Skip to main content

 

สรุปงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2013
“สนามสันติภาพ": เครือข่ายการสื่อสารภาคประชาสังคม
Fields of Southern Peace : Communication Networks of Civil Society
วันที่ 12-13 มีนาคม 2556/2013
ณ หอประชุมเล็กและลานกิจกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา จังหวัดยะลา

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 

"...มีความเข้าใจที่ค่อนข้างจำกัดของสังคมไทยโดยรวมต่อธรรมชาติของความขัดแย้งที่เกี่ยวกับการเมืองนี้ ทั้งนี้ สื่อมวลชนจะมีบทบาทอย่างไรในการขับเคลื่อนมวลชนให้เกิดแรงสนับสนุนกระบวนการสันติภาพที่แท้จริง..."

นี้คือโจทย์ที่ ดร.โนเบิร์ต โรเปอร์ส ผู้อำนวยการองค์กรสนับสนุนสันติภาพเบิร์กฮอฟ แห่งเยอรมัน ในฐานะนักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวิัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทิ้งไว้ให้ในเวทีพูดคุยนานาชาติ: “กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน" ปลายปี 2012 และเพื่อตอบสนองบริบทของการผลักดัน "กระบวนการสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้" ที่มีการริเริ่มอย่างสำคัญ นับจากปี 2011 เป็นต้นมา 

       ดังนั้น งานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 3ประจำปี 2013คณะผู้จัดจึงมีความมุ่งหวังให้เครือข่ายการสื่อสารช่องทางต่างๆ ช่วยหนุนเสริมการขับเคลื่อนการทำงานของภาคประชาสังคม ขณะเดียวกัน ฝ่ายภาคประชาสังคมก็สามารถเห็นช่องทางและใช้ประโยชน์จากเครื่อข่ายการสื่อสารที่มีอยู่อย่างหลากหลายประเภทให้ขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพได้อย่างมีพลังมากขึ้น โดยธีมหลักของงานคือ “สนามสันติภาพ : เครือข่ายการสื่อสารภาคประชาสังคม” (Fields of Southern Peace : Communication Networks of Civil Society) เมื่อวันที่ 12-13 มีนาคม 2556/2013ณ หอประชุมเล็กและลานกิจกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา จังหวัดยะลา โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ

  1.  เป็นพื้นที่สร้างและพัฒนาความร่วมมือการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคม และฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อแสดงสัญญะการทำงานร่วมกันของเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมที่นำไปสู่การสร้างพลังอำนาจการต่อรองกับผู้ใช้ความรุนแรงทุกฝ่ายได้
     
  2. ให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์การใช้สื่อและเครื่องมือต่างๆ เพื่อเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะในสถานการณ์(พื้นที่)ที่มีความรุนแรงและขัดแย้งกันนั้น สื่อไม่ได้เป็นแค่พื้นที่สาธารณะที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารและเปิดพื้นที่ให้เสียงอันแตกต่างจากเสียงหลักของสังคมเผยตัวขึ้นมาเท่านั้น ทว่ายังเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่นำไปสู่การสร้างหรือคลี่คลายความขัดแย้งได้พร้อมกัน

แนวคิด“สนามสันติภาพ” คืออะไร? ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อธิบาย “หากสันติภาพเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คนในพื้นทึ่ ซึ่งมีการต่อสู้ขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง ความสัมพันธ์ในทางสร้างสรรค์ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันของ 'วัตถุในทางความคิด' ที่หลากหลายและยอกย้อนสับสนในตอนแรก จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนไปสู่วัตถุทางวาทกรรมที่เปลี่ยนการใช้เหตุผล ในท่ามกลางความสัมพันธ์และอารมณ์ ทำให้ความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงกลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งสนามวาทกรรมก็คือสนามของการสื่อสาร นี่คือการสื่อสารเพื่อสันติ 'สนามแห่งสันติภาพ' นั่นเอง” และด้วย

"กระบวนการสันติภาพปาตานี เป็นกระบวนการที่ต้องเดินไปพร้อมกันหลายภาคส่วน ไม่เพียงแต่ปล่อยให้คู่กรณีหลักอย่างฝ่ายรัฐหรือฝ่ายตรงข้ามรัฐมากำหนดแนวทางยุติความขัดแย้งฝ่ายเดียว แต่ยังต้องให้ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาที่อยู่ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม และที่สำคัญประชาชนต้องมีพื้นที่ในการเสนอทางออกสู่สันติภาพด้วย" 

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ระบุนิยามและนัยยะแห่งความสำคัญข้างต้น จึงเป็นที่มาของภาคปฏิบัติการ “สนามสันติภาพ”: เครือข่ายการสื่อสารภาคประชาสังคม ทั้งนี้ จุดเด่นของงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ปีที่ 3ในทั้งสองวัน ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ :

“Photo Movement” และการชุมนุมช่างภาพชายแดนใต้

วันแรก เปิดตัวด้วยงานชุมชนช่างภาพชายแดนใต้ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมใหญ่ที่มีความหมายในการแสดงออกถึงพลังของเครือข่ายช่างภาพทั้งมืออาชีพ ไม่มืออาชีพ มือสมัครใจ ช่างภาพข่าวพลเมือง และนักถ่ายภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยทางแผนงานพัฒนาเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ ภายใต้โครงการ Deep South Peace Media Network Development ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้ริเริ่มจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีแรกจัดไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2010 และปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 3 โดยกำหนดวันให้ตรงกับช่วงงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ เพื่อแสดงถึงการเข้าร่วมภารกิจต่อกระบวนการสันติภาพ ในฐานะเครือข่ายสื่อภาคประชาชนอย่างเต็มที่ แม้ว่างานจะจัดขึ้นในวันอังคารและวันพุธซึ่งไม่ใช่วันหยุดประจำสัปดาห์ เนื่องจากสมาชิกเครือข่ายฯ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการงานตามปกติ แต่ก็มีผู้เดินทางมาร่วมงานจำนวน 95 คน (ในวันแรก) และมีผู้ส่งภาพมาร่วมแสดงนิทรรศการภายในงานจำนวน 60 ภาพ นอกจากนี้ ทางช่างภาพที่รวมตัวกันในนามกลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่ม The Gang Foto Yala, กลุ่ม Photo Peace of South, กลุ่ม Bunga Raya Imagine Photographers และกลุ่ม Camera Luy ได้นำผลงานภาพถ่ายที่ทางกลุ่มดำเนินการมาร่วมจัดแสดงเพิ่มเติมภายในวันงานด้วย

