทำให้ไม่มีการออกกฎหมายเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้ กรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายจึงไม่ได้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางอาญา และถึงแม้จะมีกฎหมายลงโทษอื่นๆ เช่น บทลงโทษในฐานการทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว แต่ก็ถือว่าเป็นกฎหมายลงโทษที่เป็นประเด็นที่ไม่เข้ากัน เหมือนการเก่าไม่ถูกที่คัน เช่น บุคคลโดนบังคับให้หายสาบสูญไป แต่คนกระทำผิดนั้นเพียงรับโทษแค่ในฐานะการทำร้ายร่างกาย เมื่อมาตรการในการลงโทษมีน้ำหนักเบากว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ผู้กระทำผิดก็ย่อมไม่เกรงกลัวและยังคงลอยนวล
อย่างไรก็ตาม การนิ่งเฉยของรัฐนับตั้งแต่การลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2555 จนกระทั่งปัจจุบันที่ยังไม่มีการให้สัตยาบรรณในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยการถูกบังคับได้ ในแง่นี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงเจตจำนงที่ไม่บริสุทธิ์ของรัฐบาลตั้งแต่ต้นในการเซ็นรับรองต่ออนุสัญญาดังกล่าว ดังที่คุณอังคณา นีละไพจิตรได้ตั้งข้อสงสัยว่า “รัฐไม่เคยมีความเต็มใจตั้งแต่แรกที่จะให้การคุ้มครองและยกระดับสิทธิมนุษยชนในประเทศให้ดีขึ้น เพราะการเซ็นรับรองต่ออนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยการถูกบังคับของรัฐเป็นผลมาจากแรงกดดันของสังคม และรัฐเองก็เพียงต้องการกอบกู้ภาพลักษณ์ของประเทศ และแสดงความเป็นผู้นำที่ดีในทางการเมืองของรัฐบาลเท่านั้น การที่รัฐไม่ให้สัตยาบรรณ เท่ากับอนุสัญญาดังกล่าวไม่มีความหมายใดๆ และรัฐยังคงใช้อำนาจข่มเหงประชาชนตัวเล็กตัวน้อย โดนไร้การตรวจสอบอย่างสิ้นเชิง” (อังคณา นีละไพจิตร, 2556)
ข้อเสนอแนะจากปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหาย
1. ตามหลักการสัญญาประชาคมของจอห์น ลอค มีทัศนะว่า เมื่อรัฐไม่ปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ประชาชนก็มีสิทธิถอดถอนรัฐบาลได้ เพื่อสร้างสังคมการเมืองขึ้นใหม่ ซึ่งในแง่นี้ การถอดถอนก็เปรียบเสมือนการขับไล่รัฐบาลในเชิงความหมาย ผู้เขียนจึงมองว่าวิธีการนี้ไม่ค่อยจะเป็นหลักประกันที่ดีนัก เนื่องจากว่า การขับไล่รัฐบาลเดิมก็มิได้ยืนยันได้ว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะสามารถคุ้มครองสิทธิและอิสรภาพของประชาชนได้อีก ฉะนั้นข้อเสนออีกทาง คือ ต้องเริ่มจากการปฏิรูป
2. ปฏิรูปองค์กรทางการเมืองใหม่ โดยให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการมีอิสระต่อกัน แต่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจกันได้มากยิ่งขึ้น ตามทฤษฎีของมงเตสกิเออ แต่กระนั้นก็ดี เมื่อพูดถึงการปฏิรูปองค์กรในประเทศไทยนั้นอาจอยู่ในระดับที่สามารถทำได้ยาก แต่ที่สามารถกระทำได้ง่ายกว่าก็คือ การปฏิรูปกฎเกณฑ์ในการรับสมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร โดยจะต้องเป็นบุคคลที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองเดียวกันกับฝ่ายบริหาร และต้องมีความหลากหลาย เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากรัฐบาล
3. สำหรับอำนาจตุลาการ ปัญหาที่พบจากการตัดสินคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้บุคคลสูญหาย คือ ปัญหาการขาดอุดมการณ์ประชาธิปไตย หลักประชาธิปไตยอันหนึ่งที่สำคัญมากคือ การตระหนักว่า อำนาจเป็นของประชาชน แต่ที่ผ่านมาตุลาการมักปิดกั้นตัวเองออกจากประชาชน เพราะกลัวจะไม่เป็นอิสระ ดังนั้นประชาชนจึงไม่สามารถเข้าถึงการตรวจสอบตุลาการได้ กรณีตัวอย่างเช่น การตัดสินคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีเหตุการณ์กรือเซะต่างๆ ศาลยังไม่นำความยุติธรรมกลับคือสู่ประชาชนได้ เพราะการตัดสินของศาลย่อมละเว้นที่จะไม่เอาผิดเจ้าที่หน้ารัฐบ่อยครั้ง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า อำนาจตุลาการยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนดีเท่าที่ควร ฉะนั้นข้อเสนอคือ ขอให้ศาลมีอิสระทางเนื้อหามากขึ้น กล่าวคือ การพิจารณาคดีความและการตีความกฎหมายควรมีความชัดเจนและไม่บิดเบือน ถัดมาควรมีอิสระจากอิทธิทางสังคม และอิสระจากองค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหาร มากกว่าอิสระจากประชาชน
