Skip to main content

 รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช

แม้ว่าการพูดคุยสันติภาพจะต้องสะดุดลงหลังจากดำเนินการมาได้ไม่ถึงปีท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอนของการเมืองส่วนกลาง อาจจะเป็นเวลาที่ดีที่เราจะได้ทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา  และเมื่อจังหวะเวลาอันเหมาะสมมาถึงก็จะได้สานต่อจากสิ่งที่ได้มีการขับเคลื่อนมาระยะหนึ่งแล้ว ในบทสุดท้าย ผู้เขียนอยากจะขอตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะสำหรับก้าวต่อไปของกระบวนการสันติภาพ
ข้อสังเกตต่อกระบวนการสันติภาพ
ประการแรก การริเริ่มการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการนี้นับว่าเป็นความก้าวหน้าทางนโยบายรัฐที่สำคัญ แต่ว่าการดำเนินการในส่วนของรัฐบาลนั้นยังคงไม่มีเอกภาพและความต่อเนื่องเท่าที่ควร ผู้ที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการพูดคุยที่สำคัญคืออดีตนายกฯ ทักษิณ  โดยผ่านข้าราชการหลักสองคน คือ ทวีและภราดร แม้ว่าจะได้มีตัวแทนของกองทัพและภาคประชาสังคมเข้าร่วม แต่ว่าผู้ที่คุมทิศทางหลักในการพูดคุยนั้นก็คือสามทหารเสือที่ได้กล่าวมาแล้ว ในการพูดคุยยังไม่มีตัวแทนระดับสูงของหน่วยงานที่ควรจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด (ตัวแทนของกระทรวงต่างประเทศมีเพียงหนึ่งคนซึ่งทำหน้าที่ล่ามภาษาไทย-มลายู-อังกฤษ)
เหตุผลสำคัญที่ยังไม่ได้มีการนำเอาหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมด้วยอาจจะเป็นเพราะว่ายังคงมีความเห็นที่ไม่ตรงกันในทิศทางของกระบวนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพ ซึ่งในช่วงต้นนั้นก็ไม่เห็นด้วยกับการลงนามเพื่อเปิดการพูดคุยอย่างเป็นทางการ แม้ว่ากองทัพจะมีท่าทีสนับสนุนการพูดคุยมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีความอิหลักอิเหลื่อในหลายๆ ประเด็น มีความหวั่นเกรงว่าการเลื่อนขั้นจากการพูดคุยเป็นการเจรจาโดยให้มาเลเซียเป็นคนกลาง (mediator) นั้นจะเป็นการ “ยกระดับ” ขบวนการต่อต้านรัฐ การนำเอาองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องอาจจะทำให้การแก้ปัญหาหลุดออกไปจากมือของรัฐไทยและมีความเสี่ยงที่จะผลักสถานการณ์ให้นำไปสู่การแบ่งแยกดินแด ข้อกังวลหรือสมมุติฐานต่างๆ เหล่านี้ อาจจะต้องมีการนำเอาข้อมูลทางวิชาการมาโต้แย้งกัน เพื่อหาข้อสรุปว่าความกังวลเหล่านั้นมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด และจะมีทางออกเช่นใดที่จะทำให้การพูดคุยสันติภาพดำเนินไปได้  การแลกเปลี่ยนความเห็นกันภายในหน่วยงานรัฐเพื่อให้เกิดฉันทามติร่วมในประเด็นสำคัญซึ่งเป็นข้อถกเถียงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง
ประการที่สอง ความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองส่วนกลางมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินการในการพูดคุยสันติภาพในอนาคต ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นนำเก่าที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกับกลุ่มชนชั้นนำใหม่ที่เข้าสู่อำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้งซึ่งนำโดยอดีตนายกฯ ทักษิณ จะยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าสังคมไทยจะสามารถแสวงหาสัญญาประชาคมที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับร่วมกันได้ สังคมไทยยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการนองเลือดขึ้นอีกและไม่มีใครทราบว่าความขัดแย้งนี้จะดำเนินไปอีกนานเท่าใด แม้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีความกล้าหาญในการริเริ่มการพูดคุยสันติภาพ แต่ความขัดแย้งของการเมืองส่วนกลางก็ทำให้รัฐบาลนี้ต้องยุติบทบาทลงก่อนที่จะครบวาระ ส่งผลให้การพูดคุยต้องหยุดชะงักและเกิดความไม่แน่นอนว่าจะการพูดคุยจะเดินต่อไปในทิศทางใด ในสภาวะที่การเมืองส่วนกลางยังคงไม่นิ่งและไร้เสถียรภาพ การดำเนินการเจรจาในเรื่องเนื้อหาเพื่อนำมาสู่ข้อตกลงระหว่างคู่ขัดแย้งจะกระทำได้ยาก โดยเฉพาะประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูง ดังเช่นเรื่องการตั้งเขตปกครองพิเศษอาจจะถูกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหยิบฉวยไปเป็นประเด็นโจมตีเพื่อทำลายความชอบธรรมรัฐบาลได้ แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย ในระหว่างที่การเมืองยังไม่นิ่ง แต่ละฝ่ายอาจจะใช้เวลาในช่วงนี้ศึกษาหาความรู้ ดูประสบการณ์ของพื้นที่ความขัดแย้งอื่นๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการพูดคุยเมื่อจังหวะและโอกาสมาถึง
ประการที่สาม การที่บีอาร์เอ็นยินยอมที่จะพูดคุยสันติภาพ “ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย” นั้นแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะประนีประนอมและแสวงหาทางออกร่วมกับรัฐไทย บีอาร์เอ็นได้ระบุในเอกสารอย่างชัดเจนแล้วว่าไม่ได้ต้องการที่จะแยกตัวออกไปจากรัฐไทย พวกเขาต้องการที่จะให้ไทยยอมรับ “สิทธิความเป็นเจ้าของ” เหนือดินแดนปาตานีด้วยการมอบอำนาจในการปกครองตนเอง สิ่งนี้นับว่าเป็นการ “ยอมถอย” ในระดับหนึ่งแล้ว จากเดิมที่เคยมุ่งแต่จะต่อสู้เพื่อ merdeka แต่ทั้งนี้ ในขบวนการเองก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน แน่นอนว่ายังคงมีปีกที่ยืนกรานว่าต้องการเอกราช ดังที่แกนนำของบีอาร์เอ็นได้ยอมรับกับนักข่าวว่ามีผู้ที่สนับสนุนการพูดคุยประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ อีกจำนวนเท่าๆ กันไม่เห็นด้วย ส่วนที่เหลือยังไม่แน่ใจ  (FT Media, ขบวนการฯ พบสื่อไทย ส่งสัญญาณเดินหน้ากับสันติภาพ, Deep South Watch, 20 พฤศจิกายน 2556) ในขณะที่ฝ่ายรัฐเองมีทั้งสายเหยี่ยวและสายพิราบ ในฝ่ายขบวนการก็เฉกเช่นเดียวกัน  
ประเด็นที่สี่ การพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้นมีแนวโน้มที่จะสร้างโอกาสในการลดท่าทีที่แข็งกร้าวและทำให้เกิดการประนีประนอมมากขึ้น บีอาร์เอ็นจะต้องเปิดตัวและต้องเผชิญกับการเมืองในระดับชาติและระหว่างประเทศ พวกเขาจำเป็นจะต้องตัดสินใจอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อสร้างและดำรงความชอบธรรมของฝ่ายตนในเวทีการพูดคุย ตัวอย่างที่เห็นอันหนึ่งคือบทบาทของมาเลเซียและโอไอซี ซึ่งมีผลอย่างสำคัญที่ทำให้บีอาร์เอ็นยอมลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน แม้ว่าในภายหลังจะมีการละเมิดข้อตกลงดังกล่าวก็ตาม เมื่อขบวนการให้ความสำคัญกับโอไอซี  พวกเขาก็จำเป็นที่จะต้องไม่ปฏิบัติตัวเป็นเด็กดื้อไร้เหตุผลในสายตาของโอไอซี กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าองค์กรระหว่างประเทศนั้นสามารถมีบทบาทในการสนับสนุนพฤติกรรมเชิงบวกของกลุ่มต่อต้านรัฐได้ ความคิดที่ว่าการให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพจะเป็นผลลบต่อรัฐบาลไทยนั้น จริงๆ แล้วอาจจะเป็นเพียงแค่มายามติ
