Skip to main content
กุสุมา กูใหญ่
      สื่อสังคมออนไลน์เป็นรูปแบบการสื่อสารที่รวมเอาคุณสมบัติของการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การสร้างเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน สื่อสังคมออนไลน์มีหลายแหล่งและหลากหลายผู้สร้างช่องทางการสื่อสาร เช่น บล็อก, ไมโครบล็อก, เครือข่ายสังคม (Facebook, LinkedIn, MySpace, MyHeritage), ประเภทมัลติมีเดีย (Flickr, Zooomr,YouTube, Dailymotion, Vimeo, imeem) สื่อสังคมได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสื่อสารของผู้คนอย่างมาก
      พลังของสื่อใหม่และเครือข่ายสังคมในปัจจุบันก่อให้เกิดการเปลี่ยนรูปของพื้นที่สาธารณะและพลังทางการเมืองรูปแบบใหม่ ทำให้พื้นที่สาธารณะมีความซับซ้อนและคลุมเครือมากขึ้นระหว่างความเป็นส่วนตัวและความเป็นสาธารณะ การแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วและกว้างไกล ทำให้ความเห็นสาธารณะและพลังทางการเมืองมีรูปแบบที่หลากหลาย เป็นพลวัต ขยับเคลื่อนจนบางครั้งเราแทบจะตามไม่ทัน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดถึงพลังของเครือข่ายสังคมที่ก่อให้เกิดพื้นที่สาธารณะแบบใหม่และการเปลี่ยนแปลงคือ การปฏิวัติประชาธิปไตยในหลายประเทศในตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือ (Arab spring) เช่น ตูนิเซีย อียิปต์ ซีเรียและลิเบีย พลังทางการเมืองที่ต่อต้านผู้นำประเทศที่ครองอำนาจมายาวนาน พัฒนาขึ้นจากการเกิดพื้นที่สาธารณะสมัยใหม่ เช่นสื่อสังคมออนไลน์ การเชื่อมต่อกันด้วยระบบการสื่อสารข้อความ ภาพและเสียงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในขณะเดียวกัน พื้นที่สาธารณะแบบเดิม เช่น ร้านกาแฟ การรวมกลุ่มกิจกรรมทางสังคม ก็ยังคงแสดงบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน ในแง่ที่ว่า พื้นที่สาธารณะแบบเดิมได้เปิดกว้างและมีความเป็นเสรีมากขึ้น
      นิตยสาร The economist ฉบับวันที่ 17-30 ธันวาคม 2554 ได้ลงบทความ 2 เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับพลังทางการเมืองและการปฏิวัติในโลกอาหรับ บทความแรกเรื่อง A Riche history : The café at the heart of revolutionary Cairo (ประวัติศาสตร์ Riche ร้านกาแฟใจกลางการปฏิวัติไคโร) ได้นำเสนอเรื่องราวของร้านกาแฟเก่าแก่แห่งหนึ่งในใจกลางกรุงไคโร ใกล้จัตุรัส Tahrir ที่ชื่อ Café Riche ร้านแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของการพบปะแลกเปลี่ยนข่าวสารและชุมนุมทางการเมืองของผู้คนมากว่าหนึ่งศตวรรษ ร้านกาแฟคือสถานที่สำหรับผู้เฝ้ามองชีวิตสาธารณะของชาวอียิปต์และยังเป็นประจักษ์พยานของการต่อสู้ของประชาชนในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นช่วงของขบวนการต่อต้านอาณานิคมและเรียกร้องเอกราชในต้นศตวรรษที่ 20 การเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวคิดมาร์กซิสในช่วงทศวรรษที่ 50-70  จนกระทั่งถึงการเคลื่อนไหวโค่นล้มประธานาธิบดีมูบารักในปี 2011 ที่ผ่านมา  นอกจากประเด็นทางการเมือง ร้านกาแฟ Riche ยังเป็นสถานที่รวมตัวของศิลปิน นักคิดนักเขียนและผู้ชื่นชอบศิลปะและวรรณกรรม ผลงานเขียนของนักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายชิ้นเกิดขึ้นที่นี่ เช่น Taha Hussein นักเขียนที่มีชื่อเสียงของวงการวรรณกรรมอาหรับ ได้เริ่มต้นวารสาร Al-Katib Al-Misri ที่ร้านแห่งนี้       
      อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ก็เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ตามแรงกดดันทางการเมือง โดยเฉพาะในยุคของการควบคุมโดยรัฐบาล Anwar Sadat ระหว่างปี 1970 ร้านกาแฟ Riche จำเป็นต้องลดบทบาททางการเมืองลงเพื่อความอยู่รอด และต้องปิดกิจการลงจากปัญหาภัยธรรมชาติและเศรษฐกิจตกต่ำ จนกระทั่งเมื่อการปฏิวัติอาหรับรอบใหม่เกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2011 ร้านกาแฟแห่งนี้ได้กลับมาแสดงบทบาทโดดเด่นอีกครั้งในฐานะพื้นที่สาธารณะที่อยู่ใจกลางของการชุมนุมทางการเมืองและการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมประท้วงกับเจ้าหน้าที่รัฐ ณ จัตุรัส Tahrir  และเมื่อการปฏิวัติสิ้นสุดลง สถานที่แห่งนี้ก็จะยังคงเป็นเวทีทางการเมืองให้ประชาชนได้โต้เถียงกันในประเด็นปัญหา ทิศทาง และอนาคตทางการเมืองที่ยังไม่มั่นคงของอียิปต์ต่อไป 
      อีกพื้นที่หนึ่งที่มีบทบาทไม่น้อยคือสื่อสังคมออนไลน์ เป็นพื้นที่สาธารณะที่รองรับการเติบโตของคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและคนหนุ่มสาวที่ตื่นตัวทางการเมือง ในบล็อกต่าง ๆ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร บทความ งานเขียนทางวิชาการและวรรณกรรมที่กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่คิดและมีแรงบันดาลใจในการสร้างสังคมใหม่ที่พวกตนต้องการ สังคมที่โปร่งใส เปิดกว้าง เป็นธรรม และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกวิถีชีวิตของตนเอง มีการส่งผ่านข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็นและอารมณ์ทางการเมืองผ่านสื่อสังคมเช่น Facebook, Tweeter และหลายครั้งที่นำไปสู่การระดมมวลชนให้ออกมาแสดงพลังทางการเมืองและข้อเรียกร้องในที่สาธารณะ บทความที่สองยังคงสืบเนื่องจากการปฏิวัติอาหรับที่ชื่อ How Luther went viral : Five centuries before Facebook and the Arab spring, social media helped bring about the Reformation[1] (วิธีการแพร่กระจายสารของ Luther  : ห้าศตวรรษก่อนเฟสบุ๊คและการปฏิวัติอาหรับ สื่อสังคมที่นำไปสู่การปฏิรูป) โดยชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่ได้เกิดจากตัวสื่อโดยตัวมันเอง แต่เกิดจากการที่สื่อนั้นสามารถสร้าง “เครือข่ายทางสังคม” (social network) ที่กว้างขวางและรวดเร็วต่างหาก การเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีแรงสนับสนุนจากเครือข่ายสังคมนั้นไม่ใช่สิ่งใหม่อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มันเคยเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 500 ปีล่วงมาแล้วในเยอรมนี เมื่อมาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) และพันธมิตรของเขาใช้สื่อ เช่น แผ่นพับ บทร้องและภาพแกะสลักไม้ ในการเผยแพร่ข้อความวิจารณ์พฤติกรรมของบาทหลวง Johann Tatzel และการแสวงผลประโยชน์ของศาสนจักรตามโครงการจัดสร้างวิหารเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรม
         การปฏิรูปคริสตศาสนาที่เป็นที่มาของการแยกตัวออกเป็นนิกายโปเตสแตนท์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อมาร์ติน ลูเธอร์ นำเสนอข้อเขียนของเขาที่ชื่อว่า “95 Theses on the Power and Efficacy of Indulgences” (95 บทวิเคราะห์เกี่ยวกับอำนาจและประสิทธิภาพของการไถ่บาป) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1517 กลไกสำคัญของการเคลื่อนไหวต่อต้านนี้ไม่ใช่อยู่ที่ตัวสื่อสิ่งพิมพ์โดยตัวของมันเอง แต่เป็นระบบของการสื่อสารที่ขยายออกไปและก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในเครือข่ายทางสังคม ที่เราเรียกว่า “social media” ในปัจจุบัน
      ลักษณะพิเศษของสื่อรณรงค์ของลูเธอร์ก็คือ การใช้ถ้อยคำสั้น ๆ ในภาษาท้องถิ่น (ภาษาเยอรมัน) ที่เข้าถึงชาวบ้านอย่างแพร่หลายแทนการสื่อสารด้วยภาษาลาตินที่เป็นภาษาของผู้มีการศึกษาเท่านั้น  การใช้ภาพลายเส้นประกอบการพิมพ์ การใช้ภาษาที่กระชับ เข้าใจง่าย ทำให้เกิดการนำข้อความรณรงค์ไปทำเป็นเนื้อเพลงร้องของบทเพลงพื้นบ้านตามทำนองที่ชาวบ้านคุ้นเคย เพื่อให้ข้อความรณรงค์ติดหูและเข้าถึงผู้คนมากขึ้น รวมทั้งการคัดลอกข้อความรณรงค์ งานเขียนของลูเธอร์และแนวร่วม โดยการสนับสนุนจากกลุ่มเพื่อนสนิทและพันธมิตรของเขา การคัดลอกกันอย่างเสรี (แบบตามกำลังศรัทธาหรือแบบร่วมด้วยช่วยกัน) และการบอกต่อปากต่อปากของผู้สนับสนุนแนวทางของลูเธอร์ ทำให้ความคิดได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในเยอรมันและยุโรป  แผ่นพับที่เขียนในภาษาเยอรมันชิ้นแรกที่ชื่อ « Sermon on Indulgences and Grace » ถูกตีพิมพ์ซ้ำถึง 14 ครั้งในปี 1518 เพียงปีเดียว และเพิ่มจำนวนสำเนาขึ้นเป็นอย่างน้อย 1,000 ฉบับในแต่ละครั้งของการพิมพ์ ระหว่างปี 1520 – 1526 มีการตีพิมพ์แผ่นพับในเยอรมันมากถึง 6,000 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนั้น มีเพียง 1,700 ฉบับเท่านั้นที่เป็นฉบับที่ลูเธอร์ผลิตเอง  และในช่วงทศวรรษแรกของการปฏิรูป มีการพิมพ์เผยแพร่กว่า 6-7 ล้านฉบับและมากกว่าฉบับที่ลูเธอร์ผลิตถึงหนึ่งในสี่  การแพร่กระจายของสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคนี้ นักวิชาการด้านการสื่อสารเปรียบว่าเหมือนกับที่ในปัจจุบันที่เรามีการกด “แบ่งปัน” หรือ “share” ข่าวสารเพื่อส่งต่อ หรือกด “ชอบ” หรือ “like” เมื่อต้องการแสดงออกว่าสนับสนุนความคิดนั้นใน Facebook หรือการ “tweet” ข้อความต่อกันไปใน Twitter
      เหล่านักวิชาการได้ถกเถียงกันถึงความสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์ การสื่อสารปากต่อปาก และรูปภาพในขบวนการสนับสนุนการปฏิรูปคริสตศาสนาของประชาชน บางคนกล่าวว่านับเป็นชัยชนะของสื่อสิ่งพิมพ์ นักประวัติศาสตร์หลายคนให้ความสนใจกับบทบาทของสื่อในฐานะที่เป็นวิธีการส่งสัญญาณข้อเรียกร้องทางสังคมและการสร้างแนวร่วมของความเห็นสาธารณะในการปฏิรูป
      แต่ไม่ใช่เพียงแค่การสื่อสารผ่านถ้อยคำผ่านเครือข่ายสังคมของการปฏิรูปคริสตศาสนาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเผยแพร่สารผ่านดนตรีและภาพด้วย ผู้เขียนบทความเปรียบว่า เป็นรูปแบบของการรณรงค์รูปแบบทั้งภาพและเสียงดังที่ปัจจุบันนี้เราคุ้นเคยกับการสื่อสารที่เรียกว่า Multimedia campaign การรณรงค์ผ่านบทเพลงและการตีพิมพ์เผยแพร่เนื้อร้องเป็นรูปแบบของสื่อใหม่ที่เข้าถึงผู้รับสารได้ง่ายและสามารถส่งต่อได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ภาพแกะสลักจากไม้ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของสื่อที่รวมคุณลักษณะของภาพกราฟฟิกกับข้อความเข้าไว้ด้วยกัน เป็นสื่อที่ทำให้ผู้คนสามารถรับสารได้ด้วยตา ดังที่ลูเธอร์ได้กล่าวไว้ว่า “หากไม่มีภาพ เราก็ไม่สามารถคิดหรือเข้าใจอะไรได้เลย”
 
