Skip to main content

ท่ามกลางความตึงเครียดของสถานการณ์การเมืองไทยที่มีลักษณะความขัดแย้งสูงและอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ทุกเวลา ทางกองบรรณาธิการจึงเสนอให้มี "การอ่านออกเสียง" ด้วยการเขียนออกมา เพื่อว่าคนจะได้ยิน ด้วยการอ่าน สำหรับ โฉมหน้าศักดินาไทย ที่ อนวัช จันทร์หงษ์ ชวนอ่านอีกครั้ง เพื่อว่าจะได้เข้าใจความขัดแย้งครั้งนี้มากขึ้น (กองบรรณาธิการ)

อนวัช จันทร์หงษ์

โฉมหน้าศักดินาไทยเป็นผลงานค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของ  จิตร ภูมิศักดิ์ และเป็นงานวิเคราะห์ที่ไม่เคยมีใครทำเช่นเขามาก่อนมาก่อน ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ นิติศาสตร์ ฉบับศตวรรษใหม่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า นิติศาสตร์ 2500 โดยในการตีพิมพ์ครั้งแรกมีชื่อว่า “โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน” และถูกสั่งเก็บในฐานะหนังสือต้องห้าม ต่อมาเปลี่ยนชื่อภายหลังเป็น “โฉมหน้าศักดินาไทย” ในการพิมพ์ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2517) แต่อย่างไรก็ดีการตีพิมพ์ครั้งแรกและครั้งที่ 2 ยังไม่จบโดยสมบูรณ์เพราะ จิตร ภูมิศักดิ์ รีบเร่งเขียนให้ทันพิมพ์ใน นิติศาสตร์ 2500 การจัดพิมพ์ครั้งหลังจึงไม่สามารถหาต้นฉบับที่สมบูรณ์ได้

ดยเนื้อหาของหนังสือ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้วิเคราะห์ระบบศักดินาโดยตั้งอยู่บนรากฐานของกฎทางภววิสัยแห่งพัฒนาการสังคมโดยยึดความสัมพันธ์ทางการผลิตตามแนวทางของมาร์กซิสต์ ประกอบกับหลักฐานของฝ่ายศักดินาเองและประวัติศาสตร์โลกมาเป็นกรอบในการวิเคราะห์และท้าทายชุดความเชื่อกระแสหลักที่ถูกผูกขาดโดยฝ่ายศักดินา 

การนำเสนอของจิตร ภูมิศักดิ์เขาได้พยายามวางแนวทางให้ผู้อ่าน โดยการแนะนำแนวทางการอ่าน วิเคราะห์ จับประเด็น ในแต่ละหัวข้อ ปูพื้นให้ผู้อ่านโดยเริ่มอธิบายตั้งแต่ลักษณะ เอกลักษณ์ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม และกำเนิดของระบบศักดินาโดยทั่วไป (ของต่างประเทศ) จากนั้นจึงมาเจาะเฉพาะระบบศักดินาไทย  โดยเริ่มวิเคราะห์อธิบายระบบศักดินาไทยตั้งแต่การกำเนิด การขยับเปลี่ยนจากชุมชนบุพกาลสู่ระบบทาส และระบบศักดินา ไปจนถึงลักษณะทั่วไปโดยเฉพาะประเด็นทางเศรษฐกิจที่มีความสอดคล้องกับระบบศักดินาโดยทั่วไป (ของต่างประเทศ) ในประเด็นต่างๆ และยิ่งไปกว่านั้น จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ชี้ให้เห็นถึงการขูดรีด เงื่อนไขของการขูดรีด ความทุกข์ยากของมวลชน ความสุขสบายของชนชั้นศักดินา บทบาทของชนชั้นกลางนายหน้าศักดินา รวมไปถึงเล่ห์กลมายาคติต่างๆ ที่ศักดินาใช้บิดเบือนสายตาของมวลชนไม่ให้เห็นการเอาเปรียบของชนชั้นตน 

จากที่กล่าวข้างต้น ผู้วิจารณ์เห็นว่ามีข้อความตอนหนึ่งจากคำกล่าวนำโดยสำนักพิมพ์ของหนังสือเล่มนี้ที่เขียนสะท้อนถึง เจตจำนง จุดยืนในการวิเคราะห์ และทัศนะทางประวัติศาสตร์ของจิตร ภูมิศักดิ์ ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี ดังนี้  “วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยความชัดเจนในการต่อสู้ทางสังคมของมนุษย์  ซึ่งวิชานี้เสมือนตัวอย่างของการต่อสู้ทางสังคมแห่งชีวิตของชนรุ่นหลัง การศึกษาประวัติศาสตร์จึงเป็นหัวใจแห่งการศึกษาความเป็นมาของสังคม เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่การปฏิวัติอันถูกต้อง”

