Skip to main content

 

ผู้ต้องสงสัยวัยรุ่น ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมจนสลบ ครอบครัวสุดทน ฟ้องภาคประชาสังคม ช่วยเหลือด่วน  ด้านเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลออกใบรับรองแพทย์ ว่าถูกทำร้ายร่างกายจริง 

กองบรรณาธิการ สำนักสื่อ wartani

 

ข้อเท็จจริงจากปากมารดานายอาดิล สาแม

เมื่อวันที่  26 เมษายน  2557 เวลา 12.30 น. มีเจ้าหน้าที่ทหารพรานหน่วยเฉพาะกิจ 41 อ.รามัน จ. ยะลา รวมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประมาณ 30 คันรถเกือบ 100 นายมาปิดล้อม ตรวจค้น จับคุม บ้านเลขที่ 87 ม.4 ต. ท่าสาป อ.เมือง จ. ยะลา ซึ่งเป็นบ้านของนายอาดีล  สาแม  

มารดาของนายอาดิล สาแม ได้เปิดเผยว่า ในเวลาที่เจ้าหน้าที่มาปิดล้อมนั้นนายอาดีลกำลังลงจากบ้านไปอาบน้ำ (ห้องน้ำอยู่ข้างหลังบ้าน)เพื่อจะไปละหมาดที่มัสยิด พอที่จะลงจากบ้านนายอาดีล ได้เห็นเจ้าหน้าที่เต็มหน้าบ้านและเจ้าหน้าที่ได้ถามนายอาดีล ว่าจะไปไหนหรือว่าจะหนีกับเจ้าหน้าที่ใช่ไหม นายอาดีลบอกว่าไม่ "ผมจะไปอาบน้ำเพื่อไปละหมาดที่มัสยิด" เจ้าหน้าที่บอกว่าไปไม่ได้มาขึ้นตรวจค้นในบ้านก่อน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมนายอาดีล และเจ้าหน้าที่ได้เรียกคนที่อยู่ในบ้านลงให้ทั้งหมดเจ้าหน้าที่จะไปขึ้นตรวจค้นในบ้าน

 หลังจากนั้นแม่กับน้องสาวลงจากบ้านแล้วเจ้าหน้าที่เอานายอาดีล(เป็นตัวประกัน) ขึ้นไปตรวจค้นภายในบ้านกับเจ้าหน้าที่และมีเจ้าหน้าที่ 2 คนอาวุธครบมือได้จี้บนหลังนายอาดีล และมีเจ้าหน้าที่อีก 10 คนขึ้นบนบ้านและ 2 คนที่ไม่ถอดรองเท้าขึ้นบนบ้าน จนท.ได้ตรวจค้นสิ่งของภายในบ้านทุกๆชิ้นที่เจ้าหน้าที่สงสัย  หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เจอโทรศัพท์หนึ่งเครื่องแต่ไม่มีซิมอยู่ในเครือง จึงได้ถามนายอาดีลว่า ซิมโทรศัพท์อยู่ที่ไหนนายอาดีลได้บอกกับเจ้าหน้าที่ว่าซิมโทรศัพท์ให้แม่ แม่ยึดซิมโทรศัพท์ไป เจ้าหน้าที่ก็เลยได้ทำร้ายร่างกาย เช่น ชกหน้าท้องหลายๆครั้งและบีบคอ หลังจากนั้นได้เรียกแม่ขึ้นบนบ้านและเจ้าหน้าที่ได้ถามแม่ว่าซิมอยู่โทรศัพท์อยู่ที่ไหน แม่บอกว่า "ไม่รู้เก็บไว้ที่ไหน" ด้วยอาการตกใจที่เจ้าหน้าที่มากันจำนวนมาก  เจ้าหน้าที่ได้ถามแม่อีกว่าเอาซิมอาดีลทำไม แม่บอกว่าอาดีลชอบคุยโทรศัพท์ตลอดเวลา แม่ยึดจึงซิมไว้เพราะกลัวจะติดโทรศัพท์งอมแงม แต่เจ้าหน้าที่ทหารก็ไม่เชื่อ 