ในงานชุมนุมช่างภาพชายแดนใต้ ที่เข้ามาผนวกกับงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งนี้มีจุดเด่น 2 ประการหลัก คือ (1) การเปิดตัวกลุ่มช่างภาพหญิงในพื้นที่ชายแดนใต้ และ (2) การขับเคลื่อนแนวคิดภาพถ่ายเพื่อการเคลื่อนไหวทางสังคมในเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

(1) การเปิดตัวของกลุ่มช่างภาพหญิงชายแดนใต้

แม้ว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จะมีการร่วมตัวกันของเครือข่ายผู้หญิงอย่างความเข้มแข็ง และนับว่ามีศักยภาพ ในการขับเคลื่อนทางสังคมอย่างสูง แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนผลงานภาพถ่ายของนักถ่ายภาพที่เป็นผู้หญิงในพื้นที่ ยังถือว่า ไม่เป็นที่ปรากฎต่อสาธารณะมากนัก โดยสมาชิกในเครือข่ายช่างภาพที่เป็นผู้หญิงให้ข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะบริบททางสังคมในพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่มักมองว่า การถ่ายภาพเป็นกิจกรรมของผู้ชาย ซึ่งการทำงานจะต้องออกอาการท่าทาง หรือ ลุกนั่งเพื่อให้ได้มุมกล้องที่ต้องการ อาจทำให้กิริยาของผู้หญิงถูกมองว่าไม่เหมาะสม หรืออีกประการหนึ่ง อาจด้วยภารกิจในชีวิตประจำวันของผู้หญิงในสังคมมลายูที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อครอบครัวอย่างมาก ทำให้ความสนใจหรือเวลาในการถ่ายภาพค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ดี หลังจากแผนงานเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ได้จัดเวทีเสวนา ‘ภาพถ่ายในโลกสมัย ใหม่ผ่านสายตาช่างภาพหญิง Women's Eyes (Mata Wanita)’ เมื่อกลางปี 2012และมีการพูดคุยกันระหว่างเครือข่ายช่างภาพหญิงด้วยกัน ได้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และก่อให้เกิดการตั้งต้นร่วมกลุ่มกันในชื่อว่า 'Bunga Raya Imagine Photographers' ทั้งนี้ ทางตัวแทนกลุ่มฯ ได้กล่าวว่า การรวมตัวกันเฉพาะผู้หญิงนี้ จะช่วยให้ผู้หญิงมีความกล้าที่จะเปิดเผยมุมมองผ่านภาพถ่ายมากขึ้น

(2) ภาพถ่ายเพื่อการเคลื่อนไหวทางสังคม (Photo Movement)

ในงานชุมนุมช่างภาพฯ ครั้งที่ 3 นี้ คณะผู้จัดฯได้เชิญคุณ ‘สุเทพ กฤษณาวารินท์’ ช่างภาพสารคดีมืออาชีพของไทย มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่ปรากฎเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางได้แก่ภาพชุด 'โรฮิงยา…บนเส้นทางสุดขอบโลก'  (Stateless Rohingya...Running on Empty) และภาพชุดแม่น้ำโขง (หยุดเขื่อนไซยะบุรี) นอกจากนี้ คุณสุเทพยังเป็นหนึ่งในวิทยากรอบรมการถ่ายภาพ Angkor Photo Festival ซึ่งในชุุมนุมช่างภาพฯ ครั้งนี้ คุณสุเทพได้มาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับเบื้องหลังกระบวนการทำงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับช่างภาพในพื้นที่ และหลังร่วมกิจกรรมคุณสุเทพให้ความสนใจที่จะร่วมพัฒนาโครงการกับแผนงานเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้เกี่ยวกับกระบวนการอบรมให้ได้คุณภาพระดับเดียวกับ Angkor Photo Festival ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

ภายหลังการจัดงาน คณะผู้จัดงานฯ เรียนรู้ร่วมกับวิทยากรว่า ประเทศไทยไม่ต่างจากประเทศอื่นทั่วโลก มีช่างภาพมืออาชีพ และนักถ่ายภาพจำนวนมาก แต่ขาดแคลนนักเคลื่อนไหวด้วยภาพ หรือคนที่มีวิธีคิดทำงานทางความคิดและเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยการบอกเล่าผ่านภาพ ในระดับสากลอาจจะพบนักเคลื่อนไหวที่ใช้ภาพ(ถ่าย)เข้าสู่งานรณรงค์ในหลายสถานการณ์ และให้ความสำคัญต่อกลุ่มคนที่เป็นชายขอบของสังคมเป็นพิเศษ ทั้งนี้ วิทยากร 'สุเทพ กฤษณาวารินท์' ก็ยอมรับว่า แม้ในระดับโลกก็ยังขาดนักเคลื่อนไหวที่ใช้ภาพในงานรณรงค์เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอจากคณะผู้จัดงานฯ 2 ประเด็น คือ ข้อเสนอแรก นำวิทยากรลงมาทำอบรมเชิงปฎิบัติการเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ใช้ภาพถ่ายเพื่อการเคลื่อนไหว ที่สัมพันธ์กับข้อเสนอที่สอง คือ ทำโครงการสร้างหลักสูตรช่างภาพเพื่อกระบวนการสันติภาพ (Peace Photomovement) ให้ออกมาเป็นภาพตัวอย่าง กึ่ง “คู่มือ” (Hand Book) ว่าด้วยภาพกับความขัดแย้ง อันเป็นกระบวนการสร้างและยกระดับความรู้ร่วมกันระหว่างนกัวิชาชีพ นักปฏิบัติการ และนักวิชาการทั้งในและนอกพื้นที่จัหงวัดชายแดนภาคใต้ เสนอต่อสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นเจ้าภาพดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

ว่าด้วย: “การสื่อสารกระบวนการสันติภาพ” 

