คำนำการพิมพ์ครั้งที่ 2
ในหนังสือ "ข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding Observations) ต่อประเทศไทยของคณะกรรมการต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติ"
หลังจากเกิดการรัฐประหาร 2557วันที่ 22 พฤษภาคมในประเทศไทยเพียงวันเดียว วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ทางคณะกรรมการต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติ ได้นำเสนอเป็นข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding Observation) จำนวน 13 หน้า ต่อประเทศไทยเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขแนวทางทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้การป้องกันการทรมานเป็นผลในประเทศไทย โดยคณะกรรมการฯ มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศไทยโดยเรียกร้องให้รัฐภาคีปฏิบัติ เพื่อห้ามมิให้มีการทรมานใดๆ เกิดขึ้น และให้แน่ใจว่าการบังคับใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศไทยจะไม่ละเมิดสิทธิที่ประกันในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) โดยเด็ดขาด
ปรากฎในย่อหน้าที่ 12 และ 13 โดยคณะกรรมการต่อต้านการทรมานโดยระบุว่าการบังคับใช้กฎอัยการศึกมาตรา 15 ทวิซึ่งบุคคลสามารถถูกควบคุมตัวได้ 7 วัน โดยไม่มีหมายหรือกำกับดูแลจากหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ก่อนที่จะถูกนำตัวไปที่ศาล นอกจากนี้กฎอัยการศึกก็ไม่ระบุว่าต้องนำตัวผู้คุมขังถูกมาปรากฏตัวต่อศาลในการควบคุมตัวขั้นตอนใดๆ และมักไม่มีการเปิดเผยที่ตั้งของสถานที่ควบคุมตัว อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายพิเศษมักไม่มีมาตรการป้องกันการทรมานที่มีไว้ในกฎหมายและกฎระเบียบในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถูกคุมขังมักจะได้รับการปฏิเสธสิทธิที่จะติดต่อสมาชิกครอบครัวและให้สมาชิกในครอบครัวเยี่ยมทันทีที่สูญเสียเสรีภาพ และขาดการคุ้มครองสิทธิที่จำเป็นบางอย่าง เช่น สิทธิที่จะติดต่อทนายความและได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ที่เป็นอิสระทันทีที่สูญเสียเสรีภาพ ซึ่งใช้เป็นมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจำกัดเสรีภาพในสถานการณ์ไม่ปกติได้เป็นอย่างดีในบริบทการบังคับใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ แม้ว่าในการพิจารณารายงานรัฐและรายงานคู่ขนานที่เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการต่อต้านการทรมานนั้นจะเป็นการพิจารณาถึงบริบทในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการบังคับใช้กฎอัยการศึกมาเป็นระยะเวลา 10 ปี
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ร่วมกับเครือข่ายองค์การพัฒนาเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จัดทำรายงานคู่ขนานเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมานเพื่อใช้ประกอบในการพิจารณารายงาน โดยกระบวนการพิจารณาเริ่มจากที่คณะกรรมการฯ ได้นัดภาคประชาสังคมชี้แจงวันที่ 29 เมษายนและเริ่มขั้นตอนการพิจารณารายงานของรัฐในเรื่องความก้าวหน้าของการนำอนุสัญญาต่อต้านการทรมานมาปฏิบัติในประเทศไทยในวันพุธที่ 30 เมษายนในเวลา 10.00 น.(วันเวลาณ นครเจนีวา) โดยจะมีการกล่าวเปิดการประชุม โดยหัวหน้าคณะที่นำเจ้าหน้าที่ของไทยไปร่วมรายงานเป็นเวลา 15-20 นาที โดยจะมีการเผยแพร่คำกล่าวในเวปไซด์ของ OHCHR หนึ่งวันก่อนล่วงหน้า เน้นให้หัวหน้าคณะกล่าวถึงเนื้อหาสำคัญที่ใหม่และยังไม่ได้ครอบคลุมในรายงานที่จัดส่งไปแล้ว ต่อมาทางคณะกรรรมการต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติซึ่งจัดให้มีตัวแทนกรรมการสองท่านคือ Ms. Felice Gaer (รองประธานคณะกรรมการฯ) และ Mr. Alessio Bruni (ในวันนั้น Mr. Alessio Bruni ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้) โดย Ms. Felice Gareเป็นผู้แทนเพียงคนเดียวที่นำเสนอการรายงานข้อค้นพบเกี่ยวกับสถานการณ์การทรมานในประเทศไทย ตามข้อบท 1-16 ในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้มีการถามคำถามจากคณะกรรมการท่านอื่นๆ ได้อีกรวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ก่อนปิดการประชุมจะมีการหัวหน้าคณะตัวแทนรัฐบาลกล่าวปิดอีกครั้ง โดยต่อมาวันพฤหัสที่ 1 พฤษภาคม เวลา 15.00 น. (วันเวลา ณ นครเจนีวา) ทางคณะกรรมการจะให้เวลาผู้แทนไทยตอบคำถามต่างๆ ที่ได้ระบุไว้ในการประชุมวันที่ 30 เมษายน เป็นเวลา 60 นาที และจะมีการถามคำถามเพิ่มเติมจากคณะกรรมการทั้งคณะอีก 60 นาที ต่อจากนั้น ตัวแทนของรัฐบาลไทยจะมีเวลาตอบคำถามอีก 60 นาที รวมทั้งสิ้น 3 ชั่วโมง ผลสรุปของการพิจารณารายงาน ทั้งนี้การพิจารณารายงานของประเทศไทยดังกล่าวจะมีการถ่ายทอดสดตามวันเวลาณ นครเจนีวาทาง Webcast ที่ http://www.treatybodywebcast.org/category/webcast-archives/cat/ ทางคณะกรรมการฯ จะและจัดทำเป็นข้อสังเกตต่อรัฐบาลไทยฉบับที่ตีพิพม์นี้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่าบทบาทของภาคประชาสังคมนอกจากจะจัดส่งรายงานคู่ขนานต่อคณะกรรรมการต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติภายในวันที่ 11 เมษายน 2557 เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการพิจารณารายงานที่กรุงเจนีวา แล้วนั้น การจัดพิมพ์เผยแพร่คำแปลของ ข้อสังเกตเชิงสรุปสำหรับรายงานฉบับแรกของประเทศไทย (Concluding Observation)ของคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (UNCAT Committee) มีความสำคัญ โดยคำแปลฉบับนี้จัดทำโดยสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) จึงขอแสดงความขอบคุณมา ณ โอกาส นี้ ที่อนุญาตให้มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจัดพิมพ์เป็นครั้งที่สอง เพื่อให้ทั้งหน่วยงานราชการ ประชาชน นำสรุปข้อสังเกตฉบับนี้นำไปใช้เพื่อปรับปรุงแก้ไขแนวทางทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้การป้องกันการทรมานเป็นผลในประเทศไทยต่อไปทั้งในสถานการณ์ปกติและไม่ปกติ
คณะผู้จัดทำ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
26 มิถุนายน 2557
วันสนับสนุนผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานสากล