Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้
ฉบับที่  1 ปีที่ 2 เดือน กุมภาพันธ์ 2550

 ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รายงานผลการวิเคราะห์ ผลความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า จากข้อมูลในฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังฯ นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 ถึง 31 มกราคม 2550 รวมเวลา 37 เดือน หรือ ในรอบ 3 ปีกับอีก 1 เดือนของความรุนแรงในพื้นที่มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 2,034 รายและบาดเจ็บ ประมาณ 3,101 ราย มีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ประกอบไปด้วยการยิงสังหาร การวางระเบิด วางเพลิงและการก่อกวนด้วยวิธีต่างๆรวม 6,094 ครั้ง (ภาพจากศูนย์ข่าวอิศรา)

เป็นที่น่าสังเกตว่านับตั้งแต่ปลายปี 2549 หลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณในวันที่ 19 กันยายน ระดับความเหตุการณ์ลดลงเล็กน้อยในเดือนกันยายนและตุลาคม แต่หลังจากนั้นความถี่ของเหตุการณ์ความไม่สงบก็ไต่ระดับสูงขึ้นอีกโดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม อาจจะกล่าวได้ว่าตลอดทั้งปี 2549 ถ้าไม่นับเดือนสิงหาคมอันเป็นช่วงเดือนสุดท้ายของรัฐบาลทักษิณซึ่งสถิติความรุนแรงสูงสุดถึง 286 ครั้ง เหตุการณ์ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมเกิดขึ้น 208 และ 193 ครั้งซึ่งนับว่าสูงกว่าระดับความรุนแรงโดยเฉลี่ยของทุกเดือนในปี 2549 เดือนมกราคมของปี 2550 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นรวม 132 ครั้ง ซึ่งสูงมากสำหรับเหตุการณ์ในช่วงต้นปี ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2547-2549 ข่วงต้นปีเหตุการณ์จะไม่สูงมากเท่านี้ แสดงให้เห็นความรุนแรงที่น่าจะมีระดับสูงขึ้น จำนวนผู้ตายและบาดเจ็บก็อาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย ทำให้ต้องคำนึงถึงนโยบายและวิธีการในการแก้ปัญหาที่จะต้องแก้ให้ทันทั้งทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี แม้ว่ารัฐจะพยายามแก้หลายอย่างแต่ก็จะต้องเร่งเครื่องให้มากกว่านี้ให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเร็วมากในพื้นที่โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเกิดเหตุการณ์ในขณะนี้

 

         

ป่วนช่วงตรุษจีน : สัญญาณอันตราย

เมื่อพิจารณาถึงท่าทีของรัฐบาลต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว ผ่านโฆษกกองทัพบกที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหลายแขนง มีท่าทีและน้ำเสียงเชื่อในสมมติฐานที่ว่า เป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินมากขึ้น รวมถึงยอมรับความสามารถอันมีอยู่จำกัดด้านการข่าวของทางการว่าสามารถทำได้เพียงรู้ล่วงหน้าว่าจะมีเหตุ แต่ไม่สามารถกำหนดรายละเอียดของปฏิบัติการทั้งหมดได้

จากหลักฐานในระดับปฐมภูมิเชื่อว่า การใช้สารตั้งต้นและการประกอบวัตถุระเบิด มีความใกล้ เคียงกับเหตุการณ์ระเบิดกรุง  8 จุดในช่วงวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ปี 2550 ซึ่งอาจนำไปสู่สมมติฐานว่าทั้งสองเหตุการณ์มีความเชื่อมโยงระหว่างกัน

จากการพิจารณาเหตุที่เพิ่งเกิดขึ้นในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550 (วันตรุษจีน) กับเหตุเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 (วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่) ที่ผ่านมามีความคล้ายคลึงกันประการหนึ่งก็คือ เป็นการก่อวินาศกรรมในช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองที่มีความที่มีภาวะความระมัดระวังในชีวิตและทรัพย์สินต่ำ

ซึ่งหากพิจารณาตีความในเชิงสัญลักษณ์ จะพบคู่ความต่างของความขัดแย้ง (Binary Opposition) ทางชาติพันธุ์ กล่าวคือ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2549 เป็นวันเฉลิมฉลองของกลุ่มชาวไทยพุทธ ที่สามารถอ้างอิงไปถึงประเพณีการขึ้นปีใหม่แบบสากล โดยมีคู่ความขัดแย้งระหว่าง กลุ่มชาวไทยพุทธกับกลุ่มมลายูมุสลิม ที่ถ่ายโยงให้เห็นความพยายามในการต่อต้านรัฐไทย

ขณะเหตุที่เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550 (วันตรุษจีน) เป็นการกระทำที่สะท้อนให้เห็นถึงภาวะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนกับกลุ่มมลายูมุสลิม ที่ถ่ายโยงให้เห็นการตอบโต้และไม่พึงพอใจต่อกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจในพื้นที่และสามารถผสมกลม กลืน จนมีสถานะทางสังคมเป็นที่ยอมรับกันในสังคมทั่วไป ขณะที่กลุ่มมลายูมุสลิมถูกผลักดันให้อยู่ชายขอบและไม่สามารถผสมกลมกลืนอัตลักษณ์ของตนเข้ากับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้

ดังนั้นในวันสำคัญอย่างอื่นๆ โดยเฉพาะวันตรุษ - สารท ที่มีการรื่นเริง เฉลิมฉลองของประชาชน เช่น วันสงกรานต์ (13 เมษายน ของทุกปี) รัฐจึงต้องให้การดูแลพิทักษ์ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่บริสุทธิ์เป็นพิเศษ เนื่องจากในเชิงสัญลักษณ์วันดังกล่าวเป็นคู่ขัดแย้งระหว่างชาวไทยพุทธกับกลุ่มมลายูมุสลิม จึงเป็นความขัดแย้งที่ขยายมาสู่ระดับแนวนอนที่สั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกัน (Horizontal Relation) จากเดิมที่เป็นแต่เพียงระดับแนวดิ่ง (Vertical Relation) คือรัฐกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเท่านั้น

นอกจากนี้ยังพบว่า เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550 จุดเกิดเหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลักๆ คือ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส, อ.เมือง จ.ยะลาและ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งนอกจากเป็นเขตชุมชนที่กลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นแล้ว ยังเป็นพื้นที่ๆ มีสถานบันเทิงประเภท สวนอาหาร คาราโอเกะและสถานบริการต่างๆ ที่ขัดต่อหลักการทางศาสนาอิสลามอีกด้วย

ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว อยู่ในภาวะของกระแสข่าว การดำเนินการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งมีการประเมินกันว่า ภายหลังจากการเยือนประเทศอย่างเป็นทางการ ของ นายอุลดุลลาห์ อาหมัดบาดาวี นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่าทีการตอบรับของรัฐบาลมาเลเซียในการเป็นกลางในการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมีความเป็นไปได้สูง

แหล่งข่าวระดับสูงสายความมั่นคง ตั้งข้อสังเกตว่ายิ่งแนวโน้มการดำเนินการเจรจาของผู้ก่อความไม่สงบมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเท่าใด การก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น ประการหนึ่งเนื่องมาจากกลุ่มคนหนุ่มซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติการในพื้นที่ เป็นหน่วยงานระดับเซลล์ที่มีความอิสระ จนระดับแกนนำที่วางยุทธศาสตร์ ไม่สามารถที่จะควบคุมได้ เป็นการแสดงออกอย่างกลายๆ ของคนหนุ่มที่ปฏิบัติการก่อความไม่สงบว่าไม่ใยดีต่อแนวทางสันติภาพและสมานฉันท์แต่อย่างใด