Skip to main content

 

         บทความนี้เกิดจากความประทับใจที่ได้จากการดูละครญี่ปุ่นเรื่อง Konkatsu : Marriage hunting  ซึ่งเป็นละครขนาด 11 ตอน เมื่อดูจบแล้ว ผู้เขียนรู้สึกว่าอยากจะเขียนบรรยายความน่าสนใจและแง่มุมที่อาจจะยังไม่เคยเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นของไทย และแน่นอนว่าหากสามารถถอดออกมาเป็นประสบการณ์แล้ว อาจจะช่วยเป็นตัวอย่างหนึ่งในการทุเลาปัญหาภายในจังหวัดชายแดนใต้ได้บ้าง โดยเฉพาะในแง่ของความเข้มแข็งของชุมชนและศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ละครเรื่องนี้เริ่มจากการที่สำนักงานท้องถิ่นเขตฮารุมิ เปิดฝ่ายใหม่ขึ้นมาโดยมีชื่อว่า “ฝ่ายอัตราการเกิดลดลง” เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมและให้คำปรึกษากับคนที่ยังไม่มีคู่ โดยฝ่ายดังกล่าวต้องการสมัครพนักงานใหม่ อย่างไรก็ดี สำนักงานเขตฮารุมิบริหารงานโดยตำแหน่งประธานเขตหญิงที่ดูจากเรื่องแล้ว ค่อนข้างเป็นผู้บริหารที่มีอำนาจในการจัดการเต็มที่ เห็นได้จากนโยบายของการตั้งฝ่ายใหม่ขึ้นมา หรือการแสดงความต้องการให้เกิดผลงานในเชิงรูปธรรมตามนโยบายที่วางไว้อย่างรวดเร็ว ความน่าสนใจเกิดจากการที่ตัวเอกของเรื่องอย่าง คูนิยูกิ ซึ่งเพิ่งจะตกงานด้วยการขอลาออกจากบริษัทที่มีแนวโน้มต้องการลดพนักงานลง จนกระทั่ง คูนิยูกิได้ไปสมัครเป็นพนักงานของสำนักงานเขตในตำแหน่งดังกล่าว แต่ปัญหาก็คือตำแหน่งดังกล่าวต้องการคนที่แต่งงานแล้วเท่านั้น เขาจึงโกหกว่าตนเองมีแผนจะแต่งงาน จนทำให้ได้งานนั้นพร้อมกับปัญหาที่ตามมาในที่สุด
ปมปัญหาที่ทำให้เรื่องดำเนินต่อไปอย่างมีนัยสำคัญคือ เครื่องมือของการเข้าถึงชุมชนในระดับท้องถิ่นของสำนักงานเขตแห่งนี้เช่นรายการโทรทัศน์ “ประธานเขตพบประชาชน” ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ประธานเขตหญิงสื่อสารกับคนในเขต[1] และจะด้วยความต้องการที่จะประชาสัมพันธ์แผนกใหม่ หรือด้วยความพยายามที่จะทำให้ตนเองใกล้ชิดกับประชาชนของประธานเขตผ่านการจัดหาคู่ ทำให้แผนกใหม่ที่เพิ่งรับคูนิยูกิเข้าทำงานนี้ ได้เป็นช่องทางประกาศให้เพื่อนบ้านของคูนิยูกิในชุมชนซากุระ ย่านการค้าเก่าแก่ที่เพิ่งปิดตัวลงได้ทราบกันถ้วนหน้า และกลายเป็นที่มาของการบริหารจัดการความเป็นส่วนตัวกับเรื่องสาธาณะของคูนิยูกิอย่างเลี่ยงไม่ได้  
ประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความน่าสนใจและน่าจะสามารถนำเค้าโครงของความคิดจากเรื่องมาปรับใช้เพื่อสร้างความแตกต่างในเชิงของการจัดการกิจการของท้องถิ่นและการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนที่มีความเฉพาะเจาะจงได้ก็คือ ความจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อสร้างความแตกต่างที่เหมาะสมให้กับชุมชนตนเอง โดยขอแบ่งประเด็นพิจารณาออกเป็น 2 ประเด็นคือ อำนาจของท้องถิ่นในแง่ที่เป็นองค์กร และชุมชนในแง่ของความเข้มแข็ง
หากมองในแง่ของความเป็นองค์กรของสำนักงานท้องถิ่นเขตฮารุมิตามสารที่มาจากเรื่องดังกล่าว ก็พบว่ามีความน่าสนใจในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการความเป็นเมืองซึ่งต้องมีการบริหารที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนได้อย่างตรงจุด และที่สำคัญคือสอดคล้องกับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนไป โดยในเนื้อเรื่องจะพบว่า การที่สำนักงานเขตฮารุมิจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองมาเพื่อการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาพื้นที่ของเมืองรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นการเฉพาะ พร้อมๆกับที่มีการจัดตั้งฝ่ายอัตราการเกิดลดลง ทำให้เชื่อได้ว่าการจัดการดังกล่าวเกิดขึ้นในบริบทของความเป็นเมือง เพราะฉะนั้น การบริหารจัดการท้องถิ่นดังกล่าวจึงมีลักษณะเฉพาะและความคล่องตัวสูง
