Skip to main content

10 ปีที่ผ่านมาเราคงเคยเห็นภาพของ “เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้” ในการทำหน้าที่หลายบทบาท อาทิ งานภาคประชาสังคม งานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ แต่มาวันนี้ พวกเธอ ได้ลุกขึ้นมาเป็นสื่อสารกับการเป็น “นักข่าวพลเมือง” หยิบจับแง่มุมที่หลากหลายเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสาธารณะรวมถึงการช่วยสร้างบรรยากาศของสันติภาพ

 

   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กุสุมา กูใหญ่ รองคณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี กล่าวถึง พลังของการสื่อสารในพื้นที่ความขัดแย้งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสะท้อนแง่มุมและถ่วงดุลความรู้สึกของคนทั่วไป ซึ่งมี เจ้าของเรื่อง เป็นคนสื่อสาร โดยหยิบยกแง่มมุมเล็กๆ อธิบายความเชื่อมโยงกับสังคม ทำให้เรื่องมีพลังมากขึ้น

“พลังของความเป็นผู้หญิงในพื้นที่ความขัดแย้ง การที่ ทุกคนที่มาเรียนรู้ในครั้งนี้ ก็อยู่ในบริบทของพื้นที่ มีความคุ้นเคย และเชื่อว่าหลายคนมีประเด็นที่อยากบอก อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม และการนำไปสานต่อการเสวนาสันติภาพในพื้นที่ โดยเน้นย้ำว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงที่นี่จะต้องลุกขึ้นมาสื่อสารด้วยตัวเอง

ย้อนกลับไป ‘เครือข่ายสตรีชายแดนใต้’ ส่วนหนึ่งพวกเขาคือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและผู้ที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น หลายคนเป็นกลุ่มคนที่ทำงานเยียวยา นักจัดรายการวิทยุชุมชน รวมถึงนักศึกษาจากม.อ.ปัตตานี และน้องๆในพื้นที่ซึ่งเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศมาเลเซียก็เข้ามาร่วมพัฒนามุมมองการสื่อสารด้วยตัวเองเช่นกัน

คุณ แยนะ สะแลแม หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ จ.นราธิวาส ที่ผ่านมาเธอเป็นแหล่งข่าวสำคัญในการให้ข้อมูล มาวันนี้เธอเข้าร่วมฝึกทักษะการสื่อสารและมีความคาดหวังว่า

“ก้ะก็คาดหวังที่จะลองทำข่าวด้วยตัวเองดูบ้าง อยากที่จะเรียนรู้กระบวนการกว่าที่จะออกมาเป็นข่าวออกอากาศ จะต้องผ่านการเขียนบทอย่างไร ตัดต่ออย่างไร เพราะที่ผ่านมาอยู่ในฐานะของผู้ได้รับผลกระทบ ที่อยู่กับนักข่าวมา 10 ปีแล้ว หากเราสามารถที่จะสื่อสารได้เองจริงๆ แม้ว่าเราจะมีความรู้ไม่มาก แต่ก็จะพยายามทำให้งานออกมาเป็นข่าวชิ้นนึงได้”

 

ขณะเดียวกับ คุณยะห์ อารี นักจัดรายการสถานีวิทยุชุมชน เมืองปัตตานี มาเรียนรู้ทักษะการเล่าเรื่องราวจากภาพเคลื่อนไหว เธอมองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของการสื่อสารคือเนื้อหาที่จะนำเสนอ ซึ่งถ้าตีโจทย์ตรงนี้ได้ เรื่องของเครื่องมือก็สามารถพัฒนาได้ แต่ต้องอาศัยความใจเย็นและฝึกฝนบ่อยๆ

“ถึงแม้เราจะไม่รู้เรื่องในทุกอย่าง พอเข้าใจ และหลักจากที่เราได้ฝึกแล้วเราต้องทำแล้ว เราสามารถทำได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือให้เราเมื่อเรากิจกรรมดีๆที่สามารถทำ สื่อสารได้ อยากให้รวมทีมยกระดับให้เป็นมืออาชีพ ให้เราเรียนรู้ไปเรื่อยๆความสามารถมันจะติดคัวเราไปเราสามารถช่วยเหลือสังคมได้”
นางสาว นิฮัสน๊ะ กูโน ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่าหลังจากนี้ จะนำสิ่งที่เรียนรู้มาไปพัฒนาประเด็นในพื้นที่และต่อยอดการทำงาน

“ อย่างกรณีนักข่าวพลเมืองเพราะว่าที่ผ่านมาเรามีการออกอากาศเรื่องของผู้หญิงเราก็ทำขึ้นยูทูป นักข่าวพลเมืองก็ทำเป็นสื่ออีกสื่อหนึ่ง สิ่งที่ได้เรียนรู้มาอาจนำไปต่อยอดงานต่างๆที่ตัวเองทำอยู่ถามว่าความรู้ตรงนี้ในห้องเรียนสอนเราไหม ในห้องเรียนไม่ได้สอนเราขนาดนี้ การทำงานของกลุ่มผู้หญิงส่วนมากก็จะเป็นงานเยียวยาเป็นส่วนใหญ่ เราก็สามรถเอาความรู้ตรงนี้ ไปพัฒนางานของเรา ลงยูทูป ลงเฟสบุคและเว็ปต่างๆได้อย่างมากมาย และสามารถนำไปสอนคนอื่นต่อ ในอนาคตพวกเราต้องทำงานกับชุมชนมากมายเลยนำความรู้ตรงนี้ไปต่อยอดและไปถ่ายทอดให้กับคนอื่นๆ”

การเรียนรู้ของกลุ่มผู้หญิงในการอบรมนักข่าวพลเมืองในครั้งนี้จะมีเวลาเพียงแค่ 4 วัน แต่พวกเธอ ไม่ได้หยุดที่จะพัฒนางานและพัฒนาฝีมือ ซึ่งกำลัง วางแผนเพื่อพัฒนางานและประเด็นต่อไป ติดตามผลงานของพวกเธอได้เร็วๆ นี้