คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ในสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อไม่ใช่สิ่งที่โปร่งใสอีกต่อไปเนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ที่แหลมคมและซับซ้อน เมื่อเราเผชิญหน้ากับความรุนแรงและการก่อเหตุร้าย เราควรตระหนักถึงความจริงที่ว่า “การก่อเหตุร้ายไม่ใช่การตีความว่าเป็นการท้าทายต่ออำนาจรัฐและบทพิสูจน์เรื่องประชาธิปไตยเท่านั้นและมันเป็นการตกผลึกของปัญหาทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมที่เรียกร้องให้คนในสังคมหันมาทบทวนและขบคิดร่วมกัน” (Wieviorka, 1995 :96)
เนื่องจากเราไม่สามารถปฏิเสธความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างเหตุการณ์ (event) กับสื่อ การนำเสนอเหตุการณ์ผ่านสื่อจึงต้องอาศัยความเข้าใจ คำอธิบาย และความรู้เกี่ยวกับโลกและความเป็นไปของสังคมด้วย สื่อมวลชนจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความคิดเห็นสาธารณะและถักทอสายสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยห่างเหินหรือขาดสะบั้นให้กลับมาเผชิญความจริงข้อนี้อีกครั้ง
เมื่อความขัดแย้งรุนแรงทวีคูณ หลายฝ่ายเริ่มเรียกร้องถึงหนทางแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี กระบวนการสันติภาพจึงเป็นกระบวนการที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาทบทวน ทำความเข้าใจถึงสาเหตุ องค์ประกอบ และเงื่อนไขของความขัดแย้ง รวมทั้งพยายามจัดการสภาพแวดล้อมใหม่ที่เอื้อต่อการเกิดสันติภาพ ในกระบวนการดังกล่าว การสื่อสารจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะใด โดยเฉพาะสื่อมวลชนจะมีบทบาทเป็นสื่อเพื่อสันติภาพได้หรือไม่
ข้อสังเกตจากงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสื่อมวลชนในสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันว่า สื่อมีอิทธิพลและมีส่วนสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ สื่อทำหน้าที่เปิดพื้นที่การสื่อสารให้สาธารณะเห็นประเด็นปัญหา สภาวะการดำรงอยู่ของปัญหา ตัวแสดงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อธิบายสาเหตุ สร้างประเด็นถกเถียง เสนอแนวทางออกหรือคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต สื่อช่วยทำให้เราเห็นว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญอยู่กับอะไร ในขณะเดียวกันสื่อช่วยทำให้เราเกิดการตีความสิ่งที่เราเผชิญอยู่จนนำไปสู่การมองเห็นภาพร่วมกันหรือจินตภาพร่วม (Common Imagination) (Spencer, 2008 : 103-122)
จินตภาพร่วมที่ว่านี้ประกอบขึ้นจากภาพความทรงจำในอดีต ประสบการณ์ในปัจจุบัน และความคาดหวังถึงอนาคต และในทางการเมืองแล้ว จินตภาพร่วมดังกล่าวมีพลังยิ่งกว่ากำลังทางอาวุธเสียอีก เพราะมันสามารถกำหนดเงื่อนไขของการปฏิบัติที่เป็นได้ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ
เราอาจเห็นได้จากผลกระทบของข้อมูลข่าวสารเชิงลบผ่านสื่อที่ก่อให้เกิดความกลัว ความทุกข์ หรือความเกลียดชังที่มีส่วนผลักดันไปสู่การใช้กำลัง การปราบปราม การต่อต้าน หรือการใช้ความรุนแรงในที่สุด ในทางกลับกัน สื่อก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างพลังผลักดันในเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการสันติ หรือควบคุมการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่ายได้ ดังที่เรายอมรับกันดีถึงพลังของประชาสังคมที่เรียกร้องสันติวิธีและสันติภาพ
จากการศึกษาถึงบทบาทของสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้งในหลายสังคม หลายพื้นที่ พบว่า สื่อมีส่วนในการขยายความขัดแย้งให้ลุกลามบานปลายมากขึ้นด้วยธรรมชาติและข้อจำกัดของสื่อเอง และมีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า สื่อมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงบริบทใหม่ของความขัดแย้งด้วยข้อมูลข่าวสารและเครือข่ายความสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่สื่อได้สร้างขึ้นด้วยเช่นกัน (Wieviorka, 1995; Spencer, 2008, Charaudeau et al., 2001; Allen and Seaton, 1999)
การสื่อสารในฐานะเป็นปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์
ธรรมชาติของการสื่อสาร เป็นปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ (symbolic action) ที่ตั้งอยู่บนตรรกะของประชาธิปไตย กล่าวคือ เป็นเครื่องมือยืนยันสิทธิและเสรีภาพของความเป็นพลเมือง สิทธิที่จะรับรู้ข่าวสาร และสิทธิที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถกเถียงโดยไม่ใช้ความรุนแรง ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดของสื่อก็คือ “การบอกให้รู้” และ “การทำให้เชื่อ”[1] เพื่อแสวงหาจุดร่วมของความเห็น ข้อตกลง และฉันทามติ ด้วยการสื่อความหมายหรือถ้อยแถลงอันหลากหลายผ่านการนิยามอัตลักษณ์ของเหตุการณ์และตำแหน่งแหล่งที่ของฝ่ายหรือกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และผ่านปฏิบัติการทางการสื่อสารที่เชื่อมร้อยกลุ่มและความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายนั้นเข้าด้วยกัน (Charaudeau, 2001 : 10)
ในสถานการณ์ความขัดแย้ง วิธีการ “บอกให้รู้” และ “ทำให้เชื่อ” ของสื่อมวลชนมักกระทำผ่านวิธีการหลักๆ ได้แก่
- การแสดงให้เห็นว่าข้อมูลข่าวสารที่สื่อนำเสนอนั้นมีความถูกต้องและเป็นเรื่องจริงแท้ (Authentication) ดังนั้น การนำเสนอข่าวสารผ่านสื่อ จึงจำเป็นต้องมีประจักษ์พยานยืนยันความถูกต้องและความแท้ของข่าวสาร ซึ่งอยู่ในรูปแบบของการอ้างแหล่งข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ การอ้างผู้เชี่ยวชาญ อ้างสถิติข้อมูล หรือผลการวิจัย เป็นต้น
- การแสดงบทบาทเป็นผู้เปิดเผยเงื่อนงำ ความคลุมเครือ การไขข้อข้องใจ ความคลางแคลงสงสัย หรือการเปิดเผยความลับ การก่อเหตุการณ์รุนแรงเป็นเรื่องน่าสงสัย ปัญหาความขัดแย้งเป็นความคลุมเครือ การพูดคุยเจรจาเป็นเรื่องปิดลับ จึงเป็นหน้าที่และเป้าหมายของสื่อในการเผยให้สาธารณะรับรู้ความจริงนั้น
- การแสดงบทบาทเป็นผู้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการพูดคุยเจรจาเพื่อหาข้อยุติต่อความสงสัยหรือความขัดแย้ง สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการเปิดพื้นที่ของความรู้ ความเข้าใจใหม่ๆ และการยอมรับซึ่งกันและกันผ่านข้อมูลข่าวสารและการถกเถียง บทบาทนี้จะช่วยจัดการความสัมพันธ์ใหม่ของผู้คนในพื้นที่ของความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตาม บทบาทเหล่านี้ ด้านหนึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพ หากสื่อยังคงยึดติดกับการมองปัญหาด้วยกรอบของความมั่นคง