Skip to main content

 

อับดุรเราะฮหมาน  มูเก็ม [1]

          การหาทางรอดของสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกหน่วยของสังคมต้องเดินไปพร้อมกัน ทางรอดของสถานการณ์ไม่ควรพึ่งเฉพาะ รัฐ  / กลุ่มขบวนการ / ครู / ข้าราชการ / นักการเมือง / นักศึกษา

        แต่ทั้งหมดควรอยู่ใต้ยุทธศาสตร์ในแบบเดียวกัน ผ่านแผนแม่บทในการขับเคลื่อนเหมือนกัน (ไม่ใช่ ใครอยากทำอะไรก็ทำ แต่ควรทำตามแบบแผนและยุทธศาสตร์ชาติในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงผ่านการถอดบทเรียนของประเทศอื่น ๆ เมื่อมองแบบนี้ ปัญหาชายแดนใต้ มีปราชญ์จำนวนไม่น้อยที่เชี่ยวชาญและสามารถรับมือกับปัญหาแบบนี้ด้วยองค์ความรู้ที่มี ณ ปัจจุบันผ่านการถอดบทเรียนร่วมกันมาเป็น 10 ปี)

         กรณีสร้างความเข้าใจในมิติที่ว่าด้วย โรงเรียนสันติภาพ ก็ควรวางนโยบายกระจายให้เกิดขึ้นทั่วท้องถิ่น เช่น โรงเรียนควรมีหลักสูตรให้เด็กทุกคนเข้าใจ สันติภาพ ควรให้ครูเข้าใจสันติภาพ ต้องให้รัฐเข้าใจสันติภาพ สมควรเป็นอย่างยิ่งให้มัสยิดเข้าใจสันติภาพ เหมาะสมให้ข้าราชการรับรู้สันติภาพ และให้ทุกคนที่เป็นตัวแสดงในสถานการณ์ทั้งหมดเข้าใจในนิยามที่ไม่ต่างกัน ไม่ว่าคนเหล่านั้นคือ ผู้กระทำ หรือ ผู้ถูกกระทำ

“เมื่อทุกคนเข้าใจเหมือนกัน สังคมก็จะมีคำตอบร่วมกัน ว่า เราจะเดินไปด้วยกันทางไหนดี ?”

         เอาเข้าจริง ปัญหาสามจังหวัด เราไม่ได้ขาดปราชญ์หรือคนทำงานเพื่อสลายความรุนแรงและความขัดแย้ง แต่สิ่งที่เรายังไม่สมบูรณ์แบบ นั้นก็คือ องค์ความรู้ที่จะอธิบายให้กับสังคม (ไม่ใช่อธิบายให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง) ผ่านนิยามเหมือน สารานุกรม (Encyclopaedia) ที่อธิบายสังคมที่เป็นไป เพราะผู้เขียนก็ไม่ได้เห็นสารานุกรมเล่มไหน พอจะเป็นแนวทางในการชี้นำสังคมและความเป็นไปใต้บริบทที่จำเป็นอย่างยิ่ง

            เพราะ เราต้องแลกชีวิตคนไปเกือบทุกวันผ่านความรุนแรง แต่การอธิบายให้สังคมเข้าใจความต่างกันของอัตลักษณ์ เหมือนจะเลือนหายไปจากสังคมเรา เราลงทุนไปกับชีวิตคนเป็นจำนวนมาก แต่หนทางที่เราต่างเดินไปสู่การหาทางรอด เหมือนจะไร้ระบบและไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของภาคประชาสังคม

           ส่วนหนึ่งของผู้ชี้นำชะตากรรมของผู้คนและหาทางรอดให้สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมสามารถพึ่งพาได้นั้นก็คือ ท่านผู้รู้และปราชญ์ที่พอจะเข้าใจปรากฏการณ์และบริบทของสังคมและความเป็นไป อย่างน้อยพลังของคนเหล่านี้ มีแรงเหวี่ยงมากพอจะรับมือกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

อุลามะอ์ คือ ใคร ?

