แถลงการณ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
20 พฤษภาคม 2557
แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์ชี้กฎอัยการศึกต้องไม่เป็น “พิมพ์เขียวให้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้การประกันว่าต้องมีการคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชน หลังที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งให้อำนาจอย่างมหาศาลกับกองทัพไทย ทำให้สามารถกำหนดมาตรการจำกัดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอย่างเข้มงวด และเป็นเหตุให้มีการสั่งปิดสื่อวิทยุและโทรทัศน์หลายแห่ง
ริชาร์ด เบนเนต (Richard Bennett) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าการประกาศกฎอัยการศึกจะต้องไม่เป็นพิมพ์เขียวให้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน กองทัพจะต้องแสดงความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด และการเคารพอย่างเต็มที่ต่อพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
กองทัพไทยได้ตัดสินใจแต่ฝ่ายเดียวในการประกาศกฎอัยการศึก เป็นเหตุให้มีการชะลอหรือจำกัดการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนหลายประการ
ในขณะนี้กองทัพมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายจับนานถึงหนึ่งสัปดาห์ สามารถสั่งยึดทรัพย์สิน และตรวจค้นบุคคลและทรัพย์สินโดยไม่ต้องขอหมายศาล ทั้งยังประกันให้กองทัพไม่ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหรือเรียกค่าเสียหาย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลอย่างยิ่งว่า ที่ผ่านมากองทัพไทยได้ใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้เพื่อกำหนดมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นการละเมิดพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
กองทัพไทยยังสั่งห้ามสื่อไม่ให้รายงานข่าว “ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ” และได้สั่งปิดสถานีโทรทัศน์อย่างน้อย 10 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสถานีที่เสนอรายการทั้งของกลุ่มที่สนับสนุนหรือต่อต้านรัฐบาล
“ความพยายามของกองทัพในการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อสื่อมวลชนอิสระ เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง ต้องไม่มีการอ้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อเป็นเหตุผลในการปราบปรามการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ และเรากระตุ้นให้กองทัพให้พื้นที่กับสื่อในการปฏิบัติหน้าที่ของตนที่ชอบด้วยกฎหมาย”
“สถานการณ์ในไทยมีความตึงเครียดและอ่อนไหว ความพยายามใด ๆ ที่จะควบคุมสิทธิการประท้วงอย่างสงบและสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ย่อมอาจส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายลง ผู้นำการเมืองทั้งสองฝ่ายต้องประกาศอย่างชัดเจนต่อผู้สนับสนุนของตนว่า ไม่ยอมรับให้มีการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนใด ๆ ขึ้น” ริชาร์ด เบนเนตกล่าว
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังกระตุ้นให้กองทัพไทยประกาศอย่างชัดเจนต่อกำลังพลของตน รวมทั้งผู้บังคับบัญชาว่า พวกเขาจะไม่ได้รับการยกเว้นจากการฟ้องคดี หากปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน