Skip to main content
เรียบเรียงโดย
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
 
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐด้วยกัน และหลายๆ รัฐ  กฎหมายระหว่างประเทศประกอบไปด้วยกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรและกฎหมายจารีตประเพณี  ที่ประกอบไปด้วยข้อตกลงตามกฎหมายว่ารัฐทั้งสองหรือระหว่างหลายๆ รัฐจะปฏิบัติต่อกันตามหลักการที่ตกลงกัน
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือเรียกว่ากฎหมายสงคราม หรือกฎของสงคราม  วัตถุประสงค์ของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศก็เพื่อจำกัดขอบเขตของสงคราม ป้องกันไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง และ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสงครามได้รับผลกระทบ และเพื่อจำกัดประเภทอาวุธและยุทธวิธีทางการสงคราม
แนวคิดเรื่องกำเนิดของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเริ่มจากที่การสงครามสมัยใหม่ไม่ต้องการให้มีการสูญเสียชีวิตหรือกำลังพล แม้ว่าการใช้กำลังจะไม่ได้ห้ามไว้อย่างเด็ดขาดในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความสูญเสียจากการสงครามต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งป้องกันประชาชนผู้บริสุทธิ์
หลักการกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศดังกล่าวก่อให้เกิดปฏิญญาเจนีวา ปี 1949 มีทั้งสิ้น 4 ฉบับ ฉบับที่ 1 เน้นเรื่องการปกป้องผู้บาดเจ็บและเจ็บป่วยในการสู้รบสงคราม  ฉบับที่ 2 เน้นการปกป้องผู้บาดเจ็บและเจ็บป่วยในการสู้รบสงครามในทะเล  ฉบับที่ 3 เน้นการปฏิบัติต่อเชลยศึก ฉบับที่ 4 เน้นการป้องกันพลเรือนในระหว่างสงคราม
การคุ้มครองเด็กในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมีความสำคัญโดยระบุว่าเด็กต้องได้รับการปกป้องเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรา 4 (Geneva Convention ฉบับที่สาม)  เด็กต้องได้รับการเคารพและต้องไม่ได้รับการปฏิบัติใดใดที่จะเป็นการทำร้ายร่างกาย คู่สงครามจะต้องดูแลและให้ความช่วยเหลือเด็กตามความต้องการของเขา อีกทั้งในมาตรา 77 (art. 77- พิธีสารเลือกรับฉบับที่ 1) ห้ามไม่ให้มีการใช้ทหารเด็กและให้มีส่วนร่วมในการโจมตี หรือกรณีจับกุมทหารเด็กได้ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างดี เพราะเด็กทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง เป็นต้น
การปกป้องผู้หญิงในภาวะสงครามเป็นหลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่งโดยมีการกำหนดให้ปกป้องผู้หญิง ทั้งที่ท้อง และที่เป็นแม่ของเด็กเล็ก ระบุไว้ใน Geneva Convention ฉบับที่สอง และในพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 1 ห้ามทำร้ายศักดิ์ศรีแห่งสตรี ข่มขืน บังคับให้เป็นหญิงบริการ และห้ามไม่ให้มีการทำร้ายใดใด และใน Geneva Convention ฉบับที่สาม และฉบับที่สี่ รวมทั้งในพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 1การควบคุมตัวสตรีและห้ามไม่ให้ประหารชีวิตสตรี
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐด้วยกัน และหลายๆ รัฐ  กฎหมายระหว่างประเทศประกอบไปด้วยกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรและกฎหมายจารีตประเพณี  ที่ประกอบไปด้วยข้อตกลงตามกฎหมายว่ารัฐทั้งสองหรือระหว่างหลายๆ รัฐจะปฏิบัติต่อกันตามหลักการที่ตกลงกัน
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศใช้ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธ (armed conflict) แต่ไม่ใช่กฎหมายที่กำหนดว่ารัฐจะใช้อาวุธต่อกันอย่างไร   ซึ่งกำหนดไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติหรือในหลักการตามภาษาลาตินที่ว่า JUS AD BELLUM (กฎหมายที่จะทำสงคราม)   แต่กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเป็นกฎหมายในสงครามตามหลักการในภาษาลาตินที่ว่า JUS IN BELLUM (กฎหมายในสงคราม)
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้บัญญัติหลักการไว้ใน Geneva Convention ทั้งสี่ฉบับที่กล่าวข้างต้น ปี 1949 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศเกือบทุกประเทศในโลกได้ให้การรับรอง และต่อมาได้เพิ่มเติมพิธีสารเลือกรับเกี่ยวกับการปกป้องเหยื่อจากความขัดแย้งทางอาวุธด้วยในปี 1977 และต่อมามีการกำหนดอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องการห้ามใช้อาวุธชีวภาพในปี 1972   การห้ามใช้ทุนระเบิดฝังดิน ในปี 1997   การห้ามใช้อาวุธเคมีในปี 1993 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและเด็กกับการมีส่วนร่วมในการสงครามในปี 2000
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศใช้ในสถานการณ์ความขัดแย้ง (armed conflict) เท่านั้น ทั้งนี้ไม่ใช่ในสถานการณ์ที่เป็นความรุนแรงครั้งคราว และเป็นการจราจล หรือความตึงเครียดทางการเมือง  กฎหมายมนุฯจะใช้เมื่อมีภาวะสงครามหรือสถานการณ์ความขัดแย้ง (armed conflict) และมีผลให้คู่สงครามปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมในการสู้รบ ไม่ละเมิดกฎหมายในสงคราม หรือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศต่อกัน
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้ระบุความแตกต่างของสภาวะสงครามเป็นสองระดับคือ international และ non- international armed conflict ในที่นี่ International armed conflict ความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างประเทศ เกิดขึ้นเมื่อมีสงครามระหว่างรัฐสองรัฐหรือมากกว่า ซึ่งจะต้องมีการบังคับใช้อนุสัญญา Genevaทั้งสี่ฉบับ รวมทั้งพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 1 ปี 1997 ที่เกี่ยวกับการปกป้องเหยื่อจากการสู้รบด้วย  รวมทั้งข้อตกลงห้ามการใช้อาวุธต่างๆ ในย่อหน้าที่ 8 ของเอกสารชุดนี้ ด้วย และ non- international armed conflict ความขัดแย้งทางอาวุธที่ไม่ใช่ระหว่างประเทศ อาจเกิดขึ้นในพื้นที่หรือเขตแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง มีการใช้ทหารหรือกองกำลังถาวรของรัฐต่อสู้กับกองกำลังอีกฝ่ายหนึ่ง หรือมีการสนับสนุนจากกองกำลังจากรัฐอื่นด้วยก็ได้  การบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศในกรณีดังกล่าวเป็นที่
กรณีขัดแย้งกันด้วยอาวุธภายในประเทศ[1]
 
            ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งถึงขั้นต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธที่ มิได้มีลักษณะของความขัดแย้งระหว่างประเทศ  ศาลอาญาระหว่างประเทศ มีอำนาจศาลพิจารณาความผิดที่เป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงตามมาตรา 3 ที่มีบัญญัติเหมือนกันในอนุสัญญาเจนีวาทั้ง 4 ฉบับ ที่ว่าด้วยการกระทำความผิดต่อบุคคล "ที่มิได้เข้าร่วมหรือมีส่วนอย่างจริงจังในความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน"   ดังต่อไปนี้ :
  • การกระทำรุนแรงต่อชีวิตและการฆ่า การตัดเฉือนชิ้นส่วนหรืออวัยวะของร่างกาย การปฏิบัติอย่างโหดร้ายและการทำทารุณกรรม
  • การกระทำที่เหยียดหยามศักดิ์ศรีของบุคคล โดยเฉพาะการกระทำที่ให้บุคคลอื่นอับอาย ถูกดูถูกเหยียดหยาม ถูกทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรงมาก
  • จับบุคคลอื่นเป็นตัวประกัน
  • การลงโทษหรือประหารชีวิตโดยปราศจากการดำเนินการพิจารณาคดีโดยศาล ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามปกติเพื่อเป็นการให้หลักประกันด้านยุติธรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นสิ่งที่ขาดมิได้
 
