Skip to main content

 

สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMas ได้ยื่นแถลงการณ์ให้กับ องค์การสหประชาชาติ หรือ UN หลังได้ยื่นให้กับรัฐไทยแล้ว 3 ฉบับ แต่ไร้วี่แวว  ด้านเจ้าหน้าที่ยูเอ็นรับปากจะดำเนินการต่อไป 

สามะแอ  ดือเร๊ะ

ผู้ปฏิบัติงาน  เครือข่ายสำนักสื่อ wartani ส่วนกลาง

 

  เมื่อเวลา 15.15 น. วันที่ 28 เมษายน 2557 ทาง สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMas ส่วนกลาง ได้เข้าพบกับนาย ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อยื่นหนังสือแถลงการณ์ กรณีความรุนแรงต่อเด็กและพลเรือนจังหวัดชายภาคใต้/ปาตานี พิจารณากรณีเด็กและพลเรือนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ และให้มีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยจากการถูกละเมิดและถูกคุกคามในการนำเสนอข้อเท็จจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะชนได้

 อารีเพ็ญ. สะอิ ผู้ช่วยผู้ประสานงานส่วนกลาง สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMas ได้เปิดเผยว่า “แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 4 แล้ว ที่เราได้แถลงต่อสาธารณะ ซึ่ง 3 ฉบับ ที่ได้แถลงก่อนหน้านี้ เราได้เรียกร้องไปยังรัฐไทยไปแล้ว แต่ถูกเมินเฉย ไร้วี่แวว กับสิ่งที่เราได้เรียกร้อง วันนี้เราจึงขอเรียกร้อง ต่อองค์การสหประชาชาติ หรือ UN เพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว “

 ด้าน นาย ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ออกมารับเรื่องจากนักศึกษา ได้กล่าวกับตัวแทนนักศึกษาว่า ตนจะนำหนังสือแถลงการณ์ ไปยื่นที่ สำนักงานใหญ่ และต้องการหลักฐานต่างๆที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านมีอะไรบ้างที่บ่งบอกถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ ถ้านักศึกษามีสียงของผู้ได้รับผลกระทบจะยิ่งดี จะได้มีหลักฐานในการทวงติงกับรัฐไทยต่อไป”

 อนึ่ง ปลายเดือนนี้ ทางคณะ UN จะลงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อไปตรวจสอบกรณีการซ้อมทรมานที่ยังคงมีการร้องเรียนอยู่อย่างต่อเนื่อง

 หมายเหตุ :

แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี ร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ฉบับที่ : 4/2557 เรื่อง กรณีความรุนแรงต่อเด็กและพลเรือนปาตานี

          เนื่องด้วยในห้วงเวลาสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา หลายเหตุการณ์สร้างความหวาดกลัวและสะเทือนใจต่อประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก และเกิดความคลุมเครือในข้อมูลข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งสุ่มเสียงต่อการส่งผลให้เกิดความไม่ยุติธรรมหรือไม่กับผู้สูญเสียและครอบครัวสูงมาก ดังเช่นกรณีเกตุการณ์กราดยิง เด็กชายลุกมาน อภิบาลแบ อายุ 6 ปี 2 เดือนและนายมุขตาร์ อาลีมามะ อายุ 32 ปี เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2557 ที่บ้านบาเจาะ ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า นายมุขตาร์ อาลีมามะ เป็นแกนนำคนสำคัญในพื้นที่คนหนึ่งที่ทางการต้องการตัวตามเป้าหมาย “แผนพรานพิฆาตไพรี”

และเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2557 เหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงนายดอรอแม ดาราเซะ นางอาอีเสาะ เฮงดาดา และเด็กหญิงนูรมาน ดาราเซะ อายุ 2 ขวบ ส่งผลให้เสียชีวิตรวม 3 ศพ ที่บ้านบันนังกูแว ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และเหตุการณ์ต่อเนื่องยิงชาวบ้านนายสะมาแอ ยีแวเงาะ อายุ 63 ปี ที่บ้านบือซู หมู่ที่ 6 ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา

ทั้งหมดได้เสียชีวิตท่ามกลางความกังขาของสังคมสาธารณะเป็นอย่างมาก เพราะการพยายามอธิบายของสื่อกระแสหลักนั้น ได้ชี้นำให้สังคมเข้าใจว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวของนายมุขตาร์ อาลีมามะ ขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพลค้าไม้เถื่อนในพื้นที่ และเป็นปมความขัดแย้งระหว่างสองตระกูลที่บ้านบันนังกูแว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด ซึ่งการอธิบายดังกล่าวของสื่อกระแสหลักนั้น พบว่าขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับการรับรู้และการสื่อสารของสังคมสาธารณะในพื้นที่ส่วนใหญ่

ตลอดระยะเวลา 10 ปีกับสงครามที่ปาตานี ได้คร่าชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันรัฐไทยพยายามใช้กลไกต่างๆเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ว่าการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ทั้งสามฉบับและกองกำลังของรัฐจงใจติดอาวุธจำนวนมากเรือนแสน แต่ในทางกลับกันรัฐไทยไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้เลย หนำซ้ำยังเป็นการเพิ่มเงื่อนไขให้กิจกรรมการใช้อาวุธขยายตัวไปยังภาคประชาชนปาตานีกับประชาชนปาตานีกันเองมากขึ้น

อีกนัยหนึ่งของเหตุการณ์สลดใจที่มีเหยื่อเป็นเด็กและคนชราเป็นการส่อให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะรัฐล้มเหลว (Failed state) ในการคุ้มครองความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือนท่ามกลางภาวะสงครามที่ปาตานี ซึ่งสภาพแบบนี้น่าสนใจว่าทำไมถึงได้เกิดหลังจากที่มีการพยายามพูดคุยสันติภาพที่ประเทศมาเลเซีย ระหว่างรัฐไทยกับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี (BRN) นั้นล้มเหลวแล้ว อาจจะเป็นนโยบายของรัฐไทยที่ไม่เปิดเผย หลังจากการเจรจาล้มเหลวหรือไม่

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PERMAS) เป็นองค์กรร่มขององค์กรนักศึกษานักเรียน และเยาวชนปาตานี ที่มีจุดยืนทางการเมืองในการขับเคลื่อนสันติภาพ ตามเจตนารมณ์ความต้องการของประชาชนปาตานี โดยยึดหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากล ร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ขอแสดงความเสียใจและขอประณามผู้ปฎิบัติการที่ไร้ซึ่งหลักมนุษยธรรมตลอดจนเสนอข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.เรียกร้องให้สหประชาชาติ (UN) และองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ พิจารณากำหนดท่าที่ที่สอดคล้องกับหลักการมนุษยธรรมต่อกรณีเด็กและพลเรือนทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางอาวุธระหว่างรัฐไทยกับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี (BRN) เพื่อปกป้องหลักมนุษยชนของพลเรือนในภาวะสงครามที่สังคมปาตานีขาดความไว้วางใจต่อกลไกความยุติธรรมของรัฐไทยที่สุ่มเสี่ยงเป็นรัฐล้มเหลว (Failed state)

2.เรียกร้องให้สหประชาชติ (UN) มีมาตรการให้หลักประกันความปลอดภัยแก่ประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุการณ์ละเมิดและคุกคามมนุษยธรรมต่อพลเรือนปาตานี เพื่อสามารถนำเสนอข้อเท็จจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะได้

ด้วยจิตรักสันติภาพ

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PERMAS)

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

28 เมษายน พ.ศ.2557

 - ประมวลภาพกิจกรรม โดย PERMAS

- ลิ้งค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

http://prachatai.com/journal/2014/04/52889   http://uglytruththailand.wordpress.com/2014/04/27/state-crimes-continue-...