Skip to main content
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
เผยแพร่วันที่ 28 เมษายน 2557 
 
 
องค์กรภาคประชาสังคมร่วมชี้แจงและสังเกตการณ์
การทบทวนรายงานสถานการณ์ด้านการทรมาน
ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ
 
                ในวันที่ 29 เมษายน 2557 องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการต่อต้านการทรมานในประเทศไทยได้เข้าร่วมชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการทรมานต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติและจะเข้าร่วมสังเกตการณ์การทบทวนสถานการณ์ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับคณะกรรมการชุดดังกล่าวในวันที่ 30 เมษายนถึง 1 พฤษภาคม 2557 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์  โดยตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมจากประเทศไทย ได้แก่นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม นางสาวนูรอัยนี อุมา มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม  และผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมจากประเทศไทยอีกจำนวนหนึ่ง 
 
                ก่อนหน้านี้  มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกันกับองค์กรเครือข่ายได้แก่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม  มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม  กลุ่มด้วยใจ จังหวัดสงขลา  เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ จังหวัดชายแดนใต้  เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี, มูลนิธิไทยเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล  และมีองค์กรที่สนับสนุนการจัดทำรายงานและการจัดส่งรายงานต่อคณะกรรมการฯได้แก่ เครือข่ายแรงงานแม่โขง  สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน  ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เชียงใหม่  สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังคนไร้รัฐ  มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา  สถาบันพัฒนานักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน  ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.)  สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย  และมูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้จัดส่งรายงานคู่ขนานต่อคณะกรรรมการต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติภายในวันที่ 11 เมษายน 2557 ทางคณะกรรมการฯ ได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมชี้แจงข้อเท็จจริงโดยตรงในวันที่ 29 เมษายนนี้  ทั้งนี้การพิจารณารายงานของประเทศไทยดังกล่าวจะมีการถ่ายทอดสดตามวันเวลาท้องถิ่นสวิตเซอร์แลนด์  ทาง Webcastที่ http://www.treatybodywebcast.org/category/webcast-archives/cat/
 
                รายงานฉบับนี้เป็นการวิเคราะห์กรณีศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 92 กรณีโดยการสัมภาษณ์ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งการศึกษากว่า 300 กรณีผ่านการสัมภาษณ์ญาติที่มาร้องเรียนกับหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้  จัดทำเป็นเอกสารภาษาอังกฤษความยาว 44 หน้า นำเสนอเป็นจำนวน 8 บท  มีเอกสารแนบทั้งสิ้นจำนวน 91 หน้า เป็นกรณีศึกษาทั้งหมด 92 กรณี  และเป็นตารางผลกระทบทางด้านจิตใจจากการทรมาน พร้อมด้วยแบบการสัมภาษณ์ผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมาน  โดยสามารถดาวน์โหลดฉบับเต็มภาษาอังกฤษได้ที่
 http://tbinternet.ohchr.org/Treaties/CAT/Shared%20Documents/THA/INT_CAT_NGO_THA_17098_E.pdf และสามารถดาวน์โหลดภาษาไทยฉบับย่อได้ที่ https://voicefromthais.files.wordpress.com/2014/04/shadow-report-on-catthai-summary1.doc
 
                นางสาวนูรอัยนี อุมา ผู้ช่วยทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความที่เดินทางมาร่วมนำเสนอรายงานคู่ขนานต่อคณะกรรมการฯ กล่าวว่า "การนำเสนอรายงานในครั้งนี้สำคัญมาก เพราะเราประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกและพระราชกำหนดฉุกเฉินมาเกือบ 10 ปีแล้ว เราต้องการจะบอกสหประชาชาติว่าผู้ต้องสงสัยตามกฎหมายพิเศษถูกควบคุมตัวโดยพลการ ถูกซ้อมทรมานและปฏิบัติอย่างไร้ศักดิ์ศรีมาโดยตลอดเป็นเรื่องจริงและหลายกรณีมีพยานหลักฐานที่ชัดเจน แต่รัฐบาลไทยไม่เคยยอมรับและไม่สืบสวนสอบสวน  อีกทั้งยังปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง  ไม่เคยนำคนผิดกรณีทรมานมาลงโทษทางวินัยและตามกฎหมายได้แม้แต่คนเดียว"
 
                โดยในวันดังกล่าว  สำนักงานข้าหลวงใหญ่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุงเทพฯ (UNESCAP Bangkok) จะมีการจัดกิจกรรมเสวนาและถ่ายทอดสด (Live Webcast) การทบทวนสถานการณ์ด้านการทรมานในประเทศไทยโดยคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน เวลา 14.30-18.00 น.ด้วย  สามารถดูรายละเอียดได้ที่
 
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อทางอีเมล์ [email protected] 
 
 
ลิงก์ที่เกี่ยวข้อง