เจาะภาพการเปิดพื้นที่ชุมชนที่บ้านจือแรง ชุมชนหนึ่งที่กำลังคึกคักด้วยกิจกรรมทางสังคมหลายอย่าง ในท่ามกลางภาวะของความขัดแย้งและความหวาดระแวงจากเจ้าหน้าที่ กับเหตุการณ์ไม่สงบ หลายฝ่ายชี้กิจกรรมของชาวบ้านนับได้ว่าเป็นการสวนกระแสแต่สะท้อนความต้องการสร้างชุมชนของตนเองให้เข้มแข็ง ขณะที่บางส่วนเป็นห่วงบทบาทที่แหลมคมขึ้นของนักกิจกรรมระดับรากหญ้า
อิสมาอีล ฮายีแวจิ
ผู้ปฏิบัติงาน สำนักสื่อ Wartani

เมื่อวันที่ 19-20 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา ชาวบ้านบ้านจือแรงกลุ่มใหญ่ ได้ร่วมมือกับมัสยิดนูรุสอิฮฺซาน ตำบลตะมะยูง อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ชมรมตาดีกาอำเภอศรีสาคร มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PERMAS) ร่วมกันจัดงานวิชาการและวัฒนธรรม Seri Saga เพื่อเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมในชุมชนสู่การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน โดยมีปลัดอาวุโสอำเภอศรีสาครไปเปิดงานในครั้งนี้ด้วย

อับดุลรายิ เต๊ะกาแซ อีหม่าม ครูสอนตาดีกา และประธานโครงการดังกล่าว เปิดเผยว่า “งานที่ชาวบ้านร่วมกันจัดในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ร่วมให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวในหมู่บ้าน ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ และเพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนและชาวบ้านทุกคนผ่านงานเวทีวิชาการ และผ่านการจัดบูธนิทรรศการจากองค์กรภาคประชาชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่ เป็นต้น”
กิจกรรมในงานแบ่งเป็นสองส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย กิจกรรมเปิดบูธหรือพื้นที่นิทรรศการในเรื่องการเมืองการปกครอง ศาสนา วัฒนธรรม และกฎหมายพิเศษที่ใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี และกิจกรรมเวทีวิชาการในประเด็นกฎหมายและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในพื้นที่และส่วนกลาง

อับดุลการีม เจ๊ะโว๊ะ ผู้ประสานงานโครงการ เปิดเผยว่า “งานเริ่มต้นด้วยการแข่งขันกีฬาสากลและพื้นบ้าน ฟุตบอลกระชับมิตร ระหว่างเยาวชน ชาวบ้าน และผู้นำในหมู่บ้าน เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถดึงทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมสู่เป้าหมายความเป็นหนึ่งได้”
“กิจกรรมฟุตบอลกระชับมิตรในวันแรกนี้เราประสานกับผู้ชายทุกหลังคาเรือนในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนา ผู้นำหมู่บ้าน ผู้ใหญ่ เยาวชน วัยรุ่นและเด็ก ให้ออกมาร่วมกิจกรรมเตะฟุตบอล เป็นที่น่ายินดียิ่งที่ชาวบ้านทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” อับดุลการีม กล่าว

อับดุลการีม เปิดเผยอีกว่า กิจกรรมในวันต่อมาประกอบด้วยการให้ความรู้ผ่านบูธนิทรรศการและเวทีเสวนาในหัวข้อ “การบังคับใช้กฎหมายกับการคุ้มครอง” ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดนราธิวาส (MAC) ทอมมี ทนายความ จากสำนักกฎหมายประเทศอินโดนีเซีย (LBH) ที่ไปร่วมให้ความรู้เรื่องกฎหมายแก่ชาวบ้านในพื้นที่ โดยมีฮาซัน ยามาดีบุก ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ วิทยาลัยประชาชน (PEOPLE’S COLLEGE) เป็นผู้ดำเนินรายการ

