Skip to main content

ความพยายามของปาตานี ฟอรั่ม เพื่อที่จะสร้างการตื่นรู้ในประเด็นปัญหาจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานีต่อสาธารณะ มาถึงช่วงจังหวะแห่งความท้าทายอีกครั้ง ภายหลังการนำเสนอรายงานพิเศษฉบับปี 57 เรื่อง “การเจรจา สู่ อนาคตปาตานี” โดยก่อนหน้านี้ปาตานี ฟอรั่มก็เคยนำเสนอรายงานการเจรจาฉบับปี 56 ไปแล้ว ภายใต้ชื่อว่า "การเจรจาสันติภาพระหว่างมุสลิมมลายูและรัฐไทย" ซึ่งที่ผ่านมาก็สร้างการเปลี่ยนแปลงในแง่ของ การรับรู้ เข้าใจ ต่อ ประเด็นซ่อนเงื่อน ลับ ลวง พลาง ว่าด้วยการเจรจาสันติภาพนั้น มีจริงหรือไม่ ใครมีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญ แล้วผล บทเรียนคืออะไร เช่นเดียวกับฉบับปัจจุบันของปี 57 ที่มุ่งหวังให้สาธารณะได้ขบคิด ถกเถียง มองเห็นแง่มุมที่แตกต่างออกไป ของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี หวังเพียงให้สาธารณะชนเข้าใจ และหน่วยงานภาครัฐ ฝ่ายความมั่นคง มีทิศทางต่อกระบวนการสร้างสันติภาพทีชัดเจนยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ปาตานี ฟอรั่ม ได้นำเสนอ ประเด็นที่มีการวิพากษ์รายงานจากเวทีนำเสนอรายงานพิเศษ เผยแพร่ในพื้นที่ และต่อมาก็เป็นการนำเสนอมุมมองบทวิพากษ์จากนักวิชาการระดับประเทศอย่าง ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในตอนนี้ ก็จะเป็นการรวบรวมมุมมองความเห็นสำคัญของคนทำงานด้านอื่น อาทิ สื่อมวลชน นักวิจัย นักวิชาการ นักสันติวิธี และผู้สนใจปัญหาภาคใต้ เพื่อฉายภาพ แง่มุมด้านอื่นๆ ของรายงานพิเศษฉบับนี้ เพิ่มเติม

                            

มองตรงไป ตรงมา จากนักสันติวิธี

อาจารย์ ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อธิบายว่า รายงานชิ้นนี้ เหมือนมีเจตนาตั้งคำถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการเจรจา ขณะเดียวกันก็พยายามชี้ให้เห็นความแตกต่าง ระหว่างการพูดคุยเจรจาในอดีต และปัจจุบัน อย่างไร ขณะเดียวกันรายงานชิ้นนี้เหมือนจะย้อนให้เห็นว่าอะไรเป็นเงื่อนไข สาเหตุการเจรจา อีกทั้งเหมือนกับเอาความเห็นผู้นำต่างๆ วิพากษ์การพูดคุยการเจรจาประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวอย่างไร และยังมีส่วนที่ระบุถึงเงื่อนไขของฝ่ายการเมืองที่ใช้ในการเจรจาพูดคุยกับฝ่าย BRN มีความถูกต้องหรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตาม รายงานชิ้นนี้ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นงานวิจัย หรือว่างานรายงานข่าว ซึ่งทำให้ไม่แน่ใจว่ารายงานชิ้นนี้มีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน เมื่อไปง้างกับงานชิ้นอื่นๆ ที่มีการประเมินการเจรจาในช่วงเดือนรอมฎอ ขณะที่ยังมีหลายอย่างสรุปโดยไม่มีที่ไปที่มา เช่นกลุ่มขบวนการนักศึกษา หรือสภาอุลามาอ์ อัล-ฟาตอนี ที่ไม่ได้ตื่นเต้นกับเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย 

                            

ความสงสัยของนักวิจัยชายแดนใต้

รุ่งรวี  เฉลิมศรีภิญโญรัช อดีตนักวิจัยอินเตอร์เนชั่นแนล  ไครซิสกรุ๊ป ปัจจุบันเธอ เป็นนักวิจัยอิสระ ที่มีผลงานล่าสุดเกี่ยวข้องกับการรายงานของสื่อเกี่ยวกับขบวนการสันติภาพที่ผ่านมา และมีโอกาสทำงานเกี่ยวกับเรื่องจังหวัดชายแดนใต้ตลอดระยะที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง ได้ตั้งข้อสังสัยอย่างน่าสนใจว่า หากรายงานชิ้นนี้เห็นว่า ผู้ที่อยู่บนโต๊ะพูดคุยไม่มีศักยภาพในการควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่แล้วควรจะคุยกับใคร เป็นคำถามถึงรายงานชิ้นนี้ ขณะที่เดียวกันเงื่อนไขที่กระบวนการพูดคุยเจรจาครั้งนี้ไปต่อไม่ได้ อันที่จริงเป็นเพราะเกิดจากฝั่งรัฐไทย มากกว่าฝั่ง BRN หรือไม่ เพราะด้วยการไม่มีการเตรียมพร้อม อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์การพูดคุยครั้งนี้ ก็ยังทำให้เกิดเรื่องดีๆอื่นๆตามมา อาทิ เราไม่เคยเห็น BRN สื่อสารต่อสาธารณะและการอธิบายความต้องการ หลักการและเหตุผลต่างๆ นานา แต่หลังการพูดคุยมีเรื่องดังกล่าว แม้นจะน่าเชื่อหรือไม่น่าเชื่อก็ตาม หรือ เราเห็นการตื่นตัวของภาคส่วนต่างๆ มี Forum ต่างๆ ที่คุยเรื่องที่ซุกซ่อนไว้ ไม่เคยพูดคุยในที่สาธารณะมาก่อน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งเหล่านี้เกิดจากมีกระบวนการพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้น

