Skip to main content
กษมา  จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

บทนำ

หลังจากการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับ BRN ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ทาง BRN ได้มีเงื่อนไข 7 ข้อจากคำแถลงการณ์ครั้งที่ 4 ใน YouTube เรื่องการหยุดการปฏิบัติการทหารในเดือนรอมฎอนในปี 2556 เป็นเวลา 40 วัน ถึงแม้ว่าเงื่อนไขนี้ทางฝ่ายรัฐไทยไม่ได้รับปากอย่างเป็นทางการ แต่ทางรัฐไทยก็ได้พยายามสร้างบรรยากาศที่หนุนเสริมกับเงื่อนไขเหล่านั้น ทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบในเดือนรอมฎอน ปี 2556 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา[1] กล่าวคือในสามวันแรกของเดือนรอมฎอนพบว่ามีเหตุการณ์ที่ไม่มีผู้เสียชีวิต และเป็นสิบเอ็ดวันที่ปราศจากเหตุความรุนแรง[2]

จากผลที่เกิดขึ้นได้แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันจะไม่ได้มีข้อตกลงร่วมกันอย่างชัดเจนในการยุติการปฏิบัติการทางการทหารในช่วงเดือนรอมฎอนในปี 2556 แต่ก็มีการสื่อสารบางอย่างผ่านจำนวนข้อมูลจากเหตุการณ์ความไม่สงบและจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นการแสดงออกถึงการพยายามร่วมกันของทั้งสองฝ่ายที่พยายามทำให้เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งสันติภาพ ถึงแม้จะไม่ปราศจากความรุนแรงทั้งเดือนรอมฎอนแต่แนวโน้นที่ดีที่ทั้งสองฝ่ายเริ่มที่จะสื่อสารและมีภารกิจในกระบวนการสันติภาพร่วมกัน

คำถามที่น่าสนใจในเดือนรอมฎอนปีนี้คือ  ภายใต้บริบทการเมืองส่วนกลางที่เปลี่ยนแปลง และ  หลังจากการพูดคุยสันติภาพที่หยุดชะงัก  แนวโน้มความเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนรอมฎอนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?  เป็นไปได้หรือไม่ที่รอมฎอนปีนี้สามารถเป็นเดือนแห่งสันติภาพที่มีการหยุดการปฏิบัติการทางการทหารทั้งสองฝ่ายโดยการขับเคลื่อนและการเฝ้าระวังโดยภาคประสังคมในพื้นที่  เพื่อรักษาทุกชีวิตและพื้นที่สันติภาพ? 

คำถามแรกเป็นคำถามที่เชื่อมโยงกับคำถามที่สองอย่างเกี่ยวเนื่องและเป็นเหตุเป็นผลกัน  ดังนั้นแนวโน้มจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบอาจจะลดน้อยลงอย่างเป็นนัยสำคัญก็เป็นได้  ถ้าภาคประชาสังคมในพื้นที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนประเด็นรอมฎอนเดือนแห่งสันติภาพ โดยการหยุดการปฏิบัติการทางการทหารทั้งสองฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐไทย และ ฝ่ายขบวนการที่ต่อต้านรัฐไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ การขับเคลื่อนนี้ต้องเป็นการร่วมมือร่วมแรงกันภายในภาคประชาสังคมในการรณรงค์ให้ทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกัน การงดใช้ความรุนแรงในเดือนรอมฎอน  เนื่องจากเป็นเดือนแห่งการปฎิบัติอิบาดะฮ์ตามหลักการศาสนาอิสลาม  เดือนแห่งความเมตตาและการให้อภัยต่อเพื่อนมนุษย์ และ เดือนแห่งความอดทน (ซอบัร) ต่อความหิวและกระหาย [3]