การสื่อสารกระบวนการสันติภาพนั้น ทางหนึ่งที่ถูกพัฒนาและยกระดับเป็นความรู้เด่นชัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คือ การใช้แนวทาง "พหุวิถีการสื่อสาร" หรือความหลากวิถีในระบบการสื่อสาร อาทิ ผ่านสื่อหลัก สื่อทางเลือก สื่อระหว่างบุคคล สังคมออนไลน์ สื่อภาพ ภาพเคลื่อนไหวและสื่อเสียง ที่สื่อทุกเวลาและสถานที่ โดยเริ่มต้นจากการสร้างวัตถุทางวาทกรรม (discursive process) ในเรื่องสันติภาพที่สำคัญ เช่น "การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ" (autonomy) "การพูดคุยเพื่อสันติภาพ" (peace talk) และ "ความยุติธรรมสันติภาพ" (justice peace) ฯลฯ และเมื่อมีปฏิบัติการสื่อสารออกไปก็เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (interplay) ของพลังทางสังคมฝ่ายต่างๆ ทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันนั้น ได้สร้าง "สนามในการเล่น" หรือ "พื้นที่กลาง" (common ground) หรือ "พื้นที่สาธารณะ" (public space) อันเป็นพื้นที่ร่วมเพียงบางส่วน ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันทั้งหมด มีเพียงประเด็นที่เราเห็นร่วมกัน และแม้ว่ายังมีอีกหลายประเด็นจากอีกหลายฝ่ายเห็นไม่ตรงกันก็ตาม แต่คนเห็นต่างยังสามารถปฏิบัติการทางสังคมร่วมกันในพื้นที่เดียวกันนี้ได้ เพื่อให้สังคมเดินหน้าไปด้วยกัน ดังนั้น การสร้างวัตถุทางวาทกรรมในเรื่องสันติภาพจำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายทางสังคมที่กว้างใหญ่มากขึ้น เป็นเครือข่ายของภาคประชาสังคม องค์กรทางวิชาการ และเครือข่ายของภาคการสื่อสาร

ส่วนความหลากวิถีในการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งนั้น อาจแบ่งได้ดังนี้

  • ทางสายที่ 1 (Track 1- Top level dialoguges & reform) ที่ประกอบด้วย ภาครัฐ ทหาร และกลุ่มขบวนการใต้ดินที่ต่อต้านรัฐ 
  • ทางสายที่ 2 (Track 2- Civil society Movement) ที่ประกอบด้วย ภาคประชาสังคม กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ นักวิชาการ และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน
  • ทางสายที่ 3 (Track 3- Grass-roots movement) คือ องค์กรประชาชนระดับรากหญ้า 

จะเห็นได้ว่า การสร้างพื้นที่สาธารณะรองรับการสร้างวาทกรรมในกระบวนการสันติภาพภายในพื้นที่ความขัดแย้งนี้ ทำให้เกิดพื้นที่ร่วม ศัพท์ และภาษาร่วมกันในการสร้างสันติ โดยไปมีผลให้ภาษาเรื่องสันติและแนวทางไม่ใช้ความรุนแรงเป็นคำหลักในพื้นที่สาธารณะนั่นเอง ดังนั้น “สนามสันติภาพ” ในเชิงภาคปฏิบัติการ คณะผู้จัดจึงเชิญสื่อกระแสหลักที่เกาะติดสถานการณ์กระบวนการพูดคุยสันติภาพมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ให้กับสื่อในพื้นที่ความขัดแย้งและสื่อทางเลือก 

ในเวทีสื่อเสวนา 1: “การสื่อสารกระบวนการสันติภาพ” นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ หัวหน้าข่าวความมั่นคง สถานีข่าวไทยพีบีเอส เล่าถึงการเตรียมตัวทำข่าวกระบวนการพูดคุยสันติภาพนานกว่า 1 ปี ก่อนที่จะมีการลงนามในฉันทามติทั่วไปฯ ระหว่างรัฐไทยกับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013 ที่ประเทศมาเลเซีย เขาระบุว่า สิ่งที่สื่อทุกประเภทในพื้นที่ซึ่งใกล้ชิดข้อมูลและเข้าถึงประชาชนได้มากกว่าต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เพราะ “การลงนามครั้งที่ผ่านมา ทางรัฐบาลมาเลเซียต้องการเข้ามาเป็นคนกลาง (Mediator) ซึ่งในประเด็นนี้ทางรัฐบาลไทยยอมรับไม่ได้เลย และในที่สุดทางรัฐบาลมาเลเซียยอมรับการตัดสินใจของไทยที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลาง ทว่ายอมรับได้ในฐานะผู้อำนวยการพูดคุย(Facilitators)เท่านั้น จึงทำให้สามารถเริ่มกระบวนการพูดคุยกันได้ ดังนั้น ต้องติดตามต่อไปว่ากระบวนการนี้จะเดินต่อไปอย่างไรในอนาคต เพราะเมื่อมีการพูดคุยแล้ว เชื่อว่าหนึ่งในประเด็นจะต้องพูดคุยกันคือ เรื่องการกระจายอำนาจอย่างแน่นอน เมื่อถึงจุดนั้นแล้ว ต้องติดตาม ตรวจสอบ และประเมินท่าทีของรัฐไทยมากขึ้น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด หากเปรียบเทียบกรณีของจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซียนั้นมีความชัดเจน คู่ขัดแย้งหลักยอมยุติการสู้รบเพื่อให้คนในพื้นที่บริหารจัดการตัวเองได้” 

โดยนัยยะนี้ นายเสริมสุข เน้นย้ำว่าสื่อทางเลือกและสื่อในพื้นที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ (key actors) ในการดึงเสียงของภาคประชาชนในพื้นที่ขึ้นมาให้มากที่สุดเพื่อร่วมกำหนดชะตากรรมและการจัดการตัวเองในอนาคต เนื่องจากเป็นสื่อที่ใกล้ชิดประชาชน และเป็นข้อจำกัดที่สื่อกระแสหลักหรือสื่อส่วนกลางของประเทศไม่สามารถเข้าถึง “เสียง” เหล่านั้นได้ “ในสังคมไทย เมื่อมีการการพูดการกระจายอำนาจ คนจะเข้าใจว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดน ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายว่า คุณ (สื่อทุกประเภท) จะทำอย่างไรที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการแก้ปัญหา แต่ว่าอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย” เขาระบุ

ส่วน น.ส.นวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซีและผู้ผลิตสื่ออิสระในพื้นที่ชายแดนใต้ ชี้ประเด็นที่สำคัญว่า “ก่อนหน้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่รัฐพูดมาตลอดว่าไม่เจรจา ไม่ยอมรับสถานะของฝ่ายขบวนการ ทว่าเมื่อมีการลงนามแล้วถือเป็นการยอมรับสองเรื่องสำคัญคือ หนึ่ง เป็นการยอมรับการมีตัวตนจริงของขบวนการต่อต้านรัฐ และสอง ยอมรับว่าที่ผ่านมามีกระบวนการพูดคุยสันติภาพไม่เป็นทางการหลายครั้ง จึงเป็นหน้าที่ของสื่อที่จะต้องทำ ประการแรก คือ การสร้างบรรยากาศที่ทำให้สังคมมีความรู้สึกว่าสามารถทำให้เกิดการพูดคุยได้อย่างเต็มที่ เสรี แบบเปิดใจ และยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งกระบวนการพูดคุยจะนำไปสู่การแก้ปัญหาถึงรากลึกได้ โดยไม่ลืมว่าคู่ความขัดแย้งในครั้งนี้ ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มBRNกับรัฐไทยเท่านั้น ยังมีกลุ่มขบวนการกลุ่มอื่นๆ อีก ยังมีกลุ่มคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งทำอย่างไรให้คนเหล่านี้มีโอกาสพูดได้ มีความเข้าใจ ประการที่สอง องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคม ต้องช่วยกันทำให้เสียงของชาวบ้านออกมาให้หมด เพื่อเขาสามารถกำหนดชะตากรรมของเขา และสามารถกดดันเชิงนโยบายต่อคู่ขัดแย้งที่อยู่ระหว่างกระบวนการพูดคุยสันติภาพได้” 