ประเด็นก็คือ ความแตกต่างในการจัดการขององค์กรปกครองท้องถิ่นลักษณะดังกล่าว ย่อมมีความแตกต่างจากการปกครองท้องถิ่นของไทย โดยเฉพาะการบริหารจัดการท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะหากนำเอากรอบของความเป็นเฉพาะตัวในแบบเมือง เข้ามาปรับใช้กับบริบทของการจัดการท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ก็น่าจะเป็นภาคบังคับที่ทำให้เห็นความจำเป็นของการมีอำนาจในการจัดการทางวัฒนธรรมที่แตกต่างจากสังคมไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะ ไม่เว้นแม้แต่อำนาจในการจัดการทางเศรษฐกิจที่มากไปกว่าบทบาททั่วไปในการเก็บภาษีเพื่อบำรุงท้องถิ่น
นอกจากนั้น ช่องทางของการสื่อสารระหว่างผู้นำท้องถิ่นกับชุมชนก็ถูกทำให้เห็นว่ามีความจำเป็น จากเรื่องดังกล่าวเห็นได้ว่าผู้นำท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อการแสดงความคิดเห็นที่มาจากประชาชนเป็นอย่างมาก และแม้จะเป็นเพียง “ละคร” แต่ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็น “ผู้นำ” ที่รับผิดชอบต่อประชาชนของตนเอง ด้วยการยอมรับทั้งการชื่นชมของประชาชนและเรื่องร้องเรียนต่อการทำหน้าที่ขององค์กรและผู้นำเอง
การบริหารจัดการท้องถิ่นดังกล่าว เมื่อนำมาพิจารณาในบริบทของการปกครองท้องถิ่นไทย ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นอำนาจที่อยู่นอกเหนือจากการกำหนดเป็นการทั่วไปของกฎหมายที่บังคับใช้เป็น “แกน” ของการปกครองท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นเดียวกับพื้นทื่อื่นของประเทศแล้ว อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างให้กลไกของการปกครองท้องถิ่นทำงานต่อไปได้ ด้วยการเอื้อให้มีอำนาจเฉพาะด้านที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้ เช่น อำนาจในการจัดการทางวัฒนธรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ ความจำเป็นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทให้กลายเป็น ผู้ริเริ่ม (initiator) ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเรียนรู้มากกว่าการยึดกฎหมายท้องถิ่นเป็นที่ตั้ง จนหลงลืมความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับชุมชน ยกตัวอย่างเช่น แม้จะเห็นว่าการพัฒนาเมืองเป็นประเด็นที่ทำรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในเมืองให้ดีขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ต้องให้ความสำคัญต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนด้วย ดังที่ปรากฏให้เห็นว่าในท้ายที่สุดแล้ว ฝ่ายพัฒนาเมืองของสำนักงานเขตฮารุมิก็ยังต้องยอมให้กับความสำคัญของการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนดั้งเดิม เพราะนัยสำคัญของการยอมรับการมีอยู่ของชุมชนโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีความจำเป็นต่อการทำงานขององค์กรต่อไปได้ ในทางกลับกัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่แยกขาดจากชุมชนย่อมไม่เป็นที่ยอมรับและไม่สามารถทำงานได้ในที่สุด
