Skip to main content

อับดุรเราะฮหมาน  มูเก็ม [1]

ฉากเปิดของหนัง Kill Bill” ภาค 1 ผู้กำกับและเขียนบทโดย  Quentin Tarantino นับเป็นเรื่องที่สะท้อนภาพการฆ่าล้างแค้นได้อย่างเหี้ยมโหด สาวผมทองออกตามล่าหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งเคยทำร้ายหล่อนเมื่อ 4 ปีก่อน เสียงเคาะประตูพร้อมคำทักทายด้วยการปล่อยหมัดตรงเข้าใบหน้าเจ้าของบ้านอย่างไม่ยั้ง ทั้งสองจำเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ราวกับว่า ทั้งคู่คอยวันคิดบัญชี

หลังจากต่อสู้กันไม่นาน รถโรงเรียนได้มาจอดตรงหน้าบ้านพร้อมร่างของสาวน้อยวัย 4 ขวบกำลังย่างเข้าบ้านตัวเอง หญิงผู้ถูกตามล่าและสาวผมทองต่างมองสายตาซึ่งกันและกัน ทั้งคู่เข้าใจกันเป็นอย่างดีในฐานะเพศภาพที่เราเรียกว่า “แม่” ทั้งคู่หยุดการต่อสู้พร้อมเสียงเปิดประตูของเด็กสาว “นิกกี้”

ภาพการต่อสู้อาจดูไม่สวยงามเท่าไหร่ในสายตาของเด็กน้อย แม้ความแค้นจะฝังลึก แต่ผู้ใหญ่สองคนต่างก็เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองทำและปัจจัยองค์รวมของสถานการณ์แบบนั้นเป็นอย่างดี “จนพวกเขาต้องหยุดการต่อสู้และวางอาวุธ” เจ้าของบ้านเอ่ยปากชวนผู้บุกรุกดื่มกาแฟ แม้ว่าท้ายที่สุด การฆาตกรรมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (อ่านเรื่องย่อเพิ่มเติมใน http://en.wikipedia.org/wiki/Kill_Bill_Volume_1)

“แต่สิ่งที่พวกเขาได้หยุดพักผ่อนรบ นับเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในห้วงยามดังกล่าว”

สถานการณ์ความรุนแรงแม้จะออกไปในทางบานปลายและระทึกขึ้นทุกขณะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  10 ปีคือบททดสอบที่ทรงพลังของนโยบายการจัดการความรุนแรงของรัฐว่า “มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ?” หรือเป็นแค่เพียง “หมอกและควันที่พลัดหลงผ่านลมมลายู ?”

กระนั้น ก็เป็น “อีกทางเลือกที่ดีกว่าการอยู่เฉย” หรือ “ไม่ทำอะไรเลย !!!”

การออกมาแสดงตัวของรัฐในการเจรจาสันติภาพและการรณรงค์ของบรรดาเหล่าอุลามะอ์ก็นับเป็นอีกทางรอดหนึ่งแม้จะไม่สามารถการันตีได้ในความเป็นจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นว่าสถานการณ์จะดำเนินไปในทางไหน อย่างน้อยเป็นอีกสถานะหนึ่งที่จำเป็นและทำให้เราเข้าใจว่า “เรื่องกิจการบ้านเมือง หากขาดท่านผู้รู้หรือปราชญ์ ก็เท่ากับว่า ทางออกคือทางตันไปในที่สุด”

 สิ่งเหล่านี้ได้ชี้ให้เราเห็นอย่างชัดเจนผ่านประวัติศาสตร์อิสลาม ถึงสถานะและความสำคัญของท่านผู้รู้ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งที่เราต่างพบและเผชิญในปัจจุบัน

สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญทางด้านความมั่นคงศึกษา มองว่า “ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ใต้วงจรวิกฤติเรื่อง “ชาติพันธุ์มลายู-ซีแย” / เรื่องศาสนาที่กลายเป็นตัวหนุนเสริมและแรงปลุกระดมระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิมให้กลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมมวลชนของกลุ่มก่อความไม่สงบ / ปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ของสังคมที่มักใช้เป็นเครื่องบั่นทอนความมั่นคงของเพื่อนร่วมมาตุภูมิ จนเกิดการรุกคืบและเบียดแย่งพื้นที่ / ปัญหาสืบเนื่องจากประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นเครื่องมือปลุกเร้าอย่างดีเพื่อต่อสู้และปลดแอกแผ่นดินปาตานีจากรัฐบาลซีแย /  ปัญหาการเมืองที่เปิดให้คนมีส่วนร่วมในการแย่งพื้นที่ฐานเสียงและไล่บี้กันเองอย่างโหดร้ายทารุณเข้าข่าย “การเมืองแบบเจ้าพ่อ” / ปัญหาการอำนวยการความยุติธรรมอันเนื่องมาจากการล่าช้าของกระบวนการทำงานของการอำนวยความยุติธรรม / ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ลงตัวของรัฐและพื้นที่ จึงทำให้การพัฒนายังไม่ทั่วถึง / ปัญหาการใช้ยุทธิวิธีการก่อการร้ายของกลุ่มก่อความไม่สงบต่อผู้บริสุทธิ์ และของรัฐต่อผู้ที่มีส่วนรู้เห็นกับการทำให้รัฐมีสถานะไม่มั่นคง / ปัญหาการเจรจาที่ทางภาครัฐไม่สามารถเข้าถึงโรงงานที่คอยดูดกลืนวัตถุดิบที่เป็นชีวิตคนได้ หนำซ้ำกลุ่มที่เจรจาก็ไม่มีใครล่วงรู้ว่ามีส่วนในการคุมเกมส์การฆ่าและปลิดชีวิตได้มากน้อยแค่ไหน” (สุรชาติ  บำรุงสุข, 2555 ; 63-66.) 

สถานการณ์แบบนี้จึงอยู่ใน “ภาวะที่ทับซ้อนและยอกย้อน” อย่างยิ่ง

ปัญหาองค์รวมที่ทุกคน (อย่า) มองข้าม

คำถามแรกที่เราต้องตีโจทย์ให้แตก นั่นก็คือ อิสลามคืออะไร ? มุสลิมคือใคร ?

“ในสังคมไทยเรื่องอัตลักษณ์เหล่านี้ เราแลกกันด้วยหยดเลือด แต่ ณ วันนี้ไม่มีความเข้าใจอิสลาม /พทุธ/ คริสต์ กันอย่างจริงจังว่ามันคืออะไรกันแน่ ?”

 ณ วันนี้ ผู้เขียนยังไม่เคยอ่านสาระนุกรมเล่มไหน “Encyclopaedia” ฉบับภาษาไทยที่สมบูรณ์แบบเกี่ยวกับศาสนาเพื่อทำความเข้าใจเพื่อนร่วมโลกใต้โครงครอบแห่งความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน แต่เท่าที่ผู้เขียนสังเกต หลังจาก 9/11 อิสลามได้กลายเป็นศาสนาที่น่าจับตามองมากที่สุด

การอธิบายอิสลามให้สังคมตะวันตกเข้าใจจึงมีทางเดียวนั่นอย่างที่นักบูรพาคดีชาวตะวัน (ผู้ศึกษาอิสลามและโลกมุสลิม)ได้มีการตีพิมพ์ออกมาเพื่อเข้าใจโลกมุสลิมและความเชื่อในแบบอิสลามก็คือ  หนังสือ Encyclopaedia of Muslim Political Thought ของ Gerhard Bowering หรือ The Oxford Dictionary of Islam ของ John L. Esposito หรือ Shorter Encyclopaedia of Islam ของ H.A.R. Gibb และ J.H.Kramers  อย่างที่เห็น

โจทย์ของพวกเขาวางไว้ง่ายมาก นั่นก็คือ “อิสลามคืออะไร?” แล้วหาคำตอบ

จุดอ่อนอย่างหนึ่งของสังคมไทย คือ สังคมมุขปาถะ (นิยมการเล่าเรื่อง) มากกว่าทำงานเพื่อความเข้าใจองค์ความรู้ผ่านการจดบันทึกอะไรสักอย่างด้วยความจริงจัง จนส่วนหนึ่งของความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นภาพสะท้อนเกลื่อนกลาด สาดหยดเลือดกระจายและกลายเป็นปัญหาเรื้อรังไปในที่สุด

นิยามต่าง ๆ ที่ยังกลายเป็นปริศนาของสังคม โดยเฉพาะเพื่อนร่วมศาสนิกที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมที่เราต่างเป็นหนึ่งในพลเมืองและประชาชนร่วมกันนั่นก็คือ “ประเทศไทย”มองลึกลงไปในสังคมไทยอย่างละเอียด ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการอคติและการไม่เปิดใจรับความต่าง เพราะเกิดจากความไม่เข้าใจด้วยหลักการของศาสตร์และวิถีผ่านระบบสังคมมุขปาถะที่นิยมการเล่าเรื่อง

 จนกระทั่งการตำหนิและติเตียนอัตลักษณ์อื่นเกิดขึ้นอย่างง่ายดายกว่าเดิม ไม่มีทางเลือกมากสำหรับสังคมแบบนี้ใต้วัฒนธรรมมุขปาถะที่จะเป็นของกำนัลมอบให้แก่กัน “นอกจากลูกปืนและระเบิด” อย่างที่เห็น

เริ่มต้นสำหรับทางรอดของสังคมภายใต้ความรุนแรงแบบยืดเยื้อเรื้อรัง การรื้อโครงการและนิยามในตัวแสดงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้กระจ่างและชัดเจน จนกระทั่งเราต้องเริ่มทำความเข้าใจนิยามเหล่านี้กันใหม่ว่า “ความดี คืออะไร?” “ความชั่วคืออะไร ?” “การฆ่าคืออะไร ?” “สงครามศักดิ์สิทธิ์คืออะไร ?” “มลายูคืออะไร?”  “ซีแยคืออะไร ?”

หากนิยามเหล่านี้ไม่ได้รับความกระจ่าง

“สังคมก็จะอยู่กับความโกลาหลทางปัญญาและยึดติดค่านิยมใต้โครงของวัฒนธรรมแบบเดิม ๆ เสมอ ๆ ”

สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้านเราและทั่วโลก มุสลิมโดนตั้งคำถามไม่ต่างกันนั่นก็คือ

“ทำไมศาสนาที่สอนให้คนรักความสงบ ผ่านคำทักทายที่หยิบยื่นให้แก่กัน ด้วยคำว่า สันติภาพ แต่ทำไม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก มุสลิมเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงดังกล่าว”

 สำหรับผู้เขียนมองประเด็นนี้ตั้งคำถามเหล่านี้มาโดยตลอด มิติของความเชื่อในแต่ละศาสนาไม่มีแนวทางในการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรง (แม้ในประวัติศาสตร์ มีการห้ำหั่นกันในนามศาสนา แต่ปัจจัยแวดล้อมในสถานการณ์ ณ ช่วงเวลานั้น สามารถ อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน) แต่ผลสะท้อนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน มันคือ แนวทางทำให้แต่ละคนอยู่กับสังคมแห่งความหวาดระแวงและความรุนแรง

ประวัติศาสตร์อิสลามไม่ได้มีแบบฉบับแห่งสงครามศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นโดยไร้ต้นสายปลายเหตุ หรือ สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงเพียงอย่างเดียวโดยไร้ที่มาที่ไปอย่างที่หลายคนกล่าวอ้าง   หากนำประวัติศาสตร์อิสลามาเพื่อเป็นฎีกาในการพิพากษาผู้เห็นต่างดูจะเป็นแนวทางที่ไม่ค่อยยุติธรรมสักเท่าไหร่

และที่น่ากลัวกว่านั้นคือ การหยิบยกประวัติศาสตร์มากล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนแนวทางที่กำลังดำเนินอยู่ของกลุ่มที่นิยมใช้ความรุนแรงในทุกแห่งทั่วโลก แนวคิดนี้ ถือเป็นแนวทางที่น่ากลัวไม่น้อยเลยทีเดียว

หากศึกษาให้ละเอียดพบว่า แนวทางอิสลามของท่านศาสดา สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงก็ต่อเมื่อ การถูกอธรรม และไร้การหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหา จนถึงขั้นที่ว่า ไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับการประนีประนอม ก็เป็นการอนุญาตให้ใช้ระบบตาต่อตาฟันต่อฟันนั้น หากต้องการรูปแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่ก็ต้องใช้แบบเฉพาะกับคูกรณีได้เท่านั้น แต่การใช้ความรุนแรงแบบคุกคามและสร้างความหวาดกลัวต่อสาธารณะไม่ใช่เป็นแนวทางของอิสลามที่สนับสนุน  (ใช้ความรุนแรงเข้าแลกถือเป็นแนวทางสุดท้าย เพราะแนวทางที่ดีกว่า คือ การอภัยให้แก่กัน)

 ดังประวัติศาสตร์ที่ท่านศาสดายกโทษให้กับฮาละและฮินดน(คนเหล่านี้ได้ฆ่าญาติของท่านนาบี คือ ฮัมซะ ด้วยการผ่าหัวใจ นำออกมาเคี้ยวและพ่น) หรือ อบูญะฮัล (หัวหน้าของผู้ปฏิเสธ ซึ่งเป็นผู้คอยขัดขวางและลอบทำร้ายท่านนาบีตลอดเวลา) ในประวัติศาสตร์การพิชิตมักกะห์ เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของแนวทางอิสลามที่ได้กลายเป็นแบบฉบับในหลักสูตรการสร้างสันติภาพด้วยการหยิบยื่นการอภัยให้แก่กัน

คำถามที่ทุกคน คิด ไม่ต่างกันนั่นก็คือ ความรุนแรงที่ดำเนินอยู่ อยู่ในระดับไหน ? รูปแบบใด ? เราสามารถเรียกมันว่า สงครามศักดิ์สิทธิ์ได้ไหมตามหลักการอิสลาม ? หากได้ วิธีการต่อไปจะเป็นไปในรูปแบบใด ? หากไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของสงครามศักดิ์สิทธิ์ การคุกคามของผู้ใช้ความรุนแรงอยู่ในสถานะใด ? หากหลักการศาสนาไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น การคุกคามและความรุนแรงดังกล่าวอยู่ในสถานะไหน ?

แต่ดูเหมือนการให้นิยามสิ่งเหล่านี้ จะเริ่มหายไปจากสังคม

สิ่งเหล่านี้ละเอียดอ่อนต่อการสร้างภาพที่ชัดเจนให้เกิดขึ้น  แต่อย่างน้อย สังคมที่เราอยู่ร่วมกัน ก็ต้องหาคำตอบเหล่านี้ไป พร้อม ๆ กัน

 หาก ไร้นิยามที่แท้จริง การพยายามหาทางออกของกลุ่มขบวนการหรือรัฐเองก็เดินไปในหนทางที่ค่อนข้างไร้จุดหมาย เพราะจุดหมายของแต่ละกลุ่มช่างต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เอาเข้าจริง สังคมที่เราอยู่ร่วมกัน ไม่ได้มีแค่สองกลุ่มหรือตัวแสดงในสถานการณ์ทางภาคใต้ไม่ได้มีแค่กลุ่มขบวนการหรือรัฐที่เสี่ยงพอ ๆ กันในการใช้ความรุนแรง เพราะทุกกลุ่มมีกระบอกปืนเป็นเครื่องมือในการจัดการ

 แต่ยังมีคนที่ไม่เอาด้วยกับรัฐ ?

ยังมีกลุ่มที่ไม่เอาด้วยกับการฆ่ารายวัน ?

ยังมีกลุ่มไม่เอาด้วยกับการใช้ความรุนแรงหรือใช้ระบบการเมืองแบบเจ้าพ่อเข้ามาตัดสินปัญหา ?

หรือ ยังมีอีกหลายกลุ่มที่ไม่เอาด้วยกับ ความสูญเสียรายวันที่เกิดขึ้น ?

คำถามก็คือว่า แล้วคนส่วนใหญ่หรือภาคประชาสังคม ต้องการอะไรกันแน่ ?

หรือที่สังคมเป็นแบบนี้ นี่คือ สิ่งที่สังคมของเราต้องการอย่างจริง ๆ  ?

นี่คือ สิ่งที่เราต้องหาคำตอบไปพร้อมกัน ๆ หากไม่รู้คำตอบเหล่านี้

 “กระบอกปืน คือ ของกำนัลที่เราต่างได้รับมอบและหยิบยื่นให้แก่กัน อย่างที่เห็น”

อ่านตอนที่ 2 (ตอนจบ) เร็ว ๆ นี้

 

อ่านเพิ่มเติม

Al-Ghazali , F.R.C. Bagley (translated), Counsel for King (Nasihat Al-Muluk), New York ; Oxford University Press,1964.

Bowering, Gerhard, The Princeton Encyclopedia of Islamic Political Thought, New jercy ; Princeton University Press, 2013.

Enayat, Hamid, Modern Islamic Political thought, London; Macmillan, 1982.

Gabriel, Theodore, Christian Citizens in an Islamic State ; The Pakistan Experience, Hampshire ; Ashgate, 2007.

Khan, Qamaruddin, The Political thought of Ibn Taymiyah, New Delhi ; Adam Publishers and Distributors, 2007.

Naqavi, Syed Ali Muhammad, Human Right in Islam and in the Sirah of Prophet Muhammad (P.B.U.H.), New Delhi ; Iran Culture House, 2008.

M.M. Sharif, A History of Muslim Political  Philosophy, Vol. 2 , New Delhi ; Low Price, 1099.

จำรูญ เด่นอุดม,บทบาทอูลามะอฺปัตตานีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ใน  เอกสารประกอบการสัมมนา ; ภาพหลอกหลอน ณ ชายแดนใต้ของไทย ; การเขียนประวัติศาสตร์ปาตานีและโลกอิสลาม เล่ม 2, Ed. Patrick Jory and Jirawat Saengthong, Bangkok ; Department of History, Chulalongkorn University, 2009.

สุรชาติ  บำรุงสุข , “สันติเสวนา ; การเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบ” (Peace Dialogue : Negotiation with Insurgents),จุลสารความมั่นคงศึกษา เดือนธันวาคม (ฉบับที่ 117-118)กรุงเทพฯ ; โครงการความมั่นคงศึกษา, 2555.

อ่านเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจอิสลามและมุสลิม 

Esposito, John L., The Oxford dictionary of Islam, New York ; Oxford University Press, 2003.

Gibb, H.A.R. และ Kramers, J.H. , Shorter Encyclopaedia of Islam (The Royal Netherlands Academy), New Delhi ; Pentagon Press,2008.

Bowering, Gerhard, The Princeton Encyclopedia of Islamic Political Thought, New jercy ; Princeton University Press, 2013.

 



[1] พื้นเพลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เคยใช้ชีวิตในเมืองปัตตานี และย้ายรกรากเพราะการศึกษาหลักสูตรไกลบ้านมาอยู่ในแผ่นดินภารตะนคร ชอบการอ่านและการเขียน ด้วยความเชื่อที่ว่า ปลายปากกามักคมและมั่นคงกว่าปลายดาบ ปัจจุบัน ศึกษาระดับปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ (ปรัชญาการเมือง) มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลิการ์  ประเทศอินเดีย  (เขียนเมื่อ 22  มิถุนายน 2557 ณ หอสมุดเมาลาอาซัด, เมืองอาลิการ์, ประเทศอินเดีย)