Skip to main content

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

สถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ในช่วงสองสามเดือนนี้ มีความตึงเครียดและเกิดเหตุรุนแรงต่อเนื่องอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะเหตุการณ์มอเตอร์ไซด์บอมบ์ที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ในวันพุธที่ 28 พฤษภาคม 2557 ที่เกิดระเบิดขึ้นที่บริเวณลานจอดรถจักรยานยนต์ของโรงพยาบาลโคกโพธิ์ จนเกิดเพลิงไหม้รถมอเตอร์ไซด์ไป 64 คัน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 10 ราย ซึ่งนับเป็นการวางระเบิดครั้งแรกภายในรั้วโรงพยาบาลในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่การเกิดเหตุปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม 2557

คำถามสำคัญคือ “เหตุการณ์ไฟใต้ได้ลามเข้าสู่รั้วโรงพยาบาลแล้วหรือ”

สถานการณ์การวางระเบิดหน่วยบริการสุขภาพ

เหตุระเบิดที่เกิดกับสถานบริการสาธารณสุขนั้นมีเหตุเกิดขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกเกิดขึ้นที่รั้วหน้าสถานีอนามัยดอนรัก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ในวันที่ 11 มิถุนายน 2548 สถานีอนามัยดอนรัก รับผิดชอบ 7 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 5,000  คน เป็นมุสลิม 80%  โดยเหตุเกิดในเวลา 2 นาฬิกาของวันที่  11 มิถุนายน 2548 มีการวางเพลิงเผาบ้านพักของสถานีอนามัยซึ่งอยู่ด้านหลังสถานีอนามัย  เพลิงเผาบ้านพักวอดทั้งหลัง  และฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบได้ฝังระเบิดถังดับเพลิงไว้ที่บริเวณป้ายชื่อสถานีอนามัย  เพื่อหวังกดระเบิดในช่วงเช้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารที่จะมาตรวจที่เกิดเหตุ  แต่มีคนไปพบว่ามีถังแดงๆโผล่เหนือดินที่กลบไม่ดี  จึงตามตำรวจชุดเก็บกู้มาตรวจสอบและตัดสินใจกู้ทำลายระเบิดด้วยการทำให้ระเบิด  ทำให้สถานีอนามัยได้รับความเสียหายโดยไม่มีผู้รับบาดเจ็บ  หลังจากนั้น ชาวบ้านได้เข้ามาช่วยปัดกวาดซ่อมแซมร่วมกับทางสาธารณสุขและเปิดให้บริการตามปกติในอีกประมาณ 1 เดือนหลังเหตุการณ์ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงสามารถสรุปได้อย่างชัดเขนว่า เป้าหมายของการก่อเหตุคือการมุ่งก่อเหตุกับฝ่ายความมั่นคง  และหลังจากนั้นไม่มีเหตุการณ์วางระเบิดที่มีเป้าหมาย หน่วยบริการสาธารณสุขไปนาน

 

ภาพที่ 1 เหตุการณ์ระเบิดที่รั้วสถานีอนามัยดอนรัก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี วันที่ 11 มิถุนายน 2548

ครั้งที่สองเกิดขึ้นหน้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 โดยคนร้ายลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์น้ำหนักกว่า 20 กิโลกรัม หน้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 8 ราย โดยพบรถรองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีได้รับความเสียหายจอดอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย แต่รองผู้ว่าฯ ไม่ได้เดินทางมากับรถคันนั้น แรงระเบิดยังทำให้กำแพงและตัวอาคารด้านหน้าสำนักงานสาธารณสุข 2 ชั้นได้รับความเสียหายอย่างหนัก รถยนต์ที่จอดข้างถนน รถยนต์ชาวบ้านที่สัญจรไปมา รวมไปถึงจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายกว่า 10 คัน ส่วนบุคลากรของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานีไม่ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังมาไม่ถึงที่ทำงาน แต่หากเกิดเหตุหลัง 8.30 น.น่าจะมีการบาดเจ็บหรือความสูญเสีย จากการวิเคราะห์สถานการณ์ในครั้งนั้น เป้าหมายหลักก็ยังไม่ใช่หน่วยงานสาธารณสุข แต่เป็นการก่อเหตุในเขตเมืองและมุ่งเป้าไปที่รองผู้ว่าราชการจังหวัด