บทบาทของอูลามะอ์ในการสื่อสารสันติภาพรอมฎอน

ถึงแม้ว่ามีบทความที่ได้วิพากษ์ถึงบทบาทอูลามาอ์ (Ulama) ถึงสันติภาพในเดือนรอมฎอน ที่ได้กล่าวว่า “ตามประวัติศาสตร์อิสลามไม่ได้มีการหักห้ามในการทำสงครามใดๆ แต่สิ่งที่บรรดาอูลามาอฺในพื้นที่ต่างออกมาเรียกร้องให้ยุติการต่อสู้นั้น ไม่รู้ว่าเอาตัวบทหลักฐานมาจากแหล่งใดของประวัติศาสตร์”[4]  จากข้อความดังกล่าวได้วิพากษ์โดยตรงต่อบทบาทของอูลามะอ์ที่ออกห้ามปรามการจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับรัฐว่าเป็นการออกมาห้ามปรามโดยเอาใจทางรัฐไทยมากกว่าจะสื่อสารความจริงให้ทางรัฐได้รับรู้[5]

ในประเด็นข้อถกเถียงนี้ ถ้าจะนำมาตีความในทางหลักการทางศาสนาคงเป็นเรื่องที่เกินความสามารถของตัวผู้เขียน แต่ถ้าจะนำมาตีความในทางวิชาการในทางสันติศึกษาแล้ว  บทบาทของอูลามะอ์ที่ได้ออกมาห้ามปรามฝ่ายต่อต้านรัฐไม่ให้ใช้ความรุนแรงในเดือนรอมฎอนได้ตรงกับวิธีการหนึ่งในกระบวนการลดความขัดแย้งที่มีชื่อว่า GRIT (Graduated Reciprocation in Tension reduction) หรือ “การต่างตอบสนองอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในการลดความตึงเครียดระหว่างกัน” โดย Charles E Osgood ที่เป็นกระบวนการสันติภาพที่พยายามลดกระบวนการความตึงเครียดระหว่างกันระหว่างตัวแสดงที่ข้อแย้งกันโดยการริเริ่มจากตัวแสดงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว[6]

หลักการสำคัญของ GRIT ก็คือ การสื่อสารอย่างชัดเจนจากฝ่ายที่ริเริ่มกระบวนการ  และอีกฝ่ายก็จะประเมินความเสียที่มีต่อตนเองและอีกฝ่ายเช่นกันถ้าไม่ยอมลดความแข็งกร้าวต่ออีกฝ่ายเมื่อมาถึงจุดดุลภาพ(ภาพที่ 3)  กล่าวคือ เมื่อฝ่ายที่ริเริ่มส่งสัญญาณที่แน่ชัดว่าจะหยุดทำการคุกคามและการโจมตี  แต่อีกฝ่ายไม่ยอมหยุด  ความเสียที่เกิดขึ้นจะไม่เกิดเพียงแต่ฝ่ายที่ริเริ่มเท่านั้นแต่ความเสียจะเกิดขึ้นเช่นกับฝ่ายที่ไม่ยอมหยุด (ภาพที่ 2)

 

ภาพที่1: การเผชิญหน้า

 

ภาพที่ 2: กรณีล้มเหลว

 

ภาพที่ 3: การริเริ่ม และการตอบสนองเพื่อรักษาดุลยภาพ

 

ดังนั้นบทบาทของอูลามะอ์ที่ได้ออกมาห้ามปรามฝ่ายต่อต้านรัฐไม่ให้ใช้ความรุนแรงในเดือนรอมฎอนเป็นดั่งการริเริ่มลดกระบวนการขัดแย้งในพื้นที่ที่พยายามให้คนในพื้นที่พยายามลดการปฏิบัติการในเดือนรอมฎอนก่อนและไปการสื่อสารไปยังทางรัฐไทยด้วยเช่นกันว่าการทางคนในพื้นที่จะหยุดการปฏิบัติการทางการทหารในเดือนรอมฎอนแล้วทางรัฐไทยจะร่วมหยุดการปฏิบัติการเช่นกันหรือไม่?  หรือ  จะให้เป็นเฉกเช่นดั่งเดือนรอมฎอนใน 9 ปีที่ผ่านมาที่ทั้งสองฝ่ายปะทะกันและสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเช่นเดิม