หลังจากนั้นมีการจัดเวทีเสวนาปาตานี หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ “บีจารา ปาตานี (Bicara Patani)” ครั้งที่ 65 ในหัวข้อ “วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและจุดยืนของสังคมไทย มีผู้ร่วมเสวนาสองท่านด้วยกัน ประกอบด้วย ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) สุไฮมี ดูละสะ ประธาน สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PERMAS) โดยมีอาบีบุสตา ตัวแทนเยาวชนในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินรายการ

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสมทบอีกหลายกิจกรรม เช่น การแสดงปันจักสีลัต การแสดงตะกร้อลีลา จากอำเภอบาเจาะ และการแสดงศรีฮาลาเกาะห์ (Seri Halakah) จากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ร่วมทั้งการแสดงอนาชีดประสานเสียง จากเยาวชนในพื้นที่ด้วย

“จะเห็นได้ว่ากิจกรรมในรูปแบบนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี มีให้เห็นอยู่ทุกปีและทุกพื้นที่ แม้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบจะยังมีให้เห็นอยู่ทุกวัน” อับดุมการีมกล่าว
ผู้ประสานงานที่เข้าร่วมจัดงานอีกหลายส่วนตั้งข้อสังเกตว่า การจัดกิจกรรมต่างๆเหล่านี้ หลายครั้งผู้จัดรู้สึกเป็นห่วงว่า อาจจะยิ่งทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ตกเป็นที่สงสัยมากขึ้น เช่นถูกฝ่ายรัฐมองว่าเป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่อีกด้านหนึ่งเขาเชื่อว่า ชุมชนเองจำเป็นจะต้องมีกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาความขัดแย้งและผลกระทบได้ทำให้ชุมชนอ่อนแอลงไปมาก

ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้จัดงานต่างมองเห็นความจำเป็นของการที่จะต้องสร้างความเป็นหนึ่งเดียว ความสามัคคี พร้อมทั้งให้มีองค์ความรู้ที่เท่าทันเหตุการณ์รวมทั้งเข้าใจมาตรการต่างๆของฝ่ายเจ้าหน้าที่ เช่นเรื่องของการใช้กฎหมายพิเศษ ทั้งนี้เพื่อให้ตระหนักรู้และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในระดับชุมชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการสนับสนุนฝ่ายใด แต่เป็นการสร้างกิจกรรมเพื่อเอกภาพและความอยู่รอดของชุมชนมากกว่า
การจัดงานในหมู่บ้านจือแรงได้คนหนุ่มไฟแรงช่วยผลักดันกิจกรรมเหล่านี้ อับดุลรายิ เต๊ะกาแซ ที่ชาวบ้านเรียกขานเขาว่า เจ๊ะฆู อาซีส หรือ โต๊ะอีแม คือคนรุ่นใหม่ที่มีความใฝ่ฝันอยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม เขามีบทบาทค่อนข้างมากในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากเป็นครูสอนตาดีกาแล้ว ยังเป็นวิทยากรวิชาอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐ เป็นอีหม่ามมัสยิดนูรูลอิฮฺซาน บ้านจือแรง ตำบลตะมะยูง อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส เป็นผู้ประสานงานในหมู่บ้านระหว่างเยาวชนกับผู้ใหญ่ในชุมชน และยังเป็นตัวแทนหมู่บ้านที่ผ่านการอบรมผู้นำและผู้ช่วยทนายความ จากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
หลายฝ่ายที่เข้าร่วมในการจัดกิจกรรมในบ้านจือแรงเชื่อว่า กิจกรรมหลายอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านจือแรงในวันนี้ เกิดขึ้นได้เพราะคนรุ่นใหม่เช่นอับดุลรายิ แต่การแสดงบทบาทเช่นนี้แม้จะทำให้ชุมชนตื่นตัว แต่ตัวนักกิจกรรมเองมีความสุ่มเสี่ยงเนื่องจากจะถูกจับตาจากฝ่ายต่างๆในความขัดแย้งและหากบทบาทนั้นๆไปขัดประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนจัดกิจกรรมในระดับรากหญ้าเช่นนี้ได้


