สุชาติ เศรษฐมาลินี
หมายเหตุ: บทบันทึกการอภิปรายของ สุชาติ เศรษฐมาลินี เมื่อครั้งได้รับเชิญมาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมอภิปรายในเวทีเสวนา “รอมฎอนสันติภาพเป็นพันธกิจ: เราจะสื่อสารอะไรในเดือนแห่งความเมตตา?” ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารวิทยอิสลามศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2557 หรือประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอน [ดูกำหนดการคลิก ที่นี่]
เมื่อพูดถึงบรรยากาศของเดือนรอมฎอนแล้ว ที่มัสยิดบ้านฮ่อ จังหวัดเชียงใหม่คึกคักมาก สองเดือนก่อนรอมฎอน มีคนจองที่จะเลี้ยงภายในเดือนรอมฎอนครบหนึ่งเดือนแล้ว แต่ละวันจะมีคนแจ้งความจำนงเพื่อเป็นเจ้าภาพเลี้ยงละศีลอดในเดือนรอมฎอน และมีคนบริจาคเงินไม่ต่ำกว่า 45,000 บาทต่อวัน มีคนจองที่จะเลี้ยงประมาณ 100 โต๊ะ ซึ่งก็เต็มแล้วเช่นกัน และถ้าจะไปจองตอนนี้ (ก่อนหน้าเดือนรอมฎอนประมาณ 2 สัปดาห์) คงจะเป็นเจ้าภาพได้ในปีหน้าหรือกระจายไปยังมัสยิดอื่นๆ เหล่านี้เป็นบรรยากาศที่บรรพบุรุษชาวมุสลิมบ้านฮ่อสร้างมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยความเชื่อของบรรพบุรุษซึ่งเป็นคนจีนมุสลิม ผมเป็นลูกหลานของคนจีน คุณพ่ออพยพมาจากประเทศจีนตั้งแต่ก่อตั้งชุมชน การที่เราเลี้ยงอาหารละศีลอดนั้นเป็นบุญมหาศาล พวกเราไม่เคยที่จะไปขอเงินเพื่อละศีลอดจาก อบต. หรือ อบจ. เลย
การแสวงหารากฐานของศาสนาตนเอง
หัวข้อในการสัมมนาวันนี้ “รอมฏอนเป็นพันธกิจ: เราจะสื่อสารอะไรในเดือนแห่งความเมตตา?” ในหัวข้อดังกล่าวมีคำว่า ‘รอมฏอน’ ‘สันติภาพ’ และมีคำว่า ‘พันธกิจ’ คำต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง
เมื่อฟังหัวข้อแล้ว ผมนึกถึงคนสามคน
คนแรกคือ ฮานส์ คุง (Hans Küng) เป็นพระบาทหลวงของคาทอลิก ท่านเคยเขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม ท่านเคยเขียนไว้ว่า
ท่านที่สองคือ ท่านพระพุทธทาสภิกขุ เป็นนักคิดหัวก้าวหน้าในสังคมพุทธ มีปณิธาน 3 ข้อสำคัญที่น่าสนใจ ประการแรก จะต้องมีการสานเสวนาระหว่างศาสนา ประการที่สอง ศาสนิกใดก็ตามจะต้องเข้าใจแก่นหลักคำสอนศาสนาของตนเอง และประการสุดท้าย ศาสนิกใดก็ตามจะต้องต่อสู้กับวัตถุนิยมและบริโภคนิยม
อีกคนเป็นนักวิชาการฝรั่งซึ่งได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า The Ambivalence of the Sacred แปลเป็นไทย แบบไม่รู้เรื่องเลยว่า ความขัดกันของศาสนา สก็อต แอปเปิลบี (Scott R. Appleby) บอกว่า โลกนี้เราเห็นศาสนามากมายอยู่ในสังคม แต่มนุษย์เราหลายเผ่าพันธุ์ที่พยายามจะเอาศาสนานั้นมาเป็นเครื่องมือในการรับใช้ความรุนแรง เช่น กรณีพระสงฆ์ในพม่า ซึ่งขึ้นในนิตยสารไทม์เลยว่า “The Face of Buddhist Terror” (โฉมหน้าของความน่าสะพึงกลัวแบบพุทธ) ซึ่งแรงมาก มีรูปพระสงค์ 9 รูป ถือปืน 9 ม.ม. และในวารสารหนึ่งที่ระบุว่า “Killing in the Name of Buddhism” หรือการฆ่าในนามของศาสนาพุทธ เรามีฆ่าในนามศาสนาคริสต์ เช่น สงครามในไอร์แลนด์ เรามีการฆ่าในนามอิสลาม ดังที่ทุกท่านทราบดี ฉะนั้นแอปเปิลบีบอกว่า ทุกศาสนิกต่างก็มีการใช้ศาสนา หรือกรณีมุสลิมในพม่าก็มีการรณรงค์ว่า “We want to Kill Myanmar Buddhist” หรือ “เราต้องการฆ่าชาวพุทธในพม่า” นี้คือสิ่งที่เขาพยายามจะบอก
ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่ง แอปเปิลบียังบอกอีกว่า ศาสนาไม่ได้มีแต่ด้านลบ หรือด้านที่ใช้ความรุนแรงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วศาสนามีต้นทุนที่สำคัญเยอะแยะมากมายที่จะสร้างสันติภาพ
ในบทความหนึ่งของมูฮัมหมัด อบูนิเมอร์ (Mohammed Abu-Nimer) บอกว่าถ้าคุณเข้าห้องสมุดคองเกรส ซึ่งเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา คุณค้นหาคำว่า ‘Islam’ กับ ‘Violence’ หรือ ‘อิสลาม’ กับ ‘ความรุนแรง’ ผลลัพธ์จะออกมามหาศาลเป็นหมื่นเป็นแสน แต่ถ้าคลิกคำว่า ‘อิสลาม’ กับ ‘สันติภาพ’ หรือ ‘อิสลาม’ กับ ‘สันติวิธี’ คุณจะพบว่าเนื้อหาที่เจอนั้นน้อยมาก
ฉะนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการสัมมนาลักษณะอย่างนี้ สำหรับผมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องกลับมาทบทวน ตรวจสอบ กลับมาทำความเข้าใจว่าอะไรคือแก่นแท้ของศาสนาอิสลาม ซึ่งนี่คือสามคนที่ผมนึกถึง
รอมฎอน อิสลาม และการสื่อสารสันติภาพ
ผมเข้าใจว่าสาเหตุที่โยงรอมฎอนกับการสื่อสารสันติภาพ หรือรอมฏอนกับความเมตตาเป็นเพราะ10 ปี ที่ผ่านมานี้ เต็มไปด้วยความสูญเสีย ความเสียใจต่างๆ ของพี่น้องของเราที่เกิดขึ้น ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย 10 ปี ที่ผ่านมานั้น เข้าใจว่าไม่ต่ำกว่าหกพันกว่าศพ ผู้บาดเจ็บเป็นหมื่น ผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นเหยื่อ หญิงหม้าย ไม่รู้กี่หมื่นกี่แสน สิ่งเหล่านี้ใช่หรือไม่ที่เราจึงต้องมาพูดคุยกันในหัวข้อนี้
ดังนั้นผมต้องการสื่อสารกับบุคคลโดยเฉพาะผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นมุสลิม ซึ่งยังมีความสามารถจะใช้ความรุนแรงได้อย่างไม่มีขีดจำกัด วันนี้ผมอยากจะพูดให้กับเขาเหล่านั้นว่าอิสลามที่แท้จริงคืออะไร?
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 622 - 632 ในตำราของฝรั่งหลายชิ้นพยายามที่จะฉายภาพของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) ว่า ‘เป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่’ และมีแต่สงคราม แต่ท่านทราบไหมว่าในช่วง 23 ปี ที่ท่านใช้เวลาในเมืองมักกะฮ์ 13 ปี และอีก 10 ปี ในเมืองมาดีนะห์นั้น หากไปดูประวัติศาสตร์อิสลาม นบีมูฮำหมัด (ซ.ล) ได้เข้าไปอยู่ร่วมในสนามรบจริงๆ รวมแล้วเพียงแค่หนึ่งวันครึ่งเท่านั้น นั่นก็คือ สงครามบาดัร สงครามอุฮุด และสงครามฮุนัยน์ ถามว่าคนอย่างนี้หรือครับที่เรียกว่า ‘กระหายสงคราม’
รอมฎอนคือเดือนแห่งสันติภาพแน่นอน แต่การแสวงหาความดีนั้นไม่เฉพาะแค่เดือนรอมฎอนเท่านั้น ศาสนาอิสลามไม่สามารถที่จะแบ่งแยกได้ว่าจะต้องมีสันติภาพเฉพาะเดือนรอมฏอน ไม่ใช่ว่าเราจะละหมาดเฉพาะวันศุกร์ เช่นเดียวกัน อิสลามก็ห้ามให้ทำความดีเฉพาะมุสลิมอย่างเดียว แต่สอนให้ทำความดีกับทุกคนทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ดังนั้น อิสลามไม่สามารถแบ่งแยกได้ เพราะว่าศาสดา (ซ.ล) ไม่ได้ถูกส่งมายังโลกนี้เพื่ออื่นใดนอกจากความเมตตาของมนุษยชาติ นี่คือสารที่สำคัญที่พวกเราจะต้องสื่อ
ผมไปอ่านเจอเรื่องราวต่างๆ ซึ่งมีครั้งหนึ่งที่นบีอิบรอเฮมได้เชิญคนมาเลี้ยงทานอาหารที่บ้าน พอรู้ว่ามีกลุ่มไม่ใช่มุสลิม ท่านนบีอิบรอฮีมก็บอกปฎิเสธ อัลลอฮ (ซ.บ.) สื่อสารมาทางนบีอิบรอฮีมว่า ท่านปฏิเสธที่จะให้อาหารคนหนึ่งเพียงเพราะเขานับถือศาสนาต่างจากเจ้ากระนั้นหรือ ในขณะที่ไม่เห็นหรอกหรือว่าชีวิต 70 ปีที่เหลือของท่านนั้นฉันเป็นผู้ให้ความเมตตา ฉันเป็นผู้ที่ให้ริสกี (ความจำเริญ) ฉันเป็นผู้ที่ดูแลเขา การที่ท่านจะให้อาหารเขาเพียงแค่หนึ่งมื้อ มันไม่ได้ทำให้ท่านยากจนหรอก