          อุลามะอ์เปรียบเสมือน “ตัวแทนของคนกลางที่เชื่อถือได้” เพื่อพูดคุยกับรัฐและกลุ่มก่อความไม่สงบ อย่างน้อยเพื่อสนทนาให้สถานการณ์ดังกล่าวสุกงอมน้อยที่สุด กลุ่มก่อความไม่สงบอาจไม่ศรัทธาในกลุ่มอุลามะอ์ หรือทางรัฐไม่ให้ความสำคัญ กระนั้น กลุ่มอุลามะอ์ก็มีสถานะเป็นปราชญ์ในการคลี่คลายเรื่องต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ทับซ้อนและซับซ้อนแบบนี้ อูลามะคือ ตัวแปรสำคัญในการเจาจาต่อรองและหาทางรอดของสังคม

           อย่างน้อย “อุลามะอ์ไม่ได้ต่อสู้ด้วยอาวุธปืนหรือสัญญะแห่งความรุนแรงที่รัฐและกลุ่มขบวนการเลือกใช้” ด้วยเหตุนี้ “ความบริสุทธิ์ของสถานะเป็นเครื่องยืนยันพอที่จะให้ทางรอดกับสังคมได้มากกว่า เพราะปลายปากกามักแหลมคมกว่ากระบอกปืนเสมอๆ”

            Prof. Gerhard Bowering ได้สรุปอย่างถึงแกนผ่านงานชิ้นโด่งดัง The Princeton Encyclopedia of Islamic Political Thought ว่า

           “อุลามะอ์” (Ulama) คือ นักคิดอิสลามที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องหลักการศาสนา ซึ่งหลัก ๆ ประกอบไปด้วย นักอรรถาธิบายอัลกุรอ่าน (Mufasir) ซึ่งทำหน้าที่ตีความอัลกุรอ่าน (คัมภีร์ของศาสนาอิสลาม) เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน  / นักอรรถาธิบายฮาดิษ (Muhaddith) ซึ่งทำหน้าที่ศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับศาสตร์สาขาอัลฮาดิษ (พระวจนะศาสนาดามูฮัมหมัดที่เกี่ยวข้องกับการพูด การกระทำและการยอมรับ) ซึ่งเป็นบรรทัดฐานในการดำรงชีวิตของมุสลิม /  นักกฎหมายอิสลาม (Fagih) หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านหลักการฟิกห์ (หลักปฏิบัติทางด้านศาสนบัญญัติ) / มุฟตี (Mufti) นักวิชาการทางด้านกฎหมายอิสลามและผู้พิพากษา ซึ่งนักวิชาการหรือทานผู้รู้เหล่านี้อาจจะมีอัตลักษณ์อื่น ๆ ในเวลาเดียวกัน เช่น เป็นนักกฎหมายอิสลาม / นักการศาสนา / นักปรัชญา / วิถีซูฟี (Gerhard Bowering, 2013 ; 574.)

สำหรับอุลามะอ์แบ่งเป็น 2 ยุค หลักๆ นั่นก็คือ

1.    อุลามะอ์ในยุคแรกของประวัติศาสตร์ (Ulama in Medieval History.)

            เป็นกลุ่มนักวิชาการที่มากลุ่มแรก (First Generation) จากผลิตของท่านนาบี (ศาสดา) ด้วยการอยู่ร่วมสมัยและกลายเป็นตัวแทนในการนำความรู้ที่เกี่ยวโยงกับอัลกุรอ่านและสารัตถะแห่งการดำเนินชีวิตและหลักคำสอนของท่านศาสดา และได้พัฒนามาตามยุคสมัยต่าง ๆ อย่างเช่น มูฮัมหมัด บิน ซิฮาบ อัซ-ซุหฺรี (Muhammad b.Shihab  Al-Zuhri, d.742) ผู้เป็นที่ปรึกษาของคอลีฟะห์ในยุคสมัยราชวงศ์อุมัยยะหฺ(Umayyad Caliphate dynasty) และได้กลายเป็นผู้รวบรวมฮาดิษ(Sunan) ให้กับคอลิฟะหฺอุมัร  อิบนุ อัล-อาซิส (Umar bin Abd Al-Aziz,717-720)

