Skip to main content

 

 โคทม อารียา

เราจะอยู่กันอย่างไรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) และคนใน จชต. จะอยู่ร่วมกันกับคนในภาคอื่น ๆ ของสังคมไทยอย่างไร แล้วถ้าจะให้อยู่กันได้ เราจะต้องทำอะไรบ้าง นี่คือตัวอย่างของโจทย์คำถามที่ถูกยกขึ้นมาถกแถลงในการประชุมเรื่อง นโยบายการบริหารและการพัฒนา จชต. พ.ศ. 2558-2560 ซึ่งจัดโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา

ขอเสนอคำตอบสั้นๆ ว่า เราต้องบริหารและพัฒนา จชต. อย่างเข้าใจ มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล ด้วยความเคารพในเอกลักษณ์ทางการเมืองของ จชต. โดยทำการปฏิรูประบบการเมืองของ จชต. ให้เข้ากันได้กับเอกลักษณ์ทางการเมืองของสังคมไทยโดยรวม แต่คำถามที่สำนักงาน สมช. ถามมีความเจาะจงพอสมควรซึ่งจะขอตอบเป็นข้อ ๆ ตามที่ถามดังนี้

 

(1) สถานการณ์ใน จชต. ที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคตเป็นอย่างไร

สถานการณ์มีความรุนแรงทางตรงอยู่ในระดับสูง สูงสุดในปี 2550 ซึ่งในปีนั้นมีผู้เสียชีวิตเกือบวันละ 2 คน จากนั้นได้ลดลงเหลือน้อยกว่า 1 คนต่อวัน อย่างไรก็ดี เมื่อมีปัญหาทางการเมืองในส่วนกลาง และการพูดคุยสันติภาพได้หยุดชะงักลง แนวโน้มการเสียชีวิตได้เพิ่มมากขึ้นเป็นกว่า 1 คนต่อวัน ซึ่งรวมถึงเป้าหมายอ่อนแอ (หมายถึงพลเรือนผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้) ที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นด้วย แสดงว่ามาตรการความมั่นคงไม่สามารถทำให้เกิดความปลอดภัยได้เท่าที่ควร

ความรุนแรงเชิงโครงสร้างดำรงอยู่ เพราะการบริหารราชการพลเรือนยังไม่เอาจริงเอาจังนัก จชต. รั้งท้ายเสมอมาในด้านผลผลิตมวลรวมของจังหวัด รั้งท้ายเสมอมาในเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ทรัพยากรธรรมชาติ (น้ำ ดิน ป่า ฯลฯ) ก็ถูกแย่งชิงไปเหมือนอย่างเคย กระบวนการยุติธรรมล่าช้าอย่างไรก็อย่างนั้น ทางการชอบกล่าวถึงภัยแทรกซ้อน เช่น ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน สถานบันเทิง/ธุรกิจผิดกฎหมาย การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การแพร่หลายของอาวุธทั้งที่จดทะเบียนและอาวุธสงคราม แต่ยังมองไม่เห็นแนวโน้มการลดลงของปัญหาเหล่านี้มากนัก ส่วนโครงสร้างทางการเมือง มีการเสริมอำนาจการปกครองจากส่วนกลาง (นั่นคือราชการส่วนภูมิภาค ทั้งพลเรือนและทหาร) แต่การให้คนในพื้นที่มีส่วนในการตัดสินใจ ปกครองกันเอง ตลอดจนการพัฒนาการปกครองท้องถิ่น ก็ยังเหมือนเดิม แม้ว่าจะมีการศึกษาและเสนอแนะในเรื่องนี้มากมาย สรุปก็คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทราบกันดี ก็ดำรงหรือทรงตัวอยู่

ความรุนแรงทางวัฒนธรรมเป็นส่วนที่อยู่ลึกและปรับปรุงแก้ไขได้ยาก อย่างไรก็ดี ทางราชการมีการทำความเข้าใจในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มที่ดีในหลาย ๆ ด้าน เช่นผ่อนผันและสนับสนุนการใช้ภาษาพูดที่เป็นภาษามลายูท้องถิ่น มีการเปิดพื้นที่ทางการศึกษาประวัติศาสตร์ มีการสนับสนุนการประกอบศาสนกิจของผู้นับถือศาสนาอิสลาม แม้ปัญหาสำคัญในเรื่องการเคารพเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม จะผ่อนคลายลงในพื้นที่ จชต. แต่ยังขาดการทำความเข้าใจกับสังคมไทยโดยรวม ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังอยู่ใต้วาทกรรมครอบงำของสังคมในเรื่อง หนึ่งรัฐ-หนึ่งชาติพันธุ์ มาตลอด จึงไม่เข้าใจว่าทำไมคน “ไทย” ใน จชต. จึงดิ้นรนต่อสู้เพื่อรักษาเอกลักษณ์มลายูถึงปานนี้

 

(2) อะไรคือรากเหง้าและสาเหตุของปัญหา

จะขอให้แนววิเคราะห์ ที่ตั้งชื่อเอาเองว่า PRIC มาใช้ (ไม่รู้จะจ๊าบเหมือนพริกหรือเปล่า) คำคำนี้ย่อมาจาก Power, Right, Interest, Culture แปลว่า อำนาจ (รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ) สิทธิ (รวมถึงการคุ้มครองสิทธิอย่างยุติธรรม) ผลประโยชน์ (ทั้งทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ และทางสังคม) และวัฒนธรรม (รวมถึงทัศนคติ อคติ ระบบความคิด/ความเชื่อ)      

