Skip to main content

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ให้ความเห็นต่อ รายงานพิเศษ “การเจรจา สู่ อนาคตปาตานี”  PATANI FORUM จัดขึ้นเมื่อ วันอังคารที่  29   เมษายน  2557 The  Aetas Bangkok  Hotel ทางกองบรรณาธิการพิจารณาเล็งเห็นว่า การอภิปรายของ ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงถอดคำอภิปราย แบ่งออกเป็น สองตอน

 
อนึ่งหากมีข้อความผิดพลาด คาดเลื่อน จากเจตจำนงของผู้ให้ความเห็น ทางกองบรรณาธิการขอรับผิดชอบ ด้วยการแก้ไขอีกครั้ง หากได้รับการ ท้วงติง จากผู้ให้ความเห็นต่อรายงาน
 
 
 
ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธี กล่าวว่า ผมอยากตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรายงานฉบับพิเศษ “การเจรจาสู่อนาคตปาตานี” ของทีมงาน Patani Forum ดั้งนี้ 
 
ประเด็นที่หนึ่ง ในทางวิชาการแล้ว ข้อเท็จจริงประการหนึ่ง คือ สืบเนื่องจากผมไม่ได้อยู่ติดพื้นที่ ดังนั้นสิ่งที่ ปาตานี ฟอรั่มทำ หรือนักข่าวทำนั้น สำหรับผมแล้วเป็นสิ่งมีค่า ต้องเริ่มอย่างนี้ก่อน ที่ผมต้องเอาไปใช้ทำอย่างอื่นต่อ คืองานคนละแบบกัน ผมรู้ดีว่ามีข้อจำกัดเรื่องอะไร เพราะผมลงไปภาคใต้เป็นประจำ เดือนละครั้ง แต่ไม่ได้คลุกกับพื้นที่เป็นประจำ ดังนั้นเวลาใช้งานที่คุณดอนเขียน หรือคนอื่นๆเขียนทำ มีฐานะแบบหนึ่ง ดังนั้นข้อมูลที่อยู่ในนี้สำหรับผมแล้ว “มีค่ามาก”
 
ประเด็นที่สอง พอผมอ่านรายงานฉบับนี้แล้ว ผมมีคำถาม มีข้อสงสัย ซึ่งไม่ได้ถามเหมือนที่อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ถามว่า รายงานฉบับนี้เป็นงานวิชาการ หรือว่างานข่าว ?  ซึ่งผมจะไม่ถามตรงนี้ แต่ผมจะถามว่า เวลาเรา Report รายงานอะไรบางอย่าง อย่างเรื่องกระบวนการสันติภาพ ( Peace process ) เราสามารถ Report รายงานได้ เหมือนเรา Report อย่างอื่นหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่ใช่คำถามว่า เป็นหรือไม่เป็นวิชาการ ดังนั้นถ้าจะมาตอบคำถามนี้ ซึ่งผมไม่ได้จะมาวิจารณ์รายงานฉบับนี้ในฐานะวิชาการ หากเป็นงานวิชาการก็จะวิจารณ์อีกแบบหนึ่ง แต่โจทย์ของผมเป็นแบบนี้ โจทย์ผมก็คือ ถ้าเข้าใจบทบาทของปาตานี ฟอรั่ม และตำแหน่งแห่งที่ของรายงานฉบับนี้ ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะทำให้รายงานฉบับนี้เข้มแข็งขึ้นในพื้นที่ที่ดำรงอยู่ ซึ่งสิ่งที่อยากทำ หรือตั้งข้อสังเกต ก็เป็น 2 ส่วน
 
ส่วนที่ 1 ด้วยการเข้าไปในรายงานฉบับนี้ แล้วก็ถามว่าถ้าเราต้องคิดถึง Peace process เราต้องคิดถึงอะไร ไม่ว่าเราจะเป็น Reporter ผู้รายงาน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ไม่ว่าเราจะเป็น International NGOs เราต้องคิดอะไรบ้าง ที่ไม่ใช่วิชาการในความหมายปกติ ดังนั้นผมคิดว่า ข้อแรก เราต้องเห็นรายงานฉบับนี้ในฐานะ กระบวนการสันติภาพ (Peace Process)  รายงานฉบับนี้ไม่ใช่ ข้อตกลงสันติภาพ (Perce Agreement) ไม่ใช่แม้กระทั่ง การพูดคุยสันติภาพ (Peace Dialogue) แต่เป็นกระบวนการสันติภาพ (Peace Process) ความเป็น Process คืออะไร  ความเป็น Process เป็นหลายอย่าง คือในโลกนี้ผมชอบแบ่งอะไรให้เข้าใจง่ายๆ ไม่ให้ยุ่งมาก คือ ของบางอย่างเป็นผลผลิต (Product) แต่ของบางอย่างเป็น Process ซึ่งสิ่งที่เรากำลังจับอยู่นี้ คือ Process
 