ความท้าทายของวิทยุชุมชนในการสื่อสารสันติภาพรอมฎอน

ท่ามกลางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงทำให้สถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศถูกระงับสัญญาณเนื่องจากเหตุผลด้วยความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากสื่อโทรทัศน์ที่คนในพื้นที่นิยมใช้มากที่สุดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแล้ว  วิทยุชุมชนเป็นสื่อที่เป็นอันดับรองลงมาที่คนในพื้นที่นิยมเข้าถึงข้อมูลและข่าวสาร[7]  แต่ถ้ามองในมุมมองจากคนในพื้นที่  จะเห็นได้ว่าวิทยุชุมชนถือว่าเป็นสื่อท้องถิ่นที่มีความนิยมในพื้นที่มากเป็นอันดับ 1 โดยการจัดรายการและอำนวยการโดนคนในพื้นที่เอง ซึ่งต่างจากสื่อโทรทัศน์กระแสหลักที่เป็นการสื่อสารโดยสถานีโทรทัศน์จากส่วนกลางแพร่ภาพไปยังทั่วทุกภาคของประเทศ ด้วยเหตุนี้สื่อวิทยุชุมชนจึงมีความใกล้ชิดโดยตรงมากกับท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่

ในช่วงเวลาที่วิทยุชุมชนถูกระงับสัญญาณในการออกอากาศ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2557 ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ร่วมกับสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ และวิทยาลัยอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเสนวนาวิชาการเรื่อง “รอมฎอนสันติภาพเป็นพันธกิจ: เราจะสื่อสารอะไรในเดือนแห่งความเมตตา?” ณ ห้องประชุมอัลอัยยูบีย์ ชั้น 5 วิทยาลัยอิสลามศึกษา โดยมีนักรายการวิทยุชุมชนในพื้นที่เข้าร่วมประมาณกว่า 50 คน  งานเสวนาในครั้งนี้มีวิทยากรร่วมเสวนาคือ ดร.อับดุลเลาะ อาบูบากา กรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา อ.มูฮัมหมัด คอยา อาจารย์ประจำสาขาอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฎอนี ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยพายัพ โดยมีอ.อุสมาน ราฎร์นิยม เป็นผู้ดำเนินการเสวนา งานเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมนักจัดรายการวิทยุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการจัดรายการในช่วงเดือนรอมฎอนที่จะมาถึงในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ [8]

สิ่งที่น่าสนใจในงานเสวนาครั้งนี้คือ การให้ความหมายของเดือนรอมฎอนสามารถสอดคล้องกับสันติภาพได้อย่างไรและจะสื่อสารสันติภาพรอมฎอนอย่างไร  โดยวิทยากรทั้ง 3 ท่านได้ให้ความเห็นดังต่อไปนี้  อ.มูฮัมหมัด คอยา ได้ให้ความหมายของรอมฎอน คือ การเผาผลาญบาปของตนเองโดยการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักอิบาดะฮ์  และนอกจากการถือศีลอดในช่วงเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นแล้วยังเป็นช่วงเวลาสำคัญในการให้จัดการชีวิตของตนเองเพื่อให้มีระเบียบ เพื่อให้มีชีวิตให้ในเดือนรอมฎอนและหลังจากเดือนรอมฎอน  กฎระเบียบนี้เป็นกฎระเบียบที่เหมือนกันในมุสลิมทั่วโลก การมีระเบียบในการใช้ชีวิต  ทำให้ทุกคนมีสติในการใช้ชีวิตโดยการไตร่ตรอง เป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดี  การมีจิตสำนึกที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำบ้านเมืองสงบสุข  

ส่วน ดร.อับดุลเลาะ อาบูบากา ได้ให้ความหมายของเดือนรอมฎอนว่าคือเดือนแห่งความเมตตาและการให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ทุกคนบนโลก  หลักการปฏิบัติในเดือนรอมฎอนนี้ยังตั้งอยู่บนหลักการความเสมอภาคกับมุสลิมทุกคนบนโลก  ทุกคนปฏิบัติเช่นเดียวกันหมดไม่ว่าจะรวยหรือจน เพราะว่าทุกคนมีความย่ำเกรงและศรัทธาต่ออัลลอฮฺ อย่างเท่าเทียมกันแล้ว  ดังนั้นความสงบและสันติภาพในเดือนรอมฎอนจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ถ้าเรามีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ

ส่วนการสื่อสารในเดือนนี้ ดร.อับดุลเลาะ เสนอว่าสื่อต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศของเดือนรอมฎอน ควรจะเป็นหลักสูตรหรือการเตรียมการนำเสนอ โดยแบ่งไปเลยว่า 10 วันแรก ควรส่งเสริมหรือสร้างบรรยากาศเรื่องอะไร 10 วันกลางควรส่งเสริมหรือสร้างบรรยากาศเรื่องอะไร และ 10 วันสุดท้ายสร้างบรรยากาศเรื่องอะไร เช่น เรื่องซากาตและการเอียะติกาฟ เป็นต้น

 ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี ได้ให้ความหมายสันติภาพในรอมฎอนในมุมมองที่ว่า  สันติภาพจะเกิดไม่ได้ในสังคม ถ้าไม่มีความสันติสุขระหว่างศาสนา  สันติสุขระหว่างศาสนาจะเกิดขึ้นได้จากการเสวนาระหว่างศาสนา  การเสวนาระหว่างศาสนาจะเกิดขึ้นได้ศาสนิกในศาสนานั้นๆ ต้องมีความเข้าใจในศาสนาของตนเองอย่างถ่องแท้ 

ส่วนการที่จะสื่อสารสันติภาพรอมฎอนได้จะต้องมีความเข้าในรอมฎอนเสียก่อน  ดังนั้น การสื่อสารในเดือนรอมฎอนนอกจากสื่อสารถึงเรื่องหลักการปฏิบัติอย่างถูกต้องโดยความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วแล้ว  เรายังสามารถสื่อสารเดือนรอมฎอนคือเดือนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนได้อีกด้วย  ดังเช่นตัวอย่างก็คือ Fast-a-thon  เป็นการริเริ่มจากชมรมมุสลิมในมหาวิทยาลัยเทนเนสซี่ในสหรัฐอเมริกาที่เชิญชวนศาสนิกในศาสนาอื่นมาร่วมถือศีลอดร่วมกันกับนักศึกษาในชมรมมุสลิม  เพื่อเข้าใจความยากลำบากและความอดอยากของบุคคลที่ไม่มีอาหารรับประทาน  กิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างศาสนาแล้ว ยังสามารถส่งสารถึงมนุษยชนคนอื่นๆ ให้เข้าใจถึงความยากลำบากของคนที่ไม่มีอาหารรับประทานในทุกภูมิภาคของโลกด้วย นี่คือตัวอย่างการสื่อสารสันติภาพในเดือนรอมฎอนซึ่งนอกจากจะสื่อสารในเรื่องหลักปฏิบัติทางศาสนาแล้วยังสื่อสารถึงประเด็นที่เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในประเด็นโลกในเรื่องความขาดแคลนอาหารเพื่อดำรงชีพ

การสื่อสารของวิทยุชุมชนโดยการถอดบทเรียนที่สำคัญของวิทยากรในการเสวนาในการสื่อสารสันติภาพในเดือนรอมฎอนจะเป็นสิ่งที่มีค่ามากในการสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ ที่วิทยุชุมชนมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วเป็นทุนเดิม  รวมไปถึงวิทยุชุมชนที่มาเข้าร่วมการเสวนาทุกท่านเป็นกลุ่มคนที่มีช่องทางการสื่อสารอยู่ในมือทุกท่านอยู่แล้ว หากเพียงแต่การเพิ่มหรือดัดแปลงตัวอย่างที่มาจากประสบการณ์ของท่านวิทยากรที่เป็นนักวิชาการในทางศาสนาที่มาให้ความรู้ในการเสวนา  จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการสื่อสารในพื้นที่ให้มีความหลากหลายมากขึ้นไปอีก รวมไปถึงการขยายช่องทางการสื่อสารกับกลุ่มคนต่างศาสนาเพื่อเป็นการเสวนาระหว่างศาสนา  เพื่อเป็นการเรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกันแบบสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเป็นการร่วมกันรณรงค์การหยุดการใช้ความรุนแรงทั้งฝั่งรัฐไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างกับรัฐไทยในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐยิ่งในปีนี้

