การปฏิบัติการก่อเหตุครั้งใหญ่ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของสงขลา เมื่อค่ำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ตรงกับวันตรุษจีน ด้วยวิธี หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ยิง ถึงดับไฟทั้งเมือง ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เป็นการเขย่าอำนาจรัฐครั้งใหญ่ในยุครัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์
เป้าหมายการปฏิบัติการมีการวางแผนไว้อย่างแยบยล ลวงเจ้าหน้าที่รัฐจนหลงกล จน ไม่อาจป้องกันเหตุได้แม้แต่จุดเดียว ทั้งๆ ที่เป็นการก่อเหตุกลางเมือง ???
"การปฏิบัติการครั้งนี้เป็นเชิงสัญลักษณ์ที่ มุ่งโจมตีสถานที่อันเป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐแต่ละท้องถิ่น รวมถึงศูนย์กลางเศรษฐกิจอันเป็นท่อ น้ำเลี้ยงของ 3 จังหวัด อย่างเช่น อ.เบตง จ.ยะลา อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และเหตุที่ขยายมาถึงตัวเมืองปัตตานี ซึ่งมักไม่เกิด เหตุการณ์ใหญ่ๆ นี่เป็นการแสดงแสนยานุภาพให้เห็นว่าพวกเขาทำได้เมื่อมีโอกาส" ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) วิเคราะห์
เหตุการณ์ครั้งนี้แกนนำระดับสูงของฝ่ายความมั่นคงยอมรับเต็มปากว่านี่คือ...การก่อการร้ายเต็มรูปแบบ ซึ่งทาง อาจารย์ศรีสมภพมองว่าเห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เพราะก่อนนี้ตัวเลขการก่อเหตุจำนวน 70 จุด หรือ 100 จุดก็เคยเกิดมาก่อน
ฝ่ายผู้ก่อเหตุมีความชัดเจนทั้งในแง่ของ อุดมการณ์และเป้าหมาย รวมถึงครั้งนี้มีการกระทำที่เป็นเชิง "สัญลักษณ์" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เหตุการณ์ที่เกิดก่อนหน้านี้ รุนแรงไม่แพ้กันนั่นคือ วันที่ 15 มิถุนายน 2549 ได้เกิดเหตุระเบิดใน จ.ยะลา 50 จุด ซึ่งตรงกับวันครบรอบสถาปนารัฐปัตตานี ถัดมาวางระเบิดธนาคารพาณิชย์ 22 สาขา ในยะลา ช่วงกลางวันของวันที่ 31 สิงหาคม ปี 2549 และเหตุการณ์ก็ ท้าทายเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น เมื่อระเบิดถูกซุก รถจักรยานยนต์กลายเป็นคาร์บอมบ์ถล่มย่านการค้า แหล่งบันเทิง และห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองหาดใหญ่ ซึ่งหนาแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยว เมื่อคืนวันที่ 16 กันยายน 2549 ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 78 ราย และเสียชีวิต 5 ราย
เว้นว่างไปเดือนเดียว การปฏิบัติการก่อการร้ายก็พุ่งเข้าใส่โชว์รูมรถยนต์และจักรยานยนต์ ในเมืองยะลา เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2549 อีก 8 จุด การถล่มโชว์รูมครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ ท้าทายคณะปฏิวัติของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. หลังยึดอำนาจได้แค่ 3 เดือน
ในครั้งนี้ อาจารย์ศรีสมภพ วิเคราะห์ว่า การพุ่งเป้าไปยังสถานบันเทิง ห้างร้านเอกชน ก็เพื่อทำลายทุกอย่างที่เป็น "เครื่องหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ" ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง "อำนาจรัฐ" ที่ดำรงอยู่ในพื้นที่
หากวิเคราะห์ลึกลงไปให้ถึงแก่น สถานบันเทิงในพื้นที่อันมีชาวมุสลิม 90% อาศัยอยู่ การถล่มร้านคาราโอเกะ เรียกได้ว่าเป็นการ ต่อต้านแหล่งอบายมุขอันขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม รวมถึงเป็นพื้นที่เอื้อต่อการจู่โจม เนื่องจากเป็นแหล่งชุมชนที่ไม่มีการระวังภัยด้วย
เหตุผลลงมือปฏิบัติการในวันตรุษจีนก็เป็นเพราะคนไทยเชื้อชาติจีนคือสัญลักษณ์ของความเจริญ และหวังแยกการอยู่ร่วมกันของคน สองวัฒนธรรมสอง เชื้อชาติ ที่เคยพึ่งพาอาศัยกันมาด้วยความสงบสุข
แต่กระนั้น อาจารย์ศรีสมภพมองว่า ข้อแตกต่างของการก่อเหตุในครั้งนี้กับครั้งก่อนๆ คือมีเป้าประสงค์ต่อ "ชีวิตและทรัพย์สิน" ของประชาชนมากกว่า
นั่นเท่ากับว่า การส่งกองกำลังอาสาสมัครทหารพรานจำนวนมากมาเพิ่มเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ไม่ได้ช่วยป้องกันเหตุร้ายดังกล่าวได้เลย ซ้ำร้ายยังตอกย้ำว่างานด้านการข่าวยังคลานเป็นเต่า โดยได้แต่ "รู้เหตุล่วงหน้า แต่ไม่สามารถป้องกันได้"
คำถามก็คือว่าการลงมืออย่างรัดกุมอย่างมืออาชีพนี้มีความเชื่อมโยงกับต่างชาติหรือไม่ อาจารย์วิเคราะห์ว่า ไม่พบข้อมูลว่ามีการสนับสนุนโดยตรงจากประเทศใดหรือกลุ่มใด ไม่ว่า เจมาห์ อิสลามิยาห์ หรือเจไอ แม้กระทั่งอัลกอ อิดะห์ รวมถึงมีคนกลุ่มเหล่านี้มามีส่วนก่อเหตุด้วยหรือไม่
แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงให้เห็นการข้ามไปมาระหว่างชายแดนไทย-มาเลเซีย ทั้งในแง่การหลบหนีและการขนปัจจัยการก่อเหตุ
"ฉะนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจึงเป็นการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์การแบ่งแยกดินแดน การเรียกร้องเอกราช การขอความยุติธรรมจากรัฐ แต่ในแง่การส่งคนไปฝึกฝนยังต่างประเทศแล้วเข้ามาปฏิบัติการหรือไม่ ไม่พบข้อมูลที่แน่ชัด ทราบแต่ว่ามีการเลียนแบบ ไม่ว่าระเบิดที่ใช้หรือวิธีการสังหาร เช่น การฆ่าตัดคอ เป็นต้น รวมทั้งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากต่างประเทศด้วย หากรัฐบาลยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับต่างประเทศก็ต้อง อธิบายภาพเหล่านี้ด้วย"
นอกจากนี้ อาจารย์รัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ย้ำว่า ความจริงสถานการณ์ช่วง 1-2 ปี เห็นได้ชัดว่าเป็นการก่อการร้าย แต่รัฐไม่ยอมรับ กลับมีการอ้างว่าเป็นเรื่องอิทธิพล อาชญากรรม ทั้งที่นี่คือการต่อสู้เชิงอัตลักษณ์ที่พุ่งเข้าไปปะทะกับอำนาจรัฐโดยตรง
จะเป็นการปฏิบัติการที่ผ่านการฝึกปรือมาจากภายในหรือต่างประเทศหรือไม่ก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า นี่คือภัยที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทยที่ไม่อาจยุติลงโดยง่ายและแนวรบยังไม่เปลี่ยน