ดังนั้นสิ่งที่น่าสนใจเวลาอ่านรายงานฉบับนี้คือ ตอนเริ่มรายงานนั้น คนโน้น คนนี้ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งในฐานะที่เป็น Process จึงไม่จำเป็นเท่าไหร่ เพราะรายงานต้องเริ่มที่ไหนสักแห่ง จากนั้นเพราะด้วยความที่เป็น Process จึงมีพลวัตร (Dynamic) ที่จะหมายรวม ( Involve) คนอื่นเข้ามา ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าคุณออกแบบ Process ในฐานะที่เฉพาะเจาะจง (exclusive) หรือไม่ ตอนเริ่มต้นอาจจะเริ่ม 2 คน ผมอาจจะพูดไกลไปว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทุกชนิด ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น คือ ข้อตกลงที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่นที่ South Africa ก็เริ่มต้นจากคนไม่กี่คนเช่นกัน ซึ่งไม่ได้เริ่มต้นจากคนทุกฝ่ายมาร่วมกัน ซึ่งตรงนี้เกิดขึ้นทีหลัง ดังนั้นต้องเข้าใจว่า เป็น Peace Process ดังนั้นถ้าถามว่าตอนเริ่มต้นไม่เห็นจะมีใคร ซึ่งก็สุดแล้ว แต่อย่างน้อยก็มีคนคิดอยู่
 
ส่วนที่ 2 คือ ตัวละคร เวลาผมเห็นตัวละครใน Peace process ในประเทศใดแล้ว ผมคิดว่า คงต้องให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง กับตัวละคร น้ำหนักจะไม่เท่ากัน น้ำหนักของตัวละครใน Peace Process มีตัวละครอย่างน้อย 3 ตัวละคร คือ มาเลเซีย ไทย และขบวนการ BRN Coordinate ประเด็นของผมคือทั้ง 3 ตัวละคร ไม่เท่ากัน ซึ่งเข้าใจง่ายมาก คือ ไทย และมาเลเซียเป็น รัฐ แต่ BRN Coordinate ไม่ใช่รัฐ ซึ่งพูดกันในมุมผม ก็คือว่า State ในฐานะที่เป็นรัฐจะไม่แพ้ เหตุผลเพราะ State เป็นบางอย่างที่เกือบจะไม่สูญสลาย (immortal) ประเด็นสำคัญก็คือว่า หากเป็นเช่นนี้ ก็เลยมีผลว่าใน image นี้ ใน 50 ปีที่ผ่านมา กลุ่มต่อต้าน ส่วนใหญ่แพ้หมด ในโลกนะครับ ไม่ใช่ในประเทศไทย สำหรับมาเลเซียเลยต้องทำอะไรสักอย่าง คือ ต้องคุยกัน ดังนั้นสิ่งที่เห็น คือตำแหน่งแห่งที่ของสิ่งเหล่านี้ คืออะไร นั่นคือน้ำหนัก
 
สำหรับในรายงานฉบับนี้พูดบ่อยครั้งถึง ฮาซัน ตอยิบ และลักษณะ (source)  ของรายงาน ให้เหตุผลว่า ฮาซัน ตอยิบ ไม่ใช่ตัวจริง เพราะฮาซัน ตอยิบไม่มีอิทธิพล ความน่าสนใจก็คือว่าตัวละครที่อยู่ตรงนั้น ต้องอยู่ ไม่ใช่เพราะมี อิทธิพล ในทางกลับกันถ้ามีอิทธิพลก็ไม่ควรอยู่ คือ พูดจริงๆแล้วเหมือนกับเหตุผลในเวทีวันนี้ผมเองไม่ควรอยู่ แต่ว่าผมก็มาเพราะผมอยากยุ่งด้วย เพราะถึงเวลาผมก็ต้องทำอะไรๆที่สำคัญอย่างนี้อยู่ เพราะผมก็ต้องดูอยู่ดี และผมก็ต้องมาทะเลาะด้วยซึ่งเป็นเรื่องปกติ และตรงนี้เป็นโจทย์ที่น่าสนใจ ที่จะนำไปสู่คำถามต่อไปซึ่งเป็นคำถามสำคัญใน Peace process เป็นคำถามประเภทว่า คนนี้เป็นตัวจริงหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่อะไร จะนำไปสู่การคิดในเรื่องของการเคลื่อนไหว(Movement) แบบเก่ามาก คือ การเคลื่อนไหวแบบเก่ามากก็จะมี Concept ประมาณ ใช่หรือไม่ ?  ตัวจริงหรือไม่ ?  เหมือนที่เราถามว่า ใครคือตัวจริงใน องค์กรอัลกออิดะห์ (Al-Qaeda)   ใครคือตัวจริงในองค์กร ญะมาอะห์ อิสลามียะห์ (Jama ah Islamiyah) ซึ่งแทบจะตอบเกือบไม่ได้ เหตุผลที่ตอบไม่ได้เพราะเป็นการออกแบบของการเคลื่อนไหวพวกนี้ ซึ่งถ้าตอบได้ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเหมือนกับสมัยก่อนเมื่อพูดถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้ว ก็จะเห็นตัวตน จะเห็นการเคลื่อนไหว แต่ถ้าเราตอบว่า ขณะนี้ การต่อสู้ทุกวันนี้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว สภาพ กลุ่มต่อต้านเปลี่ยนไป
 
ดังนั้นถ้าการเคลื่อนไหวหมดไป กลุ่มต่อต้านจะหมดไปหรือไม่ ซึ่งผมไม่รู้ แต่ถ้า ปาตานี ฟอรั่ม ตอบว่า ไม่หยุด ก็แสดงว่าสภาพการต่อสู่เปลี่ยนไปจริงแล้วในวันนี้ ดังนั้นหากเป็นอย่างนั้นจริงก็ง่ายมาก เมื่อนึกถึง องค์กรอัลกออิดะห์ (Al-Qaeda) ก็ ตัดหัว องค์กรอัลกออิดะห์ (Al-Qaeda) ที่อเมริกาทำ คือ ฆ่าบินลาเดน คือ สิ่งที่อเมริกาตั้งมามี 2 เรื่อง คือ อย่างที่หนึ่ง อัลกออิดะห์ไม่มีหัว แต่มีหัวที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณไปแล้ว ซึ่งบินลาดินที่ตาย อาจมีน้ำหนักมากกว่าบินลาเดนที่เป็น อย่างที่สอง ก็คือว่าสิ่งที่มีอยู่บนโลกนี้มันก็เปลี่ยนสภาพไปคนก็อาจต่อสู้ด้วยเหตุผลอีกแบบหนึ่ง เหตุผลที่ต้องแสดงแบบนั้น เหตุผลง่ายมาก คือ ผู้ก่อการร้ายในโลกทั่วไป กฎเบื้องต้นคือ เขาต่อสู้บนดิน ซึ่งบนดินหมายถึงว่า ขึ้นอยู่กับว่าเงื่อนไข ( local condition) ที่ไม่มีใครสั่งได้ ซึ่งเป็นโจทย์ข้อหนึ่งที่ชวนให้คิด
 
ตัวละครที่ 2 มาเลเซีย ซึ่งในรายงานที่เขียนนั้น ตั้งคำถามเหมือนว่า มาเลเซีย จริงใจ หรือไม่จริงใจ ซึ่งเวลาผมสอนหนังสือ ผมจะบอกนักศึกษาว่า ปัญหาเรื่องจริงใจ หรือไม่จริง อย่าเอาเข้ามาในห้อง เพราะไม่มีประโยชน์ทั้งสิ้น ไม่มีประโยชน์อะไรในการวิเคราะห์ทางการเมือง ซึ่งแปลว่าอะไร ก็แปลว่าตัวละครทุกตัว เขาก็มี Agenda  ผมคิดว่าบทบาทของมาเลเซียในปัญหาภาคใต้ของไทย แยกไม่ออกกับวิธีที่มาเลเซีย Position ตัวเองใน Region แยกไม่ออกกับการที่มาเลเซีย Position ตัวเอง Global และตรงนี้ไม่ขึ้นอยู่กับ นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค  หรือ มหาเธร์ มูฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทั้งหมดนี้ คือเหมือนกับว่ามาเลเซีย กำลัง Positioning ตัวเองอีกแบบ ซึ่งไทยเป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาจจะใช่เป็นเรื่องหลังบ้าน แต่เป็นส่วนประกอบของยุทธศาสตร์ใหญ่ แต่เป็นการจัดวางตำแหน่งประเทศของเขา เขาจึงมีอะไรใหม่ๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็น อดีตนายกรัฐมนตรีอับดุลละห์ บาดาวี มาขาย ซึ่งไม่ได้ขายต่อคนของเขาเท่านั้น แต่เขากำลังขายกับโลก ดังนั้นของพวกนี้เหมือนกับเขากำลัง Position ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ มหาเธร์ จะให้มาเลเซียเป็นแหล่งลี้ภัยของคนจากบอสเนีย ซึ่งเกี่ยวอะไรกับมาเลเซีย ไม่ใช่เรื่องหลังบ้านด้วยซ้ำ นี่คือเรื่อง Global position แท้ๆ ในการอธิบาย ผมคิดว่าเราจะไม่สามารถอธิบายมาเลเซียได้ ถ้าไม่เห็นประเด็นนี้ ซึ่งมาเลเซียจะทำอย่างไรในสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นของพวกนี้นั่นเองที่ผมคิดว่า เป็นคำอธิบายบริบท (Context ) เวลาเราพูดถึง Peace process ก็จะทำให้เห็นว่า มาเลเซียทำทำไม ดังนั้นไม่ต้องมาถามในเรื่องความจริงใจ เสียเวลาเปล่าๆ ซึ่งตรงนี้เป็นด้านหนึ่ง
 