หนังสือโฉมหน้าศักดินาไทย จึงนับว่าเป็นงานค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่ายิ่ง จนได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 100 หนังสือที่คนไทยควรอ่าน เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในแวดวงวิชาการว่าเป็นผลงานที่ต่างไปจากแบบเรียนและความเชื่อทางประวัติศาสตร์ที่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย ยิ่งไปกว่านั้นงานชิ้นดังกล่าวยังได้ท้าทายความเชื่อเดิมที่ถูกผูกขาดโดยฝ่ายศักดินาซึ่งเป็นความเชื่อกระแสหลักของสังคมไทยในขณะนั้น

ถ้าหากถือตามคติที่ว่า “ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย แน่ไซร้เพื่อชนนั้น” แล้วก็ย่อมถือได้ว่า ประวัติศาสตร์โดยศักดินาย่อมรับใช้ศักดินา ประวัติศาสตร์โดย จิตร ภูมิศักดิ์ ย่อมรับใช้มวลชน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่มวลชนไทยทุกคนควรจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สร้างโดยมวลชนเอง จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ชี้ให้เห็นธรรมชาติของระบบศักดินาโดยทั่วไปโดยเฉพาะระบบศักดินาไทยที่เป็นเป้าหมายหลักของหนังสือเล่มนี้ได้อย่างชัดเจนรอบด้าน 

ซึ่งผู้วิจารณ์เห็นว่าเราไม่สามารถมองเห็นผ่านแว่นของฝ่ายศักดินาได้เลย จึงนับได้ว่างานของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นมรดกทางวิชาการอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญยิ่งของคนไทยที่ควรศึกษาและนับเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งของจิตร ภูมิศักดิ์ ในการนำเสนอผลงานชิ้นนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวเพราะในยุคนั้นประเทศไทยยังมีสภาพเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาและความขัดแย้งของสงครามเย็นซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับตัวผู้เขียนเองได้

นอกจากนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังได้แนะแนวทางในการอ่านให้กับผู้อ่าน และปูพื้นให้ผู้อ่านโดยการเริ่มอธิบายถึงธรรมชาติของระบบศักดินาโดยทั่วไป แล้วจึงย้อนกลับมามองระบบศักดินาไทยเพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชมเชิญเป็นอย่างยิ่ง

แต่อย่างไรก็ดีแม้หนังสือเล่มนี้จะมีที่ข้อดีมากมาย แต่ก็ใช่ว่าหนังสือเล่มนี้จะไม่มีข้อบกพร่องเลยทีเดียว ผู้วิจารณ์เห็นว่ามีอยู่ 3 ประการใหญ่ๆ ด้วยกัน ดังนี้

ประการแรก เดิมทีหนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “ โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน” ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาที่งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์เผยแพร่กับช่วงเวลาที่หนังสือเล่มนี้มุ่งวิเคราะห์ ปรากฏว่าเป็นคนละช่วงเวลากัน ดังนั้น ผู้วิจารณ์จึงเห็นว่าการใช้ชื่อ“ โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน” ในตอนแรกจึงไม่เหมาะสม เพราะอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้

ประการต่อมา การอธิบายเกี่ยวกับชนชั้นกลางของจิตร ภูมิศักดิ์ มีความคลุมเครือดังจะเห็นได้ในหัวข้อ “ลักษณะของระบบผลิตศักดินาโดยทั่วไป” ที่จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายเหมือนประหนึ่งว่าชนชั้นกลางมีเพียงลักษณะเดียว คือ “ชั้นชนกลางที่ต่อต้านระบบศักดินาและเป็นนักประนีประนอม” แต่ในหัวข้อ “ระบบศักดินาในประเทศไทย” จิตร ภูมิศักดิ์ กลับอธิบายชนชั้นกลางที่ร่วมมือกับฝ่ายศักดินาซึ่งขัดแย้งกับความหมายของชนชั้นกลางในตอนแรก การขาดความชัดเจนเช่นนี้อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้

และประการสุดท้าย ผู้วิจารณ์เห็นว่าหนังสือเล่มนี้ยังไม่สมบูรณ์ เห็นได้จากความตอนหนึ่งในหนังสือที่ว่า “ระบบศักดินาเป็นระบบของสังคมและระบบสังคมย่อมจะต้องประกอบด้วยด้านต่างๆ 3 ด้าน กล่าวคือ การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม” ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนในหัวข้อ “ลักษณะของระบบผลิตศักดินาโดยทั่วไป” แต่ในการวิเคราะห์กับระบบศักดินาไทย ในหัวข้อ “ระบบศักดินาในประเทศไทย” เขากลับอธิบายแค่ลักษณะทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้อธิบายถึงลักษณะทางการเมืองและวัฒนธรรม ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำความเข้าใจระบบศักดินาไทย และเป็นเหตุให้หนังสือเล่มนี้ไม่มีความสมบูรณ์