Skip to main content

 

ซุกกรียะห์ บาเหะ[1]

Can Ramadan Bring Peace to Patani?

หลายคนที่สนใจในประเด็นความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจตั้งคำถามกับตัวเองและคนรอบข้างว่ารอมฎอนปีนี้จะกลายเป็นเดือนแห่งสันติภาพในปาตานีได้หรือไม่?

เพราะแก่นแห่งเดือนรอมฎอนคือเดือนแห่งการค้นหาความสงบ เป็นเดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามและในเดือนนี้เกือบร้อยละ 20 ของประชากรทั่วโลก (กว่า 1.5 พันล้านคน) จะหยุดการกินและดื่มในช่วงเวลากลางวันเป็นเวลา 30 วัน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาของพวกเขาและพยายามกลายเป็นมุสลิมที่ดีขึ้น อีกทั้งเป็นห้วงเวลาที่สะท้อนถึงความจงรักภักดีต่ออัลเลาะฮ์และสะท้อนถึงความเสมอภาคของมุสลิมระหว่างการละหมาดในยามค่ำคืนและแสดงออกถึงความเมตตาที่มีต่อเพื่อนมนุษย์โดยผ่านการซะกาต[2]หลายคนจึงอยากเรียกร้องให้  ผู้ถือปืนทุกคนหยุดการต่อสู้และให้เดือนแห่งความสงบสุข [รอมฎอน] นี้เป็นของขวัญสำหรับมนุษย์ทุกคน

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ แม้อิสลามยอมรับการทำสงครามแต่เฉพาะเพื่อต่อสู้ปราบปรามผู้ละเมิดรุกราน ปกป้องพิทักษ์สัจธรรม รักษาความสงบสันติ และยับยั้งความอยุติธรรม การข่มขู่เท่านั้น การทำสงครามในอิสลามจึงเป็นหลักประกันสันติภาพอย่างแท้จริง การทำสงครามของท่านนบีมูฮัมหมัด มีลักษณะพิเศษคือ ท่านมิได้สู้รบกับประชาชน แต่ท่านสู้รบกับผู้ที่บงการอยู่เบื้องหลังการรุกราน ท่านไม่เคยเห็นชอบกับการฆ่าผู้ที่มิได้มีส่วนในการทำสงคราม และในชีวิตของท่าน ท่านไม่เคยฆ่าผู้ไม่ผิดดังกล่าวด้วย ท่านได้สั่งห้ามการฆ่าผู้หญิง ช่างฝีมือ เด็กและบุคคลอื่นๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบโดยตรง

อิสลามเชื่อในหลักการการเรื่อง “คุณธรรม” และคุณธรรมเท่านั้นที่จะปราบปรามความชั่วร้ายและปิดกั้นหนทางแทรกซึมของความชั่วได้สำเร็จอัลเลาะฮฺจึงอนุญาตให้ทำสงครามได้ ในกรณีที่เป็นเรื่องป้องกันตัว หรือเป็นเพื่อธำรงไว้ซึ่งคุณธรรม หรือในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการจงรักภักดีต่ออัลเลาะฮฺ การทำสงครามโดยบรรดานบีจึงเป็นการกำหนดรูปแบบของการทำสงครามในกรณีมีการหลั่งเลือดของคู่สงครามโดยไม่เสียความยุติธรรม ซึ่งเป็นคุณธรรมที่อยู่เหนือการประพฤติตามอารมณ์ของมนุษย์ (เชค มุฮัมมัด อบู ซะฮฺเราะฮฺ, 2549, น.14)

และพวกเจ้าจงต่อสู้ในหนทางของอัลเลาะฮฺต่อบรรดาผู้ที่ทำร้ายพวกเจ้า และจงอย่างรุกราน แท้จริงอัลเลาะฮฺไม่ทรงชบบรรดาผู้รุกราน (อัลบากอเราะฮฺ 2: 190)

ในสมัยที่ท่านนบีมีศึกสงคราม ท่านนบีมูฮัมหมัด มีนโยบายที่มุ่งให้ปวงชนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เท่าที่สามารถทำได้ ท่านได้กำชับพลรบของท่านในระหว่างที่ทำสงครามอยู่เสมอว่า ให้พยายามรักษาความสามัคคีและมีความอดทนไว้ยิ่งกว่าจะคิดแต่ฆ่าฟันกัน ในเรื่องนี้มีผู้เล่าว่า ท่านได้เคยให้โอวาทแก่กองทัพของท่านว่า “จงผูกมิตกับประชาชน และจงมีใจหนักแน่นอดทนไว้เสมอ อย่าจู่โจมทำร้ายศัตรูก่อนที่พวกท่านจะได้ให้โอกาสแก่พวกเขาเหล่านั้นในอันที่จะยอมรับนับถือศาสนาอิสลาม” ด้วยเหตุนี้ การทำสงครามในอิสลามจึงเปี่ยมไปด้วยคววมเมตตาธรรมเพื่อสงวนชีวิตทุกชีวิตรวมทั้งฝ่ายศัตรูด้วย

ท่านนบีมูฮัมหมัดยังได้กำชับแม่ทัพของท่าน คือ ท่านคอลิด บินวาลีดความว่า “ท่านอย่าได้ฆ่าเด็กและพวกทาสเป็นอันขาด”

เชค มุฮัมมัด อบู ซะฮฺเราะฮฺ ได้ระบุไว้ในหนังสือ กฎเกณฑ์อิสลามในการทำสงคราม ความว่า ท่านอบูบักรฺ อัซซิดดิ๊ก ระหว่างเป็นผู้บัญชาการกองทัพมีคำสั่งประกอบด้วยข้อห้าม 10 ประการคือ

1.     อย่าฆ่าผู้หญิง

2.     อย่าฆ่าเด็ก

3.     อย่าฆ่าคนชรา

4.     อย่าฆ่าผู้ทรงศีล

5.     อย่าโค่นต้นอินทผาลัมหรือไม้ให้ผลอื่นๆ

6.     อย่าเผาทำลายต้นไม้

7.     อย่าทำลายสิ่งที่อยู่ในสภาพดีๆ

8.     อย่าทำอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง เว้นแต่เชือดเพื่อรับประทานเป็นอาหารเพื่อประทังชีวิต

9.     อย่ามีใจขลาด

10.  อย่าทำเกินเหตุ

ข้อห้ามเรื่องการฆ่าเด็ก คนชราและผู้หญิง

การที่ท่านนบีมูฮัมหมัด ได้กำชับมิให้ฆ่าเด้ก คนชรา และผู้หญิง เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ไม่มีเรี่ยวแรงพอที่จะทำการสู้รบได้และไม่มีส่วนรู้เห็นในการรบแต่อย่างใด ข้อห้ามนี้ได้ถือเป็นหลักเกณฑ์ในการทำสงครามตามทัศนะของอิสลามที่ว่า เพียงเพื่อปราบปรามและป้องกันการรุกรานเท่านั้น ท่านนบีมูฮัมหมัดจะรู้สึกขัดเคืองใจอย่างยิ่ง หากท่านทราบว่ามีเด็กต้องเสียชีวิตในการทำสงคราม (เชค มุฮัมมัด อบู ซะฮฺเราะฮฺ, 2549. น.65)

คุณธรรมในการรบ

 หากศัตรูไม่คำนึงถึงศีลธรรมมุสลิมจะถือสิทธืละเมิดได้เช่นกันหรือไม่ ? คำตอบที่ได้คือไม่ได้ มุสลิมจะต้องไม่ประพฤติผิดศีลธรรมตอบโต้ความอธรรมเป็นอันขาด ทั้งนี้เนื่องจากคำกำชับจากอัลกุรอานชัดเจนที่ว่า “จงยำเกรงอัลเลาะฮฺเถิด” เกี่ยวโยงกับสิทธิของมุสลิมในการตอบโต้ศัตรู ฉะนั้นการตอบโต้ให้เสมอกันกับศัตรูกระทำต่อมุสลิมจะต้องไม่เกินขอบเขตแห่งมนุษยธรรมเป็นอันขาด เช่นหากฝ่ายศรัตรูได้ทำทารุณกรรมด้วยการเชื่อหั่นร่างมุสลิมจนยับเยิน เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายเจตนารมณ์ของการทำสงคราม มุสลิมจึงไม่มีสิทธิ์ใช้วิธีเดียวกันในการตอบโต้ ในเรื่องนี้ท่านนบี  มูฮัมหมัดเคยเตือนว่า“ระวัง อย่าตัดแขนขา เชือดหั่น หรือทำลายโหมหน้าศัตรู” อีกทั้งยังกำชับอีกว่า “อย่าได้มีพวกเจ้าคนใดที่แก้แค้นแทนพี่น้องของตน ด้วยการประหารเชลยศึกสงครามที่ฝ่ายเราจับมาได้ โดยไม่เลือกหน้าเป็นอันขาด”

 อิสลามไม่ได้สอนให้รบเพื่อแสดงอำนาจ แต่ได้ใช้การรบเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการบรรลุจุดหมาย อิสลามกำชับให้เรามีความเป็นธรรมต่อศัตรูเท่าๆกับที่เรามีหน้าที่รักษาความเป็นธรรมระหว่างพันธมิตรด้วยกัน อัลกรุอานได้กล่าวถึงข้อนี้ว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีเพื่ออัลเลาะฮฺ เป็นพยานด้วยควาทเที่ยงธรรมและจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใด ทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า และพึงยำเกรงอัลเลาะฮฺเถิด แท้จริงอัลเลาะฮฺนั้น เป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน[3]

ในคัมภีร์อัลกุรอาน ระบุว่า และจงช่วยเหลือเกื้อกูลกันในความดีและการยำเกรงและอย่าได้ร่วมมือช่วยเหลือในการทำบาปและการละเมิด และจงยำเกรงต่ออัลเลาะฮฺ แท้จริงอัลเลาะฮฺเป็นผู้จริงจังในการลงโทษ (อัลมาอีดะฮฺ :5:2)

การฆ่าผู้อื่นโดยมิชอบ อิสลามเป็นศาสนาที่เอาโทษหนักในเรื่องของการหลั่งเลือดและคร่าชีวิตผู้อื่นโดยมิชอบ โดยระบุไว้ในอัลกุรอาน ความว่า ผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งโดยมิชอบด้วยเหตุของการคร่าชีวิตอื่น  (คือคนผู้นั้นไม่ใช่ฆาตกร) และไม่ใช่ผู้ก่อความเสียหายใดๆ บนแผ่นดิน นั่นเสมือนว่าเขาได้ฆ่าผู้คนทั้งหมดแล้ว และผู้ใดที่ให้ชีวิต (ผู้หนึ่งผู้ใด) นั่นเสมือนว่าเขาได้ไว้ชีวิตแก่ผู้คนทั้งหมดแล้ว (อัลมาอีดะฮฺ:5:32)

อิสมาอีล ลุตฟี (2547) ระบุถึงจุดประสงค์ของสงครามในอิสลาม ในหนังสืออิสลามศาสนาแห่งสันติภาพไว้ว่า

1.     เพื่อตอบโต้ความอยุติธรรมและการรุกราน ปกป้องและพิทักษ์ชีวิต ครอบครัว ทรัพย์สิน ศาสนาและมาตุภูมิ

2.     ประกันเสรีภาพในด้านการศรัทธาและปฏิบัติตามศาสนกิจ ที่บรรดาผู้รุกรานพยายามใส่ร้ายหรือกีดขวางมิให้มีเสรีภาพด้านความคิดและการนับถือศาสนา

3.     พิทักษ์การเผยแพร่อิสลาม ให้แพร่กระจายอย่างทั่วถึงแก่มนุษย์ทั้งมวล

4.     ให้บทเรียนแก่ผู้ละเมิดสัญญา หรือผู้รุกรานบรรดาผู้ศรัทธา หรือผู้ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับคำสั่งของอัลเลาะฮฺ และปฏิเสธความยุติธรรม การประนีประนอม

5.     ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ถูกกดขี่ไม่ว่าเขาจะอยู่แห่งหนใด ปลดปล่อยและปกป้องเขาจากการรุกรานและกดขี่

ดังนั้นเพื่อเป็นการตอกย้ำถึงการพิทักษ์สันติภาพ อิสลามได้กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่กระทำการใดๆอันบั่นทอนสันติภาพในสังคมมนุษย์  อัลเลาะฮฺได้ตรัสว่า แท้จริงแล้ว ผลตอบแทนของบรรดาผู้ที่ก่อสงครามกับอัลเลาะฮฺและศาสนทูตของพระองค์ และพยายามสร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน คือ (การลงโทษด้วย) การประหารชีวิต หรือตัดมือตัดเท้าด้วยการสลับข้างหรือเนรเทศออกจากแผ่นดิน (อัลมาอีดะฮฺ:5:33)

อิสลามให้เกียติแก่ทุกๆคน มนุษย์ทุกคนล้วนมีสิทธิในการดำรงชีวิต เลือดนื้อ ชีวิต ทรัพย์สิน เกียรติ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนศาสนา จะต้องได้รับการให้เกียรติเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะเป็นมุสลิม หรือนับถือศาสนาใดๆ ศาสนาอิสลามห้ามมุสลิมทั้งหลายอธรรม กดขี่ข่มเหงทุกรูปแบบ ส่งเสริมให้รักคนอื่นเหมือนรักตัวเอง (ยะฮฺยา หมัดละ, 2554. น. 99) อัลเลาะฮฺทรงตรัสว่า พวกท่านทั้งหลายจงสู้รบกับบรรดาผู้ที่สู้รบกับพวกเจ้าเถิด โอ้บรรดาผู้ศรัทธา และพวกเจ้าอย่าละเมิดขอบเขต แท้จริง อัลเลาะฮฺไม่ทรงรักบรรดาผู้ละเมิดขอบเขต (อัลบากอเราะฮฺ 2: 190)