เนื่องจากวิธีการมองปัญหาเช่นนี้ อาจทำให้สื่อให้ความสำคัญกับแหล่งข่าวที่เป็นผู้มีอำนาจหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมากเกินไป เพราะเชื่อว่าข่าวสารข้อมูลจากฝ่ายดังกล่าวมีความถูกต้องและเป็นของแท้ และมักตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือการครอบงำจากข้อมูลของฝ่ายเดียว ดังที่งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การนำเสนอเหตุการณ์ความไม่สงบ สื่อมวลชนมักอ้างอิงแหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ของรัฐมากที่สุด (Daraswadi, 2001 ; Attha-Anuchit, 2007 ; Kooyai, 2013)
การมองปัญหาด้วยกรอบความมั่นคง อาจทำให้สื่อมุ่งรายงานข่าวเพื่อเปิดเผยสิ่งที่ซ่อนอยู่ด้วยการมุ่งตอบคำถามว่าใครเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ใครอยู่เบื้องหลังการพูดคุยเจรจา มีการเจรจากันในทางลับเมื่อไร กับใคร และเรื่องอะไรบ้าง จนทำให้ละเลยความจริงชุดอื่นๆ ที่เป็นปัญหาใจกลางของความขัดแย้ง
อีกประการหนึ่ง มุมมองปัญหาเช่นนี้ อาจทำให้สื่อตกอยู่ในกับดักของการรายงานข่าวแบบเรื่องเล่า (Classical narrative scenario) เช่น การมองปัญหาแบบคู่ตรงข้ามระหว่างฝ่ายถูก-ฝ่ายผิด ความดี-ความเลว การต่อต้าน-การลงโทษ เหยื่อ-วีรบุรุษ แต่ไม่มองว่าปัญหาในชายแดนใต้/ปาตานีนั้น การเรียกร้องของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงหรือประชาชนเป็นเรื่องที่น่ารับฟังและมีโอกาสนำมาเป็นประเด็นถกเถียงเพื่อหาทางออก เช่น สิทธิที่จะเรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องความเป็นพลเมือง และสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยและปกติสุข แต่การรายงานข่าวแบบเรื่องเล่าดังกล่าว กลับส่งผลกระทบให้เกิดการขยายภาพของความขัดแย้ง ความทุกข์ ความเจ็บปวด ความเกลียดชังหรือความรู้สึกแปลกแยก
แต่หากเรามองความขัดแย้งในกรอบของสันติภาพ เราอาจพบว่า การพยายามแสวงหาความจริงจากทุกฝ่าย การแสวงหาสาเหตุของปัญหาเพื่อเปิดเผยความคลุมเครือของความขัดแย้ง หรือการเปิดเวทีถกเถียงสามารถสร้างสภาพแวดล้อมของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแสวงหาทางออกร่วมกันได้เช่นเดียวกัน การมองในกรอบของสันติภาพทำให้เราหลุดออกจากกับดักของดราม่าที่ไม่ใช่มุ่งสื่อสารให้ “โดนใจ” แต่ต้องให้ “โดนความคิด” มากกว่า เราก็จะหลุดออกจากการมองเห็นปัญหาและผู้คนที่คิดเห็นต่างเป็นสิ่งแปลกปลอม คนนอก หรือศัตรู หรือมองเห็นตัวเองเป็นเหยื่อ ผู้ปลดปล่อยหรือวีรบุรุษ
เมื่อพิจารณากระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้/ปาตานี ความเป็นไปของเส้นทางการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่ม BRN นับตั้งแต่การลงนามในเอกสาร “ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ” เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ในบทความของรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช[2] และรายงานการวิจัยเรื่อง วาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2556 โดย สมัชชา นิลปัทม์ และรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช[3] แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสื่อสาร ประชาสังคมและกระบวนการสันติภาพได้เป็นอย่างดี เราเห็นอะไรในกระบวนการสันติภาพ?
