Skip to main content

 

Abdulloh Wanahmad; Awanbook

ปัญหาความรุนแรงที่ปลายด้ามขวานทองของไทย(ปาตานี) ณ ตอนนี้ นับวันยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น กอปรกับที่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพถูกทิ้งว่างไม่มีการสานต่ออีกต่อไป และไม่รู้ว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้นจะสามารถนับหนึ่งใหม่อีกครั้งเมื่อใด 

ปาตานีใต้ท็อปบูท

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ถูกลดบทบาทลงในเชิงนัยยะเป็น “การพูดคุยเพื่อสันติสุข” โดยรัฐบาลภายใต้เผด็จการทหาร ที่มีการยึดอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในอุ้งมือเพียงฝ่ายเดียว จะยิ่งทำให้แสงฝัน ณ ปลายฟ้า ที่สังคมต่างคาดหวังนั้น จะต้องพังพินาศราบลงโดยปริยาย

การเปลี่ยนชื่อเรียกขานดังกล่าว ถือเป็นความผิดพลาดประการหนึ่ง ที่มีความตั้งใจและจงใจที่ฝ่ายผู้มีอำนาจ(อย่างทหาร) จะต้องแสดงท่าทีอันแข็งกร้าวของตนเองให้สังคมและขบวนการได้รับรู้ว่า ทหารนั้นไม่ยอมก้มหัวให้กับฝ่ายขบวนการเป็นอันขาด ถึงแม้ว่าฝ่ายขบวนการจะพยายามแสดงศักยภาพให้รัฐบาลไทยได้รับรู้ว่า ความสามารของขบวนการนั้น มีความเข้มแข็งทางการบริหารในเชิงรัฐอย่างไร

ยิ่งเมื่อทหารออกมาปฏิเสธถึงเรื่องเขตปกครองพิเศษ ยิ่งตอกย้ำถึงความแข้งกร้าวของฝ่าย(ทหาร)ไทย ที่ทำเหมือนไม่แยแสต่อกลุ่มขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีทั้งปวงและต่อข้อเสนอเงื่อนไขบนโต๊ะการพูดคุยก่อนหน้านี้

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงปัจจัยปลีกย่อยเท่านั้น ที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงได้ลุกโชนใหม่อีกครั้ง ตามจังหวะเวลาและโอกาสที่เอื้อต่อการปฏิบัติการณ์ ถึงแม้จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงกลุ่มบุคคลที่บริสุทธิ์ก็ตาม

 

สงครามปาตานีกับรอมฏอน

แต่จังหวะในห้วงของช่วงเดือนรอมฏอนนั้น ยังมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพอยู่เนืองนิจ ทั้งการจัดเสวนา มีการถก วิพากษ์ วิเคราะห์เหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงมีการออกมาแสดงความคิดเห็นห่วงใยของบรรดานักวิชาการ นักเคลื่อนไหวที่ใฝ่สันติและศานติ และยิ่งเหนือสิ่งอื่นใด มีการหยิบยกองค์ความรู้ทางศาสนามาสนับสนุนความคิดของตนเอง เพื่อเพิ่มน้ำหนักของเหตุผลอย่างที่ควรจะเป็น

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ที่เราต่างหยิบยกตัวบทหลักฐานมาอ้างอิงเพื่อประกอบในงานเขียนของเรา ถือเป็นความดีประการหนึ่ง อย่างน้อยเพื่อให้สังคม(ผู้อ่าน)ได้รับรู้ว่า โองการที่ว่านั้นมีกล่าวแจ้งจริงในคัมภีร์อัลกุรอานและอัลฮาดิษ(วจนะของท่านศาสดา)

ประเด็นเรื่องสันติภาพถูกตีความต่างๆ มากมาย ต่างคนต่างให้ความนิยามแล้วแต่ความถนัดของแต่ละปัจเจก แต่โดยภาพรวมแล้วคือการพยายามสร้างสังคมที่มีบรรยากาศแห่งความสันติในเดือนรอมฏอน อันเป็นเดือนอันประเสริฐสำหรับพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

 

สันติภาพและความหมาย

สิ่งที่ผู้เขียนจะแลกเปลี่ยน ณ ที่นี้ก็คือ สันติภาพในความหมายและการคาบเกี่ยวกับรอมฏอนและความจริงที่ต้องเปิดเผย ยิ่งไปกว่านั้น คือความแอบแฝงนัยยะซ่อนเร้นที่สถิตอยู่ภายใต้ก้นบึ้งหัวใจ

เท่าที่ได้อ่านบางชิ้นงานที่เกี่ยวกับสันติภาพในเดือนรอมฏอนที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ ผู้เขียนเองมิอาจก้าวล่วงถึงส่วนลึกของเจตนาที่แฝงภายในจิตใจนั้นได้ และเคารพในความคิดของแต่ละบุคคลในฐานะมนุษย์ผู้ร่วมโลกที่ใฝ่สันติและความภราดรภาพ

ทว่าดูเหมือนว่างานเขียนเหล่านั้นยังมีอะไรบางอย่างที่ยังคงบดบังและไม่ถูกเปิดเผยโดยผู้เขียนเอง อาจเป็นเพราะเราไม่รู้ประวัติศาสตร์และบริบทของภูมิศาสตร์ที่เรายืนอยู่ก็เป็นได้ อาจเป็นเพราะเรารู้เพียงแต่ขอเป็นคนที่ขอมองโลกสวยไปเสียก่อนเพื่อความสวยงามของตัวเองในสายตาผู้มีอำนาจ อีกทั้งอาจเป็นเพราะว่าเราต่างเป็นคนหลอกตัวเองเพื่อให้ตัวเองดูดีในสายตานักปกครอง

ผู้เขียนเองมิได้เก่งกาจมากมายในเรื่องการหยิบยกหลักฐานทางศาสนาเข้ามาประกอบในงานเขียน แต่นั่นใช่ว่าความถูกต้องจะหามีไม่ เพราะผู้เขียนสำเหนียกดีว่า ถึงแม้เราจะหยิบยกหลักฐานมากี่มากน้อยแค่ไหนก็ตามหากวางใช้ผิดที่ผิดทาง ผู้เขียนเกรงว่า ผู้เขียนเองอาจกลายเป็นผู้ที่กระทำบิดเบือนความจริงอย่างเลือดเย็น เพียงเพื่อให้สังคมยกย่องถึงความคิดของเราที่ใฝ่แต่ความสันติ จนถึงขั้นต้องโกหกต่อตัวเองรวมไปถึงต่อสังคมโดยรวม

หลายคนที่สวมวิญญาณของความเป็น “อูลามาอฺ” พยายามอธิบายถึงความสำคัญของสันติภาพ ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนเองมิขอโต้แย้งแต่อย่างใด เพราะคำว่า “สันติภาพ” โดยความหมายแล้ว เป็นความดีงามอย่างหนึ่ง ที่มวลมนุษยชาติทุกหมู่เหล่าและชาติพันธุ์ศาสนาต่างแสวงหามาให้แก่โลก

แต่นั่นมันเป็นเพียงโองการหนึ่งที่ถูกประทานลงมาในอีกบริบทหนึ่ง  ไฉนเล่ากับความพยายามที่จะสานคาบเกี่ยวกับสันติภาพในเดือนรอมฏอนให้เป็นสิ่งเดียวกัน

ผู้เขียนสำเหนียกดีว่า ทุกถ้อยคำที่เราพยายามจะอธิบายให้สังคมได้รับรู้ หากปราศจากสิ่งปฏิกูลที่อยู่ภายในจิตใจนั้น ที่คอยกัดแทะความดีงามที่มีอยู่เดิม เพียงเพราะเรามีเป้าหมายอะไรบางอย่างซ่อนเร้น ก็ถือเป็นความผิดบาปประการหนึ่ง

บริบททางประวัติศาสตร์ปาตานี มีความเป็นมามาอย่างช้านานนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่หนึ่งยันรัชกาลปัจจุบันซึ่งมีอายุยาวนานมากกว่าสองศตวรรษ สิ่งหนึ่งที่ยังคงรักษาไว้โดยชาติสยามนับตั้งแต่ที่ปาตานีถูกรุกรานครั้งแล้วครั้งเล่า และพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยเปลี่ยนผู้ปกครองของชนชั้นสูง ตลอดจนการแทรกแซงอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยการแต่งตั้งบุคคลจากส่วนกลางมาแทนที่ผู้ปกครองเจ้าเดิมที่ถูกอำนาจสยามในยุคนั้นเนรเทศ ภายหลังจากที่ปาตานีถูกแยกออกเป็นเจ็ดหัวเมือง  

หากเราทั้งหลายได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ปาตานีอยู่ในช่วงการสู้รบต่อต้านการุกรานของชาวสยาม ที่พยายามจะยึดปาตานีให้อยู่ในอาณัติในขณะนั้น เราจะพบว่าบรรดาผู้รู้อย่างอูลามาอฺต่างไม่รีรอให้เสียเวลาในการฟัตวา(วินิจฉัย) ในเรื่องการลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยชีวิต พวกเขาต่างรีบลุกขึ้นมามีบทบาทนำหน้าสังคมเพื่อทำการต่อต้าน เพื่อปกปักษ์รักษาบ้านรักษาเมือง ด้วยความสำนึกแน่วแน่ว่า อิสลามนั้นได้กำหนดไว้ว้า หากบ้านเมืองถูกศัตรูโจมตี การลุกขึ้นมารักษามาตุภูมิของมุสลิมนั้นถือเป็นสิ่งจำเป็นแต่ละปัจเจกชน...แต่ทว่า เพียงสองร้อยปีผ่านไป เหตุใดความคิดในเรื่องสงคราม การปกป้องตนเองจากอริศัตรู ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามอิริยาบถของยุคสมัย ทั้งๆ ที่ ปาตานีก็ยังไมเป็นอิสระแต่อย่างใด

เรามัวแต่เรียกร้องสันติภาพในเชิงกายภาพ แต่ไม่เคยรู้สึกลึกถึงความอยุติธรรมที่สังคมปาตานีถูกต้อนสู่หวงเหวแห่งหายนะ ที่กำลังค่อยๆ แผลงฤทธิ์เดชออกมา ไม่ว่าสภาพสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ฯ ผ่านนโยบายต่างๆ ที่ความเป็นอยู่ตกอยู่ในความแร้นแค้นทางจิตใจ ความอยุติธรรมยังคงดำรงไว้ในพื้นที่แห่งนี้

 

รอมฏอนเดือนแห่งผู้แสวงหา

เดือนรอมฏอนเป็นเดือนที่ผู้ศรัทธาจะแสวงหาความดีงามเท่าที่จะทำได้ และสำหรับบุคคลที่พยายามแสวงหาความดีงามในเดือนรอมฏอนด้วยการถวายความภักดีต่อพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลกด้วยการแบกรับคำบัญชาจากพระเจ้า(ฟิซาบีลิลลาฮ์) พวกเขาต่างปรารถนาความเป็นชาฮีดในเดือนอันทรงเกียรติ์นี้เช่นกัน

เพราะฉะนั้นหากการออกมารณรงค์ให้ยุติความรุนแรงลงในเดือนรอมฏอน ด้วยการพุ่งเป้าไปที่ฝ่ายขบวนการต่อสู้เพียงฝ่ายเดียวนั้น ผู้เขียนถือว่าเราอาจกลายเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มชนที่ขัดขวางการแสวงหาความโปรดปรานของผู้อื่น(ที่เลือกแนวทางด้วยการต่อสู้ด้วยอาวุธ) ยิ่งในเดือนรอฏอน ผู้คนต่างแสวงหาความดีงามที่มีผลบุญเพิ่มขึ้นถึงเจ็ดสิบเท่า ไฉนเล่าเราจะมาเรียกร้องให้พวกเขายุติภารกิจของพวกเขาโดยใช่เหตุกระนั้นหรือ?

ความสันติที่แท้จริงในความหมายที่เที่ยงธรรม ไม่มีใครสามารถกล่าวแจ้งได้ นอกจากการคร่ำครวญให้ลึกถึงแก่นถึงวัตถุประสงค์ที่เรา(มนุษย์)ถูกสร้างขึ้นมายังบนโลกใบนี้เพื่ออันใด มิใช่เพื่อการถวายความภักดีดอกหรือ?

ผู้เขียนมิได้สนับสนุนความรุนแรงอย่างสุดโต่ง แต่ในขณะเดียวกันผู้เขียนเองมิได้แยแสพยายามมองโลกสวย เพื่อให้งานเขียนดูดี เพื่อให้สังคมส่วนกลางยอมรับ แต่ผู้เขียนมองว่า ถึงแม้งานเขียนเป็นอาวุธที่ทรงพลังอย่างหนึ่ง อย่างที่หลายคนเข้าใจและยืดถือ แต่นั่นก็ต้องประสมโรมกับความถูกต้องแห่งหลักธรรมเสียด้วย

 อิสลามคือศาสนาแห่งสันติภาพ ภราดรภาพและความเสมอภาค แต่ถึงกระนั้นก็อย่างลืมมองดูบริบทของแต่ละภูมิศาสตร์ประเทศด้วย แล้วเราจะเข้าใจความหมายสันติภาพ หรือ “อัสสลาม” อย่างแท้จริง