Skip to main content

โคทม อารียา

เราจะอยู่กันอย่างไรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) และคนใน จชต. จะอยู่ร่วมกันกับคนในภาคอื่น ๆ ของสังคมไทยอย่างไร แล้วถ้าจะให้อยู่กันได้ เราจะต้องทำอะไรบ้าง นี่คือตัวอย่างของโจทย์คำถามที่ถูกยกขึ้นมาถกแถลงในการประชุมเรื่อง นโยบายการบริหารและการพัฒนา จชต. พ.ศ. 2558-2560 ซึ่งจัดโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา

ในบทความตอนที่ 1 ผมได้ตอบคำถามข้างต้นอย่างสั้น ๆ ว่า เราต้องเคารพเอกลักษณ์ทางการเมืองของ จชต. โดยทำการปฏิรูประบบการเมืองของ จชต. ให้เข้ากันได้กับเอกลักษณ์ทางการเมืองทั้งของ จชต. และของสังคมไทยโดยรวม จากนั้นได้ตอบคำถามเจาะจงของสำนักงาน สมช. 2 ข้อคือ (1) สถานการณ์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และ (2) อะไรคือรากเหง้าของปัญหา โดยใช้แนววิเคราะห์ ที่ตั้งชื่อเอาเองว่า PRIC ซึ่งคำคำนี้ย่อมาจาก Power, Right, Interest, Culture แปลว่า อำนาจ สิทธิ ผลประโยชน์ และวัฒนธรรม ในบทความนี้ จะขอตอบคำถามข้อ (3) และข้อ (4) ส่วนข้อ (5) จะยกไปตอบในบทความตอนต่อไป

(3) นโยบายการบริหารและพัฒนา จชต. พ.ศ. 2555-2557 แก้ปัญหาได้หรือไม่

ขอตอบว่านโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ดี หากนำไปใช้อย่างจริงจังก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้มาก มีผู้กล่าวว่า “นโยบาย 2555-57 นั้นเหมือนฟ้าเปิด” ตีความว่านโยบายนี้เปิดโอกาสการแก้ไขปัญหา และเป็นนโยบายซึ่งหน่วยปฏิบัติที่กล้าใช้สันติวิธีนำการทหาร สามารถนำไปใช้เป็นหลังพิงในการปฏิบัติงานของตนได้

สิ่งที่น่ากังวลคือบรรยากาศทางการเมืองที่เปลี่ยนไปนั้น อาจทำให้นโยบายในสามปีข้างหน้า จะเป็นการถดถอยเมื่อเทียบกับนโยบายปัจจุบัน โดยอาจจะให้ฝ่ายความมั่นคงมาคุมฝ่ายพัฒนา ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายความมั่นคงไม่มีความสันทัดในด้านการพัฒนา และฝ่ายความมั่นคงควรค่อย ๆ ลดบทบาทลงตามลำดับ โดยมอบหมายหน้าที่การรักษาความปลอดภัยบางส่วนให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

สิ่งที่เป็นความหวังคือ นโยบายในสามปีต่อไป จะเป็นการต่อยอดจากนโยบายปัจจุบัน โดยเน้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในเรื่องการเคารพเอกลักษณ์ทางการเมืองของคนใน จชต. ตลอดจนความทนกันได้ (tolerance) และการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ที่มีเอกลักษณ์ต่างกัน

(4) ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาคืออะไร

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ถ้าใช้นโยบาย 2555-2557 อย่างจริงจัง ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้มาก กล่าวอีกนัยหนึ่ง แม้ว่านโยบายจะสามารถทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปได้อีก เช่นควรระบุว่ารัฐไทยพร้อมจะเจรจาเรื่องการให้คนในพื้นที่กำหนดใจตนเองในทางการเมืองภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ แต่นโยบายปัจจุบันก็ไม่ใช่ปัญหาสำคัญ ปัญหาอยู่ที่ระดับอื่นมากกว่า

ในระดับอำนวยการ ปัจจุบันมีกฎหมายแบ่งหน้าที่โดยให้การอำนวยการด้านความมั่นคงอยู่กับ กอ.รมน. ส่วนการอำนวยการด้านการพัฒนาอยู่กับ ศอ.บต. แต่หลังการรัฐประหาร เกรงว่า ศอ.บต. จะยอมให้ฝ่ายความมั่นคงเป็นหลัก กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือย้อนกลับไปสมัยที่ยังไม่มีกฎหมาย ศอ.บต. ซึ่งในตอนนั้น มีการอ้างความเป็นเอกภาพเพื่อให้ยึดถือฝ่ายความมั่นคงเป็นสำคัญ และให้การอำนวยการด้านการพัฒนาคล้อยตามฝ่ายความมั่นคง หากเป็นเช่นนี้ ก็น่าจะสวนทางกับนโยบายการบริหารและพัฒนา จชต. ฉบับปัจจุบัน ดังนั้น นโยบายฉบับต่อไปในสามปีข้างหน้าควรต้องยืนยันการแบ่งหน้าที่ที่ชัดเจน โดยให้มีการประสานงานกันระหว่างฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายการพัฒนาที่เคารพเหตุผลของกันและกัน  

การบริหารและการพัฒนา จชต. ในระดับปฏิบัติการมีปัญหาอยู่มาก ข้าราชการฝ่ายพลเรือนในพื้นที่แม้ตั้งใจดีแต่ก็กลัวภัย จึงไม่ลงพื้นที่สักเท่าไร ส่วนใหญ่ทำงานการพัฒนาจากสำนักงานตนเอง อย่าว่าแต่จะไม่ยึดนโยบายเลย ส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีนโยบายการบริหารและการพัฒนา จชต. พ.ศ. 2555-2557 อยู่ ปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือข้าราชการจำนวนมาก รวมถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มาประจำการในจชต. ในช่วงสั้น ๆ ยังไม่ทันได้เรียนรู้และสร้างความผูกพันในพื้นที่ ก็ย้ายออกไปอยู่ที่อื่นแล้ว

ในระดับต่างประเทศ รัฐไทยยังสองจิตสองใจ ด้านหนึ่งรู้ดีว่าเราไม่ได้อยู่โดยลำพัง ยังต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและต้องพึ่งพาต่างประเทศในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบอยู่ไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะ ต้องพึ่งโลกมลายูและโลกมุสลิม แต่รัฐก็ไม่ค่อยไว้วางใจประเทศเพื่อนบ้านนัก โดยเฉพาะส่วนของประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน อีกทั้งยังเล็งเจตนาว่า ขบวนการก่อความไม่สงบมีแผนที่จะยกระดับความขัดแย้งสู่สากล ซึ่งอาจนำไปสู่การเจรจาที่รัฐไทยเสียเปรียบ อันที่จริง ถ้ารัฐไทยไม่ทำตัวให้ล้มเหลว เชื่อว่าไม่ควรกังวลว่าจะเสียเปรียบในเวทีระหว่างประเทศ จึงควรกำหนดนโยบายในเรื่องนี้ โดยเป็นฝ่ายขอความร่วมมือจากมิตรประเทศในการแก้ไขปัญหา หมายความว่ารัฐควรยอมรับความเสี่ยงอย่างมีเหตุผลและการไตร่ตรอง ดีกว่าจะปิดกั้นโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือ และติดอยู่กับสถานการณ์ความรุนแรงอันยืดเยื้อ

ปัญหาสำคัญอยู่ในระดับสังคมไทยโดยรวม คนไทยส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจ และไม่เข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้นใน จชต. แม้จะมีน้ำใจและมีความเห็นใจผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงอย่างมาก แต่ความเห็นใจจะมุ่งไปที่ฝ่ายพุทธและข้าราชการเสียมากกว่า แล้วก็โทษขบวนการก่อความไม่สงบว่าเป็นโจร และมองว่าปัญหาทั้งหมดมาจากพวกที่ไม่เข้าใจความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ ภายใต้เอกลักษณ์ “ไทย” ดังนั้น นโยบายฉบับต่อไป ควรมุ่งเป้าหมายไปที่ราชการและประชาชนในทุกส่วนของประเทศ ซึ่งจะต้องยอมรับและช่วยกันดำรงความเป็นพหุลักษณ์ของสังคมไว้

สุดท้ายคือปัญหาในระดับพื้นที่ ซึ่งสรุปได้สั้น ๆ ว่า ความไม่ปลอดภัยน่าจะเป็นปัญหาแรก หากไม่สามารถช่วยให้พลเรือนทุกคนก้าวพ้นจากความกลัว เราก็จะแก้ไขปัญหาได้ยาก ปัจจุบัน หลายคนกลัวว่าฝ่ายขบวนการจะทำร้ายเอา ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเป้าหมายอ่อนแอ (soft target) ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงอยู่มิใช่น้อย หลายคนกลัวว่าฝ่ายความมั่นคงที่แตกแถว จะลุแก่โทสะและทำร้ายเอาเพราะสงสัยว่าเป็นพวกเดียวกับฝ่ายขบวนการ โดยที่เกือบทุกคนมีความกลัวว่าตนอาจถูกทำร้ายไม่โดยฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง แม้ว่าจะพยายามหลีกลี้จากความขัดแย้ง และพยายามป้องกันตนและยอมทำตามผู้มีอาวุธให้มากที่สุดแล้วก็ตาม อุปสรรคที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาอยู่ที่ความกลัวนี้เอง

ในวันที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติจัดให้มีการถกแถลงกันนั้น ยังมีคำถามอีกข้อหนึ่งที่จะต้องตอบคือ มีข้อเสนอแนะทางนโยบายอะไรบ้าง ที่ควรนำไปประกอบการจัดทำร่างนโยบายการบริหารและการพัฒนา จชต. ซึ่งจะขอยกไปเขียนในบทความตอนต่อไป

 

(คลิกอ่านตอน 1)