และน.ส.นวลน้อย ยังระบุอีกว่า วันนี้ตนเป็นส่วนหนึ่งของสื่อทางเลือกในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นวิธีการนำเสนอเรื่องราวจากในพื้นที่ออกสู่ข้างนอก โดยในตอนแรกๆ ยังเห็นความสับสนว่าสื่อทางเลือกในพื้นที่จะสื่อสารกับใครดี อยากให้สังคมข้างนอกเข้าใจตัวเองแต่ไม่รู้จะสื่อสารกับใคร ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งของคนในพื้นที่ที่นอกจากปัญหาในเชิงของทักษะที่นำเสนอ อย่างไรก็ตามเห็นว่าคนในพื้นที่มีมุมมองที่พัฒนามากขึ้น มีความเข้าใจตัวเองมากขึ้น

ทั้งนี้ สาระโดยรวมของวงเสวนานี้ นอกจากชี้ชวนให้สื่อทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ เข้าใจและเห็นความสำคัญของ “ตัวละคร” (actors) ในวิถีทางต่างๆ แล้วยังเรียกร้องสื่อต้องให้ความสำคัญและมีความรู้เกี่ยวกับ “ระหว่างทาง” ของกระบวนการสันติภาพ (process) ด้วย มากกว่านั้น การวิพากษ์วิจารณ์ว่าสื่อกระแสหลักว่าไม่เข้าใจปัญหารากเหง้าหรือปัญหาใจกลางความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ฝ่ายเดียว ก็ไม่เป็นธรรมอีกต่อไป หากสื่อทางเลือกในพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนและมีข้อมูล ความรู้ เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนในพื้นที่มากกว่าสื่อกระแสหลัก กล่าวคือ การสื่อสารของคนในต้องไม่สื่อสารเฉพาะ “วงใน” เท่านั้น ทว่าต้องสื่อสารดึงเสียง อารมณ์ความรู้สึก และความต้องการที่จะกำหนดอนาคต ชะตากรรม และวิถีชีวิตกับ “คนนอก” ด้วย เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลย์และกดดันข้อเสนอทางการเมืองมิให้ผูกขาดอยู่แค่ข้อเสนอของตัวแสดงที่มีบทบาทในวิถีทางที่ 1 (Track 1) คือ ตัวแทนรัฐกับตัวแทนขบวนการเท่านั้น 

“คนส่วนใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่าย ต้องสนับสนุนและเห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ ถ้าไม่สนับสนุนเต็มที่หรือไม่ดำเนินใดๆเต็มที่ อย่างน้อยๆก็เข้าใจ หรือมีมุมมองบวกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น คนที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจได้มากก็คือสื่อ สื่อจะต้องทำให้สังคมเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร เช่น ทำไมความรุนแรงจึงยังไม่หยุดในขณะที่มีกระบวนการสันติภาพ ทำไมกระบวนการสันติภาพจึงใช้เวลานาน ถ้าสื่อเข้าใจสังคมใหญ่ก็จะเข้าใจ ประชาชนส่วนใหญ่ก็เข้าใจตามไปด้วย ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจตามไปด้วยแล้ว กระบวนการสันติภาพก็จะประสบความสำเร็จ" ดร.โรเปอร์ส ให้ความสำคัญกับการสื่อสารกระบวนการสันติภาพอย่างยิ่ง

“เสียงคนใน: ภาษามลายูในโลกการสื่อสาร"

นอกจากบทบาทของสื่อกระแสหลักที่มุ่งติดตามตรวจสอบกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่เน้นให้ความสำคัญกับตัวแสดงบทบาทสำคัญในวิถีทางที่ 1 หรือ 'Track 1' มีความพยายามเชื่อมต่อกับสื่อทางเลือกในพื้นที่ และการส่งเสริมการใช้ภาษามลายูในพื้นที่สาธารณะถูกให้ความสำคัญอีกครั้ง เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศและเสริมพลังอำนาจให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ นั่นคือ การริเริ่มทำงานทางความคิดกับตัวแสดงบทบาทที่สำคัญในวิถีทางที่ 2 และ 3 หรือ 'Track 2' กับ 'Track 3' เพื่อขยายฐานการทำความเข้าใจเรื่องกระบวนการสันติภาพให้เป็น “เครือข่ายการสื่อสารภาคประชาสังคม” หนึ่งในเป้าหมายของการจัดงานก็เป็นอีกจุดเด่นหนึ่งในงานนี้ 

และเนื่องจากคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูทั้งการพูดและการเขียน อีกทั้ง ภาษามลายูที่บ่งบอกความเป็นอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ถูกกดทับด้วยนโยบายแห่งรัฐไทยมาเป็นเวลานาน จนเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขความขัดแย้งและความไม่สงบ แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะดีขึ้น ด้วยรัฐเปิดโอกาสและส่งเสริมการใช้ภาษามลายูให้คนในพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งการกำลังเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน (ASEAN) ที่มีประชากรกว่า 300 ล้านคนพูดภาษามลายู เช่นเดียวกับคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การส่งเสริมการใช้ภาษามลายูในพื้นที่สาธารณะและการผลิตสื่อมลายูเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการลดเงื่อนไขความขัดแย้งลง

หากจำกันได้ปี 2006 คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) มีข้อเสนอให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการอีกภาษาหนึ่งในพื้นที่แต่หลายรัฐบาลต่อมาได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้ ส่วนการส่งเสริมการใช้ภาษามลายูที่เป็นลักษณะทวิภาษาเพิ่งเกิดขึ้นในโรงเรียนไม่กี่แห่ง ส่วนใหญ่เป็นเพียงการปรับปรุงป้ายของหน่วยงานราชการเท่านั้น ผนวกบริบทที่ศูนย์อำนวยการบริหารจัดหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้สนับสนุนริเริ่มให้มีโทรทัศน์มลายู โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จึงฟื้นฟูภาษามลายูภาคปฏิบัติการเป็นครั้งแรก คือจัดเสวนาสาธารณะหัวข้อ “ที่ทางภาษามลายูในโลกของการสื่อสาร” ในวันที่ 19 มกราคม 2012 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น โดยเน้นให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนสิ่งที่กำลังทำเป็นภาษามลายูในปัจจุบัน โดยตลอดการเสวนาใช้ภาษามลายูสื่อสารทั้งหมด มีการถ่ายทอดสดผ่านวิทยุชุมชนภาคภาษามลายูหลายสถานีและออกอากาศสดผ่านเคเบิลทีวีในท้องถิ่นด้วย ขณะเดียวกันมีการเตรียมล่ามไว้สำหรับคนที่ฟังภาษามลายูไม่เข้าใจ 