         ประเด็นที่น่าสนใจต่อมาคือ ความเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา แน่นอนว่ามีผลต่อโครงสร้างของชุมชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่นที่เห็นว่า การพัฒนาเมืองกลายเป็นสาเหตุหลักของการล่มสลายของชุมชนที่ต่างคนต่างอยู่ และไม่เห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ไม่ต่างจากชุมชนท้องถิ่นไทยในปัจจุบันที่ปรากฏการณ์เหล่านี้ได้แทรกซึมไปถึงหน่วยการปกครองระดับเล็กที่สุดเช่นหมู่บ้านแล้ว ในทางเดียวกัน ปรากฏการณ์ที่เป็นปัญหาดังกล่าว ยังเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยทั่วไป เพียงแต่สาเหตุของปัญหาในชุมชนไม่ได้มาจากการพัฒนาเพื่อความทันสมัยเพียงอย่างเดียว แต่มีปัญหาของความไม่สงบเข้ามาบ่อนทำลายความเป็นชุมชนดั้งเดิมให้ด้อยค่าลงไปด้วย
น่าสังเกตว่า การที่ชุมชนดั้งเดิมถูกทำลายได้โดยง่ายจากสถานการณ์ของความไม่สงบ อาจจะไม่มีความแตกต่างจากความเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบบจากการพัฒนา เนื่องจากการขาดสำนึกของการเป็นคนในพื้นที่ตั้งแต่แรกเริ่ม ประกอบกับการที่ชุมชนถูกแยกขาดออกจากการเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายนอกอย่างไม่มีส่วนร่วม จนส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอในที่สุด แต่ความซับซ้อนของชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่อมมีความแตกต่างจากละคร เพราะนอกจากปัญหาที่มาจากการพัฒนาแล้ว ยังเกี่ยวกับเรื่องของวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของคนและชุมชน
ประเด็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญและร่วมกันถกเถียงต่อไปในบริบทจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ มีวิธีการอย่างไรเพื่อที่จะรื้อฟื้นและปรับสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ชุมชนมุสลิมด้วยกันเองก็ดี หรือในชุมชนที่คนต่างวัฒนธรรมอยู่อาศัยปะปนกันก็ดี ล้วนแล้วแต่ชี้ให้เห็นความจำเป็นของการรื้อถอนปัญหาเพื่อสร้างชุมชนดั้งเดิมขึ้นมาใหม่ทั้งสิ้น ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้เขียนสะดุดใจกับตัวอย่างของการปรับสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชนย่านการค้าเก่าซากุระที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาความเป็นเมืองในพื้นที่อื่นของเขตซากุระ จนทำให้เจ้าของกิจการเดิม ไม่ว่าจะเป็น ร้านตัดผมที่อยู่นอกนิยามของคำว่าทันสมัย ร้านขายขนมปังเก่าแก่ของย่านที่มีเอกลักษณ์และชื่อเฉพาะถิ่น และร้านค้าอื่นในย่านต้องปิดกิจการลง เหลือไว้แต่ร้านทงคัตสึ[2] และบาร์เครื่องดื่มอยู่สองร้านในย่านแห่งนี้ แต่ในท้ายที่สุด หลังจากที่คนในชุมชนย่านการค้าเก่าแก่แห่งนี้ตระหนักถึงความสำคัญของชุมชน ไม่ว่าจะผ่านการชูเรื่องของการสร้างจุดเด่นของชุมชนนี้ให้กลายเป็น Marriage town ของคนไร้คู่ก็ดี หรือการกลับมาเปิดกิจการของตนเองใหม่ก็ดี กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ว่าสำนึกของความเป็นชุมชนมีอยู่จริงภายใต้วิธีคิดของ “ความสัมพันธ์แบบเท่ากัน” ของคนในชุมชน
เพราะนอกจากต้องปรับตัวรับกับความทันสมัยที่เกิดขึ้นแล้ว ยังต้องจัดการกับกลุ่มทุนที่ต้องการพัฒนาให้พื้นที่ชุมชนดั้งเดิมแห่งนี้กลายเป็นศูนย์การค้าแห่งใหม่ ผ่านทางเจ้าของพื้นที่ที่ให้คนในชุมชนเช่าที่มาหลายรุ่น สิ่งที่น่าสนใจคือ ไม่ใช่มีเพียงแต่คนในชุมชนจะเรียนรู้รูปแบบของการอยู่ร่วมกันบนฐานของความสัมพันธ์แบบเท่ากันแล้ว ในท้ายที่สุด เจ้าของพื้นที่ย่านการค้านี้ยังได้เรียนรู้ความเข้มแข็งของชุมชนที่ถูกรื้อฟื้นชุมชนขึ้นมาใหม่ ด้วยการเปลี่ยนใจไม่ขายที่ดินให้กับเจ้าของกลุ่มทุนที่สนใจพื้นที่ดังกล่าว ด้วยวีธีคิดที่สะท้อนออกมาเป็นคำพูดว่า “แบ่งๆกันใช้ก็แล้วกัน”