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ให้แม่หาซิมภายในบ้านแม่ก็หาไม่พบ เจ้าหน้าที่ก็เลยให้แม่ลงจากบ้าน   หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ขู่นายอาดีลว่าซิมโทรศัพท์อยู่ที่ไหน นายอาดีลบอกว่าไม่รู้เพราะแม่ยึดเอาไป เจ้าหน้าที่ก็เลยได้ซ้อมทรมานนายอาดีลอีกครั้ง เช่น ต่อยหน้าท้องหลายๆครั้งและเอาเสื้อมัดที่คอและบีบทีคอ ทำให้นายอาดีลหายใจไม่ออกและสลบไป 

 

เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลออกใบรับรองแพทย์ ว่าถูกทำร้ายร่างกายจริง

หลังจากนั้นแม่ที่อยู่ข้างล่างบ้านสงสัยว่าลูกถูกทำร้ายร่างกายแล้วแม่ก็ได้ตะโกนเรียกอาดีล  อาดีลก็เงียบไม่ได้ตอบรับใดๆทั้งสิ่ง  แม่ก็วิ่งขึ้นบ้านทันทีเห็นนายอาดีลนอนสลบอยู่และมีน้ำลายฟูมปาก เจ้าหน้าที่ได้เห็นแม่ตกใจเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าจะทำให้ตายเลย แล้วแม่บอกว่าทำให้ตายก็ดี ทำให้ตายก็ดีกว่า 

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็รีบจะส่งไปที่โรงพยาบาลเจ้าหน้าที่สองคนได้ยกนายอาดีล จับมือทั้งสองข้างและจับขาทั้งสองข้าง แล้วมาบอกว่าทำยังนี้ไม่ได้ทำเหมือนสัตว์  แม่จะพาไปที่โรงพยาบาลเอง หลังจากนั้นแม่ให้ญาติข้างๆบ้านโทรศัพท์ไปหารถกู้ภัยของตำบลท่าสาปให้มารับไปส่งโรงบาลศูนย์ยะลา หลังจากนั้นเมื่อเวลา 15 .30 น. รถกู้ภัยตำบลมารับไปส่งโรงพยาบาลแม่และญาติๆขึ้นรถกู้ภัยไป แล้วเจ้าหน้าที่ทหารตามไปพร้อมด้วยที่โรงพยาบาล พอถึงที่โรงพยาบาลเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพาไปในห้องฉุกเฉินแม่กับญาติตามไปด้วยในห้องและเจ้าหน้าที่ทหารไปพร้อมๆกับญาติด้วย  

หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้ตรวจสุขภาพและได้ฉีดยาทำการรักษาให้นายอาดีลอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงนายอาดีล ได้รู้สึกตัวขึ้นมาและทางโรงพยาบาลถามญาติว่าเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้สลบแล้วญาติบอกว่าถูกทำร้ายร่างกายมา เจ้าหน้าที่ทหารอยู่ข้างได้ยินว่าญาติบอกว่าถูกทำร้ายร่างกาย เจ้าหน้าที่ทหารก็เลยบอกว่าไม่ได้ร้ายร่างกายเลย แต่ทางญาติๆได้บอกกับโรงพยาบาลถูกทำร้ายร่างกายจริงๆ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบาลก็เลยขอไปตรวจสอบก่อนและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้ให้ใบรับรองแพทย์มา ว่าถูกทำร้ายร่างกายจริง หน้าท้องช้ำในแพทย์เขียนใบรับรองมาและให้ยากลับไปกิน  หลังจากนั้นเมื่อเวลา 17.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มารับตัวไปที่โรงพัก อ.เมืองยะลาเพื่อบันทึกประจำวัน หลังจากนั้นเวลา18.45 น.เจ้าหน้าที่ทหารพรานหน่วยเฉพาะกิจ 41 มารับตัวไปที่ค่ายวังพญา

 

ภาคประชาสังคมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุดังกล่าวมูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอให้มีการตรวจสอบอย่างเร่งด่วนถึงการกระทำดังกล่าวและปล่อยตัวนายอาดิล สาแม โดยทันทีไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากการเหตุแห่งการควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษโดยกฎอัยการศึกการควบคุมตัวโดยพลการขาดซึ่งการตรวจสอบอำนาจหน้าที่ที่นั้นต้องเป็นไปด้วยความจำเป็นได้สัดส่วน  การจับกุมและควบคุมตัวด้วยการทำร้ายร่างกายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและขัดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน 

ทั้งนี้วันที่ 26 มีนาคม  2557 ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้จัดให้มีการฉายหนังและพูดคุยเรื่องการควบคุมตัวส่วนหนึ่งเป็นการอบรมสร้างความเข็มแข็งให้กับภาคประชาสังคม โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาชี้แจ้งขั้นตอนการควบคุมตัวแก่อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนกลุ่มหนึ่ง โดยหลังจากสิ้นการประชุมเจ้าหน้าที่จำนวนสองท่านกำลังดำเนินการถ่ายรูปใบลงทะเบียนรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมโดยมิได้ขออนุญาต และระหว่างการเสวนามีการถ่ายรูปอาสาสมัครฯ ที่เข้าร่วมงานจำนวนมากหลายครั้งเกินความจำเป็น จึงอาจเข้าใจได้ว่าการตรวจค้นในครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการติดตามการทำงานของภาคประชาสังคมด้วยทัศนคติที่คับแคบ จนนำไปสู่การติดตามจับกุมนายอาดิล สาแม อีกครั้ง โดยมารดานายอาดิล สาแม เข้าร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าวด้วย

อีกทั้งเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553ศาลทหารจังหวัดปัตตานี มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 11 ก./2553 โดยพนักงานอัยการศาลจังหวัดทหารบกปัตตานีเป็นโจทก์ฟ้องสิบเอก ขวัญชัย สีนิล ในข้อหาทำร้ายร่างกายเด็กชาย อาดิลสาแม อายุ 14 ปี และ นายมะเซาฟีแขวงบู  อายุ 20 ปี โดยใช้กำลังทำร้ายร่างกาย แตะและตบด้วยด้ามปืนที่บริเวณลำตัวและศรีษะ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2552 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา  โดยจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริง ศาลจึงพิพากษาลงโทษกึ่งหนึ่ง จากจำคุกจำเลย 1 ปี เหลือ 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท เหลือ 2,000 บาท และเนื่องจาก จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และมีความประพฤติดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษ (ลงอาญา)  2 ปี แต่บังคับโทษปรับ

 

“ฮิวแมนไรท์ฯ” แฉไทยยังละเมิดสิทธิผู้ต้องหาด้วยการจับซ้อมทรมาน (ข่าวไทยรัฐออนไลน์)

รายงานสรุปผลการสำรวจสถานการณ์ด้านการซ้อมทรมานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2554-2556 จำนวน 135 หน้า จัดทำโดยเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนในไทย ที่ยื่นต่อคณะกรรมาธิการต่อต้านการซ้อมทรมานแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นซีเอที) ช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นการสัมภาษณ์และรวบรวมข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศไทยจำนวนทั้งหมด 92 ราย พบว่าพลเรือนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ตกเป็นเหยื่อการซ้อมทรมานจากเจ้าหน้าที่รัฐมากที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลต่างๆได้โดยไม่ต้องมีการตั้งข้อหา ทั้งยังสามารถยื่นเรื่องขยายเวลาควบคุมตัวได้โดยไม่ต้องมีหลักฐานประกอบคดี และการซ้อมทรมานเกิดขึ้นทั้งในระหว่างการจับกุมและในช่วงที่ถูกควบคุมตัวตามสถานที่ต่างๆ

นายบิโจฟรานซิส เลขาธิการคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งหาทางยุติการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบภายในประเทศ ในฐานะที่ไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันในสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการซ้อมทรมานตั้งแต่ปี 2550 พร้อมเสนอให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายในประเทศที่อาจเอื้อประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต และควรปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการดูแลและชดเชยเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและครอบคลุมมากขึ้น 

(อ้างอิงจาก ข่าวไทยรัฐออนไลน์http://www.thairath.co.th/content/419048)