 
ภาพที่ 2 เหตุการณ์ car bomb หน้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555

และครั้งที่สาม เกิดเหตุที่จุดจอดรถผู้มารับบริการภายในโรงพยาบาลโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 เมื่อเวลา 9.30 น. ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 10 ราย อาการสาหัส 3 ราย ส่งรักษาต่อ รพ.ปัตตานี  รับตัวรักษาที่ รพ.โคกโพธิ์ 7 ราย และมีรถมอเตอร์ไชค์ที่จอดในโรงจอดรถถูกเพลิงไหม้เสียหาย 64 คัน และรถยนต์อีก 7 คัน จุดที่คนร้ายนำรถมอเตอร์ไซด์ไปจอดนั้น เป็นส่วนท้ายสุดของโรงจอดรถที่อยู่ใกล้กับศาลานอกรั้วโรงพยาบาลที่เป็นจุดที่พักรักษาความปลอดภัยของ อส. และการระเบิดส่งผลให้ อส.บาดเจ็บไป 4 ราย  จากการวิเคราะห์เชื่อว่า  เป้าหมายหลักคือการมุ่งหวังก่อเหตุกับกลุ่ม อส. ที่มีการมาประจำการที่ศาลานอกรั้วโรงพยาบาลเป็นประจำ โดยมีการเกิดเหตุในโรงพยาบาลเป็นผลพลอยได้

 
ภาพที่ 3 เหตุการณ์ motorcycle bomb ที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี วันที่ 28 พฤษภาคม 2557

การก่อเหตุ “เผาสถานีอนามัย”

ระบบบริการสุขภาพเคยตกเป็นเป้าหมายในการก่อเหตุอยู่ต่อเนื่องในช่วงปี 2548-2551 ในช่วงนั้นมีการเผาสถานีอนามัย หรือบ้านพักในสถานีอนามัยหลายแห่ง  อันได้แก่ การเผาสถานีอนามัยปานัน อ.มายอ จ.ปัตตานีและ สถานีอนามัยฆอรอราแม อ.ยะหา จังหวัดยะลาในปี 2549, การเผา 5 สถานีอนามัยในอำเภอบันนังสตาในคืนเดียวในวันที่ 4 เมษายน 2550 และอีก 3 สถานีอนามัยในปัตตานี อันได้แก่ สถานีอนามัยโต๊ะแน อำเภอกะพ้อ สถานีนอนามัยบันนังดาลำและสถานีอนามัยจราโก อำเภอสายบุรี และสถานีอนามัยในนราธิวาสก็ถูกเผาอีก 1 แห่งคือ สถานีอนามับูกิตจือแร อำเภอรือเสาะ ในปีเดียวกัน  แต่หลังจากนั้น เหตุการณ์เผาสถานีอนามัยก็หยุดไปหลายปี จนเกิดเหตุการณ์อีกครั้งคือสถานีอนามัยลูโบ๊ะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 9 ตุลาคม 2556

อย่างไรก็ตามการเผาสถานีอนามัยที่ผ่านมานั้นมักจะเกิดขึ้นในเวลากลางคืน ซึ่งหมายถึงการมุ่งหวังสร้างสถานการณ์โดยไม่ได้มุ่งต่อชีวิต ยกเว้นกรณีของสถานีอนามัยโตะแน อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ในวันที่ 9 มกราคม 2550 ถูกเผาในเวลากลางวัน โดยผู้ก่อเหตุได้บุกขึ้นไปบนสถานีอนามัยบอกให้เจ้าหน้าที่ลงจากอาคาร ให้เวลาเจ้าหน้าที่เก็บของส่วนตัวเล็กน้อย เจ้าหน้าที่คนหนึ่งลืมกุญแจรถยังได้ขอขึ้นมาเอากุญแจลงมาได้ หลังจากนั้นสถานีอนามัยก็ถูกเผา โดยไม่ได้มุ่งหมายต่อการทำร้ายเจ้าหน้าที่เช่นกัน

 

ภาพที่ 4  เหตุการณ์เผาสถานีอนามัยโตะแน อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่  9 มกราคม 2557