                      
ความตื้นตันใจของคนทำงานด้านสื่อ

อัจฉรา  อัชฌายกชาติ จากบางกอกโพสต์ กล่าวว่า คุณดอน ปาทาน (ผู้จัดทำรายงาน) เป็นคนแรกๆที่จัดทำเรื่องนี้ ให้คนกรุงเทพฯ เข้าใจ คือ คนในพื้นที่ก็เป็นผู้ที่พูดเรื่องนี้ เข้าใจเรื่องนี้อยู่ แต่ที่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยรู้เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นเรื่องที่เราให้คุณค่า ซึ่ง (รายงานชิ้นนี้) ก็จะมีคำถามต่างๆ มีความเห็นต่างมากมาย อันมีเหตุผลที่ควรยกมาพูด สิ่งสำคัญคือตั้งแต่มีการพูดคุยเจรจาลับแบบลับและเปิดเผยเมื่อปีที่แล้วทำให้ต้องหันกลับมามองว่า ทั้งหมดคือเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นสิ่งที่คนในพื้นที่พูดกัน แต่เป็นสิ่งที่กรุงเทพฯเคยปฏิเสธมาโดยตลอด เหมือนกับว่าในทางการ ไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งตนเองก็ได้มีโอกาสได้อยู่ในบรรยากาศการพูดคุยการเจรจามาโดยตลอด ซึ่งเป็นสิ่งดีแต่ก็อยากเห็นงานอีกด้านหนึ่งออกมา เช่นงานแบบรายงานชิ้นนี้

                        

มุมฉุกคิด จากคนทำงานสันติภาพ

จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม จากมูลนิธิเบิร์กฮอฟ บอกว่า เท่าที่ติดตามงานผู้เขียนมานั้นที่ผ่านมาไม่ค่อยพูดถึงข้อเสนอแต่ ในรายงานชิ้นนี้มีประเด็นน่าสนใจคือในบทสรุปของรายงานนั้นมีข้อเสนอให้กับทั้งฝ่ายการเมืองของรัฐบาลและฝ่ายการเมืองของ BRN ซึ่งทำให้รายงานชิ้นนี้มีประโยชน์และอ่านสนุก เพราะเหมือนอ่านรายงานข่าว แต่ก็มีคำถามถึงบทสรุปของรายงาน ที่ระบุว่า จุดยืนที่ชัดเจนของขบวนการในทศวรรษ 2500 นั้น บอกว่า BRN มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน และอาจจะพูดถึงประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดในอดีต แต่ในรายงานนั้นถึงแม้นจะพูดถึงว่า ซึ่งจะจริงหรือไม่จริง คือ เรื่องข้อเสนอ 5 ข้อ อาจจะไม่ได้มาจาก BRN แท้จริง ใครอาจจะร่างก็ไม่รู้ แต่ว่าการอ้างข้อเสนอ 5 ข้อของรายงานฉบับนี้ ไม่ได้พูดถึงข้อเรียกร้องข้อที่ 4 ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่แหลมคมของขบวนการที่พูดถึงสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองของพลเมืองปาตานี 

                          

มองเห็นก้าวต่อไป กำลังใจจากนักวิชาการ

รศ.เสาวนีย์ จิตต์หมวด หัวหน้าโปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ธนบุรี และประธานสภาสตรีมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาภาคใต้นั้น เป็นปัญหาสถานการณ์ระดับชาติ และเป็นสิ่งพวกเราทุกคน ล้วนวิตกกังวลอยู่ สืบเนื่องจากว่าผู้ได้รับผลกระทบลงมาถึงผู้บริสุทธิ์มากขึ้น และก็มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อคนที่เป็นผู้หญิง และเด็กมากขึ้นไปด้วย เพราะฉะนั้นเราทุกฝ่ายก็ควรที่จะต้องช่วยกันว่าจะทำอย่างไรที่จะให้สถานการณ์เหมือนกับหลายๆประเทศที่ขัดแย้งคลี่คลายไปได้ด้วยดี ในแง่ของความเป็นมนุษย์ก็ต้องพยายามทำเต็มที่ แต่หากจะแบ่งในแง่ของความเป็นมุสลิม นั่นก็คือการขอพรจากพระเจ้า เพื่อจะให้สันติภาพนั้นเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อพูดถึงตรงนี้ก็ไม่ใช่เพียงแค่อาณาบริเวณขอบเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่หมายรวมถึงประเทศไทยด้วย