Skip to main content

อัซรัน ฟิตรี  ราฮีม ( [email protected]
กลุ่มซูวารอ ปัตตานีแปลและเรียบเรียงจากหนังสือพิมพ์อุตุซันมาเลเซีย 
http://voicepeace.org

แม้ว่า “Autonomy”ในฝั่งไทยจะคงยังถูกถกเถียงนิยามคำเสียใหม่เพื่อตีกันให้ห่างจากคำว่า”แบ่งแยกดินแดน”ให้มากที่สุด แต่ในฝั่งมาเลเซียซึ่งนายกรัฐมนตรีของพวกเขาเป็นผู้จุดประเด็นขึ้นมา จะถูกให้นิยามเป็นหนึ่งเดียวว่า “เขตปกครองตนเองภายใต้รัฐธรรมนูญ” และสื่อมวลชนของมาเลเซียพยายามตั้งคำถามเพื่อหาทางออกให้ Autonomy กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่สามารถพูดคุยเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับบทความชิ้นนี้ของ ‘อัซรัน ฟิตรี ราฮีม’ที่สำนักข่าวอามานโดยกลุ่มซูวารอ ปัตตานีแปลและเรียบเรียงมานำเสนอ ดังนี้ 

 

ทุกๆ วันสื่อจากภาคใต้มักจะรายงานเกี่ยวกับการสูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดและกราดยิงโดยเหยื่อเสียชีวิตจำนวนมากมายหลายศพ 

นับตั้งแต่ 5 ปีที่ผ่านมา จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งและต้องสูญเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 3500 ศพ ประชาชนกลายเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ความไม่สงบเสมือนว่าไม่มีทางออกของปัญหา  

ประชากรกว่า 2 ล้านคน และมากกว่า 80% เป็นชาวมลายูมุสลิม ที่ไม่อาจจะรู้ได้ว่าใครคือศัตรูที่แท้จริงที่รอฆ่าพวกเขาทุกวี่วัน  

มีประชาชนจำนวนมากเช่นกันที่หนีและทิ้งบ้านเกิดเพื่อแสวงหาที่อยู่ใหม่และชีวิตใหม่ที่ปลอดภัยกว่าและที่ทำกินนับวันยิ่งเหลือน้อยเต็มที่บนแผ่นดินของตัวเอง  

ความขัดแย้งถูกโยงกับความรู้สึกไม่พอใจต่อการบริหารจัดการโดยรัฐบาลที่มีต่อประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมักจะถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติในหลายๆเรื่อง 

“เขตปกครองพิเศษ” หรือ Autonomy สำหรับจังหวัดที่เป็นมรดกของชาวมลายูถือว่าเป็นคำที่ทำให้การพูดคุยดูปลอดโปร่งขึ้นสำหรับอนาคตของพวกเขาที่ยังคงไม่ได้รับการพัฒนา 

ในเรื่องเขตปกครองพิเศษนี้เช่นกันที่ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส นายแพทย์แวมาหาดี แวดาโอ๊ะ เชิญผู้สื่อข่าวจากโกตาบารู กลันตัน มาเลเซียเพื่อแถลงข่าวเมื่อไม่นานมานี้  

เป็นเสมือนว่าเขาและประชาชนในภาคใต้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจกับจุดยืนของรัฐบาลไทยที่ยังคงปฏิเสธในการให้เขตปกครองตนเองแก่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเรียกคืนความสันติสุขและเจริญรุ่งเรืองกลับคืนมา  

ในมุมมองของแวมาหาดี เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็นนักในการปฏิบัติหากรัฐบาลมีความจริงใจที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม หลังจากที่การแก้ปัญหาทุกรูปแบบได้นำมาใช้แก้ปัญหาในภาคใต้แต่ไม่สามารถยุติความรุนแรงได้  

ข้อเสนอที่ได้เสนอโดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย  ‘ดาโต๊ะสือรี นายิบ ตนราซัก’ เมื่อเร็วๆ นี้ได้สร้างการตอบรับอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์เองก็ยอมรับในแนวทางดังกล่าวนี้ด้วย  

และเป็นเรื่องที่โชคร้ายเมื่อไม่นานมานี้เอง  ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  ได้กล่าวปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะถือว่าไม่สามารถยุติปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานได้  

“ปัญหาในวันนี้คือ เรายังไม่ได้พูดคุยกันในรายละเอียดอย่างลึกๆ ที่เกี่ยวกับ Autonomy แต่มันก็ถูกปฏิเสธแล้ว รวมถึงนักการเมืองในพื้นที่ด้วย และไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไรเลยสำหรับ Autonomy ในประเทศไทย? จังหวัดภูเก็ตเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นเขตปกครองที่สามารถมีรายได้เป็นของตัวเอง” นายิบกล่าว 

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียได้เสนอให้รัฐบาลไทยมอบ Autonomy ในรูปแบบที่เฉพาะ สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้  

ข้อเสนอดังกล่าว ครั้งแรกได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนายอภิสิทธิ์ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่  5 พ.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ตอบกระทู้สดนายแพทย์แวมาหามาดี ในรัฐสภา นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า Autonomy ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ได้ และกล่าวว่าความยุติธรรมเท่านั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุด  

ตามความคิดของแวมาหาดี เป็นเรื่องที่ประจักษ์แล้วว่าวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ดำเนินโดยรัฐบาลก่อนหน้านั้นเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลง 

อย่างไรก็ตาม  เขาเสนอว่าทุกฝ่ายควรนั่งพูดคุยกันในความหมายของคำว่า  autonomy เพราะคำว่า autonomy นั้นมีความหมายที่กว้างมาก.