การเผาสถานีอนามัยครั้งสุดท้าย เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(สถานีอนามัย)ลูโบ๊ะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 9 ตุลาคม 2556 ในช่วงกลางคืน ส่งผลให้อาคารสถานีอนามัยได้รับความเสียหาย 60% และรถพยาบาลถูกเพลิงไหม้เสียหายทั้งคัน ส่งผลให้ รพ.สต.ลูโบ๊ะสาวอไม่สามารถทำการได้ เจ้าหน้าที่ทั้ง 9 คนต้องย้ายไปทำงานที่โรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอบาเจาะ  โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นหนึ่งในการก่อความไม่สงบ 6 จุดของวันที่ 9 ตุลาคม 2556 เวลาประมาณ 02.00-03.00 น.ที่มีการวางเพลิงศาลาที่พักริมทาง วางเพลิง รพ.สต. ขว้างระเบิดฐาน นปพ. และวางเพลิงที่ทำการ อบต.ในพื้นที่อำเภอยี่งอ บาเจาะ ระแงะ และรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส[1]

 

ภาพที่ 5 เหตุการณ์เผา รพ.สต.ลูโบ๊ะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 9 ตุลาคม 2556

โดยสรุปตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 จนถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ที่เกิดเหตุวางระเบิดในโรงพยาบาลโคกโพธิ์ มีเหตุการณ์วางระเบิด เผาสถานบริการสาธารณสุขและบ้านพักทั้งสิ้น 28 ครั้ง กระจายเกิดเหตุในจังหวัดปัตตานี 15 ครั้ง จังหวัดยะลา 7 ครั้งและจังหวัดนราธิวาส 6 ครั้ง[2]

เหตุการณ์ความรุนแรงต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

เหตุรุนแรงกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขนั้นนับตั้งแต่ได้ 4 มกราคม 2547 จนถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ทำให้เกิดความสูญเสียรวมเสียชีวิต 33 ราย (ปัตตานี 22 ราย ยะลา 4 ราย นราธิวาส 7 ราย) มีผู้บาดเจ็บ 29 ราย (ปัตตานี 12 ราย ยะลา 7 ราย นราธิวาส 7 รายและสงขลา 4 ราย) ส่วนใหญ่ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นลูกจ้างของหน่วยบริการและเกิดเหตุนอกสถานบริการ

เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดที่เกิดกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคือ เหตุการณ์ในวันที่ 8 ตุลาคม 2550  เวลา 12.45 น. กองกำลังผู้ก่อความไม่สงบ ( RKK ) ได้บุกขึ้นไปยังสถานีอนามัยประจัน  ใช้อาวุธสงครามยิงเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่กำลังรับประทานอาหารกลางวัน  โดยเจ้าหน้าที่ไทยพุทธ  2 คน คือ นางอัจฉรา  สกนธวุฒิ หัวหน้าสถานีอนามัยและ นายเบญพัฒน์  แซ่ติ่น  นักวิชาการสาธารณสุข  ได้ถูกยิงเสียชีวิต  ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอีกคนที่เป็นมุสลิมถูกไล่ลงจากตัวอาคาร  หลังจากยิงผู้ก่อเหตุได้รื้อเอกสารมากองรวมกันเพื่อจุดไปเผาสถานีอนามัย  แต่ปรากฏว่าชาวบ้านมาช่วยกันดับไว้ทันท่วงที[3] จากการวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นทีเชื่อว่าเป็นการตอบโต้ต่อฝ่ายกำลังที่เปิดยุทธการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมในพื้นที่อำเภอยะรัง  ส่งผลให้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบจึงพยายามตอบโต้โดยเลือกเป้าหมายที่อ่อนแอที่สุด นั่นคือสถานีอนามัย  และเลือกสถานีอนามัยที่มีเจ้าหน้าที่ไทยพุทธอยู่  เพื่อหวังสร้างความแตกแยกระหว่างศาสนิก