ขณะเดียวกันคนเขียนรายงานฉบับนี้ เขียนเหมือนอยากจะบอกว่า ทำไปทำไม ทำไปก็ยังมีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่สำหรับผมนั้น น่าสนใจมาก เพราะว่าโดยตัวเลขนั้น โดยข้อเขียนที่ผมอ่าน พบว่า ในเดือนรอมฎอน หลังจากที่มี Peace process ความรุนแรงก็ดำเนินต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งคิดว่าเกิดเยอะ เกิดอย่างไร ในเดือนรอมฎอน 2004 คือ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว จำนวนคนตาย 142 คน รอมฎอนหลัง Peace process จำนวนคนตาย 29 คน ถ้าพูดอย่างนี้ ก็คือ ลดลง 5 เท่า ในความหมายนี้ ถามว่าไม่มีประโยชน์หรือ ก็มีประโยชน์ แม้มีคนเจ็บเยอะขึ้น
 
อีกส่วนหนึ่งที่ต้องเข้าใจ Peace process คือทุกๆครั้งที่มี Peace dialogue พอหนังสือพิมพ์สัมภาษณ์ผม ผมก็ตอบแบบนี้ มีการพูดคุยเมื่อไหร่ ความรุนแรงเกิดขึ้นแน่ เพราะอะไรหรือ ก็เพราะว่าฝ่ายไม่คุยไม่ได้ถูกเชิญมาที่โต๊ะการพูดคุย ซึ่งเป็นแบบนี้ทุกแห่ง ที่ไหนๆ ก็มี ไม่มีอะไรประหลาดในความหมายนี้
 
ประเด็นสุดท้าย เวลาเราคิดเรื่องพวกนี้ เราจะอ่านข้อมูลอย่างไร ซึ่งในรายงานฉบับนี้ก็น่าสนใจ เพราะคนนำเสนอรายงานก็บอกว่า มีคนออกมาคัดค้านรายงานฉบับนี้ ทักท้วง ต่อต้าน ไม่เห็นทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งเมื่อผมอ่าน ผมก็อ่านอีกอย่างหนึ่ง คือ ถ้า Peace process มันล่มขึ้นมา แล้วทำไมเราถึงลงทุนเยอะขนาดนี้ ซึ่งอันที่จริงเราสามารถอ่านอีกอย่างหนึ่งได้ คือหมายความว่า เวลาเราเถียง เราเถียงเพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าผมอ่านรายงานแล้วผมเห็นว่าไม่สำคัญ ผมก็ไม่อ่าน ถึงแม้ผมอาจจะไม่เห็นด้วยกับรายงาน แต่ผมก็เห็นว่ามีคุณค่ามหาศาล และผมก็จะเถียงด้วย ซึ่งทำนองเดียวกัน หากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีความหมายผมก็ไม่ลงทุนมหาศาลหรอกครับที่จะเถียงกับเขา ฉะนั้นเวลามาเถียงด้วย จึงสำคัญ ถึงแม้จะพูดด้วยปากว่า ไม่เห็นด้วย ก็ตาม ดังนั้นวิธีอ่านค่อนข้างสำคัญ ถ้าอยากจะเข้าใจ ซึ่งนำสู่ประเด็นสุดท้ายว่า รายงานฉบับนี้เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่คิดเรื่อง Peace process อันมาสู่การวิเคราะห์ต่อไป
 
โปรดติดตามตอนสุดท้าย
 
ขอขอบคุณพิเศษ ทีมงาน WeWatch  การประมวลภาพบรรยากาศ การนำเสนอและอภิปรายงานพิเศษ