เมื่อความรู้ในกระบวนการสันติภาพ ถูกกำหนดผ่านสื่อไปยังคนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ตระหนักถึงบทบาท หน้าที่คนรุ่นใหม่บนพื้นที่ความขัดแย้ง และในกระบวนการสันติภาพ การกางร่มเพื่อสร้างกำหนด หรือสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากห่าฝน หรือแดดที่ร้อนจากผู้ที่มีอำนาจ นับว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงออก หรือกระทำการใดได้อย่างเต็มที่ เพื่อก้าวเข้าสู่หนึ่งในตัวแสดงของกระบวนการสันติภาพ
องค์กรร่ม [Organisasi Berpayong : Umbrella Organization] เป็นการรวมตัวขององค์กรภาคประสังคมเพื่อเปิดพื้นที่กลาง พื้นที่ในการรวมตัวของคนทำงานต่างองค์กร ที่ต่างวาระต่างประเด็น การดำเนินให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยน และที่สำคัญคือเป็นพื้นที่ในการกำหนดวาระร่วม ที่องค์กรเครือข่ายเห็นชอบร่วมกัน หรือเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ อันจะนำไปสู่การกำหนดเจตนารมณ์ทางการเมือง [Political Will] ต่อไป
องค์กรร่ม พื้นที่กลางเป็นสถานที่การรวมตัวของภาคประชาสังคมคนหนุ่มสาวเมอลายูปาตานี แม้ในช่วงการชุมนุมที่มัสยิดกลางปัตตานี ปี 2550 คนหนุ่มสาวและปัญญาชนในพื้นที่ที่ศึกษาที่กรุงเทพฯ โดยอาศัยการจัดตั้งภายใต้ชื่อเครือข่ายนักศึกษาพิทักษ์ประชาชนก็ตาม แต่นั่นเป็นการรวมตัวเพื่อขับเคลื่อนในช่วงระยะเวลาเฉพาะ ซึ่งมีเวลาของการชุมนุม และข้อเสนอเป็นตัวกำหนดวาระของการรวมตัว ยังไม่อาจที่จะถือได้ว่านั่นเป็น “ร่ม” ที่สามารถเป็นที่รวมตัวของเหล่านักเคลื่อนไหวได้
หลังจากเหตุการณ์ชุมนุมที่มัสยิดกลางปัตตานี เกือบ 3 ปี ที่คนหนุ่มสาวเมอลายูปาตานีขยับขยายปีกงานของตนเอง จนมีแนวคิดที่จะรวมตัวเพื่อสร้างพื้นที่กลาง ที่นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่เมอลายูสามารถรวมตัวแลกเปลี่ยนพูดคุย กำหนดประเด็นร่วมกันได้ แต่มิใช่เรื่องง่ายที่จะขับเคลื่อนบนวาระที่เป็นเจตจำนงร่วมของประชาชนปาตานี แม้ว่าทุกองค์กรที่เข้าร่วมจะเห็นด้วยในหลักการ แต่ในทางปฏิบัติยังต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจในผลประโยชน์ร่วม หรือ ผลลัพธ์ร่วมทางสังคม
แม้ว่าในพื้นที่จะมีองค์กรภาคประชาสังคมรุ่นใหญ่รวมตัวกันจัดตั้ง “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” ที่มีหมุดหมายขับเคลื่อนทางการเมืองที่ชัดเจน คือ “การกระจายอำนาจ” ซึ่งมีภาพของเป้าหมายที่ต่างจากประชาสังคมเมอลายูรุ่นใหม่ ที่นำเอาวาระความต้องการของประชาชนในระดับรากหญ้า [Track3] นำขึ้นมาเป็นประเด็นขับเคลื่อนทางการเมือง ด้วยปัจจัยนี้การกำหนดรูปแบบการเคลื่อนขบวน และกำหนดรูปแบบการปกครองระหว่างกลุ่มคน 2 รุ่นนี้ เป็นปัญหาทำให้ไม่สามารถเดินไปด้วยกันบนเส้นทางของคำว่าสันติภาพได้ แม้ว่าจะเป็นวิถีของสันติวิธีก็ตาม
ประชาสังคมเมอลายูรุ่นใหม่ จึงต้องอาศัยและจัดตั้งองค์กรร่ม ที่จะมีหน้าที่คอยประสานงานระหว่างองค์กร หรือเป็นศูนย์ประสานงานกลางในการรับมา และถ่ายโอนข้อมูลไปสู่เครือข่าย โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจที่อยู่ในระดับเดียวกัน ความเข้าใจบนตัวเนื้อหาของเจตจำนงร่วมขององค์กรที่อาศัยอยู่ภายใต้ร่มที่คอยปกคลุม มิฉะนั้น อาจจะเกิดปัญหาขึ้น หากความเข้าใจไม่ตรงและไม่เสถียรกัน [ดังที่กล่าวใน Patani Design 4 : ขบวนการคนหนุ่มสาวเมอลายูปาตานี (1)]
ปัจจุบันร่มใหญ่ที่จะคอยเป็นศูนย์รวมองค์กรของคนหนุ่มสาวเมอลายูปาตานี เริ่มปรากฏภาพให้เห็นชัดทั้งตัวบุคคล และเป้าหมายร่วม ซึ่งเป็นเจตจำนงทางการเมืองที่เป็นการมอบอำนาจการตัดสินใจคืนแก่ประชาชน หรือ การกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชนปาตานี (RSD) ผลลัพธ์ที่มาจากประชาชนเป็นการกำหนดเส้นทางเดินของตนเองนั้น ส่งผลให้รัฐไทย และขบวนการต้องยอมรับ ถึงแม้ว่าจะตรงตามประสงค์ของตนหรือไม่
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา หลายองค์กรคนรุ่นใหม่ได้ผ่านการคั้น ขัดเกลา หล่อหลอม ด้วยบทเรียนบวกทฤษฎี และปฏิบัติจริงภายใต้ความขัดแย้ง ความกลัว และความตาย ก่อให้เกิดร่มใหญ่ขึ้นในห้วงช่วงของคำว่า “กระบวนการสันติภาพ” เริ่มเป็นกระแส สะท้อนให้เห็นพลังของคนหนุ่มสาวเมอลายู ต่อแนวคิดสันติวิธี และสะท้อนถึงความกล้าที่จะพูดถึงความกล้าที่จะพูดถึงความต้องการของประชาชน แม้จะไม่ค่อยเสนาะหูรัฐไทยก็ตาม
ช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งมีการฆ่าล้างแค้น การคุกคามนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย [Safety Zone] สำหรับนักเคลื่อนไหว หรือผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐไทย ดังนั้นองค์กรร่ม จึงต้องสร้างหรือพัฒนาตนเอง ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย จากการคุกคาม ทั้งจากหน่วยงานรัฐและขบวนการฯ โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทย ที่จะต้องควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่นอกแถวให้เคารพผู้ที่เคลื่อนไหวโดยสันติวิธีและเคารพพื้นที่เป็น Safety Zone.
พื้นที่ปลอดภัยนี้ไม่ได้หมายถึง สถานที่ที่ถูกกำหนดอาณาเขตแต่เพียงอย่างเดียว หมายรวมถึง บุคคลที่ทำงานในกระบวนการสันติภาพ ที่เห็นชัดเจนในรูปแบบเคลื่อนประเด็นที่แหลม น่าจะเป็นเวทีเสวนา Bicara Patani [บีจารา ปาตานี : เสวนาปาตานี] ที่เป็นเวทีการแสดง และรับฟังความคิดเห็นระหว่างคนรุ่นใหม่เมอลายูกับประชาชนเมอลายูต่อประเด็นการสร้างสันติภาพ ที่มีความต้องการจริงๆ ของประชาชน เป็นหมุดหมายหลัก Bicara Patani จึงสมควรที่จะสร้างและผลักดันให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย จากการคุกคามแทรกแซง ข่มขู่ ติดตาม ไล่ล่า จากผู้มีอำนาจทั้ง 2 ฝ่าย รวมไปถึงการไม่ถูกแทรกแซงในเนื้อหาประเด็นวาระหรือเจตจำนงทางการเมือง ที่จะผลักดันเป็นวาระของประชาชนปาตานี[Patani Agenda] ต่อไป