นั่นแปลว่า เราต้องมีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษยชาติทุกคน
ผมเคยตั้งคำถามในทีวีมุสลิมครั้งหนึ่ง ทางเขาเชิญผมไปร่วมออกรายการ ผมบอกตรงๆ ว่า “สื่อมุสลิมทั้งหลายเป็นการพูดคุยหรือการส่งสารให้เฉพาะมุสลิม ในขณะที่ศาสนาอิสลามเป็นเราะมะห์หรือเป็นความเมตตาสำหรับมนุษยชาติทุกคน
ยกตัวอย่าง ขณะนั้นมีข่าวใหญ่เกี่ยวกับคราบน้ำมันที่ระยอง ซึ่งทั่วประเทศออกข่าวเกี่ยวกับคราบน้ำมัน แต่สื่อมุสลิมกำลังถกเถียงกันว่า การอามีนจะให้ยกมือ การให้สลาม มีการกล่าว ‘ตะอาลา’ หรือไม่มี ‘ตะอาลา’ ผมบอกเลยว่า ทำไมคุณไม่ถือโอกาสกระแสข่าวเหล่านี้มาอธิบายเชื่อมโยงกับอิสลาม อิสลามว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ทำไมไม่นำเสนอสิ่งเหล่านี้ แต่นำเสนอเฉพาะมุสลิมด้วยกันเอง
ขณะนั้นมีข่าวเรื่อง มีคำสั่งให้ตำรวจที่เป็นมุสลิมมะห์สามารถคลุมฮีญาบ ซึ่งก็ถามว่าทำไมไม่เชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือโฆษกตำรวจมานั่งคุยในสถานีโทรทัศน์ของคุณ และถามว่าทำไมตำรวจถึงอนุญาตให้มุสลิมมะห์สามารถคลุมฮีญาบได้ คุณคิดอย่างไร และเราก็มีโต๊ะครูเสริมข้อมูลเข้าไปว่าฮีญาบมันดีอย่างไร
ขณะนั้นยังมีกรณีความขัดแย้งเรื่องฮีญาบในวัดหนองจอก ซึ่งกลายเป็นเรื่องเป็นราวอย่างมาก ทำไมเราไม่เอาประเด็นเหล่านี้มาสื่อสารว่าอิสลามเป็นศาสนาที่เป็นสากล เพราะศาสนาอิสลามไม่ได้ส่งมาเพื่อชาวมุสลิมเท่านั้น
อิสลามที่ผมเข้าใจนั้นคืออะไร เป้าหมายของอิสลามคืออะไร?
แน่นอนพวกเราก็ได้เรียนมาในฟัรฎูอีน (การศึกษาภาคบังคับ) ผมก็ต้องเรียนเหมือนท่านทั้งหลาย ได้เรียนหะดีษจากอบูฮูรอยเราะห์ที่รายงานว่าวันหนึ่งท่านศาสดาอยู่ในที่สาธารณะก็มีเศาะฮาบะฮ์หรือมิตรสหายคนหนึ่งได้ถามท่านรอซูล (ซ.ล) ว่าความศรัทธา (อีมาน) คืออะไร ท่านรซูลบอกว่าอีมานคือหลักศัทธา 6 ประการ การศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า มลาอีกัต (เทวทูต) คัมภีร์อัลกุรอาน ศาสดา วันอาคีเราะห์ (วันสุดท้ายหรือวันพิพากษา) และกำหนดสภาวการณ์ของพระผู้เป็นเจ้า
สหายท่านนั้นถามอีกว่าแล้วอิสลามคืออะไร ท่านศาสดา (ซ.ล) ตอบว่าการปฏิญาณตนไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ (ซ.บ), การละหมาด, การถือศีลอด, การออกซะกาต (บริจาค) และการทำฮัจย์
แล้วในที่สุดสหายท่านนั้นก็ถามคำถามที่สามว่าอิห์ซาน (คุณธรรมหรือความดีงาม) คืออะไร? หรือท่านศาสดาตอบว่า คือสิ่งที่ท่านทำอะไรก็ตามเหมือนอัลลอฮ (ซ.บ) กำลังมองดูท่านอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าท่านจะไม่เห็นอัลลอฮ (ซ.บ) แต่อัลลอฮทรงเห็นท่าน ท่านเชื่ออย่างนั้น
นักวิชาการมุสลิมมักจะตีความของคำว่าอิสลามให้ลึกซึ้งว่า อิสลามคือการยอมจำนนต่อพระผู้เป็นเจ้าโดยสิ้นเชิงและเราก็จะท่องจำ เด็กของเราก็จะท่องจำอย่างนี้ตลอด หรืออิสลามอีกความหมายหนึ่งคือสันติภาพ มีนักวิชาการที่ให้ความหมายบอกว่าแน่นอนให้การยอมจำนนต่อพระเจ้า และสันติภาพเป็นหลักการที่สำคัญ