       นอกจากนี้แล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศ ยังมีอำนาจพิจารณาคดีที่เป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมที่ร้ายแรงอื่นๆ ตามพิธีสารฉบับที่ 2 ของอนุสัญญาเจนีวา ซึ่งรวมทั้งกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.      การสั่งให้โจมตีโดยเจตนาต่อประชากรที่เป็นพลเรือนโดยรวม หรือต่อพลเรือนเป็นรายบุคคล ซึ่งไม่มีส่วนร่วมโดยตรงในการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
2.      การสั่งให้โจมตีโดยเจตนาต่ออาคารบ้านเรือน วัสดุสิ่งของ หน่วยแพทย์หรือพยาบาล ยานพาหนะหรือบุคลากรที่ใช้ตราเครื่องหมายเฉพาะต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาเจนีวา (เช่น ตราเครื่องหมายของกาชาด หรือวงเดือนแดง)
3.      การสั่งให้โจมตีโดยเจตนาต่อบุคลากรหรือยานพาหนะที่ใช้ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหรือในภารกิจการรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ
4.      การสั่งให้โจมตีโดยเจตนาต่ออาคาร สิ่งก่อสร้างทางศาสนา การศึกษา ศิลปะ   วิทยาศาสตร์ หรือเพื่อการกุศลอื่นใด สถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โรงพยาบาล  และสถานที่อื่นๆ ที่ใช้เป็นที่รวมของผู้ที่เจ็บป่วยหรือผู้ที่บาดเจ็บ โดยที่สถานดังกล่าวข้างต้นมิได้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหารแต่อย่างใด
5.      การปล้นสดมภ์ เมืองหรือสถานที่ต่างๆ  แม้ว่าจะกระทำขณะเข้าโจมตีก็ตาม   
6.      การข่มขืนกระทำชำเรา การบังคับให้เป็นทาสทางเพศ  การบังคับให้เป็นโสเภณี บังคับให้ตั้งครรภ์ บังคับให้ทำหมัน และการกระทำรุนแรงทางเพศด้วยรูปแบบวิธีการอื่นๆ
7.      บังคับหรือเกณฑ์เด็กอายุต่ำกว่า 15 เป็นเข้าร่วมในกองกำลังติดอาวุธ หรือ กลุ่มติดอาวุธ หรือ ใช้ให้เด็กๆ เข้าร่วมอย่างแท้จริงในกรณีขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
8.      การสั่งให้โยกย้ายประชาชนที่เป็นพลเรือน ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับกรณีขัดแย้งที่ขาดความชอบธรรม เว้นแต่กรณีที่ทำเพื่อความปลอดภัยของพลเรือนหรือเหตุผลทางด้านความจำเป็นทางทหารบังคับ
9.      การฆ่าหรือทำให้พลรบฝ่ายปรปักษ์ได้รับบาดเจ็บอย่างโหดเหี้ยมทารุณ
10.    การประกาศว่าจะไม่ไว้ชีวิตแก่ฝ่ายที่เป็นอริศัตรูหรือฝ่ายตรงข้าม แม้ว่าจะยอมจำนนหรือยอมแพ้แล้วก็ตาม
11.    การทำให้บุคคลของฝ่ายตรงข้ามที่อยู่ภายใต้อำนาจของตนถูกตัดเฉือนอวัยวะหรือชิ้นส่วนใดๆ ของร่างกาย หรือใช้เป็นเครื่องทดลองทางการแพทย์หรือทางวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้าทดลองประเภทใดก็ตาม ที่ขาดความชอบธรรมทางการแพทย์ ทางทันตกรรมหรือทางการรักษาพยาบาล อันจะนำไปสู่อันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพหรือการตายของบุคคลนั้น
12.    การทำลายหรือยึดทรัพย์สินของฝ่ายตรงกันข้าม นอกเสียจากว่า การทำลายหรือการยึดครองทรัพย์สินดังกล่าวเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงมิได้ในกรณีขัดแย้ง  

 



[1] “ศาลอาญาระหว่างประเทศกับสังคมไทย : ผลกระทบและความคาดหวัง” จัดพิมพ์ปีพ.ศ. 2546