Skip to main content

"ความรู้สึกของฉันระหว่างลูกที่เสียชีวิตไปกับลูกคนที่สูญหาย ลูกที่สูญหายไปความรู้สึกเสียใจมากกว่าลูกที่เสียชีวิตไป เพราะเรารู้ว่าเขาได้เสียชีวิตแล้ว เราได้ซีแปมายัต (จัดการศพ) เรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับลูกที่สูญหายไป เราไม่รู้ว่าเขายังมีชีวิตอยู่อีกหรือไม่ ถ้าเสียชีวิตแล้วเราก็ยังไม่ได้จัดการศพ มันก็ยังติดในใจเพราะอยากรู้ว่าลูกอยู่ที่ไหน ถ้าลูกอยู่ที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาไม่สามารถกลับบ้านได้ เพราะมีคนจับตัวไว้หรือด้วยเหตุใด ก็ไม่เป็นไรขอแค่ได้รู้ข่าวคราวบ้างก็ยังดี" 'มัสตะ เจะอูมา' เธอสูญเสียลูกชายใน “เหตุการณ์ตากใบ” เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ต่อมาลูกชายอีกคนสูญหายไป ไม่นานนักสะใภ้ของลูกชายที่สูญหายถูกยิงเสียชีวิต ปัจจุบันเธอก้าวข้ามและเข้มแข็งขึ้นด้วยพลังทางศาสนาและกำลังใจจากองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่

 'มัสตะ เจะอูมา': ความหวังของแม่....

มัสตะ  เจะอูมา
สุไรยา  วานิ
ภาพประกอบโดย: วิโชติ ไกรเทพ

 

 

เนาะวีกะตะดูโดะ ลากูมานอ อาเนาะยาแตมาตีดีตาบา  นาตูกือนอปือเดมาตี อาเนาะยาแตซือออแร ลาฆีโปงฮีแล .. กาลูกะตะบือเลาะฮฺปือโงะบูเละฮฺ กะตะเนาะวีแตเงาะ ดาแลปือโงะบือฆาซอ ลากูมานอ” 

(จะให้กะตะอยู่ได้อย่างไร ลูกชายคนหนึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ  สะใภ้ก็ถูกยิงจนเสียชีวิต และลูกชายอีกคนก็หายตัวไป หากกะตะผ่าท้องได้ กะตะอยากจะให้คนอื่นดูนะว่าตอนนี้กะตะรู้สึกอย่างไร ...)

           'เดะยี' (หรือ 'มูฮำหมัดซับรี  อาบูคารี' ) อายุเพียง 14 ปี ลูกชายคนที่ 5 ซึ่งเป็นที่รักของฉันจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ในเดือนปอซอ (เดือนรอมาฎอน) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุชุมนุมที่อำเภอตากใบ จ.นราธิวาส

          วันนั้น ฉันไม่รู้ว่า เดะยีไปที่ชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบด้วย เพาะเขาไม่ได้อยู่กับฉันที่บ้าน(บ้านโคกซีนา ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส) เขาไปอาศัยอยู่กับญาติที่นะกูวิง (ชื่อหมู่บ้านหนึ่งในตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ ) จนอีกวันหนึ่งมีคนโทรมาบอกว่า คืนนั้นเดะยีไม่ได้กลับบ้าน ฉันให้อาแบ (สามี) ออกตามหาแต่ไม่พบ ก็ค่อนข้างแน่ใจว่าจะต้องไปอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธ จังหวัดปัตตานี 

           เช้าวันที่ 29 ตุลาคม 2547 พอไปถึงที่ค่ายอิงคยุทธประมาณหกโมงเช้า ตอนแรกหาตัวลูกชายไม่เจอ ไปดูที่เต็นท์เก็บศพก็ไม่พบ เพราะฉันจำหน้าเดะยีไม่ได้ ไม่แน่ใจเพราะศพที่เห็นมีลักษณะบวมมาก จึงโทรศัพท์ไปหาญาติซึ่งเดะยีอาศัยอยู่กับเขา เขาจำศพลูกชายฉันได้จากหลักฐานซึ่งเป็นสร้อยลูกปัดที่เขาร้อยไว้ตอนเช้าก่อนที่ออกจากบ้านไปของวันเดียวกับที่เกิดเหตุ เมื่อเจอร่างเดะยีแล้ว ฉันรีบกลับมาจัดการศพที่บ้านอย่างรวดเร็ว

           ฉันเพิ่งได้รับเงินเยียวยาในฐานะผู้ได้รับผลกระทบใน 'เหตุการณ์ตากใบ' จากศอ.บต. - ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา 

           อดคิดถึงเดะยีตอนที่มีชีวิตอยู่ไมไ่ด้ ตอนที่เขาอายุ 6 ขวบ ฉันจำได้ว่าเขาชอบกินผัดเผ็ดไก่มากที่สุด แต่เป็นผัดเผ็ดใส่พริกแห้ง ไม่ใช่พริกสดเหมือนผัดเผ็ดทั่วไปเพราะมีรสชาติออกหวานๆ เดะยีเป็นเด็กน่ารัก และเป็นคนตลกด้วย วันหนึ่ง ขณะที่ฉันกำลังนั่งสานย่านลิเภาจนเพลิน จนลืมเตรียมกับข้าว เย็นวันนั้นเดะยีได้เตรียมกับข้าวเอง พร้อมเรียกฉันว่า คุณนายมากินข้าวได้แล้ว  ฉันนี้แอบหัวเราะกับความน่ารักของเขา... 

           ตลอดชีวิตฉันเป็นแม่ที่หาให้ลูกกินตลอด แต่วันนั้นเป็นวันเดียวที่เขาเตรียมข้าวให้ฉันกิน

           ฉันมีลูกทั้งหมด 7 คน เป็นผู้ชายเกือบทั้งหมด 6 คน และเป็นผู้หญิง 1 คน คนโตชื่อรอซือกี คนที่ 2 ชื่ออับดุลเลาะห์  คนที่ 3 ชื่อลาวี   คนที่ 4 ชื่อนูซีลา คนที่ 5 มูฮำหมัดซับรี  คนที่ 6 ชื่ออัสรน และคนสุดท้องชื่อ ไฟซอล ครอบครัวของเราใช้ชีวิตมีความสุขดี ลูกทุกคนจะเชื่อฟังฉัน ช่วงที่ลูกๆ ยังเล็ก สามีไปทำงานรับจ้างก่อสร้างที่มาเลย์ 

           หลายปีก่อน ฉันมีอาชีพเสริมสานเบะฆีบู (กระเป๋าย่านลิเภา) ซึ่งก็ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง ก่อนที่จะเริ่มสานกระเป๋านี้ น้าซึ่งเป็นครูได้ชวนเรียนและเป็นผู้สอน เมื่อสานกระเป๋าเสร็จแล้วฉันก็นำไปฝากที่บ้านน้า และเขาก็จะเป็นคนนำส่งให้ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ซึ่งเป็นผู้ติดตามของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถลงมาที่จังหวัดนราธิวาส ตอนหลังฉันมีโอกาสได้มาเข้าเฝ้าฯ เสด็จด้วยตนเองพร้อมลูกชายด้วย และมีโอกาสได้เจอท่านผู้หญิง ท่านเป็นคนใจดี และได้ทาบทามลูกชายให้ไปทำงานกับท่าน ลูกชายคนโตของฉันก็ได้ไปทำงานเป็นช่างเจียระไนเพชรในวังที่กรุงเทพฯ

            .................................................................

           เดะยีจากไปแล้ว 5 ปี เช้าวันที่ 12 ธันวาคม 2552  ฉันได้รับโทรศัพท์จากรอฮานิง สะใภ้ซึ่งเป็นภรรยาของเลาะห์ ลูกชายคนที่สอง

          “เลาะห์กือเละรูเมาะห์แมะกือเดาะ” (เลาะห์กลับมาที่บ้านแม่หรือเปล่า)  สะใภ้ถาม
          “เตาะกือเละ”(ไม่ได้กลับ) ฉันตอบ

          รอฮานิงวางสายทันที ฉันไม่ได้เอะใจสักนิดว่าเกิดอะไรขึ้นกับเลาะห์ จนกระทั่งวันต่อมา ประมาณบ่ายสองโมงกว่าๆ ก็ได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนของลูกสะใภ้ว่า เลาะห์หายตัวไป พบรถจักรยานยนต์ทิ้งไว้ข้างทาง ฉันตกใจ และคิดในใจว่าลูกหายคงเป็นเหมือนที่ทนายสมชาย (นีละไพจิตร) ได้สูญหายไป  เช้าวันต่อมาฉันกับลูกสะใภ้ และชาวบ้านช่วยกันตามหาเลาะห์ในบริเวณที่รถจักรยานยนต์ได้ถูกทิ้งไว้ข้างทาง และที่ต่างๆ ที่คิดว่าน่าจะเจอ แต่ในวันที่ 2 เสียงทหารนายหนึ่งจากค่ายทหารใกล้บ้านของเลาะห์ บอกสะใภ้ให้เลิกตามหา