แต่ในรากศัพท์ของคำว่าอิสลาม ‘ซีน, ลาม, มีม” คือ การยอมจำนนด้วยสันติภาพ (peaceful submission) ยอมรับอิสลามด้วยสันติภาพ และปฏิบัติในศาสนกิจของอิสลามด้วยสันติภาพ ดังนั้นคำว่า ‘สันติภาพ’ กับ ‘การยอมจำนน’ มันแยกออกจากกันไม่ได้เลย
ดั้งนั้น ผู้ทีเป็นมุสลิมจะต้องเป็นผู้ที่มีสันติภาพ หรือ peaceful man ผู้ที่มีสันติภาพจะต้องเป็นคนที่นำสารของสันติภาพที่จะไปสู่สังคม สู่โลก เพราะเป้าหมายที่สำคัญของอิสลามต้องการสร้างมนุษย์ ซึ่งในสายตาของพระเจ้านั้นคือ ผู้ที่มีเกียรติศักดิ์ศรีเป็น คอลิฟาตุลลอฮฺ หรือ ตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าต่อหน้าแผ่นดินที่พระองค์เป่าวิญญาณลงไปในดินหรือในโคลน
แต่ต้องเข้าใจว่าหน้าที่ของมนุษย์หรือมุสลิมจะต้องสถาปนาความมีสันติภาพ
รากศัพท์ ‘อิสลาม’ อีกคำคือ ‘สันติภาพ’ จะต้องเกิดความมั่นคงขึ้นในสังคม นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก การที่เราจะมีชีวิตอยู่ต่อเราจะต้องเข้าใจว่า เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร อัลลอฮ (ซ.บ) ไม่ได้สร้างเราเหมือนหว่านเมล็ดเพื่อไปตก หรือไปเกิดที่ไหนก็ได้ จะขึ้นหรือไม่ขึ้น แต่อัลลอฮสร้างเราอย่างมีจุดหมาย
อัลลอฮ (ซ.บ) สร้างมนุษย์ให้มีจุดหมาย โดยเราจะต้องทำอีบาดะห์ เคารพภักดีต่อพระองค์อัลลอฮ มีนักวิชาการพูดถึงอีบาดะห์ ซึ่งสรุปคือ อีบาดะห์คือ ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นที่พอพระทัย (ริฎอ) ของกับอัลลอฮ
เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องอุทิศตัวเองต่ออัลลอฮ (ซ.บ) ในฐานะที่เราเป็นมุสลิม ซึ่งเต็มไปด้วยลักษณะที่ดีงามของผู้อื่นไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม โดยไม่ได้แบ่งแยกหรือไม่ได้ทำดีในบางวันและไม่ทำดีในอีกวันหนึ่ง หรือให้ความยุติธรรมกับเฉพาะคนบางคน แม้แต่คนที่เป็นศัตรูหรือคนที่เราเกลียด ในอัลกุรอานก็บอกว่า จะละเมิดความยุติธรรมไม่ได้ ดังนั้น เราต้องรักษาความยุติธรรมให้ได้ แม้แต่กับคนที่เราไม่ชอบ แม้แต่คนที่มาทำร้ายเรา
ต่างกับศาสนายูดาย ในเรื่องดอกเบี้ยนั้นคนยิวด้วยกันเองไม่เก็บดอกเบี้ย แต่ถ้าเป็นคนต่างศาสนาก็คิดดอกเบี้ย แต่หลักการอิสลามคุณทำอย่างนั้นไม่ได้ จะแบ่งแยกไม่ได้ มุสลิมกับมุสลิมจะทำอีกอย่าง เราทำดีเฉพาะกับคนมุสลิม ทำไม่ดีเฉพาะกับคนอื่น สิ่งนี้ไม่สามารถที่จะทำได้เด็ดขาด
ในฐานะที่เราเป็นมุสลิมจะต้องมีวินัย มีหลักชะรีอะห์ มีทุกองค์ความรู้อยู่ตลอดเวลา ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ เหมือนที่เรามาพูดคุยในวันนี้ จะมาแลกเปลี่ยน ความรู้หลายอย่างที่ผมเองก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ผมก็เรียนรู้จากหนังสือ จากการฟัง จากผู้รู้ต่างๆ เราต้องมีความรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อการเปลี่ยนแปลงกับตัวเอง
สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งมนุษย์ในทัศนะอิสลามที่อัลลอฮ (ซ.บ) สร้างเรามานั้นเราจะต้องเป็นมนุษย์ที่มีการพัฒนา ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ การออกดอกออกผลให้กับสังคม มีหะดีษที่บอกว่าแม้ว่าเราหว่านเมล็ดพืช ถ้าเกิดมีนก มีคน หรือมีอะไรมากิน ตราบนั้นเราก็จะได้รับผลบุญอยู่ตลอด
ไม่เคยมีหะดีษที่บอกว่า ที่เราไปวางระเบิด เมื่อใดก็ตามที่ไปโดนเด็ก โดนผู้หญิง โดนคนแก่ โดนพระ แล้วท่านจะได้ผลบุญ ขอดูหะดีษตรงนั้นหน่อย เอาหะดีษตรงนั้นมาให้ผมดูหน่อย