           หรือ มุฮัมหมัด บิน อิสฮาก (Muhammad b. Ishaq, d.767) ผู้เขียนอัตชีวประวัติของท่านศาสดาเล่มแรกที่โด่งดังและอยู่ร่วมบริหารบ้านเมืองในยุคสมัยราชวงศ์อับสิยะหฺของคอลิฟะหฺมันซูร (Mansur, 754-775.) หรืออีกท่านที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ท่านอาบู ฮานิฟะหฺ (Abu Hanifa, d.767.) เป็นปราชญ์ผู้ทรงอิทธิพลอย่างมากในกรุงแบกแดด (Baghdad) และร่วมบริหารบ้านเมืองในสมัยราชวงศ์อับบาสิยะหฺของคอลีฟะหฺฮารูน อัร-รอชิด (Harun Al-Rashid,786-809) (Gerhard Bowering,2013,574.)

2.    อุลามะอ์ในยุคสมัยใหม่ (Ulama in Modern World)

               บทบาทของอุละมะได้เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการบ้านเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยที่บ้านเมืองตกอยู่ในความยากลำบากและสถานการณ์ความไม่สงบ ในยุคสมัยของท่านอิหม่ามฆอซาลี (Al-Ghazali,1508-1111) ก็ได้กลายเป็นอุทาหรณ์ให้กับปราชญ์ในการยืนอยู่ท่ามกลางสังคมแห่งการลอบสังหารและการแย่งชิง ท่านได้สูญเสียมิตรสหายของท่านในโศกนาฏกรรมครั้งดังกล่าวนั้นคือ มาลิก ชาห์ (Malik Shah,1072-1092) ผู้ปกครองสมัยราชวงค์ซาลจูก (Saljugis Rule) และ นิซอมมุล มุลฆ์ อัลตุซี (Nizamul Mulk Tusi) ผู้ว่าการรัฐแห่งราชวงค์ซาลจูก ซึ่งเสียชีวิตในปีคริสต์ศักราช 1092 (M.M. Sharif,1099;583-585) จนท่านต้องหาทางรอดให้สังคมในเวลานั้นด้วยการเขียนหนังสือเล่มโด่งดังว่าด้วย “บทตักเตือนกษัตริย์” ที่ชื่อว่า Nasihat  Al-Muluk (F.R.C. Bagley,1964)

                หรือยุคสมัยของท่านอิหม่ามอิบนุตัยมิยะหฺ (Ibn. Taymiyah,1263-1328) ที่ต้องทำงานหนักเพื่ออิสลามในการต่อสู้กับอิสลามนอกรีตและสังคายนาแนวคิดที่เจือปนกับความเชื่อที่ผิดเพี้ยน หนำซ้ำท่านต้องศึกษาศาสตร์แห่งความเป็นสังคมกรีกที่หลั่งไหลเข้ามาสังคมมุสลิม ท่านต้องทำงานงานหนักเพื่อหานิยามแห่งปรัชญากรีก ว่าด้วยพระเจ้า การใช้ตรรกะ หรือหลักปรัชญาอื่น ๆ  (Qamaruddin Khan, 2007; 16)

                หลังจาก ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ปราชญ์ไม่ได้กลายเป็นเครื่องมือในทางการปกครองของสุลต่านแต่อย่างใด หนำซ้ำ ปราชญ์เป็นแค่เพียงหนึ่งตัวแสดงที่เสมือนกับผู้ขัดผลประโยชน์ของรัฐสมัยใหม่ การล่าอาณานิคมเริ่มรุกคืบเข้าสู่ประเทศมุสลิมและนำมาซึ่งระบอบการปกครองและวิถีวัฒนธรรมแบบใหม่ ระบบการศึกษาก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและการควบคุมของอาณานิคม ความซับซ้อนของโลกก็มากขึ้น ระบบทุนรุกคืบ ระบบสังคมแบ่งฝ่ายขั้วอำนาจ เกิดสงครามระหว่างตัวแสดงของรัฐและมหาอำนาจโลก (Gerhard Bowering, 2013; 577.)

