Skip to main content

ไชยยงค์ มณีพิลึก

 
 
ถ้าไม่มีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบครั้งรุนแรงเกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนทำให้มีคนตาย และคนเจ็บจำนวน 30 คน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.52 ที่ผ่านมา ภาพและข่าวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย และนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่เดินทางมาลงนามเปลี่ยนชื่อสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส แห่งที่ 2 จากสะพานบูเก๊ะตา เป็นสะพานมิตรภาพ คงจะเป็นข่าวเด่น ข่าวดี ในสื่อทุกแขนง เพราะในระยะเวลา 50 ปี นับตั้งแต่ประเทศมาเลเซียได้เอกราชจากประเทศอังกฤษ นายราจิบ นาซัค นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ที่เดินทางมาเยือนพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งควรจะเป็นสิ่งบอกเหตุที่ดีว่า การร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่แนวชายแดนระหว่าง 2 ประเทศ ที่เป็น “เพื่อนบ้าน” ที่มีชายแดนติดกัน น่าจะเป็นไปด้วยดี
 
          โดยเฉพาะนับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-มาเลเซีย แม้ดูภายนอกอาจจะเห็นว่าราบรื่น แต่โดยข้อเท็จจริงทั้ง 2 ประเทศต่างยืนอยู่บนความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะฝ่ายไทยนั้นรู้อยู่เต็มอกว่า ที่สถานการณ์การสู้รบการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยากจะยุติลงไปตามที่ต้องการนั้น สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ“แกนนำ” และ “แนวร่วม” ต่างมี “หลังพิง” มีที่พักพิงที่มั่นคงอยู่ในประเทศมาเลเซีย และในอดีตที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เช่น มหาธีร์ โมฮัมมัด ก็มักจะออกมาให้สัมภาษณ์ ในลักษณะที่ฝ่ายไทยเห็นว่า เป็นการแย่งชิงผลประโยชน์กับมาเลเซีย และไม่มีความจริงใจ ในการช่วยไทยในการแก้ปัญหาความไม่สงบ เช่น การปฏิเสธว่าไม่มีบุคคลที่เป็น “แกนนำ” และ “แนวร่วม” ที่ทางการไทยขอตัว และไม่มีบุคคลสองสัญชาติอยู่ในประเทศมาเลเซีย รวมทั้งบางครั้งเห็นด้วย และสนับสนุนให้ไทยแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการให้เป็นเขตปกครองตนเอง ซึ่งรัฐบาลไทยและหน่วยงานทุกหน่วยของไทยต่าง “สแลง” กับคำว่า “เขตปกครองพิเศษ” หรือการปกครองตนเองเป็นอย่างยิ่ง
 
 
          แต่พลันที่เกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมและการฆ่ากันทั้งวันในวันที่ 8 ต่อเนื่องถึงวันที่ 9 ซึ่งเป็นวันสำคัญของสองผู้นำประเทศที่ได้มาพบกันที่ จ.นราธิวาส ข่าวความร่วมมือของผู้นำทั้งสองประเทศจึงถูกกลบไปด้วยข่าวการก่อการร้ายจนหมดสิ้น สิ่งที่กลายเป็น “คำถาม” ของสังคมของคนทั้งหมด จึงพุ่งเป้าไปยัง ตำรวจ ทหาร และพลเรือน ซึ่งหนีไม่พ้นคือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ต้องตอบคำถามว่าล้มเหลว” ในการรักษาความสงบหรือไม่
 
 
          เพราะเหตุการณ์ก่อการร้ายในวันที่ 8-9 ที่ผ่านมา เป็น “นัย” ที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่นำโดยบีอาร์เอ็นโคออดิเนตได้สื่อสารกับสังคมว่าพวกเขายังมีขีดความสามารถ มีศักยภาพในการก่อการร้ายเป็นอย่างดี หากพวกเขาต้องการก่อเหตุร้าย ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน เมื่อไหร่ เขายังสามารถทำได้ ในบางช่วงบางจังหวะ ที่ไม่มีเหตุร้ายต่อเนื่องไม่ใช่เป็นเพราะ เจ้าหน้าที่ทำงานได้ผลในการ กดดัน สกัดกั้น แต่เป็นเพราะเขามีเหตุผล ที่ไม่ต้องการก่อเหตุร้ายเท่านั้น
 
          อย่าลืมว่า ในระหว่างที่นายรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศ เดินทางมาร่วมเปลี่ยนชื่อสะพาน และภารกิจอื่นๆ ใน จ.นราธิวาส นั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ศอ.บต.  ศตช. และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้มีการวางแผนป้องกันเหตุร้ายชนิดที่ “เข้มข้น” ที่สุด แผนทุกแผนที่ดีที่สุด ถูกนำมาปฏิบัติการเพื่อมุ่งหวังว่า จะหยุดการก่อความไม่สงบของ “แนวร่วม” ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งผู้นำทั้งสองประเทศ มีภารกิจที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน แต่สุดท้าย คือการก่อเหตุร้ายเกิดขึ้น 10 เหตุการณ์ มีเจ้าหน้าที่ และประชาชนเสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บอีก 30 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการก่อวินาศกรรมด้วย “ระเบิด”  และสื่อสารถึงวัตถุประสงค์ด้วย “ใบปลิว” และ ป้ายผ้าที่ติดเอาไว้ตามจุดต่างๆ
 
