Skip to main content

นรินทร์  อินทร์ฉาย

จากเหตุการณ์วันที่ 6, 7 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา กรณีคนร้ายลอบวางระเบิดหลายจุดในพื้นที่เขตเทศบาลนครยะลา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 1 ราย และได้รับบาดเจ็บ จำนวน 28 ราย การตรวจสอบพยานหลักฐาน และกล้องวงจรปิดสามารถระบุตัวคนร้ายผู้ก่อเหตุลอบวางระเบิด จนนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ จำนวน  5 คน ในเวลาต่อมา คือ นายซาพูดิง  สาและ,  นายอับดุลเลาะ แวหะมะ, นายอับดุลเลาะรอเซะ กะดอง, นายอับดุลรอมัน ดีสะเอะ และ นายอาดีล สาแม พฤติกรรมเป็นผู้ต้องสงสัยร่วมกันก่อเหตุร้ายแรงลอบวางระเบิดในเขตเทศบาลนครยะลา
           จากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2557 เวลาประมาณ 19:30 นาฬิกา กลุ่มคนร้ายไม่ทราบจำนวน ได้ลอบวางระเบิด ในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส คือพื้นที่ อำเภอสุไหงโก-ลก จำนวน 9 จุด มีผู้เสียชีวิตเป็นสตรีมุสลิม จำนวน 1 ราย คือ นางสาลิกา มามะ ซึ่งสามีได้เสียชีวิตเมื่อ  4  ปีก่อน จากเหตุคนร้ายบุกยิงเสียชีวิตคาบ้านพัก ส่งผลให้บุตรของนางสาลิกาฯ ต้องกำพร้าพ่อและแม่ ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากกำลังอยู่ในวัยศึกษา นายฟีรดาวส์  อายิ อายุ19 ปี กำลังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา พี่ชายคนโตของครอบครัว ต้องทำหน้าที่ดูแลน้องอีก 2 ชีวิต คือ น.ส.ลาตีฟะห์  อายิ อายุ17 ปี และด.ช.อิลฟาน  อายิ อายุ 14 ปี ศึกษาอยู่โรงเรียนเดียวกัน คือ โรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ อำเภอสุไหงโก-ลก ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บอีก จำนวน 9 ราย พื้นที่ อำเภอ สุไหงปาดี จำนวน 6 จุด มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 4 ราย พื้นที่ อำเภอตากใบ จำนวน 7 จุด ผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 5 ราย ขณะที่จังหวัดยะลา คนร้ายได้ลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้า และเผาเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ ประชาชน อำเภอเมือง, อำเภอยะหา, อำเภอบันนังสตา และอำเภอธารโต ได้รับความเดือดร้อน ไฟฟ้าดับ สัญญาณโทรศัพท์ใช้ไม่ได้มากกว่าสองวัน
            จากสถิติคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบันพบมีมากถึง 9,563 คดี ไม่รู้ตัวคนร้าย 7,343 คดี ที่รู้ตัวคนร้ายในการก่อเหตุ 2,220 คดี ไม่สามารถดำเนินจับกุมตัวคนร้ายได้ 614 คดี ดำเนินการจับกุมได้ จำนวน 1,606 คดี หลักฐานเพียงพอสามารถดำเนินฟ้องร้องในชั้นศาล 697 คดี แต่ศาลยกฟ้องเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ 428 คดี นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามขั้นตอนของกระบวนการศาลยุติธรรมได้แค่ 269 คดี เท่านั้น
           จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า พื้นที่ 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของสงขลา เป็นพื้นที่ที่มีความพิเศษจริงๆ เป็นพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อนทั้งเชิงประวัติศาสตร์, ความเชื่อทางศาสนา, ประเพณีและวัฒนธรรม รวมทั้งความเป็นอัตลักษณ์ในท้องถิ่น ในมิติของความมั่นคงก็ถือว่า อยู่ในช่วงของการแย่งชิงมวลชนระหว่าง เจ้าหน้าที่รัฐกับขบวนการก่อความไม่สงบ เพื่อให้ได้มาซึ่งความไว้วางใจของประชาชนคนไทย-มุสลิมส่วนใหญ่ของผู้อาศัยใน จชต. ฝ่ายรัฐก็พยายามทุกวิถีทางในการนำนโยบายพระราชทานของพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องการสร้างความเข้าใจ  การเข้าถึงกับสภาพปัญหาที่แท้จริง  เพื่อนำมาซึ่งการพัฒนาโครงการต่างๆ ให้ตกถึงประชาชนในท้องถิ่น, ชุมชน, เมืองจริงๆ  