                 มุสลิมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ การศึกษาจึงไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะศาสนา แต่ในขณะเดียวกันศาสตร์ต่างๆ รุกคืบสังคมโลกและสังคมมุสลิมอย่างต่อเนื่อง ทางรอดของสังคมมุสลิมในยุคสมัยใหม่และบรรดาปราชญ์ นั่นก็คือ พวกเขาต้องรู้และเข้าถึงทุกศาสตร์เพื่อรับมือกับความเป็นไปของโลกนั่นเอง

                ความจำเป็นสำหรับอุลามะอ์ นั่นก็คือ ต้องทำความเข้าใจหลักการศาสนาอย่างถ่องแท้ เพื่อนำมาปรับใช้กับอัตลักษณ์และระบบสังคมแบบใหม่ ต้องเข้าใจระบบสังคม ความต่างของศาสนา ความไม่เหมือนกันของมัซฮับ (สำนักคิดทางด้านหลักการศาสนา 4 มัซฮับ) ความไม่ลงรอยกันของนิกาย ความไม่คุ้นชินแนวคิดแบบใหม่-เก่า ความรุกคืบของศาสตร์ต่าง ๆ การมุ่งเน้นของสายซูฟี การศึกษาทางด้านหลักปรัชญา  ความต่างกันของวัฒนธรรมทางการเมือง ความไม่เท่าเทียมกันในการพัฒนาของพื้นที่ชนบท ความไม่เหมือนกันของการทำงานของนักเผยแพร่ศาสนา ระบบการเมืองอิสลาม การจัดการและบริหารสาธารณะ เพราะสิ่งเหล่านี้ คือ ปัญหาพื้นฐานของสังคมโลกร่วมสมัย

              ผู้ชี้นำสังคมมุสลิมในฐานะอุลามะอ์ร่วมสมัย เช่น นักเคลื่อนไหวชาวซูดานอย่าง ฮาซัน ตูรอบี (Hasan Turabi,b.1932) ซึ่งจบปริญญาเอกทางด้านกฎหมายจากซอร์บอร์น (Sorborne) และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านศาสนา / นักเคมี / วิศวกร / นักเศรษฐศาสตร์และผู้พิพากษาในเวลาเดียวกัน (Gerhard Bowering, 2013 ; 574.)

              ในมุมมองของ ฮามิด อีนายัต (Hamid Enayat) ได้กล่าวถึงสถานะของอุลามะอ์ในรัฐอิสลาม ได้กลายเป็นเสมือนตัวแทนของผู้ปัดเป่าและเป็นผู้ชี้นำสังคมเพื่อให้เกิดการอยู่รอดหรือนำไปสู่ความตกต่ำของสังคมให้น้อยที่สุดเท่าที่ปราชญ์คนหนึ่งจะช่วยได้ ตัวอย่างที่ชัดเจน นั่นก็คือ อายาตุลเลาะฮ์ โคมัยนี (Ayatollah Khomeini,d.1989) ในรัฐอิสลามของประเทศอิหร่าน และในรัฐอิสลามอย่างปากีสถาน ใต้การคอยชี้แนะสังคมโดย อะบุลอะลา อัล-เมาดูดี (Abul Ala Al-Mawdudi, d.1978.) ปราชญ์เหล่านี้ได้นำหลักการอิสลามมาวิเคราะห์และหาทางรอดให้กับสังคมมุสลิม (Hamid Enayat,1982;101-102.)

               สำหรับในประเทศปากีสถาน ธีโอดอร์ กาเบรียล (Theodore Gabriel) มองว่า พลเอกซัยอุลฮัก (General Zia Ul Hagg) ได้มองการปกครองประเทศของตัวเองที่แสนจะยากยิ่งใต้ช่วงสงครามเย็น กอปรกับปากีสถานเพิ่งเปลี่ยนสถานะมาจากการเป็นประเทศใต้อาณานิคมที่เป็นรัฐอิสลามอิสลาม ซึ่งอุดมด้วยกระแสสังคมนิยมของสหภาพโซเวียต และแนวคิดเสรีนิยมแบบอเมริกา อีกทั้งต้องปกครองพลเมืองชนกลุ่มน้อยต่างศาสนิกที่เป็นชาวคริสต์และศาสนิกฮินดูอีกด้วย นับเป็นความลำบากในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนั้น ทางรอดคือ การนำปราชญ์เข้ามาช่วยจัดการและบริหารบ้านเมืองในฐานะที่ปรึกษา (Theodore Gabriel,2007;5.)

“อุลามะอ์จึงกลายเป็นกุญแจดอกสำคัญของการคลี่คลายปรากฏการณ์ของสังคม”

 

อุลามะอ์กับความจำเป็นต่อการบริหารจัดการบ้านเมือง

                ใน “บทตักเตือนกษัตริย์” (Nasihat Al-Muluk) ของอิหม่ามฆอซาลีได้กล่าวถึงความจำเป็นประการแรก ๆ สำหรับผู้ปกครองที่ต้องหา “ปราชญ์” เพื่อให้คำปรึกษาในฐานะครูผู้สอนที่เก่งและให้คำตักเตือนที่ดีเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเพื่อปกครองบ้านเมือง เพราะคำสอนของผู้รู้ได้กลายเป็นบทเรียนขนานใหญ่ให้กับผู้ปกครองเมือง เพราะการพบปะบรรดาผู้รูเท่านั้นที่ทำให้ผู้ปกครองระลึกถึงอัลลอฮฺ  หนึ่งในตัวอย่างที่เด่นชัดนั่นก็คือ

                ครั้งหนึ่งปราชญ์ซูฟีคนสำคัญของโลกมุสลิมได้เดินทางมาหา ฮารูน อัร-รอชีด (Harun Al-Rashid) แล้วท่านฮารูน ก็ได้ถามว่า “ท่านคือ ใคร ?”

                 ชายผู้หนึ่งที่เดินทางมาหาได้ตอบว่าฉันคือ  ชากิก  อัล บัลฆี (Shagig  Al-Balkhi) เมื่อได้ยินเช่นนั้นผู้ปกครองอิสลามผู้โด่งดังได้กล่าวขึ้นว่า  “ท่านโปรดแนะนำฉันและกล่าวตักเตือนต่อฉันด้วยเถิด”

    ท่านชากิก อัล-บัลฆี ได้กล่าวว่า

             “พระเจ้าได้ประทานตำแหน่งแห่งความเที่ยงตรงที่ยิ่งใหญ่ให้กับเจ้า โอ้ฮารูน อัร-รอชีดเอ่ย หน้าที่ของเจ้าไม่ต่างกับท่านอบูบักร  อัซ-ซิดดิก ท่านจงดำเนินภารกิจของท่านด้วยความสัตย์จริงให้เหมือนกับท่านอบูบักรเถิด”

              “พระเจ้าได้มอบภารกิจสำคัญในการชี้ขาดที่ดีที่สุดให้กับเจ้า โอ้ ฮารูน อัร-รอชีด เอ่ย หน้าที่ของเจ้าเหมือนท่านอุมัร อิบนุ อัล-ค็อตต๊อบ ท่านจงเป็นผู้เฉียบขาดในการชี้ถูก-ผิดซึ่งไม่ต่างจากท่านอุมัรเถิด”

                “พระเจ้าได้มอบตำแหน่งสองรัศมีให้กับเจ้าโอ้ ฮารูน อัร-รอชีดเอ่ย ซึ่งหน้าที่ของเจ้าไม่ต่างจากท่านอุสมาน บิน อัฟฟาน ท่านจงเป็นผู้ปกครองที่มีความนิ่มนวลและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้เหมือนกับท่านอุสมานเถิด“

               “พระเจ้าได้มอบตำแหน่งสำคัญให้กับเจ้าเกี่ยวกับการเป็นผู้รู้ให้กับเจ้า โอ้ ฮารูน อัร-รอชิดเอ่ย หน้าที่ของเจ้านั้นเหมือนท่านอาลี บิน อาบีฏอลิบ ท่านจงนำความรู้เหล่านั้นมาปรับใช้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมมุสลิมซึ่งไม่ต่างจากท่านอาลีเถิด”

           ท่านฮารูน อัร-รอชิดชอบในคำตักเตือนดังกล่าวและได้พูดว่า “รับทราบครับ”

            ชากิก อัล-บัลฆีเลยกล่าวว่า “พระเจ้าผู้สร้างนรกนั้น เป็นพระองค์เดียวกันกับผู้สร้างสวรรค์”

