Skip to main content

ฉบับที่ 2 ปีที่ 1 เดือนตุลาคม 2549

งานวิจัยของผศ. ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เรื่องสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (คปค.) สะท้อนให้คิดว่า หลังจากการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมานั้น การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและระบอบการปกครองในครั้งนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายในเรื่องภาคใต้หรือไม่และการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องมาสู่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร?

จากรายงานผลการวิจัยกล่าวโดยภาพรวม เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภาคใต้ช่วงเดือนกันยายนที่เกิดการรัฐประหารมีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเหตุการณ์ในเดือนสิงหาคมเกิดขึ้นจำนวน 286 ครั้ง ในขณะที่เดือนกันยายนเกิดเหตุการณ์จำนวน 86 ครั้งและเดือนตุลาคมเกิดเหตุการณ์ (1-23 ตุลาคม) จำนวน 83 ครั้ง อาจจะถือได้ว่าเป็นเดือนที่มีการเกิดของเหตุการณ์ต่ำสุดในรอบ 10 เดือนของปี พ.ศ. 2549 นี้ อย่างไรก็ดี ยังไม่อาจจะสรุปได้อย่างชัดเจนถึงเหตุการณ์ในเดือนตุลาคมเพราะสถิติที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รอเวลานับจนครบเดือนและภาวะที่เกิดขึ้นในเดือนดังกล่าว ยังไม่อาจละเลยอิทธิพลของปัจจัยจากตัวแปรหนึ่งซึ่งมีความสำคัญก็คือ เหตุการณ์ในห้วงเวลาของ "เดือนรอมฎอน" ซึ่งสถิติที่ผ่านมาได้แสดงชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยดังกล่าวมีผลทำให้แนวโน้มการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

เนื่องจากเดือนรอมฏอนเป็นช่วงเวลาที่ประชาชาติมุสลิมทั่วโลกถือศีลอดและมักเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นสูงกว่าในปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะสังคมที่มีความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนาหรือสงครามกลางเมือง แต่ที่น่าสนใจคือ ปัจจัยดังกล่าวยังไม่ได้แสดงอิทธิพลต่อเหตุการณ์ความรุนแรงสูงสุดในภาคใต้ในช่วงเดือนเวลาดังกล่าว แต่กลับเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม 2548 ที่มีสถานการณ์ความรุนแรงสูงสุด ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าระดับของความรุนแรงที่เกิดขึ้น น่าจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะและตัวแปรอื่นๆตามแต่ละพื้นที่ ตามแต่ละห้วงเวลา

สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้มีเงื่อนไขและปัจจัยประกอบในการอธิบายหลายอย่าง เช่นเหตุการณ์ในช่วงเดือนรอมฏอนปี พ.ศ. 2547 ที่มีความรุนแรงสูงสุด เป็นผลมาจากตัวแปรในเรื่องนโยบายของรัฐที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในกรณีตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ปฏิบัติการที่ผิดพลาดทางการทหารในการปราบปรามและจับกุมผู้ก่อเหตุประท้วงทำให้เกิดการตายหมู่ของผู้ต้องหาเป็นจำนวนมากกว่า 60 ชีวิต ความเสียหายดังกล่าวมีผลตามมาทำให้สถานการณ์ความรุนแรงสูงขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว เพราะความรู้สึกโกรธและชิงชังต่อนโยบายและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

เหตุการณ์ที่ผ่านมาน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการวางนโยบายแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงต้องจับตาดูว่าหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในภาคใต้อย่างไร? และเพื่อจะตอบคำถามนี้จะต้องพิจารณาความต่อเนื่องของเหตุการณ์ในพื้นที่ๆ เกิดขึ้นก่อนหน้าการรัฐประหาร กับความรุนแรงของเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ภาพสถานการณ์ชายแดนใต้หลังรัฐประหารพอจะมีให้เห็นได้ลางๆ จากสถานการณ์โดยรวมที่อาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีผลกระทบในระดับหนึ่ง ในแง่ที่ทำให้ความรุนแรงในพื้นที่ลดลงโดยเฉพาะในสัปดาห์แรกของการก่อรัฐประหาร แม้ในช่วงเดือนรอมฏอนจะเกิดเหตุความไม่สงบเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเกิดเหตุวันละ 4 เหตุการณ์จากวันละ 2 เหตุการณ์ในช่วงต้นเดือน

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากภาพรวมของเหตุการณ์ตลอดช่วงเดือนรอมฏอนของปีนี้ (2549) ถือว่าเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นได้ลดลงกว่าในช่วงเดือนรอมฏอนของปีที่แล้ว

ความแตกต่างที่เกิดขึ้นดังกล่าวกล่าวอาจจะมีนัยสำคัญในแง่การเปิดหนทางไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐเพื่อความสมานฉันท์และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสันติวิธี แต่ทั้งนี้สถานการณ์โดยทั่วไปก็ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่อาจจะเกิดความผันแปรได้ง่าย ความตึงเครียด ความหวาดกลัวและความหวาดระแวงยังเกิดขึ้นโดยทั่วไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

 ผู้กำหนดนโยบายต้องเรียนรู้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ทุกอย่างเป็นทั้งสัญลักษณ์ที่ต้องตีความและเป็นสัญญาณที่ส่งต่อความหมายบางอย่างมายังผู้ปกครองและคนไทยทั้งประเทศ รัฐบาลชุดที่ผ่านมาล้มเหลวในการรับสื่อความหมายเหล่านี้มานานนับปี อย่าให้ความล้มเหลวเช่นนี้เกิดขึ้นอีก จนกว่าจะถึงวันที่แก้ไขอะไรไม่ได้

อ่าน alert : ฉบับที่ 2 ปีที่ 1 เดือนตุลาคม 2549