สถานการณ์ความไม่สงบที่จังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคกับแฟนบอลทีม “นรายูไนเต็ด” ในการเชียร์ฟุตบอลทีมบ้านเกิด พวกเขาพยายามสร้างเอกลักษณ์ในสนามด้วยเพลงเชียร์ภาษาถิ่น เพื่อส่งกำลังใจไปยังนักเตะทีมโปรด
แฟนบอล ‘กอและมาเนีย’ ส่งกำลังใจไปยังนักเตะฟุตบอล ‘นรายูไนเต็ด’ ทีมโปรดของพวกเขาที่ครั้งนี้ลงสนามเตะแข่งขันกับทีมชุมพรเอฟซี
แฟนบอลบอกว่า เหตุผลที่เดินทางมาเชียร์และให้กำลังใจทีมโปรดในทุกๆ ครั้ง เพราะ นักเตะส่วนใหญ่เป็นลูกหลานในชุมชน ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของทีม และนอกจากมาเชียร์นักฟุตบอลทีมโปรดในแต่ละครั้ง พวกเขายังได้ พูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันอยู่เสมอ
พิพัฒน์พงศ์ สกุลน้อย แฟนฟุตบอลทีมนรายูไนเต็ดเดินทางมาจากอำเภอสุไหงโกลก ระยะทางกว่า 60 กิโลเมตร เข้าเมืองนราธิวาสเพื่อชมเกมส์ฟุตบอลเกือบทุกนัดที่มีการแข่งขัน
"ในมุมของคนพื้นที่ กีฬาก็คือสิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าเป็นความสุขของคนทุกอำเภอมารวมกันที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาไหนหรือพื้นที่ไหนก็แล้วแต่ การอยู่ในพื้นที่ที่ถูกมองว่าเป็นพื้นที่สีแดงที่มีแต่อันตรายแต่เรามองว่า ที่นี่เรายังมีความสุขเล็กอย่างหนึ่งก็คือฟุตบอลนี่แหละ ที่เป็นสิ่งที่รวมใจของพวกเราให้มารวมตัวกันที่นี่ สองสัปดาห์ครั้งหนึ่งที่เราจะมีกีฬาเพื่อมาให้คนในพื้นที่มามีความสุขร่วมกันที่นี่
คือถ้ามองในมุมของสันติภาพหรือมองในความสุข ก็ถือว่านี่เป็นความสุขมวลรวมที่ ถ้านับเป็นค่า GDP คือค่า GDP ที่สูงมากในแต่ละอาทิตย์ที่มีฟุตบอลแข่ง ไม่ว่ารู้เกมส์จะออกมาเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ คนที่นี่เมื่อมาที่นี่แล้วสังเกตุได้ว่าทุกคนจะมีรอยยิ้ม มีความสุขกลับไป เขาจะมีอารมณ์ร่วมตลอด ไม่ว่าทีมจะเสมอหรือแพ้ ถ้าแพ้ก็เอาใหม่ เสมอก็ไม่เป็นไร ถ้าได้ชัยชนะก็จะดีใจร่วมกัน
โดยธรรมดาเรื่องของสถานการณ์ความรุนแรงนั้น คนในที่นี่ก็กลัว เพราะอยู่ในพื้นที่สีแดง แต่ด้วยกีฬาที่ทำให้เรามารวมตัวกันที่นี่ อันตรายอย่างไรก็ต้องระมัดระวังตัวเองมากกว่า และมาที่นี่การรักษาความปลอดภัยสูงมาก"
แกนนำเชียร์ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า 'กอและมาเนีย' เล่าถึงความหลงไหลในกีฬาฟุตบอลของคนในนราธิวาสและจังหวัดชายแดนใต้
"โดยส่วนใหญ่แล้วในจังหวัดนราธิวาสและภาคใต้กีฬาฟุตบอลเป็นกีฬาที่เด็กภาคใต้ชอบเป็นอันดันหนึ่ง มันอยู่ในสายเลือด จะเห็นได้ว่าในหมู่บ้านเล็กๆ เด็กๆจะเล่นบอล เพราะกีฬาฟุตบอลเป็นจุดศูนย์รวมที่สนามบอลเพราะที่นี่ส่วนมากแฟนบอลก็จะเป็นมุสลิม เราก็จะไม่ไปเที่ยวที่แบบอบายมุข เราจะนัดเจอกันแบบคนต่างอำเภอมาดูบอล ดูบอลเสร็จก็จะไปกินลูกชิ้น กินโรตี กินแตออ ไปทะเล
ฟุตบอลทำให้เราและเพื่อนๆได้รวมตัวกัน มาแชร์ความสุขและมาเชียร์บอลด้วยความสุข อย่างน้อยนราธิวาส ทีมนรายูไนเต็ดก็เป็นทีมที่เรารัก เพราะเราก็เป็นคนที่นี่ และมันก็คือความสุขที่สะอาดและทำได้อย่างเต็มอกเต็มใจสำหรับแฟนบอลนราธิวาส
มันคือความสุข ส่วนตัวเราก็ชอบฟุตบอลอยู่แล้ว แต่ถ้ามองในภาพรวมแล้วเมื่อก่อนกับตอนนี้มันก็เหมือนกัน ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ยอดนิยมของที่นี่อยู่แล้ว ไม่ใช่แค่นราธิวาสแต่เป็นสามจังหวัดเลยจะบ้าฟุตบอล ถ้าพูดตามประสาฟุตบอลคือบ้าฟุตบอล
นักฟุตบอลที่นี่มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือการสื่อสาร จะใช้ภาษามลายูในการสื่อสารเป็นการเข้าใจส่วนตัว โดยที่ไม่รู้ว่าแผนเราใช้อะไรด้วยการสื่อสารของนักเตะ เป็นภาษามลายู กองเชียร์ด้วยก็เชียร์เป็นภาษามลายู ใช้ภาษาไทยเข้าไปด้วยนิดหน่อย แต่ส่วนใหญ่คือเราจะเข้าใจในภาษานี้เป็นการร้อง เป็นการสื่อสารที่สะดวกกว่า"
กลุ่มแฟนบอล “กอและมาเนีย” ยังแต่งเนื้อเพลงใช้ภาษามลายูผสมกับภาษาไทย สร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับกีฬาฟุตบอลจากจังหวัดชายแดนภาคใต้
สุรชาติ รักอำนวยศิลป์ ผู้ขับร้องเพลงประจำทีมนรายูไนเต็ด ที่พยายามนำเอาเอกลักษณ์ความเป็นมลายูอย่างดิเกร์ฮูลู เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อเพลงเชียร์
"ผมชอบเพลงดิเกร์ โดยสายอาชีพผมก็ทำงานอยู่กับเพลงเหล่านี้ด้วย และถ้าเราสอดแทรกท่อนเพลงมลายู ท่อนเพลงดิเกร์เข้าไปมันจะสามารถดึงคนในจังหวัดทุกคนมาฟังได้ แล้วก็เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของเราให้ออกสู่ภายนอกอีกด้วย"
บนพื้นที่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกว่า 10 ปี กีฬาฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความสุขและเป็นอีกหนึ่งความหวังของคนในพื้นที่ พวกเขาเชื่อว่านี่คือสันติภาพเล็กๆ ที่พวกเขาสร้างขึ้น