4. สำหรับปัญหาที่เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิของคนมลายู ด้วยการอาศัยกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้บุคคลต้องสูญหายนั้น ผู้เขียนเห็นว่า การตรวจสอบกันเองระหว่างองค์กรการเมืองสามฝ่ายคงจะไม่เพียงพอ ฉะนั้นควรจะมีการจัดตั้งองค์กรอิสระระดับท้องถิ่นขึ้นใหม่ เพื่อตรวจสอบ และกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย มีมาตรการในการกลั่นกรองอย่างรอบคอบเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยและการปล่อยตัวผู้ต้องสงสัย อันจำไปสู่การลดผลกระทบด้านความรู้สึกประชาชนในการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ
บรรณานุกรม
กวี อศริวรรณ. 2530. ความคิดทางการเมือง. กรุงเทพมหานครฯ. บริษัทสยามบรรณจำกัด.
โชติสา ขาวสนิท. 2543. การศึกษาแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพในเหตุการณ์ตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2535 โดยเปรียบเทียบกับแนวคิดทางการเมืองของจอห์น ล็อค. วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วิภาวรรณ ตุวยานนท์. 2528. มองเตสกิเออร์, เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย. กรุงเทพมหานครฯ.
วิษณุ เครืองาม. 2523. กฏหมายรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพมหานครฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สุเมธ ปานเพชรและอับดุลเลาะ หวังนิ. 2549. อุ้มหายที่ป่าหวัง วันนี้ เขายังเชื่อมั่นในรัฐ. ศูนย์ข่า วอิศรา สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย.
สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์. 2552. ขอองค์กรอิสระตรวจสอบการใช้อำนาจ. ความรู้และความไม่รู้ใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552. คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย.
สมบัติ จันทรวงศ์. 2531. 200 ปี รัฐธรรมนูญอเมริกัน: อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของมหาชนรัฐ ประชาธิปไตย. กรุงเทพมหานครฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจเทรดดิ้ง.
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ. 2555. การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย. {ออนไลน์}, แหล่งที่มา: www.justiceforpeace.org. {27 มกราคม2557}.
อังคณา นีละไพจิตร. 2556. จวกรัฐเมินแก้ ‘บังคับคนสูญหาย’ ชี้นโยบายเป็นเหตุ-จี้ออกกม.ลูก รับ ระบุการเยียวยาก็เหมือนแค่ให้ทาน. {ออนไลน์}, แหล่งที่มา:
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล. 2556. ลาว: จับผิดจากกล้อง การบังคับบุคคลให้สูญหาย กรณี สมบัด สมพอน. {ออนไลน์}. (24 มกราคม 2557) เข้าถึงแหล่งข้อมูลจาก:
https://www.amnesty.org/en/library/asset/ASA26/002/2013/en/b11ee6d6-cf70- 4152-9a3e-72747b4927aa/asa260022013th.pdf
Human Rights watch. 2007. It was like suddenly my son no longer existed, {Online}.
Accessed 29January 2014. Available from:
http://www.hrw.org/sites/default/files/reports/thailand0307webwcover.pdf.
Asian Human rights commission. 2011. THAILAND: Refusal to address forced disappearances continues unabated. {Online}. Accessed 27January 2014. Available from:
http://www.humanrights.asia/news/ahrc-news/AHRC-STM-029-2011.