ภาวะไร้สมดุลระหว่างการทำให้การพูดคุยเจรจาเป็นเรื่องปิดลับกับเรื่องเปิดเผย (Secrecy VS Publicity) color:#1F497D;">
บางคนอาจมองว่า การพูดคุยเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งไม่ควรเปิดเผยสู่สาธารณะ ควรเป็นเรื่องระหว่างคู่เจรจาจะตกลงหรือต่อรองกันเพราะเชื่อว่า ประเด็นการพูดคุยเป็นเรื่องอ่อนไหว อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของสาธารณะหรือสูญเสียอำนาจการต่อรอง บ้างก็มองว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจากการพูดคุยเจรจาจะทำให้สาธารณะเข้าใจปัญหา สามารถตรวจสอบข้อมูล สร้างแรงกดดัน เป็นพยานหรือฝ่ายที่สาม (Third-party) ในการเจรจาได้ เกรแฮม สเปนเซอร์ (Graham Spencer)ได้ชี้ให้เห็นถึงความไม่ลงรอยระหว่างแนวคิดทั้งสองขั้วนี้เช่นกัน จากการศึกษาการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ในช่วงปี 1993 (Oslo Peace Process) เขาเสนอว่า ในกระบวนการสันติภาพ เราควรเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางการเมืองในการเจรจา จากการติดต่อพูดคุยกันในทางลับระหว่างคู่ขัดแย้งไปสู่การสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณะ เพราะนั่นจะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศความไว้วางใจซึ่งกันและกันและรับประกันความยั่งยืนของกระบวนการสันติภาพได้ (Spencer, 2008)
แน่นอนว่า เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่าเรื่องใดควรเป็นความลับ เรื่องใดเป็นเรื่องของสาธารณะ และเมื่อไรควรเปิดเผย เช่นเดียวกับการพูดคุยในเชิงลับระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ปี 2548 นั่นทำให้เราเห็นว่า สันติภาพไม่อาจสร้างขึ้นได้ในระยะสั้น ความลับอาจจำเป็นในช่วงแรกๆ ของการเริ่มต้นการพูดคุยและการรักษาเสถียรภาพของกระบวนการพูดคุยเจรจาที่เปราะบาง แต่เมื่อการพูดคุยในเชิงลับดำเนินและพัฒนาไปมากพอที่จะรักษาคู่เจรจาให้ร่วมโต๊ะกันได้ การสื่อสารและสื่อมวลชนก็ควรถูกนำมาใช้ในการเปิดประเด็นการถกเถียงที่สืบเนื่องจากการพูดคุยเจรจานั้น
แต่กระนั้น การทำให้ประเด็นการพูดคุยเจรจาเป็นประเด็นสาธารณะนั้นยังจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ในที่นี้ สื่อมวลชนพึงตระหนักว่าไม่ควรอยู่ในฝ่ายคู่เจราเสียเอง หรือเลือกให้ความสำคัญให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป จนทำให้คู่เจรจาเกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน เนื่องจาก การรายงานข่าวที่แสดงท่าทีเป็นตัวแทนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเอง จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองเสียเปรียบ และหาทางใช้ช่องทางอื่นนอกโต๊ะเจรจา
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่นในกรณีการแถลงข้อเรียกร้องของกลุ่ม BRN ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 2 ครั้ง (ครั้งที่ 1: 26 เม.ย. 56 และครั้งที่ 2: 24 พ.ค. 56) ก่อนการพูดคุยสันติภาพครั้งที่ 3 เมื่อกลุ่ม BRN สื่อสารนอกโต๊ะเจรจา สื่อมวลชนต่างให้ความสนใจและพยายามขยายความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเรียกร้องทั้ง 5 ประการนั้น ผลที่ตามมาก็คือ สื่อหลายสำนักต่างนำเสนอกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างหนักถึงความเหมาะสมในการเปิดเวทีพูดคุย และมองว่าเป็นความเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองในการเจรจา ข่าวสารที่ถูกรายงานโดยสื่อจึงเป็นข่าวสารด้วยมุมมองแบบผู้แพ้-ผู้ชนะ ผู้ได้เปรียบ-ผู้เสียเปรียบ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพโดยรวมเลย
ผลที่เกิดตามมาอีกประการหนึ่งคือ หากกระบวนการพูดคุยหยุดชะงัก ฝ่ายที่สื่อมองว่ากำลังจะได้เปรียบหรือเข้มแข็งกว่าก็จะใช้การสื่อสารในการโฆษณาหรือกล่าวโทษอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นสาเหตุของความล้มเหลวของกระบวนการสันติภาพ ดังจะเห็นได้จากท่าทีของรัฐบาลหลังจากการเผยแพร่ข้อเรียกร้อง 5 ประการของกลุ่ม BRN และท่าทีตอบโต้กลับด้วยการแขวนป้ายผ้า 38 จุดในพื้นที่เพื่อขยายความข้อเรียกร้องและแสวงหาแรงสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ต่อข้อเรียกร้องของกลุ่ม BRN รวมทั้งการกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของรัฐบาลที่ไม่ฟังเสียงเรียกร้องของกลุ่มบนโต๊ะการพูดคุยเจรจา
ดังนั้น การรักษาสมดุลระหว่างความลับกับการเปิดเผยข่าวสารเกี่ยวกับการพูดคุยเจรจา จึงอยู่ที่การรายงานข่าวที่มุ่งตอบสนองความยั่งยืนของกระบวนการสันติภาพและการประเมินถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการพูดคุยเดินหน้าไปสู่รายละเอียดของการยื่นข้อตกลงระหว่างกัน อาจกล่าวได้ว่า การเปิดเผยสู่สาธารณะ อาจเป็นตัวรบกวนความยืดหยุ่นในกระบวนการพูดคุยสันติภาพในขณะที่การปกปิดข้อมูลข่าวสาร อาจทำให้กระบวนการพูดคุยขาดแรงสนับสนุนจากสาธารณะและขาดน้ำหนักในการเจรจา (Spencer, 2008)
สื่อเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพหรือไม่?
ด้วยธรรมชาติของสื่อมวลชนที่เน้นจับใจผู้รับสาร ทำให้สื่อมีแนวโน้มที่จะรายงานข่าวที่เข้าใจง่าย เร้าอารมณ์ ดึงความสนใจ ทั้งๆ ที่ปัญหาความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และกระบวนการสันติภาพมีลักษณะเป็นนามธรรม จับต้องยากและมักไม่เห็นผลในระยะเวลาอันใกล้ ในขณะที่การนำเสนอข่าวสารของสื่อมักมุ่งเน้นที่ความเป็นปัจจุบัน (actuality) มากเกินไป นี่จึงเป็นความขัดแย้งภายในตัวของสื่อเอง
การมุ่งเน้นแต่การรายงานข่าวเหตุการณ์ปัจจุบัน ทำให้สื่อละเลยที่มาและบริบทแวดล้อมของเหตุการณ์ ทำให้ผู้รับสารถูกตัดขาดจากความเข้าใจในอดีตและมองไม่เห็นอนาคต แต่ในกระบวนการสันติภาพนั้น มิติของเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะกระบวนการสันติภาพต้องการความเข้าใจสาเหตุของปัญหา เงื่อนไขของความขัดแย้ง และความทรงจำร่วมในอดีตของผู้คน ที่ส่งผลต่อความเข้าใจสภาวะที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน และทิศทางกระบวนการสันติภาพในอนาคต แต่การเน้นความเป็นปัจจุบันของสื่อ เป็นการทำให้ความเข้าใจปัจจุบันของประชาชนนั้นคลุมเครือเลื่อนลอย และนั่นยิ่งตอกย้ำความคิด ความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัยของประชาชน ไม่แน่ใจว่ากระบวนการสันติภาพจะไปรอดหรือไม่ และกลับเข้าสู่วังวนของความคลางแคลงสงสัย ความกลัวและความหวาดระแวงต่อกันในที่สุด
สื่อมีบทบาทหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพได้อย่างไร ?