อิสลามสอน แต่คุณหว่านเมล็ดพืช อะไรก็ตามที่มากิน คุณจะได้รับผลบุญ ไม่เคยบอกให้เราไปหว่านระเบิดแล้วไปถูกใครแล้วจะได้รับผลบุญ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ
อิสลามกับความรุนแรง
แน่นอนเราจะถูกมายาคติครอบงำและใช้ความคิดเกี่ยวกับ ‘Holy War’ ที่แปลว่า ‘สงครามศักดิ์สิทธิ์’ จริงอยู่ที่คำว่า Holy ไม่ได้มาจากอิสลาม แต่มาจากสมัยสงครามครูเสด ที่บาทหลวงในศาสนาคริสต์จะรวบรวมผู้คนเพื่อมาสู้รบกับมุสลิม เพราะถือเป็นพันธกิจศักดิ์สิทธิ์ หรือสงครามศักดิ์สิทธิ์ สำหรับอิสลาม ญิฮาดไม่ได้หมายถึงสงครามศักดิ์สิทธิ์ มีศาสตราจารย์ทางด้านนิติศาสตร์อิสลาม (ชะรีอะฮ์) บางท่านถึงกับฟันธงว่า ในทัศนะอิสลามนั้นสงครามไม่เคยศักดิ์สิทธิ์ แต่แน่นอนอิสลามอนุโลมหรืออนุญาต ถ้าเราไม่มีทางเลือกอื่นในกรณีที่เราถูกรุกราน ถูกก้าวร้าว ถูกทำลาย อิสลามให้เราสามารถที่ป้องกันตัว
ดังนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ในฐานะที่เราเป็นมุสลิมเราจึงไม่สามารถที่จะเป็นผู้ก่อการร้ายได้เลย ถ้าเราโยงไปที่รากศัพท์อิสลาม คุณจะต้องเป็น peaceful man คุณจะเป็นคนเต็มไปด้วยสันติภาพ เพราะชื่อศาสนาคือสันติภาพ และสันติภาพเพื่ออะไร เพราะ ‘สันติภาพ’ หรือ ‘อัสสะลาม’ คือคุณลักษณะของอัลลอฮ (ซ.บ)ที่เราจะต้องก้าวไปสู่จุดนั้น
อัลลอฮ (ซ.บ) สร้างคน สร้างโลก สร้างสังคม เพราะสถาปนาคุณลักษณะประการหนึ่งที่สำคัญคือสันติภาพ คืออัสสะลาม ศาสดา (ซ.ล) ก็เคยกล่าวว่า ฉันคือศัตรูของใครก็ตามที่ไปทำให้คนไม่ใช่มุสลิมได้รับบาดเจ็บ แล้วถ้าฉันเป็นศัตรูกับใครแล้ว แน่นอนในวันอาคีเราะห์ฉันจะไปยืนยันในสิ่งนั้น
ดังนั้น ขอบเขตของสงครามในอิสลาม ระบุว่า การใช้กำลังเวลาที่เราถูกกระทำ และป้องกันตัวสามารถจะทำได้ แต่มันแยกไม่ออก ถึงแม้การใช้ความรุนแรงกับการทำสงครามมันจะต้องควบคู่ไปกับหลักจริยธรรมต่างๆ ที่ตามมาเยอะแยกมากมาย ซึ่งตรงนี้นี่เราต้องตั้งคำถามว่าทุกวันนี้มุสลิมเราเข้าใจตรงนี้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเกิดเราเข้าใจตรงนั้น หลายเหตุการณ์ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นใช่หรือไม่
ครั้งหนึ่ง คอลิด อิบนุวาลิด ผู้เป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ในยุคของท่านศาสดา เขายังเป็นสหายของท่านอีกด้วย คอลิดออกไปสู้รบกับเผ่าบานีญาซีมะห์ ทหารของคอลิดได้ไปสังหารทหารของศัตรูคนหนึ่งลงต่อหน้าคนรักของเขา (ซึ่งแสดงว่าในสงครามนั้นมีผู้หญิงมาร่วมอยู่ด้วย) ปรากฏว่าเมื่อทหารคนนั้นถูกฆ่าต่อหน้าภรรยา ต่อหน้าคนรัก ผู้หญิงคนนั้นก็ล้มไปประคองด้วยความโศกเศร้าเสียใจ จนกระทั่งกระอักเลือดตายในอ้อมกอด เธอเอาสามีมากอดไว้ที่ตัว และผู้หญิงคนนั้นก็ตายไปด้วยความบีบคั้นหัวใจของเธอ
พวกเราทราบไหมครับ เมื่อมีการนำเรื่องราวที่ว่านี้มาเล่าให้ท่านศาสดา (ซ.ล) ท่านเสียใจเป็นอย่างมาก จนน้ำตาไหล ท่านศาสดาถามบรรดาสหายว่าในหมู่พวกเจ้านั้นไม่มีผู้ที่มีความเมตตาเลยหรือ ท่านปล่อยให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
คำว่า ไม่มีความเมตตาเลย หรือ ‘ลายัรฮามู มันลายัรฮามูลายัรฮามู’ นี่เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดจากชายคนหนึ่งเห็นท่านศาสดา (ซ.ล) จูบหอมแก้มหลาน เขาบอกว่าเขามีลูกสิบคนเขาไม่เคยหอมแก้มเลย