การส่งเสริมการใช้ภาษามลายูในพื้นที่สาธารณะถูกให้ความสำคัญอีกครั้ง ในงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 3 ในหัวข้อสื่อเสวนา 2: “เสียงคนใน: ภาษามลายูในโลกการสื่อสาร" ซึ่งครั้งนี้ได้ขยับโจทย์ของการถกเถียงมากขึ้นว่า “ภาษามลายูจะมีส่วนช่วยในการสร้างสันภาพในพื้นที่ได้อย่างไร” จากโจทย์ดังกล่าว ทำให้มีความเห็นที่หลากหลายจากเวที โดยเฉพาะจากวิทยากรซึ่งเป็นนักจัดรายการวิทยุภาษามลายูและนักวิชาการที่สอนภาษามลายูในมหาวิทยาลัย ทั้งหมดเห็นว่า ภาษามลายูมีส่วนช่วยในกระบวนการสันภาพได้ แต่จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมนักจัดรายการวิทยุ รวมทั้งผู้ผลิตสื่อภาษามลายูให้เข้าใจในเรื่องกระบวนการนี้ก่อน เพราะหากมีการสื่อสารที่ผิดๆ หรือด้วยความไม่เข้าใจก็จะส่งผลเสียต่อคนในพื้นที่ได้ 

อาจารย์การ์ตีนี วาโด อาจารย์ประจำสาขาภาษามลายู คณะมนุษยวิทยาและสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ระบุว่า หากต้องการสื่อสารกับคนในพื้นที่ก็ควรใช้ภาษามลายูอักษรญาวี แต่คนที่อ่านได้ก็มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับภาษามลายูอักษรรูมี ซึ่งคนทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าในมาเลเซียหรืออินโดนีเซียส่วนใหญ่อ่านภาษามลายูอักษรรูมีได้ หากต้องการสื่อสารกับพวกเขาด้วยก็ต้องเขียนด้วยภาษามลายูอักษรรูมี เป็นโจทย์ที่นักสื่อสารทุกแขนงต้องคิด ออกแบบ และวางสมดุลย์การใช้ การฟื้นฟูภาษามลายูอักษรญาวีอาจเป็นยาแก้อักเสบให้คนรุ่นหนึ่งที่รู้สึกถูกกดทับอัตลักษณ์ของตนเองจนกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งแห่งความขัดแย้งนี้ ก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ ด้านหนึ่ง การให้การศึกษาเพื่อใช้ภาษามลายูอักษรรูมีก็จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องสื่อสารกับคนในภูมิภาคนี้ สื่อสารว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในในพื้นที่ปาตานีก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน การสื่อสารกับโลกภายนอกได้คือหนทางหนึ่งในการกดดันคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายไม่ให้ใช้หนทางของความรุนแรง

นายมูหามะสอและ วาเด็ง นักจัดรายการวิทยุภาษามลายู และรองประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวะยะลา ระบุว่า ผู้ดำเนินรายการวิทยุและโทรทัศน์ภาษามลายูควรปรับตัวตามกระแสของการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องหาความรู้ทั้งทางภาษาและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน มีวิทยุชุมชนที่เผยแพร่ในเรื่องศาสนาเกิดขึ้นจำนวนมาก ควรปรับตัวนำเสนอเนื้อหาในลักษณะให้ความรู้แก่ประชาชน และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน มากกว่าการเสนอในลักษณะทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดในเรื่องของศาสนา

น.ส.รอฮานี ดาโอ๊ะ นักจัดรายการวิทยุเสียงผู้หญิงชายแดนใต้ อธิบายความสำคัญการใช้ภาษามลายูในรายการวิทยุชุมชนว่า เดิมจัดรายการด้วยภาษาไทย ต่อมาผู้ฟังเรียกร้องให้ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นด้วยเพราะอยากเข้าใจสิ่งที่นักจัดรายการวิทยุกำลังสื่อสารร  และคิดว่าถึงเวลาที่รายการในวิทยาชุมชนต่างๆ ต้องจัดรายการเป็นภาษามลายูเพิ่มมากขึ้นได้แล้ว เพราะหลังจากใช้ภาษามลายูปรากฏว่ามีผู้ฟังเพิ่มขึ้น และมีการโทรศัพท์เข้ารายการมากขึ้น แต่ก็ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นที่คนในพื้นที่เข้าใจได้ง่าย เธอบอกว่า สิ่งที่อยากเห็นคือ อยากให้วิทยุและโทรทัศน์ในพื้นที่มีรายการที่หลากหลายมากกว่าปัจจุบัน เช่น มีรายการเกี่ยวกับเด็ก ผู้หญิงหรือครอบครัว เป็นต้น เพื่อให้พื้นที่กลางในสื่อสารเรื่องราว อีกทั้งเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆด้วย “อยากให้มีสื่อที่เป็นของชุมชนในพื้นที่ เพื่อเป็นพื้นที่กลางการสื่อสารระหว่างคนมุสลิมกับคนไทยพุทธ เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารต่อคนนอกพื้นที่ ถึงเรื่องการอยู่ร่วมกันคนไทยและมุสลิมในพื้นที่” น.ส.รอฮานี ระบุ

ในระหว่างการถอดประสบการณ์เป็นความรู้และการเรียนรู้ในการจัดงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ครั้งนี้ คณะผู้จัดงาน พบว่า หากภาษา = “ทาง" ในการเชื่อมโยงผู้คนให้เกิดการรับฟังและเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนเข้าใจกันมากขึ้น การจัดงานวันสื่อทางเลือกฯก็ดี หรือการจัดวงสนทนาสาธารณะที่ยกระดับการใช้ภาษามลายูในพื้นที่สาธารณะ(อย่างเป็นทางการ) จะช่วยให้ 'รัฐไทย' ลดความหวาดระแวงจากสิ่งที่ตนไม่คุ้นชินลง อีกทั้งการใช้ภาษามลายูในพื้นที่สาธารณะเป็นจุดริเริ่มสำคัญในการดึงคนมลายูในพื้นที่สายแดนใต้ และหากสามารขยายการสื่อสารออกไปให้ไกลครอบคลุมภูมิอาเซียนได้จริง เท่ากับการดึงคนมลายูอาเซียนเข้าสู่ 'สนามสันติภาพ' เข้ามาในกระบวนการสันติภาพได้มากขึ้นนั่นเอง 

หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่ง กระบวนการสันติภาพมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างความหวัง การกลับเข้ามาฟื้นฟูภาษามลายูถิ่น และเห็นพ้องร่วมกันว่า คนทำสื่อภาษามลายู ควรระวังในการใช้ "คำ" ในการสื่อสาร เพราะในเชิงประจักษ์คนทำสื่อคือคนที่สร้างภาษามลายู(ใหม่ๆ) ทางหนึ่งเช่นกัน ฉะนั้น นักภาษาศาสตร์ นักวิชาการ คนทำสื่อต้องหาโอกาสและพื้นที่ในการทำงานรังสรรค์ภาษามลายูร่วมกัน

นอกจากนั้น ในเวทีสื่อเสวนาพิเศษ: “Making Media Now: Thriving in a Changing Landscape” หรือ “ลุกขึ้นมาทำสื่อกันเถอะ โอกาสและพื้นที่เปิดให้เราแล้ว” ยังมีวิทยากร ผู้ที่คลุกคลี่กับการใช้สื่อใหม่และสื่อสังคมออนไลน์ในการขับเคลื่อนประเด็นคนสำคัญของสังคมไทย ได้แก่ นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต นายสมบัติ บุญงามอนงค์ "บก.ลายจุด" และผู้ดำเนินรายการประชาชน 3.0 ทางช่องเอเชียอัพเดท และนายธาม เชื้อสถาปนาศิริ นักวิชาการจากสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ(สวส.) ซึ่งกำลังทำศึกษาวิจัย “คู่มือการรายงานข่าวเพื่อสลายความขัดแย้ง: กรณีปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้” สาระสำคัญโดยสรุปนั้น เป็นการเปิดโลกการรับรู้การทำสื่อและอำนาจของสื่อ(ใหม่)ที่กำลังขยายพื้นที่มากขึ้น วิทยากรชี้ให้เห็นว่า การทำสื่อใหม่ (บทเรียน) ต้องคำนึงถึงด้านกลับของการทำสื่อ อย่าตก 'หลุมพลาง' ของสื่อ รวมทั้งการรู้เท่าทันสื่อใหม่ อ่านสื่อได้ ใช้สื่อเป็น ทำสื่อเอง ข้อควรระมัดระวังเมื่อภาคประชาสังคมจะลุกขึ้นมาทำสื่อเองในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งสูงควรต้องพิจารณาและระวังไหวต่อเรื่องใดบ้าง พร้อมกับให้ความรู้และความเท่าทันต่อการเกิดขึ้นของช่องทีวีดิจิตอลจำนวนมาก ปลายปี 2013 และการระวังไหวต่อกฎระเบียบใหม่ๆ ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่ประกาศและกำลังถูกบังคับใช้ในเร็ววันนี้ ซึ่งเวทีนี้ ถือเป็นการจุดประกายความคิดทางเทคนิคหลายเรื่อง โดยจะมีการทำวิทยากรทั้ง 3 คนกลับลงมาทำการอบรมเชิงปฏิบัติการเฉพาะด้านในโอกาสต่อไป

มากกว่านั้น คณะผู้จัดงานยังได้เปิดพื้นที่และสนับสนุนให้เครือข่ายเกือบ 30 องค์กรได้เปิดบูทและจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอสิ่งที่แต่ละองค์กร/เครือข่ายกำลังผลักดันขับเคลื่อนอยู่ และยังได้เปิดพื้นที่ให้เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ได้อ่านแถลงการณ์สนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับขบวนการBRN- Coordinate พร้อมเรียกร้องประชาชนร่วมส่งเสริมกระบวนการนี้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ โดยตลอดงานทั้งสองวันมีการถ่ายทอดสดผ่านวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน และเคเบิลทีวีท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้ ในแต่ละวันมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 300 คน

มิติใหม่การสื่อสารใน 'สนามสันติภาพ'

“สนามสันติภาพ” สร้างมิติใหม่การสื่อสารอย่างไร ในสายตานักวิชาการ และนักนิเทศศาสตร์ในพื้นที่ชายแดนใต้ ผศ.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยากรสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สรุปภาพรวมและความรู้ที่เกิดจากการสะสมของภาคปฏิบัติการในช่วงปิดงาน ระบุว่า กิจกรรมตลอดระยะเวลาสองวันในงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 3 ทำให้เราได้เห็นภาพว่า การทำงานเพื่อเป้าหมายแห่งสันติภาพนั้น ความร่วมมือของภาคีต่างๆ เพื่อเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งในการทำงานร่วมกัน เป็นตัวแปรสำคัญของการนำไปสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคส่วนหลัก ได้แก่ ภาคประชาสังคม เครือข่ายการสื่อสาร และกลุ่มนักวิชาการ เนื่องจากภาคีสามส่วนนี้มีจุดแข็ง สิ่งที่ถนัด และงานที่เชี่ยวชาญที่จะช่วยหนุนเสริมซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี

ความสำคัญของตัวแปรความสำเร็จข้างต้น ผศ.วลักษณ์กมลอธิบายเพิ่ม คือในขณะที่ภาคประชาสังคมมีฐานความแข็งแกร่งในเรื่องมวลชนและการรวมตัว ความสามารถเข้าถึงซึ่งกันและกัน ภาคส่วนของสื่อก็จะหนุนเสริมการเชื่อมร้อยรัดให้การรวมตัวและการเข้าถึงกันเหล่านั้นให้เข็มแข็งและต่อเนื่องยิ่งขึ้น อีกทั้งจะช่วยขยายเครือข่ายแบบทวีคูณให้กับกระบวนการร้อยรัดดังกล่าว โดยมีสถาบันหรือกลุ่มทางวิชาการช่วยเติมเต็มองค์ความรู้และออกแบบกระบวนการ โดยใช้องค์ความรู้ในด้านต่างๆ มาช่วยให้การขับเคลื่อนมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ที่กล่าวมานั้น คือสิ่งที่อาจเรียกมันว่าเป็นมิติใหม่ของการสื่อสาร ที่มีเป้าหมายเพื่อการสร้างสันติภาพ หรือช่วยเป็นกลไกในการคลี่คลายความขัดแย้ง

"คือภาพสะท้อนของการจัดงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ที่ฉายชัดอยู่ในวันนี้และในสองครั้งที่ผ่านมา และจากการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายที่กล่าวมานั้น ทำให้ต้องมองย้อนไปถึงแนวคิดเกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อสันติภาพที่เป็นแนวทฤษฎีการสื่อสารทางเลือกที่พยายามแทรกตัวมาอยู่ในแนวคิดการสื่อสารกระแสหลัก ที่เรามีความคุ้นเคยกันอยู่แล้วก่อนหน้านี้ แนวคิดการสื่อสารเพื่อสันติภาพ หรือการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ หรือวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ หรือที่ล่าสุดมีการบัญญัติคำใหม่ขึ้นมาว่า สันติวารสารศาสตร์ ก็แล้วแต่ว่าเราพอใจจะเรียกมันว่าอะไร แต่ก็ต้องมีความเข้าใจร่วมกันว่าแนวคิดนี้เป็นความพยายามที่จะทำให้ การสื่อสารเป็นกลไกหรือเป็นเวทีกลางในการเปิดพื้นที่ให้กับทางออกที่นำไปสู่สันติ"

ผศ.วลักษณ์กมล อธิบายเพิ่มอีกว่า ถ้าเราจะพิจารณาให้ลึกลงไป ทั้งในเชิงปฏิบัติและเชิงวิชาการแล้ว การสื่อสารเพื่อสันติภาพ อาจแบ่งได้เป็น 2 แง่ นั่นคือ แง่ที่หนึ่ง การสื่อสารเพื่อสันติภาพในแง่ของแนวปฏิบัติในวิชาชีพข่าวหรือสื่อมวลชน ภาษาอังกฤษเราใช้ว่า Peace journalism และในแง่ที่สอง การสื่อสารเพื่อสันติภาพในแง่ของโครงการหรือกิจกรรม การมีส่วนร่วม การผลิต และการสื่อสาร หรือใช้สื่อประเภทต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ เราใช้ศัพท์ในแง่นี้ว่าเป็น Peace-oriented communication

แม้จะมีที่มาและได้รับอิทธิพลมาจากนักคิดนักทฤษฎีเกี่ยวกับ Peace and conflict studies และมีแนวคิดหลักที่คล้ายคลึงกัน ในเรื่องของการใช้สื่อเพื่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อสันติภาพ แต่แนวปฏิบัติของ การสื่อสารเพื่อสันติภาพทั้งสองจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง

Peace journalism ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางใหม่ในการทำงานของวิชาชีพข่าวและสื่อมวลชน ที่เรียกร้องให้รื้อสร้างระบบแนวคิดเกี่ยวกับคัดเลือกและประเมินคุณค่าข่าวเสียใหม่ ไม่ตัดสินความเป็นข่าวสำคัญเพียงแต่ความกว้างขวางของผลกระทบ ความรุนแรงของเหตุการณ์ความเข้มข้นของความความขัดแย้ง หรือความแปลกประหลาดของสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ peace journalism พยายามชี้ให้เห็นว่าเรื่องราวเชิงบวก เช่น ความริเริ่มเพื่อสันติภาพก็สามารถมีคุณค่าเทียบเท่าคุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้นได้

นอกจากนี้ peace journalism ยังได้เสนอการรื้อสร้างระบบคิดในการออกแบบวิธีการนำเสนอข้อมูลความขัดแย้ง หรือความรุนแรงเสียใหม่ โดยเน้นย้ำว่าสื่อเพื่อสันติภาพไม่ได้หมายถึงการละเลยเพิกเฉยไม่นำเสนอความรุนแรง แต่เน้นที่วิธีการนำเสนอมุมมองจากหลากหลายฝ่ายที่มากพอ และสามารถเรียบเรียงข้อมูลให้รอบด้านเพื่อสร้าง ให้เกิดเวทีสนับสนุนกลไกของการมองหา “ทางออก” ให้มากที่สุด

ในอีกแง่หนึ่งของการสื่อสารเพื่อสันติภาพ นั่นคือแง่ที่เป็นโครงการหรือกิจกรรมของการมีส่วนร่วมในการผลิต การสื่อสาร และการใช้สื่อประเภทต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสันติภาพ หรือ peace-oriented communication นั้น เป็นความพยายามของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคประชาสังคม ในการใช้สื่อและการสื่อสารประเภทต่าง ๆ เพื่อเป็นแรงในเชิงบวกให้กับกระบวนการสร้าง สันติภาพ เหมือนที่พวกเราในพื้นที่และ ณ ที่นี่ กำลังทำกันอยู่ กิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวที การผลิตรายการวิทยุ การสร้างกิจกรรมของกลุ่มผู้หญิงเพื่อสื่อสารความคิดของตน หรือแม้แต่การผลิตสินค้าชุมชน เพื่อกระจายไปสู่กลุ่มคนทั้งภายนอกและภายในชุมชน ก็นับเป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง สภาพวิถีชีวิต วัฒนธรรม และศักยภาพของชุมชน เพื่อให้สังคมได้เห็นถึงสภาพที่แท้จริงของชุมชน และมองออก ว่ามันมีชีวิตคนอยู่ในความขัดแย้ง รวมทั้งตระหนักว่าชีวิตคนนี่แหละที่เป็นเหตุผลใหญ่ที่เราต้องเดินไปสู่สังคม สันติภาพ

ในส่วนของกลุ่มภาคีที่เกี่ยวข้องกับ Peace-oriented communication นั้น มีความหลากหลายทั้งกลุ่มนักวิชาการ ที่มีความรู้เฉพาะทางในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประชาชนทั่ว ๆ ไป กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนด้านต่างๆ กลุ่มประชาสังคม รวมไปถึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ หรือคนที่ทำงานในแวดวงสื่อด้วยก็ได้

ผศ.วลักษณ์กมล สรุปการสื่อสารเพื่อสันติภาพมิติใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับ องค์กรสื่อ นักสื่อสารมืออาชีพ หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสารเท่านั้น แต่มิติของการสื่อสารเพื่อสันติภาพ ที่สามารถทำให้เกิดผลได้จริงนั้น ต้องเป็นการประสานเครือข่ายทั้งส่วนที่เป็น Peace journalism และ Peace-oriented communication เหมือนแนวคิดการดำเนินงานที่งานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ และอีกหลายโครงการดีๆ ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้