          “ไม่ต้องไปตามหาหรอก หาไม่เจอ เขาไม่มาทิ้งไว้แถวนี้”
          “ฆานอ ดียอ แกแจะลากูนิง” (ทำไมเขาถึงได้พูดแบบนี้) ฉันบ่นในใจ..

          พวกเราหากันอยู่สามวันก็เลิกตามอย่างหมดกำลังใจ 'เลาะห์' หรือ 'อับดุลเลาะห์ อาบูคารี' ลูกชายคนนี้แต่งงานและย้ายไปอยู่กับภรรยาที่บ้านบือแจง ตำบลบองอ อำเภอระแงะ จ.นราธิวาส มีอาชีพรับจ้างก่อสร้าง มีลูกสองคน เป็นชายและหญิง คนนี้นิสัยดี ชอบช่วยเหลือคนอื่น ตอนหลังโดนข้อหาปล้นปืนที่ค่ายทหารกองพันพัฒนาที่ 4 (ค่ายปิเหล็ง) ตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 มีทนายสมชาย นีละไพจิตร ช่วยต่อสู้คดีให้ (ต่อมาเขามาเป็นพยานปากสำคัญในคดีซ้อมทรมานลูกความของทนายสมชาย นิลไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เพื่อให้รับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับ 'คดีปล้นอาวุธปืน' )  ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2547 ทนายสมชายก็สูญหายไป 

          หลังจากนั้นทนายวิทยา ซึ่งเป็นเพื่อนกับทนายสมชาย ได้ช่วยเลาะห์ให้พ้นคดีเนื่องจากว่าเลาะห์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ ซึ่งต่อมา พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) ชวนเลาะห์ไปทำงานกับเขา เลาะห์ช่วยงานเกี่ยวกับการคุ้มครองพยานของทนายสมชาย ก่อนที่เลาะห์หายตัวไป* 

          ก่อนหน้าที่เลาะห์จะถูกจับตัวไป มีเจ้าหน้าที่ (ทหารและตำรวจ) มาหาที่บ้าน เลาะห์ไม่ได้มีความรู้สึกกลัวต่อเจ้าหน้าที่และพูดคุยด้วยมิตร เพราะคิดว่าตนเองไม่มีความผิดอะไร เจ้าหน้าที่เข้ามาจับตัวและพาไปสอบสวนที่โรงพักเขาตันหยง อ.เมือง จ.นราธิวาส แล้วพาเลาะห์ส่งตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เลาะห์บอกว่าที่นี่ดีกว่าโรงพัก เพราะที่นั่นเขาถูกซ้อม ถูกตี และถูกไฟฟ้าช็อต 

          หลังจากลูกชายหายตัวไป ฉันได้ไปแจ้งความกับตำรวจ ขอความช่วยเหลือจาก พ.อ. ปิยวัฒน์ ปิ่งเกตุ เขาก็ได้เตือนแล้วว่าไม่ให้เลาะห์กลับบ้าน ขอความช่วยเหลือจากคุณอังคณา นีละไพจิตร ขอความช่วยเหลือคนโน้น คนนี้บ้าง 

          ฉันก็รอข่าวคราว ล่าสุดได้รับโทรศัพท์จากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เขาก็รับปากว่าจะช่วย รอมาสองปีก็ยังไม่ได้เรื่องสักที และนึกถึงทนายสมชาย ที่ช่วยเหลือและต่อสู้เพื่อให้ได้ซึ่งความยุติธรรม แต่ตัวเองกลับมาถูกอุ้มหายไป ฉันเสียใจมากๆ และต้องขอบคุณทนายสมชายมากๆ ที่ทำเพื่อพวกเรา ยามนี้ฉันได้เพียงขอพรต่ออัลลอฮ (ซ.บ.)คุ้มครองและตอบแทนในสิ่งที่เขาช่วยเหลือเราตลอด