บทสรุป

การสื่อสารสันติภาพรอมฎอน นอกจากจะเป็นรณรงค์ในการไม่ใช้ความรุนแรงทั้งสองฝ่ายในเดือนรอมฎอนแล้ว  ยังเป็นการรักษาพื้นที่สันติภาพที่เพิ่งแตกหน่ออ่อนขึ้นใน 1 ปีที่ผ่านมา  การรักษาสันติภาพที่เกิดขึ้นมาถึงแม้ว่าในขณะนี้จะหยุดชะงักลงไปเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกันรักษาพื้นที่สันติภาพไว้ มิฉะนั้นกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้จะต้องไปเริ่มต้นใหม่  ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายกับสิ่งที่ทุกคนรวมทั้งภาคประชาสังคมได้ร่วมกันหนุนเสริมสันติภาพขึ้นมา 

ดังนั้น พันธกิจสันติภาพรอมฎอนไม่เพียงแต่ภาคประชาสังคมทุกกลุ่มมีหน้าที่จะต้องขับเคลื่อนประด็นนี้เพื่อให้เกิดแรงเหวี่ยงที่ทำให้เกิดความตระหนักคิดในเรื่องการหนุนเสริมและรักษาสันติภาพที่เกิดขึ้นมา แต่เป็นการรักษาชีวิตผู้คนในพื้นที่พร้อมทั้งการรักษาพื้นที่ปลอดภัยของคนในพื้นที่ให้มีความอิสระในการปฏิบัติตามหลักการทางศาสนาให้สมกับเป็นเดือนอันประเสริฐของศาสนาอิสลาม  รวมไปถึงพื้นที่ที่ปลอดภัยกับคนต่างศาสนิกที่สามารถใช้ชีวิตและปฎิบัติศาสนกิจตามความเชื่อของตนเอง อย่างเช่นในเดือนกรกฏาคมมีวันสำคัญทางศาสนาพุทธ อย่างวันอาสาฬหบูชารวมอยู่ด้วย

การปราศจากเหตุการณ์ความไม่สงบในเดือนรอมฎอนเป็นจุดมุ่งหมายอันสูงสุดของพันธกิจนี้  เพื่อเป็นการรักษาชีวิตของทุกคนในพื้นที่ แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าสถานการณ์ในอนาคตของเดือนรอมฎอนปีนี้จะป็นเช่นไร  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการร่วมแรงร่วมใจในการปฎิเสธการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ และการส่งเสริมการใช้สันติภาพในการแก้ไขปัญหาแทน  สิ่งนี้จะเป็นแก่นในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้  เพื่อให้พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีสันติภาพอย่างยั่งยืน

 

[1] ดู ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และ แอนเดอร์ส เองวอลล์. สันติภาพที่มีความหมาย: การประเมินผลการหยุดยิงในช่วงเดือนรอมฎอน. URL: http://www.deepsouthwatch.org/node/4719

[2] ดู DSID. ข้อมูล 9 เรื่องในรอมฎอนชายแดนใต้. URL: http://deepsouthwatch.org/node/4649 และ สถิติความรุนแรงในรอบ 40 วัน (10 ก.ค. - 18 ส.ค.) ตามเงื่อนไขการลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนของทางการไทยและบีอาร์เอ็น.URL: http://deepsouthwatch.org/node/4648

[3] ดร.อับดุลเลาะ อาบูบากา. 2557. เวทีเสวนา “รอมฎอนสันติภาพเป็นพันธกิจ: เราจะสื่อสารอะใรไนเดือนแห่งความเมตตา” จัดในวันที่ 15 มิถุนายน 2557 ที่ อาคารวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ

[4] ดู AwanBook. บทบาทอูลามาอฺ; กับวาทกรรมการสร้าง “สันติภาพรอมฎอน” ปาตานี. URL: http://deepsouthwatch.org/node/5822

[5] อ้างแล้ว

[6] ดู Osgood, Charles E., An Alternative to war or surrender, (Urbana:  University of Illinois Press, 1962)

[7] ดู ฐิตินบ โกมลนิมิ. “คำนำ” ใน เสียงในสนามสันติภาพ บทบาทวิทยุชุมชนชายแดนใต้กับการสร้างพื้นที่กลาง, (โครงการจัดพิมพ์ดีพบุ๊กส์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้: ภาพพิมพ์, 2557)

[8] ดู โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้, วงเสวนา “รอมฎอนสันติภาพเป็นพันธกิจ” นักวิชาการ-สื่อเรียกร้องร่วมสร้างบรรยากาศสันติ, URL: http://www.deepsouthwatch.org/dsj/5844