ใครบ้างมาร่วมงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้

แน่นอนว่ามีคนจากเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้มาร่วมและแสดงผลงานเกือบ 100 คนต่อวัน ซึ่งวันที่สองอาจจะลดน้อยลงไปบ้าง ในวันแรกของช่วงบ่าย ระหว่างเวทีสื่อเสวนา: "การสื่อสารกระบวนการสันติภาพ" มีแกนนำและเครือข่ายนักศึกษาชายแดนใต้จากสถาบันต่างๆ ประมาณ 30-40 คนเข้ามาชูป้ายประท้วงการทำงานของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่นำเสนอว่าเครือข่ายนักศึกษาจำนวนหนึ่งเป็นเครือข่ายแนวร่วมทางการเมืองของขบวนการบีอาร์เอ็นในรายการข่าว ซึ่งอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งคณะผู้จัดงานฯ ได้ประสานกับแกนนำให้สื่อสารแสดงออกได้ในระดับที่เหมาะสม บนฐานคิดการเคารพการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี "บอกเล่าเสียงต่างให้ปรากฏในพื้นที่สาธารณะอย่างสันติวิธี" ทั้งนี้ นายเสริมสุข หนึ่งในวิทยากร ระบุว่า ในช่วงท้ายของการการเสวนาได้คุยกันอย่างเปิดใจกับกลุ่มและแกนนำนักศึกษา ยอมรับว่ารายงานที่ออกไปขาดความสมบูรณ์ในส่วนของฝายที่ถูกกล่าวหา เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น ตามด้วยคำขอโทษส่วนตัวที่เห็นว่าเมื่อเกิดความผิดพลาดที่ไม่ได้เจตนา การกล่าวคำขอโทษเพื่อบอกถึงความจริงใจที่มีต่อกัน ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องเสียหน้าอะไร ดีใจที่ได้คุยกันอย่างตรงไปมา 

ผู้เข้าร่วมงานอาจแบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้ คือ 

  1.  กลุ่มสื่อประเภทต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เข้ามารับฟังสถานการณ์ความคืบหน้า และทิศทางของกระบวนการสันติภาพหลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013 ในกลุ่มนี้ มีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน สลาตันปัตตานี เป็นแม่ข่ายในการถ่ายทอดเสียงวิทยุและแปลเป็นภาษามลายูตลอดงานสองวัน และร่วมออกบูทนำเสนอบทบาทการทำงานขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม เคเบิลยะลาเน็ทเวิร์ค ที่มาร่วมออกบูท และถ่ายทอดสดภาพและเสียงในลักษณะ Multi-Media Platform ที่สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ทั้งทางเคเบิลทีวีี ทางทีวีอินเตอร์เน็ต และทางสมาร์ทโฟน รวมทั้งการชวนเครือข่ายภาคประชาสังคมไปสัมภาษณ์ออกอากาศเป็น "ช่วงเวลาพิเศษ" เพื่อให้เครือข่ายได้นำเสนอผลงานผ่าน 'เครือข่ายโทรทัศน์ชุมชน' มีโทรทัศน์มลายู ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ดำเนินการผลิตโดยอามาน โปรดักชั่น กรุ๊ป มาร่วมออกบูทและผลิตรายการเสวนาสดๆ หลายเทปรายการ มีรายการวิทยุเยาวชน ศูนย์ฟ้าใสจังหวัดยะลา มาออกบูทและรายงานผ่านทางวิทยุชุมชนเป็นระยะ กลุ่มผู้ผลิตสื่ออิสระ อาทิ เอฟที มีเดีย มาจัดฉายสารคดีและนำเสวนากลุ่มย่อย เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ มาร่วมจัดนิทรรศการหลายกลุ่ม โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ร่วมออกบูทและร่วมถ่ายทอดสดผ่านอินเตอร์เน็ต ฯลฯ
     
  2.  กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชนที่มาร่วมจัดนิทรรศการและออกบูทนำเสนอการดำเนินงานของตนเอง ได้แก่ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ปาตานีฟอรั่ม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) โรงเรียนอัครศาสตร์มาเปิดบูทนำเสนอการผลิตสารคดีโดยกลุ่มนักเรียน โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Project) มูลนิธิเยียวยา ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) โครงการการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนใต้ (K4DS) มาเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการการเข้าถึงและการค้นหาข้อมูลสำคัญในฐานข้อมูลฯ เป็นห้องย่อยในวันแรกมีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 25 คน เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ มาร่วมแสดงนิทรรศการ ชวนเครือข่ายผู้หญิง กลุ่มสูญเสียต่างรวมจำหน่ายสินค้า และอ่านแถลงการณ์ในช่วงปิดงาน เป็นต้น
     
  3.  เครือข่ายภาคประชาสังคมที่มาร่วมงานแต่มิได้ร่วมจัดบูทนิทรรศการ อาทิ วิทยาลัยประชาชน (วันแรกมากร่วมงานประมาณ 25 คน และวันที่สองมาร่วมงานประมาณ 60-70 คน) กลุ่ม Awan Bookเครือข่ายเคลื่อนไหวประเด็นการกระจายอำนาจ เครือข่ายวิทยุชุมชนและนักจัดรายการวิทยาชุมชนภาคภาษามลายู (วันที่สองมาประมาณ 20 คน) เครือข่ายนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ กลุ่มด้วยใจ มูลนิธิเอเชีย เครือข่ายชุมชนศรัทธา (กัมปง ตักวา) นักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามประมาณ 60 – 80 คน สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ สถานทีไทยพีบีเอส เป็นต้น 

ทั้งนี้ ทางคณะผู้จัดงานฯ พบว่า การมาจัดงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ที่มหาวิทยาลัราชภัฎยะลา แม้จะมีจุดออ่นที่ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคมส่วนใหญ่ซึ่งล้วนมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่จังหวัดปัตตานีมาร่วมงานไม่สะดวกนัก ทว่ากลับมีจุดแข็งที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ เครือข่ายที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ที่จังหวัดยะลา เช่น ศูนย์ฟ้าใส วิทยุร่วมด้วยช่วยกัน สลาตันที่มีแม่ข่ายจ.ยะลาด้วย ยะลาเคเบิล เน็ตเวิร์ค และโทรทัศน์มลายู มีความรู้สึกและ "ความเป็นเจ้าของพื้นที่" แสดงออกการมีส่วนร่วมในงานนี้สูง โดยขอเป็นเจ้าภาพหลักในการสื่อสาร ดำเนินรายการ และถ่ายทอดเนื้อหาข่าวสารผ่านสื่อที่ตนเองมีอยู่ทุกช่องทาง และเป็นการโอกาสดีในการเข้ามา "สนทนาทางความคิด" กับสถาบันวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ซึ่งมีทั้งคณะนิเทศศาสตร์ และสาขาวิชาภาษามลายูเป็นจุดแข็งเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในอนาคตมากขึ้น.