          ฉันเสียใจมาก ตอนที่ลูกหายตัวใหม่ๆ  บางคืนก็นอนไม่หลับ ถ้าได้ยินเสียงกุกกัก ก็จะไม่นอนเลย ถ้าถือไฟฉาย ไฟฉายก็จะไม่ตกพื้น บางคืนต้องไปเที่ยวที่บ้านพี่ชาย ถ้ารู้สึกง่วงถึงจะกลับบ้าน ช่วงนั้นนอนไม่หลับจริงๆ   ไม่ทานข้าวก็อยู่ได้ มันรู้สึกอิ่มจริงๆ ลูกๆ ก็บอกว่า ไม่กินไม่ได้ 

          .............................................................

          2 ปีผ่านไป วันที่ 29 สิงหาคม 2554 เวลาห้าโมงเย็นกว่าๆ วันนั้นเป็นวันถือศีลอดเดือนรอมาฎอน ฉันไม่เคยคิดนว่าจะเจอเรื่องร้ายอีกวัน คราวนี้ได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนของลูกสะใภ้ว่า รอฮานิงโดนยิงเสียชีวิต ฉันหันมามองหน้าหลานทั้งสองคนแล้วร้องไห้บอกกับหลานว่า “อย่าร้องนะ มี (แม่) เขาไม่อยู่แล้ว” หลานทั้งสองไม่ร้องไห้เลย 

          ก่อนหน้านั้นสองวัน ฉันได้ไปรับหลานๆ ที่บ้านรอฮานิง เนื่องจากว่าอีกสามวันก็จะถึงวันรายอปอซอ (วันอิดิลฟิตรี) เขาได้เอ่ยให้ฟังว่า ช่วงเย็นๆ จะคิดถึงเลาะห์ 

         “ทำไมต้องคิดถึงเขาในเมื่อเธอได้แต่งงานใหม่แล้ว” ฉันถาม
         “ช่วงเดือนปอซอ เลาะห์ชอบกินข้าวยำ” รอฮานิงตอบ

         วันนั้นรอฮานิงพูดมากจนผิดปกติ จนฉันเอะใจว่าทำไมถึงได้พูดมากทั้งที่ไม่เคยพูดมากขนาดนี้และได้ขอมาอัฟ (ขอโทษ) หลายครั้ง ฉันถึงกับร้องไห้กับสิ่งที่รอฮานิงพูดออกมา ….

         รอฮานิง โดนยิงจนเสียชีวิตในเย็นวันจันทร์ระหว่างทาง หลังจากไปเอารถซึ่งตั้งที่ร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ เมื่อฉันได้ดูศพ สภาพศพถูกกระทำราวกับว่าเขาไม่ได้เป็นผู้หญิง

          ความรู้สึกของฉันระหว่างลูกที่เสียชีวิตไปกับลูกคนที่สูญหาย ลูกที่สูญหายไปความรู้สึกเสียใจมากกว่าลูกที่เสียชีวิตไป เพราะเรารู้ว่าเขาได้เสียชีวิตแล้ว เราได้ซีแปมายัต (จัดการศพ) เรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับลูกที่สูญหายไป เราไม่รู้ว่าเขายังมีชีวิตอยู่อีกหรือไม่ ถ้าเสียชีวิตแล้วเราก็ยังไม่ได้จัดการศพ มันก็ยังติดในใจเพราะอยากรู้ว่าลูกอยู่ที่ไหน ถ้าลูกอยู่ที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาไม่สามารถกลับบ้านได้ เพราะมีคนจับตัวไว้หรือด้วยเหตุใด ก็ไม่เป็นไรขอแค่ได้รู้ข่าวคราวบ้างก็ยังดี

          เมื่อฉันอยู่หน้ากระจกจะเห็นภาพถ่ายที่มีเลาะห์และลูกสะใภ้อยู่ในรูปด้วย หลายครั้งอดร้องไห้ไม่ได้ เพราะคิดถึงลูกชายที่หายไป แต่ลูกสะใภ้ความรู้สึกคิดถึงน้อยกว่า เพราะเราได้เห็นศพของเขาแล้ว ในความรู้สึกฉัน ลูกชายยังมีชีวิตยู่เหมือนกับว่าเขาได้ไปทำงานยังไม่ได้กลับบ้าน 