ความเข้มแข็งของประชาสังคมเป็นหัวใจของกระบวนการสันติภาพ แรงสนับสนุนจากประชาชนจะช่วยเป็นเสมือนตาข่ายนิรภัยไม่ให้กระบวนการสันติภาพล้มเหลวโดยง่าย และถึงแม้ว่าการพูดคุยสันติภาพจะชะงักงัน แต่กระบวนการทำงานเพื่อสันติภาพของทุกภาคส่วนจะยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้
การสื่อสารจึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงผู้คนมาสู่จุดร่วมเดียวกัน สื่อช่วยเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไขข้อคับข้องใจระหว่างกัน และแสวงหาข้อเสนอหรือทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดในการแก้ไขปัญหา สื่อช่วยสร้างหนทางของการหาข้อสรุปร่วมกันจากประชาชนที่สามารถเข้าไปหนุนเสริมและสร้างความกระจ่างชัดให้แก่ประเด็นการพูดคุยเจรจา ดังเช่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อของกลุ่ม BRN ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการนิยามความเป็นมลายูปาตานี ประเด็นสิทธิในการปกครองตนเอง สิทธิทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม รวมทั้งกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น
สื่อมวลชนควรมีบทบาทในการเปิดพื้นที่การสื่อสารเพื่อให้สาธารณะนิยาม ถกเถียง หรือยื่นข้อเสนอไปยังคู่เจรจา การสื่อสารจะช่วยทำให้เกิดโอกาสของเงื่อนไขหรือข้อเสนอใหม่ๆ ที่เป็นไปได้และมีพลัง เพราะผ่านการเห็นชอบของทุกฝ่ายในความขัดแย้ง สื่อจะช่วยทำให้เวทีความคิดเห็นนั้นเข้มแข็งและมีอำนาจในการต่อรองหรือกดดันให้คู่เจรจาพยายามหาทางออกด้วยสันติวิธี และเวทีความคิดเห็นนั้นจะช่วยกำหนดเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนให้คู่เจรจา เช่นข้อเรียกร้องของประชาชนในเรื่องของหลักมนุษยธรรม ความเป็นประชาธิปไตย การเคารพหลักสิทธิมนุษยชน และความเป็นธรรม
ประการสุดท้าย สื่อไม่ควรมุ่งให้น้ำหนักไปที่ฝ่ายที่เข้มแข็งกว่า แต่ควรให้ความสำคัญแก่ทุกฝ่ายและแสวงหาว่ามีกลุ่มใด ประเด็นใดที่ยังถูกละเลย ถูกกีดกันออกไปจากนอกพื้นที่กระบวนการสันติภาพ สื่อต้องผลักดัน หนุนเสริมให้กับเสียงของทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่นโยบายที่มุ่งสันติภาพ
อ้างอิง
Allen, Tim and Jean Seaton. 1999. The Media of Conflict: War Reporting and Representations of Ethnic Violence. New York: St Martin’s Press.
Attha-Anuchit, Jareeya. 2007. Development of News about Three Southernmost Provinces Situations. Pattani: Prince of Songkla University.
Charaudeau, Patrick et al. 2001. La télévision et la guerre. Déformation ou contruction de la réalité? Le conflit en Bosnie (1990-1994). Bruxelles : INA/De Boeck Université.
Daraswasdi, Nuanvan. 2001. Thailand’s Transformation of Journalistic Ideology. MA Thesis, Chulalongkorn University.
Kooyai, Kusuma. 2013. La présence et la représentation de la violence dans les médias en Thaïlande. Réflexion sur la période 2004-2006. Thèse de doctorat, Université Panthéon-Assas (Paris II).
Spencer, Graham. 2008. The Media and Peace. From Vietnam to the ‘War on Torror’. New York: Palgrave McMillan.
Wieviorka, Michel. 1995. Face au terrorisme. Paris : Liana Levi.