Skip to main content

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช

ฝ่ายไทยตั้งท่าเดินหน้าการพูดคุย
หลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนของปาร์ตี้ A โดยเฉพาะสมช. ศอ.บต. กอ.รมน. และกระทรวงการต่างประเทศยังไม่สามารถหาความเห็นร่วมว่าจะมีท่าทีและจุดยืนต่อข้อเสนอ 5 ข้อนี้อย่างไร แหล่งข่าวในกอ.รมน. วิจารณ์ว่ากองทัพยังตั้งข้อสงสัยว่าบีอาร์เอ็นนั้นมีสถานะความเป็นตัวแทนของประชาชนปาตานีมากน้อยเพียงไร การนำเอาโอไอซี อาเซียนหรือเอ็นจีโอมาจะเป็นการยกระดับให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสากลหรือไม่ ฯลฯ ปัญหาสำคัญเกิดจากความไม่มีเอกภาพในทางนโยบายของรัฐไทยต่อประเด็นเรื่องการพูดคุย ที่ผ่านมาคนที่ถือธงนำก็คือภราดรและทวี โดยที่ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ก็มีการเปรียบเปรยกันว่าเป็นเพียงแค่ “พระอันดับ” ที่เชิญไปร่วมโต๊ะเพื่อให้ครบองค์ประกอบเท่านั้น
ช่วงนั้นมีข่าวว่าจะมีการพบกันครั้งที่ 4 ในวันที่ 20 ตุลาคม แต่ต่อมาก็ถูกเลื่อนออกไป เพราะใกล้กับวาระครบรอบ 9 ปีเหตุการณ์การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบซึ่งจะเวียนมาบรรจบในวันที่ 25 ตุลาคม 2556 มากเกินไป กล่าวกันว่ามีความหวาดเกรงว่าหากผลของการพูดคุยไม่เป็นที่น่าพอใจก็อาจจะถูกหยิบไปเชื่อมโยงกับเรื่องตากใบได้ การพูดคุยจึงถูกเลื่อนออกไปอีก อีกส่วนหนึ่งคือยังไม่มีความชัดเจนว่าฝ่ายไทยจะตอบเรื่องข้อเรียกร้อง 5 ข้ออย่างไร
เกือบสองเดือนหลังจากบีอาร์เอ็นยื่นเอกสารอธิบาย ในที่สุด ฝ่ายไทยก็ได้ส่งคำตอบเป็นกระดาษหนึ่งแผ่นในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2556 โดยผ่านทางผู้อำนวยความสะดวก โดยเอกสารนั้นระบุว่าฝ่ายไทย “ยินดีที่จะหารือ” ประเด็นทั้ง 5 ข้อร่วมกัน โดยฝ่ายไทยได้เพิ่มอีกสองประเด็น คือ หนึ่ง เสนอให้สองฝ่ายร่วมมือกันลดความหวาดระแวงและความขัดแย้ง และเพื่อแสดงความจริงใจ ขอให้ทุกฝ่ายลดความรุนแรง เคารพสิทธิมนุษยชนในทุกโอกาสที่สามารถทำได้ สอง ขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันเร่งรัดทำงานในการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสร้างและกระจายรายได้อย่างทั่วถึงตลอดจนส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ให้ถือว่าทุกศาสนามีความสำคัญเท่าเทียมกันและทุกคนได้มีโอกาสปฏิบัติตามหลักความเชื่อของตนเอง
หลังการชี้แจงของฝ่ายไทย การพูดคุยซึ่งหยุดไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคมก็มีแนวโน้มว่าจะเดินต่อในช่วงต้นเดือนธันวาคม แต่แล้วก็ต้องเผชิญกับพายุลูกใหญ่อีก 
เผชิญกับพายุการเมืองกรุงเทพฯ
เมื่อในช่วงท้ายของเดือนพฤศจิกายน การเมืองในกรุงเทพฯ เริ่มสับสนอลหม่าน หลังจากที่ผู้คนเรือนแสนออกมาเดินถนนประท้วงร่างกฎหมายนิรโทษกรรม “ฉบับสุดซอย” ซึ่งคาดว่าจะมีผลในการล้างผิดให้อดีตนายกฯ ทักษิณที่ถูกตัดสินจำคุก 2 ปีในข้อหาคอร์รัปชั่น รวมถึงคนในรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่มีส่วนในการปราบผู้ชุมนุมเสื้อแดงในปี 2553 ด้วย ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมือง เลขาฯ สมช. ก็ได้ประกาศในวันที่ 27 พฤศจิกายนว่าจะเลื่อนการพูดคุยออกไปโดยไม่มีกำหนด 
ในสภาวะที่กรุงเทพฯ กำลังเดือด อุสตาซฮัสซันก็ได้ออกมาแถลงผ่านวีดีโอคลิปบนยูทูปในวันที่ 1 ธันวาคม พร้อมกับส่งใบแถลงการณ์ให้กับสื่อมวลชนในอีกไม่กี่วันถัดมา โดยเขาแถลงว่า บีอาร์เอ็นมี “เป้าหมายเพื่อนำปาตานีเข้าสู่ความยุติธรรมและความเจริญในรูปแบบเอกราช … ไม่ใช่สันติภาพภายใต้การกำหนดของนักล่าอาณานิคมสยาม”
