ภาคประชาสังคมแถลงรายงานคู่ขนานการทรมานในประเทศไทย ชี้รายงานดังกล่าวจะทำให้เห็นถึงภาพรวมของสถานการณ์การทรมานทั้งจากของรัฐและภาคประชาสังคม โดยมีตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณารายงานประเทศไทยในวันที่ 30 เมษายน และ 1 พฤษภาคม 2557 ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) มีพันธะผูกพันที่จะต้องดำเนินการตามพันธกรณี 4ประการคือ 1.การประกันให้เกิดสิทธิต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาฯ 2. การปฏิบัติให้เกิดสิทธิตามที่รับรองไว้ในอนุสัญญาฯ 3. การเผยแพร่สิทธิที่ระบุไว้ในอนุสัญญาฯ 4. การจัดทำรายงานสถานการณ์และปัญหาอุปสรรคภายในประเทศตามอนุสัญญาฯ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติ โดยเมื่อวันที่26 กุมภาพันธ์ 2556 รัฐบาลไทยได้ส่งรายงานประเทศดังกล่าวต่อคณะกรรมการฯ แล้ว ซึ่งคณะกรรมการฯ มีกำหนดจะพิจารณารายงานประเทศไทยในวันที่ 30 เมษายน และ 1 พฤษภาคม 2557
ในขณะเดียวกันคณะกรรมการต่อต้านการทรมานฯ เปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาสังคมนำเสนอรายงานคู่ขนานเพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณารายงานประเทศของรัฐ และจะจัดทำข้อเสนอแนะต่อประเทศไทยเกี่ยวกับการยุติการทรมาน อันจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทรมานในประเทศไทยต่อไป โดยองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ยื่นรายงานคู่ขนานไปแล้วเช่นกันเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยครอบคลุมประเด็นต่างๆ ดังนี้ สถานการณ์การทรมานในจังหวัดชายแดนใต้ การบังคับสูญหาย ความรุนแรงต่อสตรี สภาพเรือนจำและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง การปฏิบัติต่อผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงร่วมกันจัดเวทีแถลงรายงานคู่ขนานสถานการณ์การทรมานโดยองค์กรภาคประชาสังคมขึ้น เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากองค์การสหประชาชาติ สถานทูต หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนเข้าร่วมฟังแถลงรายงานในเวทีดังกล่าว
คุณยู คาโนะซูเอะ ผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดเผยว่าการที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ถือได้ว่าไทยได้แสดงเจตจำนงว่าจะกำหนดให้การทรมานเป็นอาชญากรรม
ประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีนี้มีมากกว่า ๒๐๐ กว่าประเทศ ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญานี้และผูกพันรัฐบาลไทยในการป้องกันและต่อต้านการทรมาน รัฐบาลต้องออกกฎหมายในการป้องกันการทรมาน รวมทั้งการมีกลไกร้องเรียน และการสอบสวน รวมทั้งการชดเชยเยียวยาอย่างเพียงพอต่อผู้เสียหาย"
คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่ารายงานคู่ขนานฉบับนี้เป็นการรายงานต่อสหประชาชาติครั้งแรก ที่วิเคราะห์กรณีศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 92 กรณี โดยการสัมภาษณ์จากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และจากญาติที่มาร้องเรียนกับหน่วยงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดทำเป็นเอกสารภาษาอังกฤษ 44 หน้า นำเสนอทั้งหมด 8 บท มีเอกสารแนบทั้งสอ้น 91 หน้า โดยแสดงตารางผลกระทบทางด้านจิตใจจากการทรมานด้วย
“การจับกุมและทรมานผู้ต้องสงสัย เปรียบเสมือนบาดแผลที่เกิดขึ้น หากบาดแผลนั้นเกิดจากการกระทำของเราเองคงไม่เป็นไร แต่บาดแผลที่เกิดจากการกระทำผู้ที่มีอำนาจ ถึงแม้บาดแผลทางร่างกายได้หายดีแล้วแต่จิตใจยังคงบอบช้ำอยู่ ที่สำคัญกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนนั้นยังขาดความรวดเร็วในการดำเนินการ อีกทั้งกฎหมายยังไม่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายได้ ผู้เสียหายส่วนใหญ่มักจะกลัวว่าหากร้องเรียนไปแล้วจะถูกทำร้ายจากเจ้าหน้าที่อีก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายให้มีการคุ้มครองผู้เสียหายและปรับปรุงกลไกการร้องเรียนให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น”