อย่างไรก็ตาม ทัศนะอิสลามต่อประเด็นการเมือง อิสลามได้จัดระบบการเมืองการปกครอง เน้นหนักที่กฎส่วนรวมซึ่งเปรียบเสมือนหลักแก่นแท้ที่ใช้ในการปกครอง ผู้นำในทัศนะอิสลามคือตัวแทนของประชาชน ที่แสวงหาแนวทางที่สร้างความสุขในชีวิตแก่ประชาชน ประกันความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ในระบบการปกครองในอิสลาม ไม่มีคำว่า อำนาจไร้ขอบเขตที่ครอบครองโดยคนๆ เดียว แม้ว่าเขาจะเป็นผู้นำก็ตาม

อำนาจของผู้นำอิสลามต้องมีขีดจำกัดและต้องอยู่ในขอบเขตของศาสนาที่วางไว้ โดยยึดเอาระบบซูรอ[4]เป็นหัวใจหลักของระบบการเมืองการปกครองในอิสลาม (อับดุลเราะฮฺมาน อับดุลการีม อัซซีหะฮฺ, ม.ป.ป. น.110)

แม้เดือนรอมฎอนปีนี้จะไม่มีข้อตกลงหยุดยิง ไม่มีการพูดคุยสันติภาพ และรอมฎอนปีนี้จะยังคงมีเสียงระเบิด และกระสุนปืนที่สาดใส่ผู้บริสุทธิ์ทั้งพุทธและมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การยึดหลักถอยก่อนได้ใจก่อน จะเป็นสิ่งเตือนใจให้ผู้ที่ยังคงใช้ความรุนแรงทบทวนจังหวะก้าวของการต่อสู้เพื่อลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารอมฎอนปีหน้าฟ้าใหม่จะเป็นห้วงแห่งการสิ้นสุดของความรุนแรงเพื่อพี่น้องผองเพื่อนร่วมชะตากรรมนำมาซึ่งความสงบสุขและสันติภาพไปยังทุกแห่งในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้

 เพราะอิสลามเรียกร้องให้อยู่ในหนทางแห่งสันติเรียกร้องให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ เพศ สีผิว หรือแม้แต่ศาสนาดังอัลกุรอานที่ว่า “และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย (อัลอันบียาอ์ : 2:107)

อิสลามยังคงต้องการการยอมรับ ดังที่ระบุไว้ในอัลกุรอาน ความว่า “ความรักและการยอมรับจากผู้คนมากมาย อัลเลาะฮฺได้กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยคำดำรังของพระองค์ว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธาและประกอบคุณงามความดีทั้งหลายนั้นพระผู้ทรงกรุณาปรานีจะทรงประทานความรักใคร่แก่พวกเขา” (มัรยัม 19:96)

เพราะอิสลามไขว่คว้าสันติภาพ ความเสมอภาค ความเท่าเทียม และความยุติธรรม ซึ่งอัลกุรอานได้ระบุหลักการดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน (เชค มูฮัมหมัด คาลิล ซาเละฮฺ,โนอาห์ อิบราเฮม ซาลาเมะห์, 2549 ,น. 21)ผู้เขียนหวังว่าก่อนรอมฎอนจะจากลาและพบกันอีกคราปีหน้า จำนวนความสูญเสียของชีวิตมนุษย์ในพื้นที่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อแห่งนี้จะลดลงพร้อมๆกับวิถีการเมืองที่เปิดกว้างและรับฟังเสียงของการถกเถียงมากกว่าเสียงปืนและควันระเบิดอินซาอัลเลาะฮฺ[5]

บรรณานุกรม

เชค มุฮัมมัด อบู ซะฮฺเราะฮฺ.  2549.  กฎเกณฑ์อิสลามในการทำสงคราม.  พระนครศรีอยุธยา:  สำนักพิมพ์สายสัมพันธ์

อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกิยา.  2547.  อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ. (พิมพ์ครั้งที่ 3) แปลโดยซุฟอัม อุษมาน.  ปัตตานี:  มัจลิสอิลมีย์

อับดุลเราะฮฺมาน อับดุลการีม อัซซีหะฮฺ . (ม.ป.ป). สาส์นอิสลาม.  แปลโดยอิบนู อันดาลุส.  Saudi Arabia: AL-HOMAIDHI P.PRESS

Sheikh Mohammad Khalil saleh, and Noah salameh. Islam and Peace.  2006. Palestine: Nour print design



[1]นักศึกษาปริญญาโท สาขาความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

[2]ซะกาต คือการบริจาคตามหลักการอิสลาม

[3]เรื่องเดียวกัน

[4]ระบบซูรอ คือการประชุมและรวบรวมความคิดเห็นแล้วพิจารณาร่วมกัน

[5]อินชาอัลเลาะฮฺ : หมายถึง หากอัลเลาะฮฺทรงประสงค์ ใช้เมื่อคิดจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด