อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม [1]
มุสลิมยุโรปกับการตื่นรู้อิสลาม
นับตั้งแต่ความท้าทายของโลกตะวันตกและความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่เกิดจากโศกนาฏกรรมอันโหดร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ซึ่ง ซัยยิด อิหม่าม อัชชารีฟ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “ผู้คนเกลียดอเมริกาและนักเคลื่อนไหวแนวคิดอิสลามนิยมก็รู้สึกเกลียดชังอเมริกาอย่างรุนแรง อเมริกันได้ใช้ระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อเป็นผู้นำเหนืออาหรับและโลกมุสลิม แต่อะไรคือสิ่งที่ดี ในเมื่อคุณได้กลายเป็นผู้ทำลายแผ่นดินเกิดของศัตรู และศัตรูก็ได้ทำลายประเทศอันเป็นที่รักของคุณ และพวกเขาก็ได้ฆ่าบุคคลอันเป็นที่รักของคุณ แล้วอะไรเล่าคือสิ่งที่ดี ? “ (Aminah Beverly McCloud, Scott W.Hibbard and Laith Saud, 2013 ; 304)
การกระทำดังกล่าวอย่างน้อยก็ทำให้เราเข้าใจโลกตะวันตกเป็นอย่างดี พวกเขาแบ่งมุสลิมออกเป็น 2 แบบ นั้นก็คือ มุสลิมที่ดีและมุสลิมที่ชั่วร้าย ตะวันตกมองว่า มุสลิมที่ดี คือ มุสลิมแนวคิดสมัยใหม่ มุสลิมที่ปฏิบัติตามแนวคิดของตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกาไม่ว่าจะเป็น การศึกษา แฟชั่น การเมือง หรือ การแต่งกาย และ มุสลิมอีกแบบหนึ่งนั่นก็คือ ผู้อยู่ตำแหน่งตรงกันข้ามกับอเมริกา พวกเขา คือ มุสลิมที่ชั่วร้ายและน่าประณามเป็นอย่างยิ่งในนามของมหาอำนาจตะวันตกอย่างอเมริกา (Mahmood Mamdani,2010 ; 24) ที่โหดร้ายไปกว่านั้น กระแสการกลัวอิสลามอย่างรุนแรง (Islamophobia) ก็ได้เกิดขึ้นในห้วงยามต่อมา
จนกระทั่งนักเขียนและนักเคลื่อนไหวทางสังคมหลายคนอย่าง Robert Spencer, Daniel Pipes, Pam Geller พวกเขาทั้งหมดต่างมองเป็นภาพเดียวกันนั่นก็คือ มุสลิมทั้งหมดมองโลกในแบบสายตาแบบเดียวกันผ่าน สถานการณ์ 9/11 นับเป็นภาพตัวแทนที่ตะวันตกมองคนมุสลิม และสรุปว่า มุสลิมทั้งหมดมีแนวคิดไม่ต่างกัน และมีความเชื่อในการใช้ความรุนแรงในมาตรฐานเดียวกัน ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมุสลิมได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อต่อสู้กับแนวคิดการใช้ความรุนแรงและต่อต้านการก่อการร้าย (Aminah Beverly McCloud, Scott W.Hibbard and Laith Saud, 2013 ; 300-301)
ที่สำคัญกว่านั้น มุสลิมในโลกตะวันตกอย่างอเมริกาก็ต้องหาทางออกให้กับตัวเองผ่านนักเคลื่อนไหวมุสลิมในอเมริกาอย่าง อิสมาแอล ฟารูกี (Prof.Ismail Al-Farugi) อาจารย์มหาวิทยาลัยเทมเปิ้ล หรือ ซัยยิด ฮูเซ็น นาสร์ (Syyed Hussein Nasr) อดีตอาจารย์ชาวอิหร่าน ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่ง นาสร์ มองว่า สังคมองค์รวมจะต้องมีการให้เกียรติกับความต่างของศาสนาและมิติของความเชื่อ มุสลิมอเมริกาต้องประกาศจุดยืนของอิสลามในการให้เกียรติศาสนาอื่นและเพื่อนร่วมโลก เพราะมุสลิมอเมริกาจะกลายเป็นต้นแบบของมุสลิมสมัยใหม่ในสังคมพหุวัฒนธรรมที่ต้องออกมาประกาศอุดมการณ์อิสลามให้โลกได้รับรู้ (Shireen T. Hunter, 2009 ; 270)