ดูภาพรณรงค์ชื่อ « The Origin of the Monks » แสดงความหมายเสียดสีที่มาของนักบวชที่น่ารังเกียจ โดย Lucas Cranach เพื่อนของลูเธอร์ (ที่มา : http://kaplak.net/2011/12/25/social-media-in-the-16th-century-economist/)
      บริบทของสื่อที่ลูเธอร์ใช้ มีความคล้ายคลึงกับระบบการสื่อสารในยุคปัจจุบัน เช่น blogs การเกิดเครือข่ายสังคม และการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโลกอาหรับ  ระบอบอำนาจนิยมถูกทำลายโดยประชาชนที่ไม่เห็นด้วย  โดยมีเครือข่ายสังคม (ทั้งออนไลน์และแบบดั้งเดิม) หนุนเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วม กระแสความไม่พอใจผู้นำถูกแบ่งปันและขยายวงออกไปอย่างต่อเนื่องในเครือข่ายสังคม ที่เรียกว่า “กลไกของการส่งสัญญาณร่วมในทางการเมือง” (collective signalling mechanism) ก่อให้เกิดแรงผลักดันไปสู่ปฏิกิริยาทางการเมืองในรูปแบบอื่นต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนๆกันในการปฏิรูปทางการเมืองระหว่างตัวอย่างของลูเธอร์กับการปฏิวัติในโลกอาหรับก็คือ การก่อตัวของเครือข่ายสังคมจากการสื่อสาร หรือเครือข่ายของสาธารณะ (networked public) ยิ่งในสังคมสมัยใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น สังคมก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อมถึงกันได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้นด้วย    
      เราอาจกล่าวได้ว่า เครือข่ายสังคมไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน มีจุดร่วมเดียวกันคือ การมีแพร่กระจายข่าวสาร การแบ่งปันข้อมูล การอภิปรายถกเถียง สร้างแรงบันดาลใจ และการเกิดความรู้สึกร่วม อันเป็นพลังในการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงสังคมต่อไป ประวัติศาสตร์ของการขับเคลื่อนทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการสื่อสารบอกให้เรารู้ว่า ระบบเครือข่ายสังคมในปัจจุบันไม่ใช่เพียงเชื่อมเราเข้าไว้ด้วยกันเท่านั้น แต่เชื่อมโยงเรากับอดีตไว้ด้วยกันด้วย
 
ภาพรณรงค์ชื่อ « The Origin of the Monks » แสดงความหมายเสียดสีที่มาของนักบวชที่น่ารังเกียจ โดย Lucas Cranach เพื่อนของลูเธอร์ (ที่มา : http://kaplak.net/2011/12/25/social-media-in-the-16th-century-economist/)
 
“95 Theses on the Power and Efficacy of Indulgences”
 
Martin Luther (1483-1546)
 
มาร์ติน ลูเธอร์ เผยแพร่คำประกาศ “95 Theses” หน้าประตูที่ Wittenburg (ที่มา : http://writing-journey.com/internet-writing/toward-reformation-bridging-...)
 

 



[1] สามารถอ่านบทความนี้ได้ที่ http://kaplak.net/2011/12/25/social-media-in-the-16th-century-economist/