                        ท่านชากิก อัล-บัลฆี ก็ได้กล่าวต่อว่า “อัลลอฮฺได้มอบของกำนัลให้กับท่าน 3 อย่างโอ้ ฮารูน อัรรอชิด เอ่ย”

          ประการแรก       อัลลอฮฺได้มอบเงินกองคลังให้กับท่านเป็นผู้ดูแล ท่านจงใช้เงินที่มีเพื่อหยิบยื่นและสนองผู้ขัดสนที่มาขอความช่วยเหลือจากท่าน

          ประการที่สอง     อัลลอฮฺได้มอบแซ่ไว้ให้กับท่าน  ท่านจงใช้แซ่ของท่านเพื่อสั่งสอนและจัดการผู้คนที่ขัดคำสั่งของอัลลอฮฺ

          ประการที่สาม    อัลลอฮฺให้ดาบอันคมกริบไว้กับท่าน เมื่อมีคนหนึ่งสังหารอีกคนหนึ่ง ท่านจงใช้ดาบของท่านสำเร็จโทษมือสังหารผู้นั้น หากญาติของผู้เสียชีวิตมาร้องขอความเป็นธรรมจากท่าน (F.R.C. Bagley, 1964; 19)

            งานวิจัยของ จำรูญ  เด่นอุดม บอกเราว่า  บรรดาอุลามะอ์จากปาตานีดารุสลามก็กลายเป็นบุคคลสำคัญในการดูแลสังคมปาตานีในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็น บุตรชายของท่านเช็คอุสมานที่ได้ก่อตั้งปอเนาะและสถาบันทางความคิดให้กับสังคมมุสลิมปาตานีที่ กัวลาบือเกาะปาตานี  (บริเวณปากแม่น้ำปัตตานี)

           หรือใน ศตวรรษที่ 15 หลังจากที่กษัตริย์ปัตตานีได้เข้ารับอิสลาม “เช็คศัลฟียุดดีน” ซึ่งเปิดสถานศึกษาศาสนาที่หมู่บ้านสุไหงปาแน (ปัจจุบันตำบลบานา จังหวัดปัตตานี) ใกล้พระตำหนักนีลัมของสุลต่านที่กรือเซะ (อำเภอเมืองปัตตานี) และท่านผู้นี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาราชาปาตานี มีตำแหน่งเป็นโต๊ะราญาฟากิฮฺ (จำรูญ เด่นอุดม,2009;531)

             ด้วยเหตุนี้ “ปราชญ์อิสลามจึงเป็นคำตอบสุดท้ายในการสร้างทางรอดให้กับสังคมมุสลิมในโลกที่ซับซ้อนกว่าเดิม”

             ความบริสุทธิ์ใจอยู่ที่พระเจ้า ซึ่งพระองค์เท่านั้นที่ล่วงรู้  “ความรุนแรงไม่ว่าเดือนไหนก็ยังเป็นความรุนแรง”

              ความรุนแรงที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความชอบธรรมตามหลักการและเงื่อนไขของอิสลามด้วยแล้วเป็นสิ่งที่มิติของศาสนาไม่สนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง 

       “แม้สงครามจะเป็นตัวชี้วัด แต่ทุกอย่างมีเงื่อนไขและปัจจัยแวดล้อมของยุคสมัยเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ สูงสุดของความขัดแย้งและความรุนแรง แนวทางแห่งศาสนาอิสลามขจัดมันด้วย การให้อภัย มากกว่า การห้ำหั่นกันเสมอ ๆ”

             ไม่ต่างจาก ซัยยิด อาลี มูฮัมหมัด นัฆวี ได้ยกตัวอย่าง ความขัดแย้งระหว่างกอบีล (Qabil) และฮาบีล (Habil) ลูกชายของท่านนาบีอาดัม ในขณะกอบีลจะพยายามฆ่าฮาบีล ซึ่ง ฮาบีลได้กล่าวว่า

              “แม้ว่าท่านจะยกมือขึ้นเพื่อฆ่าฉัน ฉันจะไม่ยกมือของฉันฆ่าท่านหรอก เพราะฉันกลัวอัลลอฮฺ ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ฉันไม่ต้องการให้มือฉันเปื้อนมลทินด้วยการเป็นคนบาปและมีที่พำนักของฉันในนรกหรอก เพราะมันคือผลสนองแห่งการฉ้อฉลและความอธรรม”  (Syed Ali Muhammad Naqavi,2008;194)