ท่านนบี(ซ.ล) กล่าวว่า ‘มันยัรฮามู วามันยัรฮามู’ หรือทำนองว่าใครก็ตามไม่มีความเมตตาต่อผู้อื่น คนนั้นจะไม่ได้รับความเมตตาจากอัลลอฮ (ซ.บ) นี่เป็นคำสอนของศาสนาอิสลามที่ผมฝากท่านทั้งหลาย
ศาสนาอิสลามไม่เคยสอนในเรื่องการซ้อมทรมาน ในกรณีของซูเฮร์ บิน อามิร ในสงครามบาดัร ซูเฮร์เป็นตัวฉกาจที่ทำร้ายทำลายตามล้างท่านศาสดามาโดยตลอด วาจาของเขาก็ก้าวร้าว วันหนึ่งซูเฮร์ถูกจับตัวได้ ท่านอุมัร (หนึ่งในสหายของศาสดา บอกท่านศาสดา (ซ.ล) ว่า ซูเฮร์เป็นตัวแสบ ฉันจะไม่ขออะไรมาก ขอแค่ฟันของซูเฮร์สักสองซี่เป็นพอ ท่านนบีไม่อนุญาต ท่านกล่าวว่าฉันปล่อยให้ท่านทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าท่านทำอย่างนั้น ฉันจะถูกลงโทษจากอัลลอฮ (ซ.บ)
อิสลามยังสอนเรื่องราวเกี่ยวกับการให้เกียรติกับศพ ถ้าผมจำไม่ผิดครั้งหนึ่ง มีทหารสมัยของท่านอบูบักร อัลซิดดิก (หนึ่งในสหายของศาสดา) ตัดหัวของทหารฝ่ายศัตรู ตอนนั้นพวกเขาสู้รบกับเปอร์เซียและโรมัน ทหารของท่านตัดหัวมาฝากท่านอบูบัร แต่ท่านบอกว่าทำอย่างนี้ได้อย่างไร คนตายไปแล้วก็ตัดหัว ท่านอบูบัรบอกว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ เราจะต้องให้เกียรติกับศพ
นึกถึงการทำร้ายศพเราจะนึกถึงอะไร ถ้าพวกเราไปมักกะห์เพื่อไปทำฮัจญ์ เราจะเห็นเทือกเขาอุฮูด ยังมีหลุมฝังศพของท่านฮัมซะห์ที่เป็นลุง เป็นอาของท่านศาสดาอยู่ที่นั้น พวกเราทราบหรือไม่ครับว่าเมื่อครั้งที่ท่านศาสดาไปเห็นสภาพศพของท่านฮัมซะห์ในตอนนั้น ท่านไม่รู้จะเสียใจอย่างไร ศพของเขาถูกทำร้าย ตับไตไส้พุงถูกควัก ถูกตัดหู ตัดจมูก เละไปหมด ท่านศาสดาเสียใจอย่างมากมาก เสียใจจนกระทั่งหลุดปากว่า ‘ถ้าวันใดที่ฉันชนะชาวมักกะห์ ฉันจะขอเอาคืนสักสามสิบคน’
หลังจากที่ท่านศาสดากล่าวออกมาเช่นนี้ โองการจากอัลลอฮ์ก็ลงมา นั่นคือ ซูเราะห์ที่ 16 อายะห์ที่ 126 ความว่า "หากพวกเจ้าจะลงโทษฝ่ายศัตรูพวกเจ้าก็กระทำเขากลับได้ แต่หากพวกเจ้าจงอดทน แน่นอนเป็นการดียิ่ง สำหรับบรรดาผู้ที่อดทน" โองการของพระผู้เป็นเจ้าลงมาบอกให้ท่านศาสดาอดทน (ศอบัร) "แท้จริงอัลลอฮ (ซ.บ) จะอยู่กับผู้ที่อดทน"
วันนี้มีใครที่ถูกกระทำยิ่งกว่าญาติของท่านศาสดาบ้าง ท่านก็ยังให้อภัยกับชาวมักกะห์ที่ลงมือกระทำ ในวันที่ท่านเข้าไปในมักกะห์ ท่านถามว่าใครไปทำท่านฮัมซะห์เช่นนั้น ชาวมักกะห์ถามเลยว่า ท่านจะมาล้างแค้นหรือ ท่านนบีบอกว่า วันนี้ไม่มีการล้างแค้น วันนี้คือวันแห่งการให้อภัย นี่เป็นความยิ่งใหญ่ในอิสลาม
แม้แต่ในระหว่างที่ท่านอยู่มาดีนะห์ ชาวมักกะห์ซึ่งเป็นศัตรู ตามล่าอยู่ตลอดเวลา เกิดภาวะอดอยาก แล้ง พืชผลไม่ออก ท่านศาสดาส่งทองจากมาดีนะห์ไปให้คนที่มักกะห์เพื่อที่จะไปซื้อเสบียงอาหารต่างๆ ที่จะมาเลี้ยงชาวมักกะห์ นั่นคือสิ่งที่ท่านรซูลของเราได้ทำ
สงครามจึงเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ เวลาเราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้
เข้าใจเขา-เข้าใจเรา
ในอัลกุรอานหลายอายะห์ที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) บอกให้เราคิด พระองค์ทรงสร้างฟ้า สร้างแผ่นดิน เพื่อให้เราคิด สร้างมนุษย์ออกมาต่างสีผิว ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ต่างๆ เยอะแยะมากมาย เราเห็นสายรุ้งงดงาม เช่นเดียวกันสายรุ้งแต่ละอัน แทนเผ่า แทนคนที่มีความแตกต่างหลากหลายมารวมกันกลายเป็นสีที่สวยสดงดงาม
