นรินทร์ อินทร์ฉาย
เนื่องในโอกาสที่จะครบรอบการเสียชีวิตของท่าน อิหม่ามยะโก๊บ หร่ายมณี...“วีรบุรุษสันติภาพชายแดนใต้” ในวันที่ 5 ส.ค.นี้ ผมขอนำเหตุการณ์สะเทือนใจของคนในพื้นที่ จชต.มาเสนออีกครั้งเพื่อเป็นการสดุดีและระลึกถึงท่านอีกครั้ง
ช่วงเย็นของวันที 5 สิงหาคม 2556 ท่ามกลางผู้คนพลุกพล่าน ในการจับจ่ายซื้ออาหาร ในช่วงรอมฎอน ได้เกิดเหตุเหนือความคาดฝัน เมื่อเสียงปืนระเบิดขึ้น โดยคนร้ายกลุ่มหนึ่งใช้อาวุธปืนสังหาร “นายยะโก๊บ หร่ายมณี” อิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เสียชีวิต ซึ่งเป็นห้วงแห่งการถือศีลอด และอยู่ในห้วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนประจำปี นำมาซึ่งความรู้สึกเศร้าสลดให้แก่คนไทย
ทั้งประเทศ โดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก และนับเป็นการสูญเสียบุคคลที่ทรงคุณค่า และสำคัญคนหนึ่งของประเทศ
ซึ่งต่อมาตำรวจผู้รับผิดชอบคดีได้สืบสวนจนทราบว่า มีคนร้ายร่วมทำการก่อเหตุด้วยกัน 4 คน
ไม่ทราบชื่อ 1 คน และได้ออกหมายจับทันที จำนวน 3 คน คือ นายมาฮูเซ็น แมฮะ นายอาดือนัน สิเดะ และนายมูฮำหมัด กาซอ และสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 1 คน คือนายมาฮูเซ็น แมฮะ ส่วนผู้ต้องหาอีก 2 คน ยังคงหลบหนี เจ้าหน้าที่ยังคงใช้ความพยายามติดตามนำตัวมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมจากการกระทำความผิดที่ได้ก่อขึ้น
นายยะโก๊บ หร่ายมณี อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 52/8 หมู่ 3 ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ได้รับการคัดเลือก และแต่งตั้งเป็นอิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ตลอดชีวิตที่ผ่านมา อิหม่ามยะโก๊บ ได้ทำหน้าที่สอนศาสนาให้ความรู้แก่ชาวมุสลิมทั่วไป อีกทั้งยังเป็นผู้นำครอบครัวที่เป็นแบบอย่าง
อิหม่ามยะโก๊บ เป็นผู้นำศาสนาที่ยึดมั่นในหลักการอันถูกต้อง ซึ่งไม่เห็นด้วย และต่อต้านการ ก่อเหตุรุนแรงอย่างเปิดเผย และกล้าหาญตลอดมา และท่านเคยได้กล่าวว่า ผู้คนทั้งหลายไม่ว่าศาสนาใด ต่างต้องการที่จะเดินไปในทิศทางเดียวกัน คือ เส้นทางที่ดีงาม และสู่ปลายทางที่สันติสุข
กระแสการสร้างข่าวของฝ่ายขบวนการ กรณีการเสียชีวิตของอิหม่ามยะโก๊บในครั้งนั้น แน่นอนว่าไม่พ้นการใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่สามารถจุดชนวนและสร้างกระแสตามที่ฝ่ายขบวนการอยากให้เป็นได้ เนื่องจากโดนคัดค้านจากจากสังคมอย่างรุนแรง จากการกระทำที่อุกอาจต่อหน้าผู้คนและเย้ยกฎหมาย บวกกับการสร้างกระแสข่าวบิดเบือนความจริงไร้ซึ่งหลักฐาน ประกอบกับห้วงที่ อิหม่ามยะโก๊บ ยังมีชีวิตอยู่ท่านได้อุทิศตนทำงานเพื่อสังคม ท่านเป็นคนดีเป็นที่รักใคร่ของผู้คน ให้ความช่วยเหลือทางราชการด้วยจิตอาสา มีความมุ่งมั่นและคาดหวังที่จะให้เกิดสันติสุข
ในพื้นที่อย่างแท้จริง จนนำไปสู่การได้รับโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณความดีมากมาย ได้แก่ โล่รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ด้านศาสนา ระดับประเทศ รางวัลพระราชทาน
ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายใต้ รางวัลพระราชทานผู้ดำเนินรายการวิทยุดีเด่นของสมาคมนักวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย รางวัลพระราชทานโครงการคัดเลือกผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ สาขาการพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย และที่สำคัญ คือ ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้แทนประเทศไทยในการสร้างความเข้าใจสถานการณ์ความไม่สงบแก่คณะขององค์กรมุสลิมต่างๆ ของโลก ส่งผลให้ความพยายามของฝ่ายขบวนการไม่บังเกิดผล
อิหม่ามยะโก๊บ ถือเป็น "ผู้นำมุสลิมสายกลาง" ที่ประกาศตัวเป็น "แกนนำ" ในการร่วมขับเคลื่อนสันติภาพ ด้วยการใช้ "หลักศาสนา" เป็นใบเบิกทาง จนได้รับการกล่าวขานให้ เป็น "สุภาพบุรุษมุสลิมสันติภาพ" จากแวดวงสื่อและนักวิชาการในพื้นที่
ส่วนตำแหน่งอันสำคัญคือ อิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นมัสยิดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั้งใน และต่างประเทศ โดยเฉพาะในห้วงรอมฎอน มัสยิดแห่งนี้ได้รับการกล่าวขวัญไปทั่วโลกในด้านการเป็นสถานที่ที่มีมุสลิมมาร่วมปฏิบัติศาสนกิจเป็นจำนวนมากแห่งหนึ่งของโลกแม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงจากเหตุความไม่สงบก็ตาม
การสูญเสียทรัพยากรบุคคลสำคัญในครั้งนี้ ถือเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่อีกครั้ง กระเพื่อมถึงความรู้สึกอันสะเทือนใจของคนชายแดนภาคใต้ หากการเสียชีวิตของท่านอิหม่ามที่ได้เสียชีวิตจากน้ำมือคนชั่ว จะช่วยให้พี่น้องมุสลิมหลายๆคนหูตาสว่างขึ้น หรือช่วยให้พี่น้องในพื้นที่
ได้ครุ่นคิดสักนิดว่า แนวทางสันติภาพที่จะก่อเกิดในอนาคตจะเป็นเช่นไร ท่านอิหม่ามยะโก๊บคงยินดี
ที่ความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานของท่าน ภายใต้การสละชีวิตตนเองจะช่วยให้ทุกฝ่ายเข้าใจและมั่นใจได้ว่า มีผู้สืบทอดเจตนารมณ์ที่ดีของท่านต่อไป สิ้น 'ยะโก๊บ หร่ายมณี' ไร้เงา "สุภาพบุรุษมุสลิมฯ"
อันเป็นวีรบุรุษคนสำคัญที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการเดินรอยตาม เพื่อกลับไปสู่ความโปรดปรานของพระผู้เป็นเจ้า “วีรบุรุษสันติภาพชายแดนใต้”
สำหรับในเดือนรอมฎอนปีนี้ วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี อ.เมือง
จ.ปัตตานี มีการละหมาดฮายัต โดยมี คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนชายแดนภาคใต้ สภาอูลามาฮ สมาคมสถาบันการศึกษาปอเนาะ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาพันธ์โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้และประชาชน มาร่วมละหมาดหลายพันคน ภายหลังจากละหมาด นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่าการละหมาดฮายัตครั้งนี้ เพื่อที่จะให้ความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั่วประเทศไทยด้วย
“ในช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้ ไม่อยากให้มีการสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงปฏิบัติศาสนกิจ เพื่อที่จะประชาชนได้ประกอบศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐอำนวยความสะดวกต่างๆ และป้องกันเหตุร้ายๆ ในช่วงเดือนรอมฎอน อยากให้ ทุกคนอยู่ในแนวทางของศาสนา เพราะหากทุกคนอยู่ในแนวทางศาสนาแล้ว สังคมจะเกิดความสงบสุข”
นายแวดือราแม เปิดเผยอีกว่า ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ จะมีการประชุมสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งคาดว่าที่ประชุมจะมีมติที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ ขอให้สำนักงานจุฬาราชมนตรีส่งหนังสือถึง คสช. เพื่ออนุญาตเปิดสถานีวิทยุชุมชน โดยเฉพาะสถานีวิทยุที่เกี่ยวศาสนาอิสลาม เพื่อที่จะให้ประชาชนที่ถือศาสนาอิสลามได้รับฟังรายกาที่เกี่ยวกับศาสนาในช่วงเดือนรอมฎอนนี้
นายแวดือราแม กล่าวว่า วิทยุชุมชนในพื้นที่มีความสำคัญอย่างมากต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอนที่ประชาชนจะเปิดฟังรายการที่เกี่ยวกับศาสนา แต่ขณะนี้ไม่สามารถออกอากาศได้ ที่ผ่านมาผู้นำศาสนาได้ประชุมร่วมกับ พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ ๔ ซึ่งในที่ประชุมทางแม่ทัพแจ้งว่า ได้ทำหนังสือขอให้ คสช.พิจารณาเพื่อเปิดสถานีวิทยุชุมชนโดยเฉพาะวิทยุของ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามแต่ละจังหวัด เพื่อให้ประชาชนได้รับฟังรายการที่เกี่ยวกับศาสนาในช่วงเดือนรอมฎอนนี้ และในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หน.คสช.ก็อนุมัติที่ มทภ.๔ เสนอเนื่องจากเห็นความสำคัญและสนับสนุนในกิจกรรมดังกล่าว
คำแถลงการณ์นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี
พร้อมด้วยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแต่ละจังหวัดในพื้นที่สามจังหวัดชาย แดนภาคใต้ ภายหลังจากการละหมาดฮายัต
สาสน์จากผู้นำศาสนา ในโอกาสรวมพลังผู้นำศาสนาละหมาดฮายัต ต้อนรับเดือนรอมฏอน ประจำปี ฮ.ศ.๑๔๓๕ นี้ ผู้นำศาสนาในพื้นทีจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอส่งความปรารถนาดีแก่พี่น้องมุสลิมทั้งหลาย ให้ใช้เวลาอันเป็นบารอกัตอย่างยิ่งนี้ เพื่อร่วมกันสร้างสิ่งดีๆ ต่อตัวเอง สังคม และประเทศชาติต่อไป
รอมฎอนเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่คนๆ หนึ่งจะใช้เพื่อปรับปรุงตนเองโดยการลดทอนอิทธิพลของสิ่งของต่างๆ ที่มีผลทำให้ชีวิตตกต่ำ เช่น ตัณหา กามารมณ์ ความโลภ ความแล้งน้ำใจ ความตระหนี่ ถี่เหนี่ยว ความฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย และการใช้ชีวิตที่ห่างเหินกับพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ก็สามารถเพิ่มคุณงานความดีแก่ตนเองได้อย่างไม่จำกัด ด้วยการถือศีลอด ตามแนวทางของท่านศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลลัลอฮูอลัยฮัวะซัลลัม) อย่างตั้งใจและเข้าใจ รวมถึงทั้งใช้โอกาสอันประเสริฐนี้ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ที่อิสลามส่งเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือผู้อื่นให้รอดพ้นจากความทุกข์ยากลำบากทั้ง หลาย เนื่องจากผู้ถือศีลอดย่อมตระหนักถึงความอดอยาก หิวโหยได้ดี ดังนั้น จึงต้องมีความเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น จึงจะได้เข้าใจถึงจิตวิญญาณแห่งการถือศีลอดจริงๆ
นอกจากนี้ ผู้ถือศีลอดยังต้องละเว้นจากทุกสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจาหรือจิตใจก็ตาม การถือศีลอด คือการบ่มเพาะจิตวิญญาณอันกล้าแข็ง เพื่อให้รู้จักต่อต้านความต้องการทางอารมณ์ของตัวเอง เช่น อารมณ์อยากเสพสิ่งเสพติดทั้งหลาย หรือเรื่องอบายมุข เป็นต้น การถือศีลอดพร้อมกับยังกระทำการอันเป็นข้อห้ามตามศาสนาบัญญัติอยู่อีก สะท้อนว่า ผู้ถือศีลอดนั้น ไม่ได้พยายามระงับยับยั้งอารมณ์ กิเลสตัณหาของตัวเอง ตามเจตนารมณ์แห่งการอิสลามแต่อย่างใด แค่เพียงลงมืออดอาหารในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งไม่ได้สร้างคุณค่าอะไรไว้ให้ ได้แต่เพียงความหิวและกระหายเท่านั้น
การถือศีลอดตามเจตนารมณ์ดังกล่าว ย่อมช่วยนำพาสังคมสู่ความสงบสุขและสันติสุขได้ ด้วยการที่ ผู้ถือศีลอดต่างร่วมด้วยช่วยกัน สงเคราะห์ผู้ประสบความยากลำบากในชีวิต ประกอบกิจการงานอันศาสนาส่งเสริมเต็มกำลังความสามารถ และลด ละ เลิก การกระทำอันเป็นที่ต้องห้ามตาม ศาสนบัญญัติอยู่อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การละเมิดสิทธิผู้อื่น ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน อันเป็นการกระทำที่สวนทางกับเจตนารมณ์ของการถถือศีลอดอย่างอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้น ผู้ศาสนา จึงขอให้พี่น้องทั้งหลาย ร่วมกันถือศีลอดอย่างตั้งใจและเข้าใจ ร่วมกันลด ละ เลิก สิ่งเสพติดให้โทษ อบายมุข และร่วมกันสร้างความสงบสุข สันติสุข แก่สังคมและประเทศชาติต่อไปอย่างยั่งยืน
เป็นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในการร่วมมือร่วมใจกันของทุกส่วนทั้งผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ท้องถิ่น รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ต้องการให้เกิดสันติภาพกลับมาสู่ จชต. ดังนั้นเหตุการณ์ที่ลอบวางระเบิดที่เกิดขึ้น ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และคาร์บอมบ์ที่ อ.เบตง จ.ยะลา ที่เพิ่งผ่านมา ได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและบาดเจ็บของผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ทั้งคนไทยพุทธ-มุสลิม และคนมาเลเซียด้วย จะเห็นได้ว่า มันขัดแย้งกับคำแถลงการณ์ของผู้นำศาสนาอย่างสิ้นเชิง ผมคงไม่ต้องสรุปว่า ผลงานทั้งสองครั้งนี้ของฝ่ายขบวนการที่กระทำนั้น ท่านได้มวลชนหรือแนวร่วมสนับสนุนมากขึ้นหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังออกแถลงการณ์เมื่อ ๒๖ ก.ค.๕๗ เพื่อประณามถึงความโหดร้ายของผู้กระทำในเหตุการณ์ที่เบตงแบบสุดๆ ไปเลย ลองเปิดอ่านดูนะครับ