คุณอังคณา นีละไพจิตร มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เปิดเผยว่ารายงานนี้ให้ความสำคัญเรื่องของกฎหมาย เพราะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ไม่ได้พูดถึงเรื่อง ‘สิทธิมนุษยชน’ แต่พูดถึงเพียง ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ และรัฐธรรมนูญฯ ไม่ได้ระบุเรื่องการทรมานไว้ว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งในกรณีที่พบศพก็จะไม่ตรวจสอบว่าเหยื่อถูกทรมานหรือไม่ และระบุว่านโยบาย 2 ประการของรัฐ คือนโยบายปราบปรามยาเสพติด และการปราบปรามการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ส่งผลให้มีเหยื่อการทรมานและการบังคับให้สูญหายมากขึ้น และการเยียวยาผู้เสียหายยังไม่ทั่วถึง
"การเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานถูกจำกัดเพียงแค่จังหวัดชายแดนใต้ ในขณะที่เหยื่อในภูมิภาคอื่นยังไม่ได้รับการเยียวยา กฎหมายหลายฉบับสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรือแม้กระทั่งกรมสืบสวนคดีพิเศษ กรณีนี้ทำให้การทรมานเป็นเรื่องที่ถูกเพิกเฉย แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังขาดกฎหมายที่จะสร้างความยุติธรรมให้กับสิทธิมนุษยชนของคนไทย เพราะศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่สามารถเยียวยาได้ด้วยเงิน แต่ต้องนำตัวผู้ทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะมนุษย์ทุกคนจะต้องไม่ถูกทรมานหรือบังคับให้สูญหาย"
คุณนูรอัยนี อุมา ศูนย์ทนายความมุสลิม ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายที่ถูกทรมานและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ระบุว่าประเทศไทยยังขาดหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่เข้ามาเยียวยาช่วยเหลือ ที่ผ่านมาเราพยายามลดการทรมานให้ญาติเข้าพบตั้งแต่วันแรกที่ถูกจับกุม บางครั้งผู้เสียหายฟ้องร้องว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่การดำเนินการนั้นล่าช้า กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกทรมานได้ เหยื่อที่ถูกทรมานเมื่อไปร้องเรียนแล้วจะถูกคุกคามจะตกเป็นเป้าสายตาของเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ทนายความไม่สามารถเข้าถึงตัวเหยื่อได้ และหลังจากที่เหยื่อได้รับการปล่อยตัวออกมา ตามกฎหมายพิเศษแล้ว บางคนก็มีบุคลิกที่เปลี่ยนไป บ้างก็เก็บตัวมากขึ้น บ้างก็แสดงอาการก้าวร้าวออกมา
"ญาติและทนายความไม่สามารถเข้าถึงหลักฐานการตรวจบาดแผลและอาการเจ็บปวดระหว่างการถูกควบคุมตัวภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการตรวจบาดแผลที่เกิดจากการทรมานมักตรวจโดยแพทย์ในค่ายย่อย การตรวจโดยแพทย์โรงพยาบาลทหารในค่ายหลัก ทำให้ไม่มีหลักฐานเรื่องถูกทรมาน"
คุณภัทรา จิระวิศาล มูลนิธิไทยเพื่อคนมีปัญหาสิทธิมนุษยชนและสถานะบุคคล เปิดเผยถึงการทำงานช่วยเหลือผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในประเทศไทยว่า ยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก เช่น กรณีชาวชาวโรฮิงญาถูกปฏิบัติอย่างไร้สิทธิมนุษยชน บางคนถูกจับตัวเรียกค่าไถ่และเรียกเงินจากทางบ้างซึ่งมีฐานะยากจนหากทางบ้านหาเงินไปให้ไม่ได้ก็จะถูกซ้อมจนถึงแก่ความตาย บางคนก็ถูกขายให้กับเรือประมงซึ่งจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ เลย นั่นอาจะทำให้ชาวโรฮิงญาถูกใช้งานจนถึงแก่ความตายได้ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่รู้เห็นกับความผิดนี้ แต่รัฐบาลเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่ได้ดำเนินการไต่สวนใดๆ
“เมื่อชาวโรฮิงญาอยู่ในขั้นตอนการอพยพมาที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือต.ม. การปฏิบัติและความเป็นอยู่นั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก กฎหมายไทยควรมีการคุ้มครองสิทธิของผู้อพยพให้ได้รับการปฏิบัติที่ดี เพื่อที่จะไม่ละเมิดอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ในมาตราที่ 3 และมาตรา 16 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯอีกทั้งกฎหมายไทยในพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองให้อำนาจเจ้าหน้าที่กักตัวโดยไม่มีกำหนด โดยเฉพาะคนลี้ภัยที่ไม่มีที่ไปต้องถูกกักตัวไว้เป็นปีๆ เมื่อถูกกักตัวนานสุขภาพจิตก็ย่ำแย่ไปด้วย”
คุณออมสิน บุญเลิศ เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกล่าวถึงปัญหาแรงงานข้ามชาติกับการทรมานว่า กรณีการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคฯ เป็นการย้ายถิ่นที่มีความผสมผสานกันหลายแบบในแถบลุ่มแม่น้ำโขง แน่นอนว่ามีการอพยพเข้ามาทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ทำให้แรงงานเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต ส่วนการขนย้ายแรงงานเหล่านี้กลับประเทศบ้านเกิดนั้นขาดความโปร่งใส การขนย้ายมักเสี่ยงต่อการจะถูกทรมาน แรงงานเหล่านี้มักหวาดกลัว และหากถูกทรมานแล้วจะไม่กล้าบอกว่าใครเป็นคนกระทำ กรณีของการส่งแรงงานข้ามชาติกกลับบ้านเกิดโดยรถบรรทุกสิบล้อ ตามข้อกำหนดแล้วรถที่ใช้ขนส่งจะต้องมีการแยกชัดเจนระหว่างช่องใส่กระเป๋าและที่นั่ง อีกทั้งการส่งกลับนั้นจะต้องตรวจสอบว่าไปส่งถึงที่หมายโดยปลอดภัยหรือไม่
หากท้ายที่สุดแล้วต้องส่งตัวแรงงานข้ามชาติกลับ รัฐไทยต้องปฏิบัติและเคารพหลักสิทธิมนุษยชน มีการคัดกรองก่อนส่งกลับเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ต้องกักถูกทรมานหรือไม่ การส่งกลับต้องไม่เสี่ยงต่อความปลอดภัยต่อชีวิตของแรงงานข้ามชาติ"
คุณสุธารี วรรณศิริ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้นำเสนอรายงานคู่ขนานต่อคณะกรรมการฯ ด้วยเช่นกัน โดยครอบคลุม 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การทรมานภายใต้บริบทการปราบปรามความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ 2.สภาพเรือนจำและสถานที่กักขัง 3.กฎหมายภายในประเทศที่กำหนดให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา 4.หลักการห้ามผลักดันกลับ (Non-Refoulement) 5.การทรมานและความรับผิด
เนื้อหาของรายงานเรียบเรียงจากข้อมูลเอกสารทั้งจากหน่วยงานราชการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ งานวิจัยของนักวิชาการและองค์กรเอกชน เรื่องร้องเรียนที่องค์กรได้รับ และการสัมภาษณ์ผู้ได้รับผลกระทบ โดยเน้นประเด็นสภาพเรือนจำและสถานที่กักขังในประเทศไทย ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีความกังวลว่าสภาพในเรือนจำและการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังอาจเข้าข่ายเป็นการทรมานหรือการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆที่โหดร้ายและย่ำยีศักดิ์ศรี และขัดต่อข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขังขององค์การสหประชาชาติ
“สภาพเรือนจำและสถานที่กักขัง ภายในเรือนจำและสถานที่กักขังมักจะพบปัญหาคือ การทำร้ายร่างกายผู้ต้องขังและผู้ต้องกัก ปัญหาเรื่องเพศในเรือนจำ มักขาดความชัดเจนในการควบคุมความปลอดภัยกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศระหว่างเพศชายด้วยกัน ปัญหาความความแออัดภายในเรือนจำ อีกทั้งยังก่อให้เกิดโรคซึ่งมีความอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ภายในเรือนจำและสถานที่กักขังยังมีปัญหาการขาดน้ำดื่มที่สะอาด อีกทั้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ยังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการเข้ารักษาเมื่อเทียบกับจำนวนนักโทษจำนวนมาก ทำให้การรักษาพยาบาลและการตรวจร่างกายนั้นขาดประสิทธิภาพ ในส่วนของการลงโทษทางวินัยและเครื่องพันธนาการ ในทางปฏิบัติแล้วถือว่าขัดต่อข้อปฏิบัติขั้นต่ำนักโทษของสหประชาชาติ
จึงเสนอแนะรัฐบาลไทยให้ลงนามและสัตยาบันพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เพื่อให้องค์กรอิสระจากภายนอกสามารถตรวจสอบ ตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังต่างๆ ได้”
ในขณะนี้ตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคมจากประเทศไทย ได้เดินทางไปที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์โดยมีกำหนดเข้าเพื่อเข้าพบและพูดคุยกับคณะกรรมการต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติในวันที่ 29 เมษายนนี้ และจะเข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณารายงานประเทศไทยในวันที่ 30 เมษายน และ 1 พฤษภาคม 2557