ส่วนเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งล่าสุดคือ เหตุการณ์ยิงนักวิชาการสาธารณสุขประจำสำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีสาคร  จังหวัดนราธิวาส  ซึ่งมีผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น 3 คน ซึ่งประกอบด้วย น.ส.จริยา พรหมนวล (นักวิชาการสาธารณสุข เสียชีวิต) น.ส.พิณยุพา วชิรกิจโกศล (ลูกจ้าง ได้รับบาดเจ็บ) และ นางรุจิเรข หนูรัตน์ (นักวิชาการสาธารณสุข ไม่ได้รับบาดเจ็บ) ซึ่งนับเป็นความสูญเสียที่สำคัญในชายแดนใต้ [4]

โดยปกติสถานการณ์ในชายแดนใต้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ได้ตกเป็นเป้าหมายเพราะเราเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน ดูแลทุกคนทุกฝ่ายทุกความเชื่อโดยไม่แบ่งแยก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ได้ตกเป็นเป้าหมายมานานแล้ว คำถามที่ต้องไตร่ตรองคือ แล้วเกิดอะไรขึ้น จากเหตุการณ์ที่ศรีสาคร มีการวิเคราะห์ของแกนนำแพทย์ชนบทในชายแดนใต้ ได้วิเคราะห์ว่า "ในช่วงนี้มีข้อสังเกตว่า ผู้หญิงและประชาชนคนธรรมดาตกเป็นเหยื่อมากขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกลุ่มคนเหล่านี้เป็นเป้าหมายอ่อน (ทหารตำรวจคือเป้าหมายแข็งและยาก) เหมาะกับการปฏิบัติการของนักรบมือใหม่ของฝ่ายขบวนการที่เพิ่งผ่านการฝึกฝนมา

คำถามสำคัญ สาธารณสุขตกเป็นเป้าหมายแล้วหรือยัง

คำถามที่ว่า “บัดนี้สาธารณสุขได้กลายเป็นเป้าหมายแล้วหรือยัง” เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบชัดเจน แต่การเฝ้าระวัง การเตรียมความพร้อมโดยไม่ประมาท การจัดบริการสุขภาพให้ดีที่สุด ให้ประชาชนในพื้นที่พึ่งพาได้มากที่สุด คือสิ่งที่ทำอยู่และต้องทำให้ดีขึ้นไปอีก

ไม่ว่าหน่วยงานสาธารณสุขและวิชาชีพด้านสุขภาพจะตกเป็นเป้าหมายหรือยัง  เสียงของประชาชนคนหนึ่งที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์ในวันที่มีการระบิด ซึ่งได้กล่าวกับ "สำนักข่าวอิศรา" ไว้อย่างท้อแท้ เป็นเสียงสะท้อนของประชาชนที่ชัดเจนว่า  “โรงพยาบาลน่าจะเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุดแล้ว ผู้ที่ก่อเหตุไม่น่ากระทำในโรงพยาบาล อยากขอให้มีสถานที่ปลอดภัยสักแห่งหนึ่งสำหรับประชาชนบ้าง[5]



[1]  บทความ โจรใต้เผา รพ.สต.ลูโบ๊ะสาวอวอด http://narater2010.blogspot.com/2013/10/blog-post_1634.html

[2] ข้อมูลจาก ศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.สต.) กระทรวงสาธารณสุข

[3] บทความ “ เมื่อความรุนแรงไม่เลือกเป้าหมาย "คนสาธารณสุข" อันตรายที่สามจังหวัดชายแดน” สำนักข่าวอิสรา วันเสาร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2553  สืบค้นได้จาก

http://www.isranews.org/south-news/academic-arena/item/1904-qq-sp-162971495.html

[4] normal"> ข่าว font-weight:normal">สลด! ยิงดับ จนท.สาธารณสุขสาวท้อง color:#444444;text-transform:uppercase;font-weight:normal">2 เดือนที่ศรีสาคร-เพื่อนสาหัส normal">สำนักข่าวอิศรา วันที่ 30 เมษายน 2557 สืบค้นได้ที่ http://www.isranews.org/south-news/other-news/item/29003-pregnant.html

[5] normal">ข่าว จยย.บอมบ์ในลานจอดรถ รพ.โคกโพธิ์ ชาวบ้านครวญขอปลอดภัยสักที่ได้ไหม?” จากสำนักข่าวอิศรา วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 สืบค้นได้จาก http://www.isranews.org/south-news/south-slide/item/29934-moto_29934.html