Skip to main content
เผยแพร่วันที่ 23 พฤษภาคม2557
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
แถลงการณ์
การจำกัดสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลภายใต้กฎอัยการศึก
เนื่องด้วยการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 มีการประกาศใช้ทุกมาตรา หมายรวมถึงมาตรา 15 ทวิ ในพรบ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 “ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบสวนหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน”
เนื่องจากกฎอัยการศึกเป็นกฎหมายเก่ามีอายุ 100 ปีในปีนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายรับรองสิทธิของผู้ถูกจับรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพ.ศ. 2550 มาตรา 32 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 7/1 ดังนี้ การจับกุมและกักตัวบุคคลตามกฎอัยการศึกแม้จะมีมาตรา 15 ทวิให้อำนาจไว้ หากเมื่อยังไม่มีกฎหมายเฉพาะมาจำกัดสิทธิเสรีภาพในร่างกายของประชาชน จึงมีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่และจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 7/1 อย่างเคร่งครัด และเมื่อหมดความจำเป็นในการกักตัวบุคคล ต้องมีการปล่อยตัวบุคคลโดยมีญาติหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจรับทราบ ทำบันทึก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการบังคับให้บุคคลสูญหาย ทั้งนี้ต้องมีการทำรายงานการควบคุมตัวและการปล่อยตัวต่อกอรส. อย่างเคร่งครัด
ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนฯ ขอเสนอให้กอรส. มีระเบีบบในการจับกุมและกักตัวบุคคล นอกจากการประกาศให้มีสถานที่กักตัวอย่างเป็นทางการ และเพื่อให้การจับกุมและการกักตัวบุคคลเป็นไปอย่างมีมาตราฐาน โปร่งใส่ และตรวจสอบได้ รวมทั้งยึดมั่นในหลักการสากลในเรื่องการห้ามทรมานอย่างเด็ดขาดโดยมีหลักการควบคุมตัวตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ดังนี้
1. สิทธิที่จะได้พบทนายที่ตนเองเลือก
1.1 สิทธิที่จะได้พบทนายความของตนโดยพลัน โดยการเข้าถึงทนายความต้องเกิดขึ้นอย่างทันทีภายหลังการจับกุมและภายใน 24 ชั่วโมง
1.2ผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนต้องได้รับแจ้งว่าเขามีสิทธิในการพบทนายความของเขาเอง
1.3 การสื่อสารกับทนายความหรือสิทธิที่จะปรึกษาหารือหรือสื่อสารนั้นควรได้รับทันทีและปราศจากการแทรกแซง เซ็นเซอร์ และการพบกับทนายความเป็นความลับได้
1.4 ทนายความควรเป็นอิสระจากเจ้าพนักงานของรัฐ
1.5 บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นทนายความหรือผู้ช่วยทนายความที่ไม่มีใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ เช่น เจ้าหน้าที่องค์กรสิทธิมนุษยชน ควรจะได้รับอนุญาตให้พบกับผู้ถูกควบคุมตัวและได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับทนายความ
2. สิทธิที่จะได้พบญาติหรือเพื่อเพื่อให้ผู้ถูกคุมขังไม่ได้ถูกห้ามติดต่อสื่อสาร และบุคคลที่สามได้รับรู้ว่าเขาถูกคุมขังที่ใด
2.1 เจ้าพนักงานที่ทำการจับกุมต้องแจ้งญาติ ครอบครัวหรือเพื่อนให้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น สามารถติดต่อกันได้ที่ไหนอย่างไร ระบุวิธีการสื่อสาร เช่น แจ้งเบอร์โทรศัพท์ บุคคลที่ต้องการพบกับผู้ถูกควบคุมตัวควรได้รับการอำนวยความสะดวกและเวลาที่เหมาะสม โดยไม่มีการข่มขู่ คุกคามทั้งต่อญาติและผู้ถูกควบคุมตัว
2.2 สิทธิที่จะได้พบแพทย์ เพื่อให้ได้รับการตรวจร่างกายและรายงานผลการตรวจร่างกาย (และเพื่อสามารถนำมาใช้ในกระบวนการกล่าวโทษผู้กระทำการทรมาน)
2.3 ผู้ถูกควบคุมตัวควรได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์หรือถ้าจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล
ให้ได้รับการตรวจร่างกายโดยทันทีหลังการถูกจับกุมควบคุมตัว
2.4 แพทย์ที่ทำการตรวจต้องร้องขอให้ตรวจร่างกายโดยพ้นสายตาของเจ้าพนักงานของรัฐ
2.5 ผู้ควบคุมตัวหรือทนายความควรได้รับสิทธิในการร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้มีการตรวจร่างกายครั้งที่สองได้
2.6 เจ้าหน้าที่นิติเวชไม่ควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานเดียวกับทหารหรือตำรวจหรือราชทัณฑ์ แต่อยู่ภายใต้หน่วยงานด้านยุติธรรมที่เป็นอิสระ
2. 7 ผู้ถูกควบคุมตัวควรได้รับสิทธิในการพบแพทย์ที่เป็นอิสระ
2.8 ในกรณีที่เป็นชาวต่างชาติ สิทธิที่จะได้พบกับตัวแทนสถานทูตหรือสถานกงสุล ที่จะสามารถแทรกแซงการปฏิบัติของเจ้าพนักงานรัฐเพื่อรักษาสิทธิของผู้ถูกคุมขัง
ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีข้อเสนอแนะดังนี้
1. ขอให้ทางกอรส. ออกระเบียบว่าด้วยการปฏิบัติของเจ้าพนักงานทหารตามมาตรา 15 ทวิ เพื่อเป็นการกำกับดูแลการจับกุมและกักตัวตามกฎอัยการศึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการพบทนายความ แพทย์ และญาติอย่างเป็นอิสระที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้
2. ขอให้มีการกำหนดสถานที่ควบคุมหรือกักตัวตามกฎอัยการศึกอย่างเป็นทางการและประกาศให้สาธารณะชน ผ่านสื่อมวลชน รวมทั้งหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมได้ทราบโดยทั่วกัน