          สิ่งที่เกิดขึ้น นอกจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องยอมรับว่า “ล้มเหลว” ในการป้องกันเหตุร้ายแล้ว ยังต้องยอมรับว่ามีความ “พ่ายแพ้” ทางการเมืองอีกต่างหาก เพราะการที่ “แกนนำ” สั่ง “แนวร่วม” ให้ปฏิบัติการแบบ “ปูพรม” ด้วยความรุนแรง ในห้วงเวลาที่ผู้นำประเทศทั้งสองอยู่ในพื้นที่การสู้รบ ขบวนการฯต้องการหวังผลทาง “การเมือง” เป็นการยืนยันถึงเจตนารมณ์ในการ แบ่งแยกดินแดน ด้วยวิธีการของตน เพื่อ “สื่อ” นายราจิบ นาซัค นายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซียโดยตรง และเป็นการถือโอกาสชิงพื้นที่ข่าวของ “สื่อ” ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการนำเสนอสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
 
          จึงมีคำถามหลังจากเหตุความรุนแรงในครั้งนี้ว่า “รัฐบาลไทย” หรือประเทศไทย รวมทั้งคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้อะไรจากการเดินทางมาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในครั้งนี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากการคุ้มกันอย่างแน่นหนา โดยใช้กำลังทหาร ตำรวจ และพลเรือนกว่า 15,000 นาย เพื่อรักษาความปลอดภัยให้ผู้นำทั้งสองประเทศแล้ว รอบๆตัวของผู้นำทั้ง 2 ประเทศ มีแต่ข่าวร้ายก่อการร้ายที่ถูกรายงานให้ทราบตลอดทั้งวัน ซึ่งอาจจะสร้างความประทับใจให้กับ นายนาจิบ ราซัค จนน่าจะมีการเดินทางมาเยือนพื้นที่ 3 จังหวัดเป็นครั้งที่ 2 อีกต่อไป
 
          ยิ่งเมื่อดูท่าทีของ นายนาจิบ ราซัค  ซึ่งเคยสนับสนุนให้รัฐบาลแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ หรือ “ออโตโนมี” และสัมผัสได้ถึงกระแสความไม่พอใจของรัฐบาลไทยที่เห็นคำว่า “ออโตโนมี” เป็นของแสลง ก็กลับลำชนิด 180 องศา โดยกล่าวว่า ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องภายในประเทศของไทย เท่ากับบอกว่า ปัญหาของไทยเมื่อเป็นเรื่อง “ภายใน” ไทยก็ต้องแก้เอาเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดน เรื่องแกนนำแนวร่วมใช้พื้นที่มาเลเซียเป็นที่หลบซ่อน หรือเรื่องคนสองสัญชาติ ส่วนปัญหาอื่นๆ ทั้งในเรื่องการค้าชายแดน เรื่องแรงงานเถื่อน เรื่องค้ามนุษย์ เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจแนวชายแดน รัฐแต่ละรัฐของประเทศมาเลเซีย ต่างมีนโยบายเป็นของตนเอง รัฐบาลเพียงให้การสนับสนุนเท่านั้น จึงเป็นเรื่องของไทย ที่ต้องใช้ “กลไก” ที่มีอยู่ เพื่อแก้ปัญหาตามขบวนการ เพราะ นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย รู้อยู่เต็มอกว่า ตราบใดที่รัฐบาลไทย แก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นไม่จบ หรือไม่ได้ผล ปัญหาอื่นๆ ก็ยากที่จะแก้
 
 
          การเดินทางมาพบกันของนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศ ผู้ที่ได้คะแนนนิยมไปเต็มๆ จึงได้แก่ นายนาจิบ ราซัค ที่ได้ใจชาวมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ต่างมีความผูกพันกับประเทศมาเลเซียมากกว่าประเทศไทย เพราะต่างมีประเพณี วัฒนธรรม ภาษา ศาสนาที่เหมือนกัน และต่างถือเป็นพี่น้องร่วมโลก ส่วนประเทศไทยนั้น สิ่งที่ได้คือ “ภาพ” ที่ “สื่อ” ให้เห็นว่า ได้พยายามแสวงจุดร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น โดยพยายามที่จะนำเสนอให้ผู้นำประเทศมาเลเซียเห็นว่า ปัญหาในพื้นที่ชายแดนเป็นปัญหาร่วมกันของทั้งสองประเทศ ที่ต้องร่วมกันทั้งสองฝ่ายในการหาทางออก เพราะถ้าชายแดนไทยไม่สงบ ย่อมกระทบกับประเทศมาเลเซียเช่นกัน ฉะนั้นการร่วมมือกันใน “มิติ” ทางเศรษฐกิจ สังคม และ การศึกษา จึงเป็นการสานสัมพันธ์ ที่สามารถได้รับผลประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ประเทศ
 
          แต่... จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และท่าทีของนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซียที่แสดงออก น่าจะบอกได้ว่านับแต่นี้ไปสถานการณ์ความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสอง ยังคงเป็นไปในรูปแบบเดิมๆ เช่นเดียวกับครั้งที่นายมหาเธร์ โมฮัมมัด และ นายอับดุลลา บาดาวี 2 อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย คือ เป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกัน ไม่ขัดแย้งกัน ส่วนปัญหาทุกอย่างคงใช้ช่องทางทางการทูต ทางการทหาร และ สำนักงานชายแดนส่วนภูมิภาค ในการดำเนินการ
 
          ในเมื่อปัญหาการก่อความไม่สงบ การแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกิจการภายในของไทย เป็นเรื่อง “ส่วนตัว” ของไทย แล้วจะให้มาเลเซียไป (เสือก) ยุ่งอะไรด้วยเล่า