ผมได้นั่งกับผู้รู้ที่อยู่ในที่นี้ นั่งกับนักสื่อสารในวันนี้ หลายคนที่ผมไม่เคยเจอเหมือนกันแล้วเราจะมาพูดคุยกัน ให้สลามกัน แลกเปลี่ยนกัน ผมกลายเป็นคนใหม่ อาจจะไม่ใช่สุชาติคนเดิมก่อนที่ผมจะก้าวจากเชียงใหม่ เพราะวันนี้ผมมีท่านทั้งหลายอยู่ มีทั้งที่ไม่ใช่มุสลิม และมุสลิม วันนี้ผมกลายเป็นคนใหม่แล้ว
เมื่อไม่กี่เดือนก่อนมีเรื่องที่ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตผมที่เติบโตมาอายุ 52 ปี ในวันนี้ เมื่อมีพระสงฆ์เดินเข้ามาในมัสยิดเพื่อแลกเปลี่ยนกับมุสลิม พวกเขาเข้ามาในที่ๆ เราซูญูดต่ออัลลอฮ (ซ.บ) เข้ามาคุยกับอีหม่ามมาเรียนรู้อิสลาม เขาถามว่าซูญูดอย่างไร และอีหม่ามซูญูดให้ดู ทำไมเราต้องซูญูดต่ออัลลอฮ (ซ.บ.) ในวันนั้น ผมอธิบายว่าเวลาเราซูญูดเวลาที่เราละหมาดนั้น ท่วงท่าของการซุญูดเหมือนกับทารกซึ่งอยู่ในท้อง เพราะฉะนั้นมีนักวิชาการมุสลิมที่จะพยายามจะตีความสัญลักษณ์ของการซูญูดของเรา คือเป็นช่วงเวลาที่เราอยู่ใกล้ชิดอัลลอฮ (ซ.บ.) มากที่สุด นี่คือสิ่งที่เรารับรู้ร่วมกัน
แต่พวกเรานึกถึงท่วงท่าการซูญูดเหมือนกับทารกที่คลอดออกมา ดังนั้นการละหมาดก็เหมือนทารกที่คลอดออกมา ในลักษณะฟิตเราะห์หรือความบริสุทธิ์ ในอัลกุอานได้กล่าวว่าการละหมาดเป็นการยับยั้งความชั่ว เพราะเวลาที่เราละหมาดออกมาสำหรับคนที่เป็นมุสลิม เราต้องเป็นคนใหม่ เป็นคนที่บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมดีใจมากที่ต้องมีการเรียนรู้
สมัยท่านศาสดา (ซ.ล) คนจากเผ่านัจญฺลานที่เป็นพวกคริสต์มักเดินทางมาหาท่านศาสดาตลอดเวลา เข้ามาพูดคุยในมัสยิด ถึงเวลาที่เขาจะต้องทำอีบาดะห์ของเขา ท่านศาสดาก็เชิญพักในมัสยิด นอนในมัสญิด เราจะต้องเรียนรู้ เราจะต้องหาความรู้
ผมไปอินโดนีเซีย เห็นหออาซานในมัสยิดเหมือนทรงฮินดู ที่เป็นอย่างนั้นเพราะสองสามร้อยปีก่อนที่อิสลามจะเข้ามา สังคมอินโดนีเซียในตอนนั้นเป็นสังคมฮินดู มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจมาก นั่นคือ เมื่อบางส่วนเริ่มรับอิสลาม ชาวฮินดูในอินโดนีเซียเดิมนั้นไม่กินเนื้อวัว มุสลิมกินวัวอร่อย แต่ผู้ที่เป็นอิหม่ามมุสลิมบอก ห้ามชาวมุสลิมทั้งหมดกินวัว แต่ไปกินอย่างอื่นแทน ไปกินควายแทนก็ได้ เพราะการกินวัว ถึงแม้เป็นสิทธิอันชอบธรรมของเรา แต่ไปทำร้ายจิตใจของเพื่อนต่างศาสนาที่อยู่ในชุมชนเดียวกันของเรา เขาบอกว่า ตอนหลังชาวฮินดูเข้ามารับนับถือศาสนาอิสลามมากขึ้น จนถึงบัดนี้มุสลิมที่นั่นไม่กินวัว กินควายแทนจนถึงปัจจุบัน
อิสลามจะไปไหนก็ต้องเจอกับวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้ว บางครั้งก็ลงทับสนิท บางทีก็ลงทับไว้ไม่สนิท หลายคนถามผมว่าอาจารย์เป็นจีนมุสลิม อาจารย์ไหว้พระจันทร์หรือเปล่า? อาจารย์ไหว้บรรพบุรุษหรือเปล่า? ต้องเฉลิมฉลองตรุษจีนหรือไม่? ต้องมีพิธีกรรมเชงเม้งหรือไม่? สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของหลักอากีดะห์ (หลักศรัทธาร) และต้องยืนยันว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้เราไม่มี
แต่สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมซึ่งไม่ขัดกับหลักอากีดะห์ก็รับมาได้ เช่น สถาปัตยกรรม เป็นต้น หลายคนเคยได้ยิน อาคารที่เป็นทรงวัดจีน ถ้าเอาพระพุทธรูปไปใส่ ก็จะกลายเป็นวัดพุทธ เอาไม้กางเขนคริสต์ใส่ก็กลายเป็นโบสถ์คริสต์ ส่วนมุสลิมก็เอาอักษรสามตัวที่อยู่บนหลังคา ‘ชิง เจิน ซือ’ แปลว่าวิหารแห่งความบริสุทธิ์และแท้จริง คนจีนมุสลิมใช้ภาษาจีนเรียกศาสนาอิสลามว่า ‘ชิง เจิน’ แปลว่าบริสุทธิ์ที่แท้จริง แล้วทำลวดลายแบบจีน ถ้าคนอาหรับมาก็อ่านไม่รู้เรื่อง เพราะเป็นตัวอักษรจีน ลวดลายอาหรับก็เป็นแบบจีน