ประเด็นที่ห้า การที่บีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ผ่านทูยูปนั้นแสดงให้เห็นว่าขบวนการต้องการที่จะสื่อสารกับมวลชนผู้สนับสนุนพวกเขาและสาธารณชน เพื่อสร้างการยอมรับต่อการดำเนินการในการพูดคุยสันติภาพ  เพราะหากว่าพวกเขาถูกมองว่า “ขายตัว” ในทางการเมืองแล้ว ย่อมจะทำให้พวกเขาสูญเสียความชอบธรรมในหมู่มวลชนผู้สนับสนุน ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างใหญ่หลวงของขบวนการหลังจากที่มีการลงนามการพูดคุยอย่างเป็นทางการ ได้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์และความสงสัยอย่างกว้างขวางในช่วงนั้นว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของผู้ที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่จริงหรือไม่ ทำไมพวกเขาจึงยอมที่จะพูดคุยภายใต้เงื่อนไขที่ดูเหมือนว่าถูกตั้งโดยฝ่ายไทยได้อย่างง่ายดาย แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับขบวนการระบุว่าการออกมาแถลงเรื่องข้อเรียกร้องห้าข้อนั้นส่งผลในการเรียกศรัทธาจากสมาชิกและผู้สนับสนุนขบวนการได้พอสมควร ปัจจัยนี้น่าจะมีผลอย่างสำคัญต่อการกำหนดท่าทีของบีอาร์เอ็นในอนาคต ในขณะนี้ยังไม่ค่อยชัดเจนว่าปัจจัยเรื่องมวลชนนี้จะทำให้ขบวนการมีความแข็งกร้าวมากขึ้นหรือว่าน้อยลง
ประเด็นที่หก มีผู้ที่ตั้งข้อสงสัยมาโดยตลอดว่าตัวแทนที่อยู่ในเวทีการพูดคุยนั้นมีความสามารถในการควบคุมเหล่า “นักรบ” (ญูแว) ที่ปฏิบัติการทางการทหารอยู่ในพื้นที่มากน้อยเพียงไร   หากดูสถิติในช่วงต้นของเดือนรอมฎอนแล้ว จะเห็นได้ว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นมีความสามารถในการควบคุมกองกำลังได้อย่างมีนัยสำคัญ ระดับของความรุนแรงในพื้นที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการพูดคุยสันติภาพ การลดลงของความรุนแรงอย่างชัดเจนในช่วงแปดวันแรกของเดือนรอมฎอนแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการควบคุมและสื่อสารกันภายในของบีอาร์เอ็น ขบวนการนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ “โครงข่ายที่ไร้หัว” อย่างที่นักวิเคราะห์บางท่านได้เคยกล่าวไว้ 
ข้อเท็จจริงนี้สนับสนุนว่าการแสวงหาทางออกทางการเมืองโดยผ่านการเจรจาในเวทีการพูดคุยสันติภาพน่าจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลดหรือยุติความรุนแรงที่ขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าความรุนแรงในระดับใหญ่เช่นนี้ย่อมต้องมีสาเหตุอื่นๆเข้ามาร่วมด้วย เช่น เรื่องยาเสพติด การค้าของเถื่อน ความขัดแย้งส่วนตัว การเมืองท้องถิ่น ฯลฯ แต่ผู้เขียนคิดว่าปัจจัยเหล่านี้น่าจะเป็นประเด็นรองมากกว่าที่จะเป็นเรื่องหลัก หากว่าเราสามารถที่จะแก้ไขปัญหาหลักของความรุนแรงในพื้นที่ได้แล้ว ความรุนแรงน่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  
 
ข้อเสนอแนะ
สำหรับรัฐบาลไทย
ในการพูดคุยสันติภาพควรให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของรัฐ อาทิ สมช. ศอ.บต. กอ.รมน. กระทรวงการต่างประเทศ สำนักอัยการสูงสุด กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ มีตัวแทนในระดับสูงอยู่ในคณะผู้แทนของปาร์ตี้ A ด้วย  