               สังคมมุสลิม สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังต้องการอุลามะอ์ หรือผู้ชี้นำสังคม (ผู้รู้ที่เป็นปราชญ์เข้าใจทุกสาขาวิชาและพร้อมอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นได้อย่างแหลมคมผ่านมิติหลักการศาสนาที่ไม่บิดเบือนพร้อมนำมาปรับใช้กับอัตลักษณ์มลายู)ที่คอยชี้ทางรอดให้สังคม

               สำหรับการชี้แนะของอุลามะอ์แห่งปาตานีให้หยุดใช้ความรุนแรงทั้งด้านภาครัฐและกลุ่มขบวนการในเดือนรอมดอนด้วยการไม่สนับสนุนให้มีการฆ่ากันเพื่อสร้างมลทินในเดือนแห่งการบำเพ็ญตบะและเดือนอันประเสริฐแห่งประชาชาติอิสลาม  

“ถือเป็นทางเลือกที่ถูกต้องที่สุดแล้ว สำหรับวิถีแห่งปราชญ์ !”

 

อ่านเพิ่มเติม

Al-Ghazali , F.R.C. Bagley (translated), Counsel for King (Nasihat Al-Muluk), New York ; Oxford University Press,1964.

Bowering, Gerhard, The Princeton Encyclopedia of Islamic Political Thought, New jercy ; Princeton University Press, 2013.

Enayat, Hamid, Modern Islamic Political thought, London; Macmillan, 1982.

Gabriel, Theodore, Christian Citizens in an Islamic State ; The Pakistan Experience, Hampshire ; Ashgate, 2007.

Khan, Qamaruddin, The Political thought of Ibn Taymiyah, New Delhi ; Adam Publishers and Distributors, 2007.

Naqavi, Syed Ali Muhammad, Human Right in Islam and in the Sirah of Prophet Muhammad (P.B.U.H.), New Delhi ; Iran Culture House, 2008.

M.M. Sharif, A History of Muslim Political  Philosophy, Vol. 2 , New Delhi ; Low Price, 1099.

จำรูญ เด่นอุดม,บทบาทอูลามะอฺปัตตานีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ใน  เอกสารประกอบการสัมมนา ; ภาพหลอกหลอน ณ ชายแดนใต้ของไทย ; การเขียนประวัติศาสตร์ปาตานีและโลกอิสลาม เล่ม 2, Ed. Patrick Jory and Jirawat Saengthong, Bangkok ; Department of History, Chulalongkorn University, 2009.

สุรชาติ  บำรุงสุข , “สันติเสวนา ; การเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบ” (Peace Dialogue : Negotiation with Insurgents),จุลสารความมั่นคงศึกษา เดือนธันวาคม (ฉบับที่ 117-118)กรุงเทพฯ ; โครงการความมั่นคงศึกษา, 2555.

อ่านเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจอิสลามและมุสลิม 

Esposito, John L., The Oxford dictionary of Islam, New York ; Oxford University Press, 2003.

Gibb, H.A.R. และ Kramers, J.H. , Shorter Encyclopaedia of Islam (The Royal Netherlands Academy), New Delhi ; Pentagon Press,2008.

Bowering, Gerhard, The Princeton Encyclopedia of Islamic Political Thought, New jercy ; Princeton University Press, 2013.



[1] พื้นเพลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เคยใช้ชีวิตในเมืองปัตตานี และย้ายรกรากเพราะการศึกษาหลักสูตรไกลบ้านมาอยู่ในแผ่นดินภารตะนคร ชอบการอ่านและการเขียน ด้วยความเชื่อที่ว่า ปลายปากกามักคมและมั่นคงกว่าปลายดาบ ปัจจุบัน ศึกษาระดับปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ (ปรัชญาการเมือง) มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลิการ์  ประเทศอินเดีย  (เขียนเมื่อ 22  มิถุนายน 2557 ณ หอสมุดเมาลาอาซัด, เมืองอาลิการ์, ประเทศอินเดีย)