เขาระบุต่อไปว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นจะยอมพูดคุยในครั้งต่อไปก็ต่อเมื่อรัฐบาลไทยทำตามข้อเรียกร้องที่ได้มีการประกาศไว้ตามมติของ “สภาปฏิวัติ” ในวันที่ 6 สิงหาคม 2556 [อ้างถึงการแถลงของชายฉกรรจ์ปิดหน้า ดูรายละเอียดในตอนที่ 3] กล่าวคือ หนึ่ง จะมีการเจรจาครั้งต่อไป หลังจากรัฐสภาไทยยอมรับข้อเรียกร้อง 5 ข้อ และสอง การเจรจาสันติภาพจะต้องเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการประกาศโดยนายกรัฐมนตรีไทย เป็นที่น่าสังเกตว่าอุสตาซฮัสซัน ได้ลงท้ายการแถลงการณ์ด้วยการพูดคำว่า merdeka  3 ครั้ง  ซึ่งที่ผ่านมาเขาไม่เคยเอ่ยคำนี้เลยในการแถลงครั้งก่อนๆ การเน้นย้ำเรื่องเอกราชอีกครั้ง ดูเหมือนจะแสดงให้เห็นถึงท่าทีอันแข็งกร้าวมากขึ้นของฝ่ายขบวนการ นอกจากนี้ เขายังใช้ชื่อในการแถลงในวีดีโอนี้ว่าเป็น “อดีตผู้แทนบีอาร์เอ็น” ซึ่งทำให้เกิดการวิเคราะห์กันว่าอุสตาซฮัสซันอาจจะถูกปลดจากการเป็นตัวแทนในการพูดคุยไปแล้ว
สถานการณ์ต่างๆ ดูไม่เอื้ออำนวยต่อการพูดคุย ท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนักจากผู้ชุมนุมเรือนแสนในใจกลางกรุงเทพฯ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ได้ประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 กลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลกำลังพยายามจะทำการ “รัฐประหารโดยประชาชน” โดยจะผลักให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งที่ได้กำหนดไว้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 การต่อต้านและขัดขวางการเลือกตั้งของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทำให้ผลของการเลือกตั้งนั้นยังไม่มีข้อยุติ และการจัดตั้งรัฐบาลนั้นยังกระทำมิได้ การพูดคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็นในภาวะเช่นนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้ยาก  
ในภาวะที่การพูดคุยชะงักงัน ความรุนแรงก็พุ่งสูงขึ้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีเหตุการณ์สะเทือนขวัญต่อเนื่องหลายเหตุการณ์ นับตั้งแต่ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ คนร้ายได้กราดยิงครอบครัวของนายเจ๊ะมุ มะมันที่บ้านปะลุกาแปเราะ ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ขณะพวกเขากำลังกลับเข้าบ้านหลังจากละหมาดในช่วงหัวค่ำ ลูกชายวัยสาม เก้าและสิบเอ็ดขวบถูกยิงเสียชีวิต  ในขณะที่ภรรยาซึ่งตั้งครรภ์และตัวเขาเองก็ถูกยิงบาดเจ็บ อีกหกวันถัดมา (9 กุมภาพันธ์) นางเบญจพร เกื้อทุ่ง ซึ่งมีสามีเป็นตำรวจถูกยิงและเผากลางตลาดนัดใน ต.ราตาปันยัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี คนร้ายทิ้งข้อความไว้ว่า “นี่คือรางวัลของ 3 พี่น้องที่พวกมึงฆ่าและพวกกูจะฆ่าพวกมึงต่อไป ตราบใดที่พวกมึงยังอยู่ในแผ่นดินกู”
อีกสามวันถัดมา (12 กุมภาพันธ์) นางสาวศยามล แซ่ลิ้ม พนักงานธนาคารถูกดักยิงบนถนนสายหลักในอ.ยะหริ่ง ขณะขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้าน ร่างของเธอถูกเผา พร้อมกับมีใบปลิวทิ้งไว้ในพื้นที่ว่า “ถึงผบ.ทบ. นี่ไม่ใช่ศพสุดท้ายสำหรับ 3 พี่น้อง” และในวันรุ่งขึ้น (13 กุมภาพันธ์) มีการกราดยิงพระและฆราวาสที่กำลังตักบาตรที่บ้านใหม่ ต.แม่ลาน อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี  ทำให้มีพระเสียชีวิต 1 รูป ฆราวาสอีก 3 คน เหยื่อที่เสียชีวิตสองรายเป็นแม่ลูกกัน โดยสามีของเธอเป็นนายตำรวจ มีผู้บาดเจ็บอีก 8 คน และหนึ่งในนั้นเป็นลูกสาวของนายตำรวจผู้นี้
ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ นายซัมซามิน ผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งก่อนหน้านี้ดำเนินการอย่างเงียบๆ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวของไทยเป็นครั้งแรกที่เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย  โดยเขาได้ระบุว่า “ในความคิดเห็นของผม การพูดคุยไม่ได้ล้มเหลว แต่ว่าหยุดลงชั่วคราว  หลังจากมีเหตุผลบางอย่างในขณะนี้” ในเรื่องที่มีข่าวว่าอุสตาซฮัสซันได้กลายเป็นอดีตผู้แทนฝ่ายบีอาร์เอ็นไปแล้วนั้น เขาได้ชี้แจงว่ายังไม่ได้มีการแจ้งมาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด  เขาบอกด้วยว่าแม้ว่าไม่ได้มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการในขณะนี้ แต่ว่าตัวเขาเองก็ได้พยายามพูดคุยกับทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่องซึ่งทั้งคู่ต่างก็มีท่าทีมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป แต่ปัญหาหลักก็คือทั้งสองฝ่ายยังไม่มีความไว้วางใจกันอย่างเต็มที่ ฝ่ายไทยเองยังไม่เชื่อว่าบีอาร์เอ็นจะคุมสถานการณ์ได้ ส่วนฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ยังคลางแคลงใจว่าไทยจะมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาจริงหรือไม่ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยความสะดวกที่จะสร้างความเชื่อมั่นนี้
นายซัมซามินได้กล่าวยอมรับว่ามาเลเซียในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับพื้นที่ในภาคใต้ที่มีความขัดแย้ง ย่อมมิอาจปฏิเสธได้ว่ามาเลเซียย่อมเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและมีส่วนได้ส่วนเสียกับความเป็นไปในภาคใต้ เพราะเมื่อเกิดปัญหา คนมลายูมุสลิมก็ย่อมลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่นั่นมิได้หมายความว่ามาเลเซียจะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้เขายังระบุว่ากลุ่มพูโลได้ตกลงที่จะเข้าร่วมการพูดคุยแล้ว หากมีการดำเนินการต่อในเรื่องนี้ โดยเขาเสนอว่ากระบวนการพูดคุยจะต้องรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเข้ามา ทั้งภาคประชาสังคม  กลุ่มไทยพุทธ  นักศึกษา ฯลฯ ไม่เพียงเฉพาะแต่กลุ่มติดอาวุธเท่านั้น นอกจากนี้ เขากล่าวว่าหากช่องทางการพูดคุยยังเปิดอยู่ ก็จะสามารถนำเอากรณีความรุนแรงต่างๆ เช่น การเสียชีวิตของเด็ก 3 คนในครอบครัวมะมันมาพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาได้ โดยอาจจะให้มีการตั้งคณะกรรมตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน เขาได้ระบุในตอนท้ายว่าการพูดคุยอย่างเป็นทางการระหว่างฝ่ายไทยและขบวนการปลดปล่อยปาตานีจะเกิดขึ้นอีกครั้งได้ก็คงจำเป็นจะต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่ก่อน มิฉะนั้น ฝ่ายขบวนการคงไม่เชื่อว่าฝ่ายไทยจะมีอาณัติในการไปดำเนินการตามข้อตกลงใดๆ ที่จะมีร่วมกันได้
ในขณะที่ความขัดแย้งในส่วนกลางยังไม่มีทีท่าว่าจะมีข้อยุติในระยะเวลาอันสั้นและยังไม่มีใครตอบได้ว่าจะใช้เวลานานเท่าใดจึงจะสามารถตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีความชอบธรรมในสายตาของคนที่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างสุดขั้ว เมื่อคนไทยยังมิอาจสร้างสัญญาประชาคมใหม่ที่จะอยู่ร่วมกัน จะหวังให้เรื่องปาตานีเป็นวาระแห่งชาติในอนาคตอันใกล้น่าจะยากยิ่งนัก แต่อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าต่างๆ ของการพูดคุยในช่วงที่ผ่านมาน่าจะถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอันน่าพอใจในระดับหนึ่งทีเดียว หลังการสู้รบด้วยอาวุธกันมานานกว่าเก้าปี การพูดคุยที่ผ่านมาจะเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้เราเดินต่อไปข้างหน้าได้ 
เมื่อกรุงเทพฯ สามารถหาสมดุลทางการเมืองได้ หลายฝ่ายเชื่อว่าการพูดคุยจะต้องเดินต่อแน่  แต่จะเป็นรูปแบบใด ใครจะเป็นผู้กุมบังเหียน ภายใต้รัฐบาลที่นำโดยพรรคการเมืองใด คงต้องติดตามกันต่อไป
 
หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานข่าวเจาะชุด "เส้นทางของกระบวนการสันติภาพ" ได้รับความสนับสนุนจากโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (Southern Thailand Empowerment and Participation (STEP) Project และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) -  http://www.deepsouthwatch.org/dsj/5452
 
คลิกอ่าน