Skip to main content

อับดุรเราะฮหมาน  มูเก็ม [1]

ประชากรโลก 5 คน เป็นมุสลิม 1 คน (Jessica Jacobson, 1998 ; 26) อิสลามเป็นศาสนาที่มีไม่ต่างจากคนหนุ่มซึ่งมีจังหวะก้าวที่มั่นคงและอยู่ภายใต้มิติแห่งพลวัตที่เด่นชัดที่สุดในท่ามกลางศาสนาหลัก ๆ ของโลก  

สังคมอาหรับไม่ต่างจากแสงเทียนที่คอยส่องทางให้กับมนุษยชาติเพื่อสอยเท้าไปสู่บาทวิถีที่ถูกต้อง นับตั้งแต่วันที่ท่านนบีประสูติในปี ค.ศ.570 โลกแห่งความป่าเถื่อนเริ่มที่จะเลือนหายไป สังคมอาหรับเป็นหนึ่งในสัญญะแห่งการต่อสู้กันระหว่างเผ่า โลกสตรีที่ถูกย่ำยี สังคมแห่งการนองเลือด  ความร้ายกาจเป็นแนวทางเดียวเพื่อเสวยอำนาจ กระนั้นสังคมมุสลิมเล็ก ๆ ในมักกะห์นับตั้งแต่ปีแห่งการเป็นศาสนทูตใน ค.ศ.610 ได้กลายเป็นเบ้าหลอมอย่างดีให้กับมุสลิมและสังคมอาหรับเพื่อเรียนรู้แบบฉบับและเบ้าหลอมแห่งความเป็นอิสลาม

 เพียงไม่กี่ทศวรรษอิสลามได้กลายเป็นตราสัญลักษณ์แห่งศาสนาที่ได้รับการเผยแพร่ไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลกภายใต้การบ่มเพาะด้วยหลักคำสอนของอิสลามจากอัลกุรอ่านและอัลฮาดิษ (Abdullah Saeed, 2006 ; 113)  การอพยพ (Hijrah)ครั้งดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ.622 ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนแห่งประวัติศาสตร์อิสลามที่โลกได้จารึกไว้ โดยเฉพาะระบบสังคมที่เราต่างรู้จักกันดี นั่นก็คือ ประชาชาติแห่งอิสลามและความเป็นปึกแผ่นเสมือนเรือนร่างอันเดียวกันของผู้เจริญรอยตามท่านศาสดา (Gerhard Bowering ; 2012 ; vii-xix) กฎหมายรัฐธรรมนูญมาดินะห์ (The Constitution of Medinah)ที่ท่านศาสดาได้เขียนขึ้นก็ได้กลายเป็นพลังแห่งการปรับเปลี่ยนและปรุงแต่งความไม่เท่าเทียมของสังคม

 ที่มากไปกว่านั้นคือ การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนในสังคมภายใต้ความเป็นเอกภาพของพลเมืองผ่านความสัมพันธ์อันดีระหว่างศาสนิกและมิตรสหายร่วมโลกอื่นๆ ใต้รากเหง้าที่เคยยึดถือผ่านระบบชนเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ วงศ์ตระกูลและสายเลือดใต้แบบฉบับรัฐอิสลามนำมาเป็นสูตรแห่งการปกครอง (John L. Esposito, 2003 ; 56 ) รัฐอิสลามจะเกิดขึ้นได้ทางเดียวนั่นก็คือ จากความเป็นสังคมมุสลิมที่สมบูรณ์ เราจะไม่บรรลุถึงรัฐอิสลามที่แท้จริงหากขาดแกนของสังคมมุสลิมที่เด่นชัด สังคมมุสลิมที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นได้เพียงอย่างเดียวจากหลักการศาสนาที่ชัดเจน เพราะหลักการศาสนาคือพื้นฐานแห่งการช่วยเหลือและการรับใช้เพื่อนร่วมโลก จึงไม่แปลก กระบวนการได้มาซึ่ง รัฐอิสลามต้องเกิดจากพื้นฐานของความเป็นสังคมมุสลิมที่สมบูรณ์ (John L. Esposito, 1983;241)