รัฐบาลควรตั้งหน่วยงานถาวรทำหน้าที่เป็นกองเลขาธิการเพื่อทำหน้าที่ในการดำเนินการและประสานงานการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและจริงจังในการทำงาน โดยไม่สะดุดลงในช่วงที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล
รัฐบาลควรจะตั้งคณะที่ปรึกษาทางวิชาการทำหน้าที่ในการให้ข้อเสนอทางเลือก และศึกษาวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติภาพ โดยเฉพาะประเด็นที่คู่ขัดแย้งยังคงมีความเห็นไม่ตรงกัน
ในระหว่างนี้ เจ้าหน้าที่ความมั่นคงควรที่จะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่กระทำการใดๆ นอกกฎหมายเพื่อทำลายกองกำลังของขบวนการ และละเว้นการปฏิบัติที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สำหรับขบวนการปลดปล่อยปาตานี
ขบวนการควรมีการพูดคุยภายในระหว่างและภายในกลุ่มของตนเองเพื่อสร้างความเห็นและท่าทีร่วมต่อประเด็นต่างๆ ในการพูดคุยสันติภาพ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปีกที่ไม่เห็นด้วยออกมาเคลื่อนไหวขัดขวางการพูดคุย
ขบวนการควรศึกษารายละเอียดเพื่อเตรียมนำเสนอทางเลือกรูปแบบทางการเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่และเป็นไปได้ในเงื่อนไขทางการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งเหมาะสมกับบริบทโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ขบวนการอาจจะพิจารณาขอความสนับสนุนจากสถาบันวิชาการที่ตนให้ความเชื่อถือในการพัฒนาข้อเสนอดังกล่าว
ขบวนการควรจะยุติการโจมตีเป้าหมายพลเรือนที่ไม่ได้ถืออาวุธ (non-combatants) ไม่ว่าเขาจะอยู่ฝ่ายใด หรือนับถือศาสนาใดก็ตาม อย่างไม่มีเงื่อนไข การกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ(International Humanitarian Laws) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่บังคับใช้กับสภาวะความขัดแย้งด้วยอาวุธภายในประเทศ  (Non-international Armed Conflicts)  
ภาคประชาสังคม วิชาการและสื่อมวลชน
ควรสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมกับกระบวนการสันติภาพในหมู่ประชาชนทั้งในพื้นที่ความขัดแย้งในชายแดนภาคใต้และสังคมไทยโดยรวม ทั้งนี้ ข้อตกลงใดๆ ที่จะบรรลุผลและยั่งยืนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสังคมไทยโดยรวม
ควรสะท้อนเสียงของประชาชนในพื้นที่ต่อประเด็นสำคัญที่มีการถกเถียงกันในการพูดคุยสันติภาพ ทั้งคนมลายูมุสลิม ไทยพุทธ ไทยเชื้อสายจีนและกลุ่มอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและออกแบบกติกาทางการเมืองใหม่ที่พวกเขาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
สื่อมวลชนควรที่จะนำเสนอข่าวและรายงานที่ลึกมากกว่าเพียงแค่เหตุการณ์ความรุนแรงรายวัน  และควรที่จะรายงานความเคลื่อนไหวเพื่อให้คนไทยมีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการสันติภาพมากขึ้น
 
หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานข่าวเจาะชุด "เส้นทางของกระบวนการสันติภาพ" ได้รับความสนับสนุนจากโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (Southern Thailand Empowerment and Participation (STEP) Project และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) -  http://www.deepsouthwatch.org/dsj/5452
คลิกอ่าน