ประชากรมุสลิมในโลกประมาณ 1,619 ล้านคน จากประชากรโลกประมาณ 7,021.83 ล้านคนหรือประมาณ 23 เปอร์เซ็น ในยุโรปมีประมาณ 44.138 ล้านคน ตะวันออกกลาง 321.869 ล้านคน เอเชีย-แปซิฟิก 1,005.507 ล้านคน อเมริกาเหนือ 5.2 ล้านคน ลาตินอเมริกา 8.48 แสนคน ซาฮาราและแอฟริกา 242.544 ล้านคน (Pew research center’s forum on religion and public life, 2011)
ปรากฏการดังกล่าวทำให้มุสลิมในสังคมตะวันตกต้องตระหนักต่อนั่นก็คือ การพยายามเรียกร้องไปสู่โอกาสในการประกาศจุดยืนของอิสลามให้ผู้คนที่ไม่ใช่อิสลามได้รับรู้และเป็นโอกาสที่จะต้องเตรียมแนวทางให้กับมุสลิมคนอื่น ๆ ได้เรียนรู้ว่า พวกเขาจะอยู่อย่างไรในฐานะของมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยภายใต้ระบบโลกและสังคมที่หลากหลาย(Shireen T. Hunter, 2009 ; 273)
เพราะสังคมตะวันตกเป็นพื้นที่แห่งความเสรีภาพ อิสรภาพอันพึงมีและพึงได้สำหรับทุกคน ความเท่าเทียม โอกาสในการนับถือศาสนา การศึกษาและการทำมาหากิน จึงไม่แปลกที่ ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกต่างมุ่งหน้าไปยังโลกตะวันตก อย่างเช่น มุสลิมที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในอเมริกาปัจจุบันมีประมาณ 6 ล้านคนและมีมัสยิดประมาณ 1,250 หลัง (จากการสำรวจของ Pew Forum on Religion and Public Life 2011)ซึ่งโดยมากแล้วจะจะเดินทางมาเพื่อศึกษาหรือมาหางานดี ๆ ผู้คนทั้งหมดเหล่านี้มีเป้าประสงค์ต่างกันอย่างน้อยก็เพื่อหาโอกาสให้กับตัวเอง แต่ก็มีมากที่ไปเพื่อให้ลืมอดีตที่ไม่สันทัดจะจดจำ
สถานการณ์ความเลวร้ายในอเมริกา 9/11 ในปี 2001 หรือในอังกฤษ 7/7 ในปี 2005 นับเป็นภาพแห่งความป่าเถื่อนที่โลกตะวันตกกล่าวหามุสลิม ที่เลวร้ายกว่านั้น โลกแห่งความปรองดองของประชากรจำนวนน้อยอย่างมุสลิมกับตะวันตกได้ขาดสะบั้นลงและนับเป็นก้าวย่างที่ยากยิ่งในสมรภูมิเช่นนี้ แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่อสังคมถึงจุดที่ตกต่ำที่สุด ทางออกของมัน มีอยู่ไม่กี่ทาง หนึ่งในนั้นคือ Cultural talk หรือ inter-religious dialogues วาระแห่งการสนทนาระหว่างศาสนาและวิถีวัฒนธรรม (Aminah Beverly McCloud, Scott W.Hibbard and Laith Saud, 2013 ; 158-160)
ไม่มีทางรอดอื่นสำหรับมุสลิมในยุโรปและมุสลิมทุกภาคส่วนของโลกจากแรงเหวี่ยงของกระแสดังกล่าวที่ทำให้มุสลิมเป็นภาพสะท้อนของความรุนแรงและมีแนวคิดสุดโต่ง นอกจากทำให้พวกเขาต้องตื่นรู้เกี่ยวกับอิสลามและทำงานหนักเพื่ออธิบายอิสลามให้ชาวตะวันตกได้เข้าใจและรับรู้
มุสลิมในประเทศฝรั่งเศสเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่พยายามสะท้อนให้เราเห็นกระแสการตื่นตัวเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อไม่นานมานี้ กระแสการต่อต้านการคลุมหน้าได้กลายเป็นประเด็นนี้ใหญ่โตในฝรั่งเศส
ปัจจุบัน อิสลามได้กลายเป็นศาสนาอันดับ 2 ของประเทศรองจาก คริสต์ คาทอลิกที่มากถึง 66 เปอร์เซ็น ที่เหลือ คือ มุสลิมประมาณ 3.6 – 6 ล้านคน (สำรวจเมื่อ 2004) หรือประมาณ 6 – 10 เปอร์เซ็นของประชากรฝรั่งเศส ในขณะที่ ชาวยิว 6 แสนคน โปรเตสแตนต์ 8 แสนคน และพุทธ 1 แสนถึง 5 แสนคน
มุสลิมในฝรั่งเศสส่วนใหญ่ได้อพยพมาจาก แอฟริกาเหนือ (แอลจีเรีย,โมร็อคโค,ตูนิเซีย ซึ่งเรารู้จักกันในนาม ชนชาวมักริบ) ซึ่งชนมุสลิมได้เริ่มย้ายเข้ามาอยู่ในฝรั่งเศสเมื่อหลายศตวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะ มุสลิมชาวมัวร์จากสเปนเมื่อศตวรรษที่ 8 ส่วนหนึ่งได้ตั้งรกรากที่เมือง ตูลูส ซึ่งในศตวรรษที่ 8 ได้มีมัสยิดเกิดขึ้นที่เมือง นาบอน (Narbonne) ซึ่งมุสลิมได้กลายเป็นกลุ่มคนจากหลายสัญชาติมารวมตัวกัน จนกระทั่งปัจจุบันมุสลิมประมาณ 123 สัญชาติในฝรั่งเศส ซึ่งมุสลิมต่างประเทศจะเริ่มย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในฝรั่งเศสประมาณปี ค.ศ.1960
จากการสำรวจของ Bruno Etienne ระบุ ปี ค.ศ.1989 มุสลิมในประเทศนี้มีประมาน 2.5 ล้านคน ข้อมูลจาก Alain Boyer ระบุว่า ในปี ค.ศ.1998 มุสลิมเพิ่มขึ้นเป็น 4.15 ล้านคน กระทั่งในปี 2004 Ministry of foreign Affairs ระบุ มุสลิมประมาณ 4-5 ล้านคน
พื้นที่หลักของมุสลิมในเมืองปารีส (ประมาณ 1.7 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 11 ล้านคน จะพบว่า 10-15 คน เป็นมุสลิม 1 คน) มาร์กเซย (2 แสนคน จากประชากรทั้งหมด 8 แสนคน พบว่า 25 คน เป็นมุสลิม 1 คน) ลีล (2 แสนคน จากประชากรทั้งหมด 4 แสนคน พบว่า 5 คน เป็นมุสลิม 1 คน)และเมืองลียง (1.5 แสนคน จากประชากร 1.2 ล้านคน พบว่า 8 -12 คน เป็นมุสลิม 1 คน) (Jonathan Laurence and Justin Vaisse, 2006 ; 15-23)
ปัจจุบันมุสลิมในฝรั่งเศสมีมัสยิดประมาณ 1,685 แห่งทั่วประเทศ เฉลี่ย 2,967 คน / มัสยิด 1 หลัง มัสยิดแกร์นด เด ปาริส (Grand Mosque de Paris) ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติภูมิให้กับกองกำลังทหารมุสลิมที่เสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเปิดใช้อย่างเป็นทางการโดยประธานาธิบดีของฝรั่งเศสในปี 1926
องค์กรหลักที่ดูแลมุสลิมคือ สหภาพอิสลามในฝรั่งเศส (Union des organisations Islamiques de france) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1983 ซึ่งมีสาขาต่าง ๆ ที่คอยดำเนินกิจการอิสลามมากว่า 250 องค์กร ที่เกี่ยวโยงกับศาสนา วัฒนธรรม อาชีพและภาคประชาสังคม
งานหลักที่องค์กรได้รับผิดชอบคือ การจัดอบรมคนหนุ่มสาวอิสลามที่โตมาท่ามกลางสังคมที่หลากหลาย องค์กรหลักที่ดำเนินกิจกรรมนี้คือ เยาวชนคนหนุ่มสาวฝรั่งเศส (The Jeunes Musulmans de france)“เราจะเป็นมุสลิมที่ดีได้อย่างไรในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม และจะใช้ชีวิตแบบไหนในสังคมตะวันตก” ซึ่งนักวิชาการที่เป็นผู้สนับสนุนหลักคือ ศาสตราจารย์ ตอริก รอมาดอน (Tarig Ramadan)/ ฮานี รอมาดอน (Hani Ramadan) / ยูซุบ อัล-กอรฏอวี (Yusuf Al-Qaradawi)นั่นเอง (Jonathan Laurence and Justin Vaisse, 2006 ; 104-106)
อีกภาพหนึ่งคือ มุสลิมในอังกฤษมีประมาณ 2.86 ล้านคน (Pew research center’s forum on religion and public life, 2011) ประชากรมุสลิมจากปากีสถานนับเป็นกลุ่มที่อพยพไปอยู่ที่อังกฤษมากที่สุดคือ 6.57 แสนคน (Ethnic group by religion , 2001) ซึ่งมุสลิมจะกระจุกตัวอาศัยมากที่สุดใน ลอนดอน แบล็คเบิร์น แบลดฟอร์ท เบอร์มิงแฮม และเมืองอื่น ๆ ซึ่งเมืองแบร์ดฟอร์ดและเบอร์มิงแฮม เป็นเมืองที่ชาวปากีสถานอพยพไปตั้งรกรากตั้งแต่ปี ค.ศ.1930 ส่วนมุสลิมชาวอินเดียอพยพมีประมาณ 1.31 แสนคน โดยอาศัยในเมือง ดิวสเบอร์รี่ แบล๊คเบิร์น โบลตัน เฟรสตันและลอนดอน
มัสยิดหลังแรกที่ได้สร้างขึ้นในอังกฤษเกิดขึ้นประมาณ ปี ค.ศ.1889 ซึ่งได้ใช้เป็นศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวกิจกรรมต่างๆของมุสลิมอังกฤษ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 ประชากรเริ่มเพิ่มมากขึ้น มัสยิดได้มีการสร้างเรื่อยมาจนกระทั่งปี ค.ศ.1980 มัสยิดมีมากกว่า 200 หลัง และ ปี ค.ศ. 1990 มัสยิดมากกว่า 500 หลัง (Jessica Jacobson, 1998 ; 34) ปี 2003 มัสยิดมากกว่า 1,000 หลัง (Jonathan Laurence and Justin Vaisse, 2006 ; 24) ปี 2014 มัสยิดมากกว่า 1,500 หลัง (http://mosques.muslimsinbritain.org, 2014)
เยาวชนมุสลิมชาวปากีสถานมีส่วนทำให้สังคมมุสลิมอังกฤษก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งภายใต้กระแสโรคกลัวอิสลาม ความเข้มแข็งของสังคมมุสลิมตะวันตกเกิดจากการสอนหนังสือที่มัสยิดด้วยการอบรมเด็ก ๆ อาศัยอิหม่ามในแต่ละพื้นที่ ไม่ต่างจากการพัฒนาเยาวชนมุสลิมทั่วโลก นี่คือทางรอดและแนวทางหนึ่งที่เด็กน้อยได้รับการกล่อมเกลาในสังคมที่ไม่ใช่สังคมมุสลิม ภายใต้การดูแลขององค์กรมุสลิมอังกฤษ (British Muslim Organisations)
โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวได้มีการรวมตัวกันทำงานเพื่อสังคมภายใต้กลุ่ม The Young Muslims UK. ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1984 นับเป็นองค์กรหลักที่ดำเนินกิจกรรมทางด้านศาสนา มีการสัมมนาสัปดาห์ละ 1 วัน,ค่ายอบรมภาคฤดูร้อน และนิตยสาร Trends. ที่นำเสนอเกี่ยวกับอิสลามและมีสื่อออนไลน์เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นการทำงานของกลุ่มนักศึกษาซึ่งมีการอบรมพิเศษให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Q News. ได้เริ่มพิมพ์ครั้งแรกใน ลอนดอนเมื่อเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1992 เป็นสื่อที่เกี่ยวข้องกับคนหนุ่มสาว การศึกษา ภาษาต่างประเทศและวิชาการอิสลาม (Jessica Jacobson, 1998 ; 37)
นักคิดคนสำคัญที่พยายามสร้างสังคมมุสลิมให้เดินไปอย่างรอบคอบและตระหนักถึงความเป็นชนกลุ่มน้อยอย่าง ซัยอุดดิน ซาดาร (Prof. Ziauddin Sardar) ชายผู้เกิดในปากีสถานทางตอนเหนือและอพยพไปอยู่อังกฤษตั้งแต่เด็ก หรือ ผู้เป็นสะพานเพื่อเชื่อมระหว่างสังคมมุสลิมกับความเป็นอังกฤษอย่าง ซากี บาดาวี (Zaki Badawi) ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2006 เดือนมกราคมที่ผ่านมา
หลังจากเหตุการณ์ 9/11 เกิดขึ้นไม่นาน มุสลิมก็ไม่ได้รู้สึกเมินฉาย อย่างน้อยบทสวดของ มูซัมมิล ซิดดีกี ก็บอกให้เรารู้ว่า พวกเขาคิดอะไรกัน “โอ้พระเจ้า เราได้กลับมาสู่พระองค์ ในห้วงยามที่เราต่างเจ็บปวดและโศกเศร้ากับประเทศของเรา เรามองเห็นความร้ายกาจของความชั่วร้ายและความทรมานของผู้คนอีกจำนวนมากผ่านสายตาของเราด้วยความร้ายกาจของสองมือและความต่ำช้าของหัวใจ และด้วยหยดน้ำตาที่หยดรดราดจากเบ้าตาของเรา เรากลับมาสู่พระองค์ โอ้พระผู้ทรงปลอบประโลมพวกเราจากห้วงยามนี้ โปรดช่วยเหลือพวกเราจากความวิตกกังวล โปรดคุ้มครองพวกเราและผู้คนที่ต่างความเชื่อ ต่างสีผิวและต่างชาติพันธุ์ด้วยเถิด โปรดรักษาประเทศของเราให้เข้มแข็งเพื่อไปสู่หนทางอันผาสุกและความบริสุทธิ์ด้วยเถิด โปรดคุ้มครองพวกเราให้พ้นจากความชั่วร้ายที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาเราด้วยเถิด อามีน” (Ron Geaves, Theodore Gabriel, Yvonne Haddad and Jane Idleman Smith, 2004 ; 103)
ปรากฏการณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นไม่เพียงเฉพาะในอเมริกา ทว่า รายล้อมที่เต็มไปด้วยเพื่อนร่วมโลก โจทย์ใหญ่ที่สังคมมุสลิมพยายามหาทางออกให้กับตัวเองเพื่ออยู่ร่วมกับโลกที่มีผู้คนกว่าครึ่งที่ไม่ได้เป็นอย่างอิสลาม นั่นคือ มุสลิมจะวางตัวอย่างไรในสังคมที่เราเชื่อและปฏิบัติต่างกัน นี่คือโจทย์อันยิ่งใหญ่ที่มุสลิมอย่างผมและคุณจะต้องหาคำตอบร่วมกัน !
Bibliography
Gerhard Bowering, The Encyclopedia of Islamic Political thought, Princeton University Press, 2012.
Abdullah Saeed, Islamic thought An Introduction, New York ; Routledge, 2006.
Asgar Ali Engineer, The Islamic State, New Delhi ; Vikas, 1994.
Antony Black, The History of Islamic Political Thought From The Prophet to The Present, New York ; Oxford University Press,2001.
Michael H. Hart, The 100 ; A ranking of the most influential persons in history, New york ; a Citadel Press book , 2000
Aminah Beverly McCloud, Scott W.Hibbard and Laith Saud, An introduction to Islam in the 21st Century, oxford ; wiley-blackwell,2013
Mahmood Mamdani, Good Muslim, Bad Muslim ; Islam, the USA, and the Global war against terror., Delhi ; Permanent Black, 2010
John L. Esposito, Voices of Resurgent Islam, New York ; Oxford University Press, 1983.
John L. Esposito, The Oxford Dictionary of Islam, New York ; Oxford University Press,2003.
Jessica Jacobson, Islam in Transition ; religion and identity among British Pakistani Youth, London ; Routledge 1998.
Shireen T. Hunter, Reformist voices of Islam ; Mediating Islam and Modernity, New Delhi ; Pantagon Press, 2009.
Ron Geaves, Thedore Gabriel, Yvonne Haddad and Jane Idleman Smith, Islam and The West Post 9/11, Hants ; Ashgate, 2004.
Tarig Ramadon, The Messanger ; the meanings of the life of Muhammad, New York ; Oxford University Press, 2007.
[1] พื้นเพลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เคยใช้ชีวิตในเมืองปัตตานี และย้ายรกรากเพราะการศึกษาหลักสูตรไกลบ้านมาอยู่ในแผ่นดินภารตะนคร ชอบการอ่านและการเขียน ด้วยความเชื่อที่ว่า ปลายปากกามักคมและมั่นคงกว่าปลายดาบ ปัจจุบัน ศึกษาระดับปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ (ปรัชญาการเมือง) มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลิการ์ ประเทศอินเดีย ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน วารสาร The Effort ; อิสลามกับประวัติศาสตร์แห่งการเปลี่ยนผ่าน วารสารสมาคมนักเรียนไทยในประเทศอินเดีย (อาลิการ์) ปี 2557