          คนในหมู่บ้านบางคนสงสารและเห็นใจ บางคนเห็นฉันดูสบายใจ แต่ไม่รู้ว่าในใจวิตกกังวลมากแค่ไหน หลังจากที่ประสบเหตุการณ์ใหม่ ฉันอยู่บ้านบางครั้งก็นั่งร้องไห้คนเดียว ถ้าได้ออกมาร่วมกิจกรรมข้างนอกก็จะดีขึ้น แต่ความรู้สึกกังวลก็ยังมีอยู่ ฉันออกมาทำกิจกรรมข้างนอก อาแบ (สามี) เข้าใจและไม่ได้ว่าอะไร

          ทุกวันนี้ฉันเข้มแข็งมากขึ้น เพราะได้ผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ มาแล้ว อัลลอฮ (ซ.บ.) ทดสอบฉันและอยากรู้ว่า  ตัวเองจะอดทนได้แค่ไหน ทุกวันนี้อยู่ด้วยความอดทนและมอบหมายต่ออัลลอฮ (ซ.บ.)  ฉันรู้สึกว่ามีพลังในการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาในหมู่บ้านซึ่งผิดกับเมื่อก่อน ไม่กล้าที่จะเผชิญหน้า

          สิ่งสุดเดียวที่อยากจะขอความช่วยเหลือจากรัฐ คือ อยากให้ทางภาครัฐช่วยตามหาลูกชายที่หายไป และอยากให้ช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาแก่หลานทั้งสองคนด้วย หลานยังเล็กอยู่ ทั้งสองคนเรียนอยู่ชั้นประถม บางครั้งพอได้เห็นหน้าหลานทั้งสอง ฉันก็ร้องไห้ทุกทีเพราะสงสาร  หากมีใครถามว่า “อาบะห์ (พ่อ) และมี (แม่) อยู่ที่ไหน?” 

         “อาบะห์มีคนจับตัวไป และมีถูกยิงจนเสียชีวิต” หลานตอบแบบนี้เสมอ.

0000000000000000000000000000

"ทำไม 'อับดุลเลาะห์ อาบูคารี' ต้องหายไป...?"

         นายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวในข้อหาปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส แต่ภายหลังศาลยกฟ้อง และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กันตัวไว้เป็นพยานในคดีซ้อมทรมานลูกความของทนายสมชาย นีละไพจิตร เพื่อให้รับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืน โดยนายอับดุลเลาะห์รอขึ้นศาลอยู่หลายปี กระทั่งหายตัวไป ทำให้หลายฝ่ายออกมาวิจารณ์ถึงปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมและประสิทธิภาพการคุ้มครองพยานของดีเอสไส แม้ดีเอสไอจะอ้างว่านายอับดุลเลาะห์กระทำผิดสัญญาการคุ้มครองพยาน เพราะเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลฮารีรายอ – ที่มา ทีมข่าวสำนักข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, 1 กันยายน 2554 (2011).

 

หมายเหตุ: “เรื่องเล่าของผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” ในหนังสือ “เสียงของความหวัง” เป็นคำให้การของผู้หญิงอย่างน้อย 19 คนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเธอเป็นเสียงเงียบที่อยู่เบื้องหลังของความรุนแรง ซึ่งมี 'เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม' ช่วยเหลือประคับประคองให้การเยียวยาอย่างต่อเนื่อง จนผู้หญิงหลายคนไม่นิยามตนเองเป็น 'เหยื่อ' ทว่าพวกเธอคือมือที่จะไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ทุกข์ร้อนในสถานการณ์เดียวกัน และเป็น 'สะพานเชื่อม' ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยพุทธและคนมลายูมุสลิมที่ชำรุดลงชั่วคราวเพราะความรุนแรง เรื่องราวของพวกเธอที่จะทยอยนำเสนอต่อจากนี้และในอนาคตอาจจะมีมากขึ้น นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นเป็นสิ่งเล็กๆ ในหนทางสายใหญ่ที่นำไปสู่สันติภาพของคนในระดับรากหญ้า ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความยุติธรรมและความสงบสุข

ท่านใดสนใจหนังสือ "เสียงของความหวัง": เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ เล่มนี้ สามารถติดต่อได้ที่ คุณคำนึง ชำนาญกิจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โทร. 089-655-6942  หรือส่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี  

ติดตามอ่านเรื่องเล่า "เสียงของความหวัง" ที่ผ่านมา