 สิ่งนี้ คือ ที่มาของการสร้างความเป็นปึกแผ่นของอิสลามและการให้เกียรติมิตรสหายต่างศาสนาที่ท่านศาสดาพยายามสร้างต้นแบบไว้เป็นมรดกผ่านประวัติศาสตร์ในบันทึกของกฏหมายรัฐธรรมนูญมาดินะห์ และบาทวิถีแห่งศาสดาที่กลายเป็นต้นแบบให้กับมุสลิมได้เข้าใจวิถีแห่งความเชื่อผ่านหลักคัมภีร์อัลกุรอ่านผ่านยุคสมัย และเป็นเบ้าหลอมให้เราได้ตระหนักถึงอิริยาบทของศาสดาผ่านการพูดและการดำรงอยู่ในแต่ละวัน ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งตาย ทุกอย่างได้กลายเป็นบรรทัดฐานให้กับมุสลิมอย่างละเอียดและชัดเจน ผ่านต้นแบบที่สอนเราและเป็นแรงบันดาลใจให้กับเราจนกระทั่งปัจจุบัน (Tarig Ramadon, 2007;x-xi)

นับตั้งแต่ ศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมา  อิสลามได้กลายเป็นศาสนาทางเลือกผ่านแนวทางที่ดีที่สุดในสังคม โลกได้ถูกชุปแป้งทอดด้วยวัฒนธรรมและความเชื่อแบบอิสลาม จนกระทั่ง มูฮัมหมัดได้กลายเป็นผู้นำที่ได้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับสังคมอาหรับใต้สัญลักษณ์แห่งอิสลาม (Gerhard Bowering ; 2012 ; vii) และมูฮัมหมัดเป็นเพียงผู้เดียวที่ได้รับความสำเร็จอย่างมากที่สุดในงานพัฒนาทั้งด้านศาสนาและทางโลก กระทั่ง ณ วันนี้ แนวคิดของเขายังคงได้รับการเผยแพร่และกระจายไปอยู่กับโลกในยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัวและทรงพลัง ด้วยเหตุนี้มูฮัมหมัดจึงได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ชายทรงอิทธิพลหมายเลขหนึ่งของโลกตลอดกาล (Michael H. Hart, 2000 ; 3)

 มูฮัมหมัดได้กลายเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดแบบใหม่ที่โลกไม่เคยมี โดยเฉพาะผู้นำคำสอนแห่งศาสนาในสิ่งที่พระเจ้าได้ให้แนวทางและมูฮัมหมัดได้กลายเป็นตัวแทนของพระเจ้าเพื่อสื่อให้มนุษย์ได้เข้าใจแนวคิดในแบบอิสลาม (Antony Black, 2001;11)  เมืองมักกะห์ได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งอิสลาม สถานที่เกิดแห่งศาสนา สถาบันที่สำคัญทางการเมือง ศูนย์การค้าแห่งโลกอาหรับและศูนย์รวมทางการเมืองของสังคม (Asgar Ali Engineer, 1994 ; 11) แผ่นดินอาหรับได้กลายเป็นฐานที่มั่นสำคัญทางความคิดของอิสลามทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนแหล่งบ่มเพาะอุดมการณ์แห่งความเป็นประชาชาติตั้งแต่ ศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน (John L. Esposito, 1983 ; 3)