น่าสนใจไม่น้อยที่จะจินตนาการต่อไปจากละครเรื่องนี้ว่า หากสามารถนำเอาแก่นแกนความคิดในเรื่องจากการปรับสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ภายใต้สำนึกของความเท่าเทียมกัน และวิธีคิดของการอยู่ร่วมกันภายในชุมชนด้วยสำนึกแบบแบ่งๆกันใช้แล้ว ก็น่าจะทำให้บรรยากาศของความเป็นชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถต่อยอดความคิดไปสู่การปฏิบัติได้บ้าง
ผู้เขียนมองว่า นอกจากประเด็นของการพัฒนาที่เป็นตัวการหนึ่งของการทำให้ชุมชนและท้องถิ่นทั่วไปเปลี่ยนแปลงไปมากบ้างน้อยบ้างตามกรณีได้แล้ว กล่าวเฉพาะชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังพ่วงเอาประเด็นของผลจากความต่างทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์เข้าไปด้วย จนน่าคิดว่าหากมีนำเอาประเด็นทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์เข้ามาเป็นฐานสำคัญของการสร้าง “พื้นที่” ให้ตัวแสดงวัฒนธรรมต่างๆเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันแบบแบ่งๆกันใช้อย่างเท่าเทียมกันภายใต้โครงสร้างของแต่ละชุมชน จะสามารถลดความรุนแรงของปัญหาลงได้บ้างหรือไม่
นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าคิดต่อไปคือ มิติที่ไม่เป็นทางการของการจัดโครงสร้างชุมชนแบบใหม่ถือเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญด้วยหรือไม่ เช่น การจัดสรรให้มีพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อให้แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีโอกาสเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่วัฒนธรรมร่วมกัน ตัวอย่างวิธีคิดดังกล่าวอาจมองจากบทบาทของเทศบาลเมืองเบตงที่มีการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนต่างๆวัฒนธรรม มีพื้นที่ของตนเองผ่านงานเทศกาลสำคัญของเมือง เช่น เทศกาลกินเจของคนเชื้อสายจีน, เทศกาลแห่ผ้าขึ้นธาตุที่นำติดตัวมากับคนไทยพุทธจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และเทศกาลฉลองปีใหม่ของคนมลายูมุสลิม เป็นต้น วัฒนธรรมที่ถูกนำมาเสนอต่อพื้นที่กลางของเบตงเหล่านี้ อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่าทุกวัฒนธรรมไม่ถูกกดทับเป็นการเฉพาะ เพราะสามารถมีพื้นที่แสดงวัฒนธรรมของตนได้ไม่แตกต่างกันมาก
          ในท้ายที่สุด ตัวอย่างจากละครหรือแม้แต่กรณีตัวอย่างในจังหวัดชายแดนใต้ที่กล่าวถึงข้างต้น ทำให้ต้องย้อนกลับมาสู่การทำความเข้าใจในเชิงของกรอบความคิดซึ่งมีความจำเป็นต้องพิจารณาเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาว่า คนในท้องถิ่นมองตนเองในแวดล้อมของชุมชนอย่างไรเป็นประการแรก ประการต่อมา คนในชุมชนมองชุมชนของตนเองเป็นอย่างไร และประการสุดท้าย วิธีการที่คนในชุมชนเลือกที่จะปรับตัวเพื่อรับ หรือ ต้านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นด้วยท่าทีแบบใด เพราะเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว คำตอบที่มาจากคำถามเหล่านี้สามารถสะท้อนความเข้มแข็งพอๆกับที่เป็นการสะท้อนความอ่อนแอของชุมชนได้ดีทีเดียว


[1] ขณะที่ผู้เขียนพยายามนึกว่ามีช่องทางการสื่อสารระหว่างประชาชนกับผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลักษณะดังกล่าวในสังคมไทยด้วยหรือไม่ ก็เห็นเพียงช่องทางของ “เสียงตามสาย” ที่โยงใยระหว่างผู้นำชุมชนกับท้องถิ่น หรือมากไปกว่านั้น ก็อาจจะผ่านทางโทรทัศน์คลื่นความถี่ของ NBT ภาคท้องถิ่นหรือวิทยุในท้องถิ่น เป็นครั้งคราวเท่านั้น
[2] ชื่ออาหารประเภทหนึ่งของญี่ปุ่น