รากเหง้าของปัญหาในทางอำนาจสืบเนื่องจากการพ่ายแพ้ของรัฐปาตานีในศึกสงครามสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การผนวกดินแดน จชต. (รวมสตูล) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม ตามสนธิสัญญา สยาม-อังกฤษ ในปี 2452 และการส่งคนจากส่วนกลาง (ปัจจุบันเรียกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด) เข้าไปปกครอง จชต. มาโดยตลอด

รากเหง้าของปัญหาในด้านสิทธิคือการรับรู้/รู้สึกของคนในพื้นที่ว่าตนเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่ก่อนติดต่อกับทางการได้ลำบาก และไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรม เพราะการเป็นแขกที่พูดภาษามลายูเคยเป็นความแปลกแยกสำหรับข้าราชการส่วนใหญ่ เรากำลังพูดถึงรากเหง้าที่มีมาแต่อดีต แม้มีความพยายามปรับปรุงแก้ไข แต่การรับรู้/รู้สึกของคนก็เปลี่ยนได้ช้า และการแก้ไขก็ยังไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ดี ผลพวงจากการพยายามให้คนเชื้อสายมลายูมีสิทธิเท่าเทียมกับคนเชื้อสายอื่น ๆ อาจสร้างความรับรู้/รู้สึกของคนเชื้อสายอื่น ๆ ว่าสิทธิของตนด้อยลงไป จนจะกลายเป็นพลเมืองชั้นสองเองไปบ้างแล้ว

รากเหง้าของปัญหาในด้านผลประโยชน์คือ เศรษฐกิจเมืองและนอกภาคเกษตรได้เปรียบเศรษฐกิจชนบทมาตลอด การศึกษาของคนเมืองก็ดีกว่าเช่นกัน เรื่องนี้เป็นปรากกการณ์ทั่วไป ไม่เฉพาะใน จชต. อย่างไรก็ดี เนื่องจากคนเชื้อสายมลายูส่วนมากจะอยู่ในภาคชนบท ส่วนในเมืองจะมีคนเชื้อสายจีนที่กุมเศรษฐกิจได้ดีกว่า ผลคือความเหลื่อมล้ำและการแบ่งผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมที่เป็นหนึ่งในรากเหง้าของปัญหา

รากเหง้าของปัญหาทางวัมนธรรมจะอยู่ลึกที่สุด เราได้กล่าวแล้วถึงเอกลักษณ์ทางภาษา ประวัติศาสตร์ และศาสนา แต่สิ่งเหล่านี้รวมกันทำให้เกิดระบบความคิด/ความเชื่อที่หยั่งรากลึก ซึ่งโจฮัน กาลตุง ปรมาจารย์ผู้ศึกษาความขัดแย้งเรียกว่า วัฒนธรรมส่วนลึก วัฒนธรรมหนึ่งมีชื่อย่อว่า CGT ( ย่อมาจาก Chosen, Glory, Trauma) อาจเป็นได้ว่าคนใน จชต. จะมีระบบความคิด/ความเชื่อว่า การเป็นชาวปาตานีหมายถึงการเป็นชนที่ถูกเลือก (Chosen) ให้เป็นเสาหลักทางศาสนา เป็นระเบียงแห่งเม็กกะ หมายถึงการเป็นชนผู้มีประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง (Glory) เช่น รุ่งเรืองทางการค้า ทางการเกษตร ทางการปกครองสมัยรานี ทางเทคนิคการสู้รบด้วยการสร้างปืนใหญ่ตานี ฯลฯ รวมหมายถึงการเป็นชนที่ถูกรังแกและมีบาดแผลทางประวัติศาสตร์ (Trauma) รวมทั้งการสูญเสียดินแดนและการถูกบังคับกลมกลืนทางวัฒนธรรม ในบรรดาคนที่หล่อหลอมด้วยวัฒนธรรม CGT จะมีจำนวนหนึ่งที่มีระบบความคิด/ความเชื่อที่โจฮัน กาลตุง เรียกว่า DMA (ย่อมาจาก Dualism, Manicheism, Armageddon) อยู่ด้วย กล่าวคือมีวัฒนธรรมเลขสอง (Dualism)   คือการแบ่งฝ่ายแล้วเลือกข้าง มีความเชื่อว่าฝ่ายตนถูกหรือเป็นฝ่ายเทพ ส่วนอีกฝ่ายเป็นมาร เป็นพวกนอกรีต (Manicheism) และเชื่อว่าไม่มีทางที่เทพกับมารจะอยู่ร่วมกันได้ จึงต้องทำสงครมครั้งสุดท้ายเพื่อกำจัดมาร (Armageddon) ถ้าการวิเคราะห์ของกาลตุงมีส่วนถูก หมายความว่า ขบวนการที่ต่อสู้ด้วยอาวุธ มีวัฒนธรรมส่วนลึก แบบ CGT + DMA ที่ทำให้ต่อสู้อย่างไม่ลดละ เพื่อให้ได้ชัยชนะ เพื่อจะได้ไม่ต้องอยู่ด้วยกัน

ในวันที่ถกแถลงกันในเรื่อง นโยบายการบริหารและพัฒนา จชต. ยังมีคำถามที่ต้องตอบอีกสามข้อ ซึ่งจะขอยกไปเขียนในบทความตอนต่อไป