ภายในระยะเวลา 100 ปีหลังจากการเสียชีวิตของท่านศาสดามูฮัมหมัด หลักคำสอนอิสลามได้กลายเป็นศาสนาที่ทรงอิทธิพลและได้ขยายวงกว้างไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลกผ่านระบบการปกครอง การค้าและนักเผยแพร่ ไม่มีผืนแผ่นดินไหนที่ไม่รู้ว่า โลกนี้มีอิสลาม จนกระทั่ง โลกอิสลามได้กระจายแรงเหวี่ยงจากแผ่นดินอาหรับไปยัง โลกตะวันตก แอฟริกาเหนือ สเปน และโลกตะวันออกอย่างอินเดียและอินโดนีเซีย (John L. Esposito, 1983 ; 5) อิสลามได้เข้าไปยังดินแดนต่าง ๆ ของโลก ในสเปนตั้งแต่ปี ค.ศ. 711 และในอนุทวีปอินเดียในปี ค.ศ.711 โดยมูฮัมหมัด บินกอเซ็ม ผู้บุกเบิกชมพูทวีป  ประวัติศาสตร์ได้บอกเราว่า มัสยิดหลังแรกได้ถูกสร้างขึ้นในอินเดีย เมืองเกเรล่า ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 629 ประมาณ 7 ปีหลังจากที่ได้อพยพไปยังมาดีนะห์

สถาบัน Pew Research Center ในปี 2010 พบว่า เอเชียใต้ได้กลายเป็นพื้นที่ที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกประมาน 1,600 ล้านคน และ ประมาณครึ่งพันล้านคนอาศัยในสี่ประเทศอย่าง อินเดีย 177 ล้านคน ปากีสถาน  178 ล้านคน  บังกลาเทศ 149 ล้าน และศรีลังกา 1.8 ล้านคน  (Aminah Beverly McCloud, Scott W.Hibbard and Laith Saud, 2013 ; 203-204)

(ติดตามตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ เร็วๆ นี้)

Bibliography

Gerhard Bowering, The Encyclopedia of Islamic Political thought, Princeton University Press, 2012.

Abdullah Saeed, Islamic thought  An Introduction, New York ; Routledge, 2006.

Asgar Ali Engineer, The Islamic State, New Delhi ; Vikas, 1994.

Antony Black, The History of Islamic Political Thought From The Prophet to The Present, New York ; Oxford University Press,2001.

Michael H. Hart, The 100 ; A ranking of the most influential persons in history, New york ; a Citadel Press book , 2000

Aminah Beverly McCloud, Scott W.Hibbard and Laith Saud,  An introduction to Islam in the 21st Century, oxford ; wiley-blackwell,2013

Mahmood Mamdani, Good Muslim, Bad Muslim ; Islam,  the USA, and the Global war against terror., Delhi ; Permanent Black, 2010

John L. Esposito, Voices of Resurgent Islam, New York ; Oxford University Press, 1983.

John L. Esposito, The Oxford Dictionary of Islam,  New York ; Oxford University Press,2003.

Jessica Jacobson, Islam in Transition ; religion and identity among British Pakistani Youth, London ; Routledge 1998.

Shireen T. Hunter, Reformist voices of Islam ; Mediating Islam and Modernity, New Delhi ; Pantagon Press, 2009.

Ron Geaves, Thedore Gabriel, Yvonne Haddad and Jane Idleman Smith, Islam and The West Post 9/11, Hants ; Ashgate, 2004.

Tarig Ramadon, The Messanger ; the meanings of the life of Muhammad, New York ; Oxford University Press, 2007.


[1] พื้นเพลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เคยใช้ชีวิตในเมืองปัตตานี และย้ายรกรากเพราะการศึกษาหลักสูตรไกลบ้านมาอยู่ในแผ่นดินภารตะนคร ชอบการอ่านและการเขียน ด้วยความเชื่อที่ว่า ปลายปากกามักคมและมั่นคงกว่าปลายดาบ ปัจจุบัน ศึกษาระดับปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ (ปรัชญาการเมือง) มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลิการ์  ประเทศอินเดีย  ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน วารสาร The Effort ; อิสลามกับประวัติศาสตร์แห่งการเปลี่ยนผ่าน วารสารสมาคมนักเรียนไทยในประเทศอินเดีย (อาลิการ์) ปี 2557