สุดท้าย ในประเทศอเมริกาในสังคมยุโรปขณะนี้ กำลังมีโครงการที่น่าสนใจมาก หลังเหตุการณ์ 9/11 ถล่มตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ชมรมมุสลิมของมหาวิทยาลัยเทนเนสซี เริ่มโครงการที่เรียกว่า"Fast-A-Torn" เด็กในชมรมมุสลิมเชิญชวนผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมมาร่วมถือศีลอดหนึ่งวัน และมาละศีลอดร่วมกัน จุดขายของเขาก็คือโลกเราทุกวันนี้ มีความแตกต่างมากมายบางคนมีอาหารมีมากมาย บางคนไม่มีอะไรกิน ก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งชื่อว่า 2012 เกี่ยวกับวันสิ้นโลก เด็กชมรมมุสลิมกลุ่มนี้บอกว่า I am not afraid of world end in But I fear that the world will continue without change แปลว่า ฉันไม่กลัวหรอกว่าโลกจะสิ้นในปี 2012 แต่สิ่งที่ฉันกลัวคือโลกจะเดินต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย
พวกเขารณรงค์โดยชี้ให้เห็นว่า จีดีพีของ 48 ประเทศที่ยากจนที่สุดมีอยู่น้อยกว่าคนที่รวยที่สุดในโลกสามคน พวกเขาตั้งคำถามว่าเราจะต้องอยู่ในโลกแบบนี้หรือ? เด็กมุสลิมกลุ่มนี้กำลังจะสื่อสารให้คนในตะวันตก ในสังคมอเมริกา และในยุโรปว่า นี่ไงที่เป็นเดือนรอมฏอน เดือนแห่งความสันติ ทำไมอิสลามจึงต้องให้ถือศีลอด เพราะโลกเป็นอย่างนี้ คือมีถึง 48 ประเทศที่ยากจนที่สุดรวมทรัพย์สินกันแล้วยังน้อยกว่าคนสามคนที่มีมากที่สุดในโลก
ขณะนี้เราพูดตรงนี้กี่ชั่วโมงแล้ว ตายไปกี่คนแล้วด้วยความหิว ด้วยความอดยาก ด้วยความไม่มีจะกิน แต่ละปีมีเก้าล้านคนที่ตายเพราะไม่มีอะไรจะกิน เด็กชมรมมุสลิมกลุ่มนี้ เอาเงินค่าอาหารกลางวันหนึ่งมื้อ เงินค่ากาแฟ สตาบั๊ก ราคาถ้วยหนึ่ง เอาเงินกินกาแฟของคุณมาช่วยคนที่ไม่มีอันจะกินได้ แล้วหลังจากนั้นเรามาละศีลอดด้วยกัน
คุณจะไม่กินไม่ดื่มเพียงแค่ 1 วัน แต่พวกคุณรู้หรือไม่ว่ามีคนอีกเยอะเลยที่ไม่มีทางเลือก เพราะเขาไม่มีจะกินเหมือนพวกคุณ มาสู่ความหิวเพื่อที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คุณถือศีลอดแค่วันเดียวแต่คุณจะช่วยมนุษย์ได้เป็นสิบ นี่คือรากของอิสลาม นี่คือสารที่น้องๆ นักศึกษาในประเทศตะวันตกที่เขาพยายามจะสื่อให้สังคม มันไม่ใช่แค่เพียงสานเสวนา แต่เป็นการปฏิบัติร่วมกัน เพื่อที่จะได้รับรู้ความอดยากนั้นเป็นอย่างไง เพื่อที่จะเข้าใจคนล้านๆ คนที่เขาตายเพราะความหิวในแต่ละปี
ในฐานะที่เป็นมุสลิม เราจะต้องเป็นคนที่มีสันติ หรือ peaceful man เพราะอิสลามคือการยอมจำนนด้วยสันติ ยอมรับด้วยสันติ ปฏิบัติด้วยสันติ อิสลามจึงบอกห้ามไม่มีการบังคับในการนับถือศสานาเป็นมุสลิม เพราะคนที่จะมานับถืออิสลามต้องยอมรับด้วยสันติ ยอมจำนนด้วยสันติและเราจะต้องปฏิบัติด้วยสันติ
นี่เป็นสายสัมพันธ์ที่จะฝากท่านทั้งหลายช่วยได้นำในการส่งสารไปให้ผู้คนที่เป็นมุสลิมหรือว่ามิใช่มุสลิมเพื่อหวังว่าโลกเราที่มีอยู่จนถึงทุกวันนี้จะเปลี่ยนแปลง
วันนี้เราได้เรียนรู้หะดีษ หะดีษของทานกล่าวว่า “ฉันคือศัตรูของใครก็ตามที่ไปทำให้คนไม่ใช่มุสลิมได้รับบาดเจ็บ แล้วถ้าฉันเป็นศัตรูกับใครแล้ว แน่นอนในวันอาคีเราะห์ฉันจะไปยืนยันในสิ่งนั้น”