Skip to main content

 
 
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่มีข่าวว่านายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ผู้นำของมาเลเซีย จะเดินทางมาเยือนไทยระหว่างวันที่ 7-9 ธ.ค. เพื่อประชุมหารือประจำปีร่วมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย ได้มีการเปิดบ้านพิษณุโลกให้ผู้สื่อข่าวของเบอร์นามา สื่อในกำกับของรัฐบาลมาเลเซีย เข้าสัมภาษณ์ผู้นำรัฐบาลไทยเป็นการเฉพาะ
คำถามที่สื่อในประเทศเพื่อนบ้านสนใจไถ่ถาม ได้แก่ การสานต่อนโยบายความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างไทยและมาเลเซีย แต่ประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ซึ่งผู้นำของทั้ง 2 ประเทศมีกำหนดเดินทางไปเยือนคนในพื้นที่อย่างเป็นทางการในวันพุธที่ 9 ธ.ค.
 
ขณะเดียวกัน ‘คำตอบ’ ของนายกรัฐมนตรีไทยที่มีต่อ ‘ปัญหาภาคใต้’ ถูกนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อต่างชาติ อาจมีส่วนทำให้สื่อมวลชนไทย (รวมถึงผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง) มองเห็น ‘แนวทาง’ การแก้ปัญหาภาคใต้ในทัศนะของผู้นำรัฐบาลไทยซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งครบ 1 ปีในไม่กี่เดือนข้างหน้าอย่าง ‘ชัดเจน’ มากขึ้น
 
จากการรายงานของ ดี.อารุล ราชู ผู้สื่อข่าวเบอร์นามา นายกฯ อภิสิทธิ์ชี้แจงว่า รัฐบาลไทยไม่สามารถเริ่มต้นเจรจากับกลุ่มหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนใดๆ ได้ เพราะไม่เคยมีผู้ใดแสดงตนเป็นผู้ลงมือก่อเหตุ และไม่เคยมีใครประกาศข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล จึงเป็นเรื่องยากที่จะจำแนกหรือจำเพาะเจาะจงว่าคนกลุ่มใดเป็นผู้ก่อความรุนแรงขึ้น
 
เมื่อผู้สื่อข่าวระบุว่าแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนใน อดีต เช่น พูโล พร้อมจะเจรจากับรัฐบาลไทย นายกฯ อภิสิทธิ์ได้กล่าวว่าจนถึงวันนี้ยังไม่เคยมีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อ การก่อเหตุรุนแรงใดๆ แม้แต่พูโลเอง
 
เมื่อถูกถามว่ารัฐบาลพร้อมจะเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดิน แดนที่ออกมาแสดงตัวว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุหรือไม่ ผู้นำไทยก็ได้ย้ำอีกครั้งว่าไม่น่าจะมีใครหรือขบวนการใดออกมายอมรับว่าเป็น ผู้ก่อความไม่สงบ แม้สถิติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจะสูงกว่า 3,500 รายแล้วก็ตาม
 
ต่อมาได้มีการตั้งคำถามว่ารัฐบาลไทยพร้อมหรือไม่ที่จะ เปิดให้บุคคลที่สามเข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภาค ใต้ เช่น รัฐบาลมาเลเซีย หรือองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ได้แก่ ตัวแทนกลุ่มอาเซียน หรือแม้แต่องค์การการประชุมอิสลาม (OIC) ซึ่งนายกฯ อภิสิทธิ์ตอบว่าไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งบุคคลที่สาม เพราะปัญหาภาคใต้ถือเป็น ‘กิจการภายในประเทศ’
 
พร้อมกันนี้ นายกฯ อภิสิทธิ์ได้กล่าวว่าเรากำลังหาทางจัดการปัญหาดังกล่าวอยู่ แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยยังคงเล็งเห็นคุณค่าความร่วมมือของประเทศเพื่อนบ้าน เช่นมาเลเซีย รวมไปถึงโครงการระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การพัฒนาระบบการศึกษา เศรษฐกิจและการลงทุน ตลอดจนความร่วมมือด้านกองกำลังรักษาความมั่นคงและการประสานงานหน่วยข่าวกรอง ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญเป็นอย่างดี
 
หากสิ่งที่นายกฯ อภิสิทธิ์ยืนยันอย่างชัดเจนคือการกล่าวว่า “เราให้ความสนใจในการพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่ เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลจะตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ และประชาชนจะได้มั่นใจได้ว่ารัฐบาลไทยกำลังให้ความดูแลแก่พวกเขาอยู่ ซึ่งพวกเขาสามารถดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ดั้งเดิมของตน และพวกเขาจะได้รับโอกาสในด้านต่างๆ เช่นเดียวกับคนไทยกลุ่มอื่นๆ ด้วย”
 
นอกจากนี้ยังได้มีการกล่าวย้ำด้วยว่า รัฐบาลไทยได้ จัดให้มีการเจรจาและตั้งวงเสวนาเรื่องปัญหาดังกล่าวกับคนในชุมชนและผู้นำ ศาสนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งยังได้พูดคุยกับกลุ่มนักธุรกิจในท้องถิ่นว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้อง การ และระบุว่า“นี่คือส่วนสำคัญของแผนการที่เราวางไว้สำหรับสามจังหวัดภาคใต้” ซึ่งผู้สื่อข่าวของเบอร์นามารายงานด้วยว่านายกฯ ไทยมีความมั่นใจว่า รัฐบาลไทยเดินมาถูกทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งยืดเยื้อที่เกิดขึ้น
 
นายกฯ อภิสิทธิ์ได้อ้างถึงรายงานการรวบรวมสถิติการก่อเหตุตั้งแต่ พ.ศ.2548-2550 และระบุว่าสถิติการก่อเหตุในจังหวัดชายแดนใต้ทวีความรุนแรงในช่วง 3 ปีที่อ้างถึงในตอนแรก แต่เหตุการณ์รุนแรงกลับลดลงอย่างต่อเนื่องช่วงปี 2551 เรื่อยมาจนถึงระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่ามีความก้าวหน้าเกิดขึ้น และรัฐบาลไทยจะต้องเดินหน้าต่อไป
 
เมื่อผู้สื่อข่าวแย้งว่าความขัดแย้งในภาคใต้ของไทยไม่อาจจบลงได้ในเวลาอันใกล้ เพราะทั้งรัฐบาลไทย กองทัพ และพรรคต่างๆ ไม่อาจตกลงกันได้ว่าวิธีใดเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด นายกฯ อภิสิทธิ์ ตอบว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันได้กำหนดแนวทางและนโยบายใหม่ ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ
 
“ผมคิดว่านโยบายที่มีอยู่ชัดเจนแล้ว เราต้องทำให้แน่ใจว่าทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วนมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน ผมได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกองทัพและตำรวจ สถานการณ์กำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ค่อยๆ เด่นชัดขึ้น และเราคงต้องใช้เวลา แต่ผมแน่ใจว่าจะต้องเห็นผล”
 
ส่วนคำถามสุดท้ายว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไรที่ ภาคประชาชนหรือคนในพื้นที่จะได้เป็นผู้นำ แทนที่กองทัพไทยซึ่งเป็นผู้กำหนดบทบาทสำคัญในสถานการณ์ภาคใต้ในปัจจุบัน ก็ได้รับคำตอบจากผู้นำรัฐบาลไทยว่าขณะนี้‘ร่างกฎหมายใหม่’ อยู่ ในระหว่างการพิจารณา และเป็นที่แน่ชัดว่ามีการกำหนดผู้แทนในระดับนโยบาย เพื่อให้รับผิดชอบในการแผ้วถางหนทางเพื่อความร่วมมือที่ดีกว่าเดิม
 
“ด้วยวิธีนี้ รัฐบาลไทยสามารถสื่อสารไปยังผู้คนในท้องถิ่นได้อย่างชัดเจนว่าเรากำลังทำอะไร” นายกฯ อภิสิทธิ์กล่าวปิดท้าย
 
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่นายกฯ มาเลเซียจะมาถึงไทยอย่างเป็นทางการ ปรากฎว่าเกิดเหตุคนร้ายวางระเบิดรถจักรยานยนต์ในตลาดสดเขตเทศบาลเมือง นราธิวาสช่วงค่ำวันที่ 7 ธ.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 2 ราย และบาดเจ็บอีก 8 คน
 
ขณะเดียวกันที่ปัตตานีก็มีรายงานเพิ่มเติมว่ากลุ่มคน ร้ายใช้อาวุธสงครามกราดยิงใส่ร้านน้ำชา ที่ อ.ยะรัง ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้มีชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 2  คน จนเกิดคำถามขึ้นในท้องที่เกิดเหตุว่าเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นคือการส่งสัญญาณอะไรไปถึงผู้นำรัฐบาลไทยหรือไม่?
 
แม้คำยืนยันต่อสื่อมาเลเซียที่ออกจากปากผู้นำไทย อ้างถึงการเจรจากับผู้คนในพื้นที่ และอ้างถึงความร่วมมือ ‘เป็นอย่างดี’ ที่ ได้รับจากทหารและตำรวจ แต่ในความเป็นจริงที่เห็นกันอยู่ ดูเหมือนว่าภารกิจเร่งด่วนอันดับต้นๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ใช่การแก้ปัญหาภาคใต้ แต่เป็นการตามล่า ‘อดีตผู้นำนกขมิ้น’ ที่บินข้ามชาติเป็นว่าเล่น พอๆ กับที่โผ ก.ตร.ที่คาราคาซังมานานเป็นเครื่องยืนยันว่านายกฯ อภิสิทธิ์ได้รับความร่วมมือ ‘อย่างดี’ จากตำรวจไทยอย่างมากมาย (?) เหลือเชื่อจริงๆ
 
บทสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีไทยโดยสำนักข่าวเบอร์นามา
(หมายเหตุ: ข้อความที่ถูกเน้นทำขึ้นโดยผู้แปลบทสัมภาษณ์)