แต่ฝ่ายขบวนการก็พยายามปฏิเสธอำนาจรัฐในการเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการสร้างสถานการณ์รุนแรง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายขบวนการยังมีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ สามารถควบคุมทรัพยากรและประชาชนบางส่วนได้  พร้อมสร้างผลงานการวางระเบิดเมืองเศรษฐกิจ, ศูนย์กลางอำนาจรัฐ เพื่อรับผลประโยชน์จากผู้สนับสนุนทั้งจากในและต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย   แต่จากเหตุการณ์ระเบิดทั้งสองเหตุการณ์ที่ผ่านมา  ผมว่า การทำงานของฝ่ายขบวนการผิดพลาดอย่างมหันต์เลยเช่น ในยะลาทำให้ประชาชนทั่วไปทั้งไทยพุทธ-มุสลิมกำลังลืมเหตุการณ์ระเบิดในห้วง 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว  ที่สร้างความเศร้าเสียใจกับการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน  ทุกคนคิดว่า กำลังก้าวข้ามความรุนแรงนำสันติสุขกลับมาสู่ยะลาเมืองน่าอยู่  เมืองที่มีการวางผังเมืองที่ดีที่สุดเมืองหนึ่ง  แต่ฝันร้ายก็กลับมาสู่คนยะลาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่เขาไม่ต้องการเหตุการณ์ร้ายๆ แบบนี้ เพราะสักวันหนึ่งอาจจะเกิดโชคร้ายกับตัวเองหรือครอบครัว, ญาติพี่น้องก็เป็นได้ 
            ส่วนเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก ก็เช่นเดียวกัน ฝ่ายขบวนการไม่เลือกเป้าหมายเลยว่า เป็นใคร ไทยพุทธ-มุสลิม เด็กหรือผู้ใหญ่ คนที่โชคร้ายที่สุดคือผู้ที่เสียชีวิตคือ นางสาลิกา มามะ ที่สังเวยชีวิตจากเหตุระเบิด ครอบครัวนี้ต้องสูญเสียผู้นำครอบครัวทั้งพ่อและแม่ โดยพ่อโดนคนร้ายลอบยิงเสียชีวิตคาบ้านพักเมื่อ 4 ปีก่อน ส่งผลให้ลูกทั้ง 3 ชีวิตต้องกำพร้า
            ในส่วนของ อ.สุไหงปาดี สถานศึกษาทั้งส่วนของโรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนของรัฐ ต่างถูกกลุ่มคนร้ายใช้ระเบิดเพลิงขว้างใส่ อย่างเช่นโรงเรียนอิสลามบำรุง ผลทำให้เกิดเพลิงไหม้อาคารเรียนได้รับความเสียหายทั้งหลัง โรงเรียงวัดโคกตา คนร้ายได้ใช้ระเบิดขว้างใส่ ทำให้อาคารเรียนเกิดเพลิงไหม้เสียหายทั้งหลังเช่นเดียวกัน
            กลุ่มคนร้ายได้ทำลายระบบการศึกษาของเยาวชนไทยพุทธ, มุสลิม คุณภาพการศึกษายิ่งแย่ไปอีก  ส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่ต่อไปในอนาคต เด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา มีเด็กนักเรียนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไร้ที่เรียน รวม 900 คน คงต้องจดจำเหตุการณ์การเผาโรงเรียนของเขาไปอีกนานแสนจนเขาโตเป็นผู้ใหญ่คิดว่า พวกเขาเหล่านี้คงยังจำเหตุการณ์ครั้งโดยไม่ลืม
          ผมเห็นด้วยกับทางรัฐบาลในการกำหนดพื้นที่ จชต.เป็นพื้นที่พิเศษ จึงต้องให้เครื่องมือหรือวิธีการพิเศษ  เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษอย่างจริงจัง  ถ้าไม่เช่นนั้น ผลการดำเนินคดีความมั่นคง  คงจะได้ผลสรุปออกมาเช่นเดิมเหมือน 10 ปีที่ผ่านมา ที่นี้ลองมาดูกระบวนการของการใช้ กฎหมายพิเศษที่มีผลบังคับใช้อยู่ตามตารางด้านล่าง
 
สรุปแล้ว ถ้าเราเป็นคนดี คิดดี ทำดี แล้วจะไปกลัวอะไรกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ  และไม่ผลกระทบอะไรต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเลย  แต่ถ้าใครคิดชั่ว  ทำชั่ว ทำความเดือดร้อนให้คนอื่นๆ  ส่งผลกระทบต่อสังคมการใช้ชีวิตของคนอื่นที่อยู่ร่วมกันแล้ว  ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยในการใช้กฎหมายพิเศษแล้ว ผมคิดว่า น่าจะมองผลประโยชน์ของตนเองและกลุ่มแนวร่วมมากกว่าคิดถึงส่วนรวมเป็นหลัก  ส่วนรวมคือบุญคุณของผืนแผ่นดินที่เราได้อยู่กิน อาศัยร่วมกับคนอื่นๆ อย่างมีความสุข มีสวัสดิภาพ มีความภาคภูมิใจของคนไทยด้วยกันทุกคน